welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Wednesday 30 July 2008

ผู้กำกับและนักแสดงจาก "คอย ก.ด".


บางส่วนจากสูจิบัตร

เนื่องจากเวลารัดตัวมากเราจึงไม่ได้ทำการสัมภาษณ์ แต่จะเอาข้อมูลบางส่วนจากสูจิบัตรมาลง โดยเริ่มจากผู้กำกับก่อน

ผู้กำกับและดัดแปลงบท

ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
จบการศึกษา Master of Fine Arts สาขา Theatre Directing จาก Middlesex University กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มงานอยู่ในวงการละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์มาตั้งแต่อายุ 19 ทั้งในฐานะนักแสดง ผู้ควบคุมการผลิต ผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบทละครและบทภาพยนตร์ รวมทั้งเป็นผู้ฝึกการแสดงให้แก่นักแสดงภาพยนตร์ไทย สำหรับละครเวทีมีผลงานการกำกับการแสดง อาทิ กับดัก, เมตามอร์โฟซีส, เฟ้าสต์, ราโฌมอนคอนโดมิเนียม, ละครเพลง ซั่งไห่:ลิขิตฟ้าชะตาเลือด ฯลฯ ล่าสุดคือละครเวที “กลรักเกมเลิฟ” “ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ” และ “ผ่าผิวน้ำ” ปัจจุบันทำงานอิสระทั้งด้านละครเวที ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมทั้งเขียนนวนิยาย และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการแสดงและการเขียนบทให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ

นักแสดง

จารุนันท์ พันธชาติ
จบปริญญาตรีจากภาควิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำละครเวทีจากชมรมการแสดงในมหาวิทยาลัย จนปัจจุบัน ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครบีฟลอร์ เป็นนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ฯลฯ ผลงานการแสดงที่ผ่านมา อาทิ WOW!, “กรุงเทพน่ารักน่าชัง”, “Crying Century”, “ไฟล้างบาป” และล่าสุด “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์”

สินีนาฏ เกษประไพ
จบปริญญาตรีสาขาวรรณคดีจากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำละครเวทีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นทั้งผู้กำกับการแสดง, นักแสดง, ผู้เขียนบท และอื่นๆ มีผลงานการแสดง เช่น “กูชื่อพญาพาน”, “ความฝันกลางเดือนหนาว”, “คือผู้อภิวัฒน์”, “Crying Century”, “แม่น้ำแห่งความตาย” และ “ไฟล้างบาป”

สุมณฑา สวนผลรัตน์
จบปริญญาตรี สาขาภาษาและวรรณคดีไทยจาก ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการแนะแนวจาก ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร เป็นนักแสดงละครเวทีที่มีผลงานปรากฏอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 19 ปี อาทิ “เมตามอร์โฟซิส” “เฟาสท์” “แรด” “มิดะ” “Crying Century” “The Edge” “ไฟล้างบาป” และล่าสุด “ใจยักษ์”

ฟารีดา จิราพันธุ์
จบการศึกษาจากเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เริ่มเข้าวงการละครในสมัยยุครุ่งเรืองของศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ จากนั้นเข้าร่วมเล่นละครตามคณะต่าง ๆ อาทิ “คือผู้อภิวัฒน์ 2475” และ “แอนติโกเน” โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร “กาลแห่งเวลา” โดยคณะสมมุติ “ควอเต็ด หมายเลข 8” กำกับโดยมัลลิกา ตั้งสงบ “Sex in the City” โดยคณะบางเพลย์ “โสมเกาหลี” กำกับเขียนบทและนักแสดงในนามบางเพลย์ ร่วมเข้าอบรมโครงการลุ่มแม่น้ำโขงกับ PATA และผลิตผลงานเรื่อง “ไฟล้างบาป” ร่วมกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร บีฟลอร์ และบางเพลย์ รวมทั้งแสดงนำใน “ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ” ของ New Theatre Society และล่าสุด “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์” ของกลุ่มบีฟลอร์





Friday 25 July 2008

จากผู้กำกับการแสดงละครเวทีเรื่อง "คอย ก.ด."

เขียนโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ภาพถ่ายโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ และ ภูมิฐาน ศรีนาค




เหตุผลหนึ่งที่ผมเลือก “Waiting for Godot” ขึ้นมาทำเป็น “คอย ก.ด.” ในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการที่อยากจะเห็นบทละครที่ตนเองอ่านครั้งแรกแล้วสนุก (ถึงแม้จะไม่รู้เรื่อง) ได้ออกมาเป็นการแสดงในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากละครเวที “คอยโกโดต์” ทุกเวอร์ชั่นที่ผมเคยดูมาในชีวิต ประการหนึ่งก็อาจมีสาเหตุจากการที่ผมไม่เข้าใจว่า


ทำไมบทละครเรื่องนี้...ทุกครั้งเมื่อกลายเป็นละครเวทีแล้วมันมักจะออกมาในลักษณะที่เครียดขึ้ง อึมครึม ลักลั่น ดูไม่รู้เรื่อง น่าเบื่อน่ารำคาญ แถมชวนหลับและท้าทายให้ด่าทอต่อเมื่อตื่นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะอ้างว่านั่นคือสไตล์เฉพาะทาง หรือจะเป็นวัตถุประสงค์ชนิดหนึ่งของละครแนวนี้ที่พยายามจะแสดงให้เห็นความจริงของโลกด้วยการก่อกวนคนดูด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาแล้วละก็...สำหรับส่วนตัวผมเองก็คงไม่สามารถปักใจเชื่อได้ง่าย ๆ นัก ด้วยเพราะนับตั้งแต่โลกใบนี้มีละครสนุก ๆ ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเข้มข้นอยู่มากมาย แถมผู้ชมสามารถดูได้อย่างรู้เรื่องสบายใจ...


แล้วละครบ้า ๆ เรื่องนี้จะสนุก ดูง่าย ๆ และคนดูมีความสบายใจบ้างไม่ได้เชียวหรือ ผมมีความเชื่อส่วนตัวแบบง่าย ๆ ที่อาจจะออกเชยอยู่บ้างอีกอย่างหนึ่งว่า นอกเหนือจากความบันเทิงซึ่งน่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราควรจะได้จากการรับชมละครเรื่องหนึ่ง ๆ แล้ว ทางด้านเนื้อหาสาระ...ละครที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “สร้างสรรค์” นั้น ก็ควรจะมีคุณลักษณะที่เป็นไปใน “ทางสว่าง” ได้ด้วย นั่นคือ ถ้าหากเป็นละครที่มุ่งแสดงความจริงใด ๆ ของมนุษย์บนโลกใบนี้แล้วละก็...ละครก็ควรจะเสนอทางออกสำหรับผู้ชมบ้าง หรือถ้าหากไม่มีทางออกเลย ละครก็ควรทำให้คนดูตระหนักถึงความจริงนั้น ๆ แล้วกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง (ไม่ว่าในแง่ความคิดหรือการกระทำ และ/หรือ ในขณะนั้นหรือในเวลาต่อมา) ไม่ใช่มุ่งแต่สะท้อนเป็นความจริงอันโหดร้ายลี้ลับสับสนที่ยิ่งพาให้คนเราปลงตก ตกอยู่ในสภาพยอมรับ แช่นิ่ง แล้วก็จ่อมจมลงไปกับความทุกข์อันดำมืดมากขึ้นทุกที ๆ ซึ่งอย่างนี้ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นละครที่สร้างสรรค์มากนัก โชคร้ายไปหน่อยที่ “คอยโกโดต์” แบบที่ผมเคยดูมาดันมีคุณสมบัติเช่นนั้นครบทุกประการ ต่อให้ใครต่อใครยกย่องกล่าวขานว่านี่เป็นวิธีการนำเสนอละครอภิมหาปรัชญาชั้นยอดระดับโลกก็ตามทีเถอะ ดังนั้น “การขอมองโลกในแง่ดี(บ้าง)” คือที่มาของการตัดสินใจทดลองเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบทละครเรื่องนี้


อย่างแรก...ผมเลือกนักแสดงหญิง 4 คนให้มารับบทตัวละครเรื่องนี้แทนผู้ชายเพื่อจะดูว่าทิศทางของบทดั้งเดิมที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีความ “ใจกว้าง” ให้ผู้คนตีความได้อย่างอิสระนั้น จะสามารถปลดปล่อย “เงื่อนตาย” ที่ถูกผู้เขียนผูกวางไว้อย่างแยบยลได้ทางใดบ้าง อย่างต่อไป...


ผมขอเลือกที่จะประนีประนอมกับตัวเอง รวมทั้งกับคนดูที่ร่วมกาลเวลาและสถานที่กับผม ด้วยการทำละครเรื่องนี้ให้เบาสบายมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อตั้งแต่เปิดฉากมาละครเรื่องนี้โหดร้ายทารุณมากพอดูอยู่แล้ว มากพอที่จะทำให้ตัวละครต้องแสวงหาทางออกด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองหนีพ้นจากห้วงทุกข์ในขณะรอคอย ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้อง “ขยี้” หรือย้ำในจุดนี้แล้วหยิบยื่นรสชาติแห่งความทรมานให้ผู้ชมเกิดความกระอักกระอ่วนมากกว่านี้อีกต่อไป


ผมจึงขอตัดบทที่มีความยาวและลีลาวกวนกวนโทสะ รวมทั้งประเด็นบางอย่างที่ไกลตัวคนไทยส่วนใหญ่ออกไปซะ แล้วหาสัญญะใหม่บางอย่างมาแทนที่ของเดิม รวมทั้งใช้องค์ประกอบทางภาพและเสียงมาแทนที่ช่วงต่าง ๆ ที่ตัวละครมีการทำซ้ำด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ผมขอเหมาตั้งสมมุติฐานเองเอาว่า สามารถจะทำให้เรื่องนี้เบาสบายขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และอาจจะนำไปสู่การเลือกประเด็นการตีความที่ผู้ชมน่าจะดูรู้เรื่องขึ้นผมขอใช้คำกล่าวของเบ็กเก็ตต์ที่ว่า “เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากเป็นแบบจำลองของระบบนิเวศน์เท่านั้น”

ผมจึงไม่คิดแบบดิ่งลงด้านลึกมากจนเกินไป แต่ขอกลับไปมุ่งเน้นให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมและความคิดเห็นขณะตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ แทน ซึ่งในที่นี้ผมขอเล่นกับเรื่องของ “ความเปลี่ยนแปลง” ของตัวละครที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่พวกเขาจำต้องรอคอยซ้ำแล้วซ้ำอีก และนี่อาจเป็นการ “ทำตรงข้าม” กับลักษณะของละครแอบเสิร์ดในข้อที่ว่าตัวละครไม่มีการพัฒนาก็ได้ นอกจากนี้ผมยังทดลองคิดต่อไปอีกว่า ถ้าหากมนุษย์มีปัญญาเรียนรู้แล้วไซร้ อะไรบ้างที่ตัวละครจะสามารถคิดและทำได้ ในเมื่อ(แบบจำลอง)ชีวิตนี้(ที่เบ็กเก็ตต์เขียนมา) ไม่ได้ให้ความกระจ่างของทางสว่างไว้ อีกทั้งการรอคอยด้วยความหวังมันอาจเป็นเรื่องไร้สาระ บางทีการที่มนุษย์รู้จักเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง อาจเป็นวิธีการแสวงการหาความหมายของชีวิตที่ดีที่สุดก็ได้กระมัง


ทั้งหมดที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งของการทำ “คอย ก.ด.” ฉบับที่ท่านจะได้รับชมในขณะนี้ ส่วนที่ว่าในตอนจบมันจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น จะคอยดีหรือไม่คอยดี คอยดูกันเอาเองก็แล้วกันครับ

โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
narawichaya@hotmail.com
ปล.
คุณ ก.ด.ครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ผมอยากบอกว่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้สั้นนัก แต่ถึงกระนั้นตอนนี้เราสามารถไปนอกโลกกันได้แล้ว เพราะอะไรหรือครับ อิอิ ฯลฯ วันนี้แค่นี้ก่อนก็ละกัน สวัสดี



Thursday 24 July 2008

เกี่ยวกับละครแอบเสริ์ด



ละครแอบเสิร์ด (Absurd)


หากจะเทียบกับงานศิลปะแขนงอื่น ละครแนวนี้ก็คงจะคล้ายกับศิลปะในแนวนามธรรม (Abstract) ซึ่งผู้ชมหลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยหรือชื่นชอบงานศิลปะในแนวที่ซับซ้อนและเข้าใจยากเช่นนี้มากนัก ละครแนวนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดศิลปะลัทธิ Surrealism และ DADA ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นศิลปะที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ที่ไร้สมรรถภาพในการดำรงชีวิตอยู่ เป็นภาพอันไม่สมประกอบของมนุษย์ เนื้อหาของละครประเภทนี้มักเป็นการประชดเสียดสีสังคม พูดถึงความไร้สาระของมนุษย์ที่พยายามกำหนดความหมายหรือคุณค่าให้แก่สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งแก่ตนเอง


บทละครมักจะเล่าถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์มากกว่าจะมุ่งเล่าเรื่องราว ไม่มีการเดินเรื่องหรือพัฒนาการที่เกิดจากเหตุและผลเหมือนละครทั่ว ๆ ไป ซึ่งรวมไปถึงตัวละครต่าง ๆ ที่มักจะมีลักษณะนิ่งคงที่ มีบุคลิกที่เด่นชัด และไม่มีการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบส่วนในด้านรูปแบบ ภาพที่ปรากฏสู่สายตามักจะถูกทำให้เป็นสื่อที่ชี้นำความคิดในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) หรือเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย (Metaphorical) รวมทั้งนำเสนอออกมาด้วยภาษาที่ง่าย ๆ และไม่ค่อยต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ละครแอบเสิร์ดถือว่าภาษาเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร และไม่ช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจกันและกัน การแสดงจึงมักจะเป็นไปในลักษณะตลกขบขัน แต่ในความตลกขบขันนั้นมักมีสิ่งชวนให้เคลือบแคลงอยู่เสมอ อันเป็นความจริงที่น่าพะวงสงสัยเหมือนกับในชีวิตจริงของมนุษย์นั่นเอง


ข้อมูลจาก : สูจิบัตรละครเวทีเรื่อง คอย ก.ด.


Wednesday 16 July 2008

วอร์มอัพก่อนชม "คอย ก.ด."


จาก "คอยโกโดต์" ก่อนจะไปถึง "คอย ก.ด."
: แนะนำเรื่องเดิมก่อนจะไปดู


Waiting for Godot
บทกล่าวนำโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

Waiting for Godot เป็นบทละครชิ้นเอกของ Samuel Beckett ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทละครที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เนื้อเรื่องมีสององก์ด้วยกัน กล่าวถึงตัวละครหลักสองตัว คือVladimir และEstragon ที่มารอคอยคนชื่อ Godot ในระหว่างที่รอพวกเขาทั้งสองก็พยายามหาอะไรทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหาของกิน นอนหลับ คุย ทะเลาะ ร้องเพลง เล่นเกม หรือแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย ระหว่างรอ Pozzo และ Lucky ได้เดินทางผ่านมา และมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนถึงตอนจบได้มีเด็กชายคนหนึ่งนำความมาบอกว่าวันนี้ Godot จะไม่มาแต่จะมาพรุ่งนี้แน่นอน ส่วนองก์ที่สอง เป็นเรื่องราวของวันต่อมา ทั้งคู่ยังคงมารอเหมือนเดิม Estragon จำเรื่องราวของเมื่อวานไม่ได้เลย Vladimir จึงพยายามรื้อฟื้นความทรงจำให้เขาด้วยวิธีต่างๆ


Pozzo และ Lucky กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ Pozzo ตาบอด ส่วน Lucky เป็นใบ้ เมื่อทั้งคู่จากไป เด็กชายคนเดิมก็เข้ามาบอกว่า วันนี้ Godot จะไม่มา Vladimir และEstragon ตัดสินใจว่าจะแขวนคอตาย แต่ทำไม่สำเร็จ เขาจึงปรึกษากันใหม่ว่าจะมาแขวนคอวันพรุ่งนี้ถ้าหาก Godot ไม่มาอีก ทั้งคู่ตกลงจะไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครขยับเขยื้อนเลย


มีการตีความประเด็นของเรื่องออกมาหลากหลาย เช่น เรื่องศาสนา ปรัชญา จิตวิทยา การเมือง สงคราม รวมถึงมุมมองที่เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่ง ๆ ต้องประสบพบเจอในชีวิตอีกด้วย จากประเด็นหลังนี้จึงมีผู้ให้คำนิยามบทละครเรื่องนี้ว่าเป็น ‘Tragicomedy’ เนื่องจากในเรื่องตัวละครทุกตัวต้องเผชิญกับทั้งเรื่องดีและร้าย อาทิ การถูกกดขี่ ความล้มเหลว ความโศกเศร้า มิตรภาพ และความหวัง


อีกประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุดก็น่าจะเป็นประเด็นเของแนวความคิด Existentialism ซึ่งเชื่อว่าชีวิตคนเรานั้นยากเย็นแสนเข็ญ ไร้ซึ่งจุดหมาย ดังนั้นมนุษย์เราควรจะต้องเป็นคนกำหนดชีวิต และคุณค่าของตัวเองเพื่อความอยู่รอด ไม่มีเทวดาฟ้าดินที่ไหนมาลิขิต หรือช่วยเราได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชี้ชัดว่าเรื่องราวในละครต้องการจะสื่ออะไร ส่วนตัว Beckett เองเคยกล่าวไว้สั้น ๆ ว่าเหตุใดจึงต้องไปคิดให้ซับซ้อน ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันคือเรื่องของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตพวกหนึ่งที่มาอยู่ร่วมกัน และเกิดการพึ่งพาอาศัย จุนเจือซึ่งกันและกันเท่านั้น ทุกสิ่งที่ปรากฏคือเกมที่คนเรามีต่อกัน แต่เขาก็ยอมรับว่าการที่มีผู้พยายามตีความออกมาหลายประเด็นเช่นนี้เองที่ทำให้บทละครเรื่องนี้เปิดกว้างซึ่งถือเป็นจุดเด่นและเป็นเหตุผลของความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

Sunday 13 July 2008

คอย ก.ด.


พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ New Theatre Society
เสนอ

การรอคอยของ...
สินีนาฏ เกษประไพ
จารุนันท์ พันธ์ชาติ
สุมณฑา สวนผลรัตน์
ฟารีดา จิราพันธุ์


ใน... ละครแอ๊บแบ๊ว..เล่นไป..ร้องไป..คอยไป..


"คอย ก.ด."

สืบเนื่องมาจากบทเรื่องนั้นของซามูเอล เบ็กเก็ตต์
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กำกับการแสดง


22 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2551
ณ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
รอคอยทุกคืนเวลา 19.30 น. เว้นคืนวันจันทร์


บัตรการรอคอยราคา 300 บาท (นักเรียน,นักศึกษา ป.ครี 250 บาท)



สำรองที่นั่งคอยได้ที่โทร 086 787 7155


รับผู้ชมเพียง 30 คนต่อรอบเท่านั้น

พูดคุยกับนักแสดงและผู้กำกับ "รักบังตา"

แม้จะผ่านไปแล้ว และเราก็ยุ่งจนไม่สามารถโพสต์ได้ตามตั้งใจไว้
แต่เราจะพยายาม

โปรดติดตามในวันสองวันนี้

Tuesday 1 July 2008

อีกครั้งกับเรื่องความรัก

เรื่องรักที่อาจฟังคุ้นหู ดูคุ้นตา และอาจคุ้นใจ

"รักบังตา"

นักแสดง
เกรียงไกร ฟูเกษม จากผลงานเรื่องล่าสุด ผ่าผิวน้ำ
ภาวิณี สมรรคบุตร จากผลงานเรื่องล่าสุด The Mind Game
เพียงไพฑูรย์ สาตราวาหะ เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ สะพานความมายเลิฟ
และ
จิรายุทธ ชัยเชียงเอม นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์


บางส่วนจาก Director Note:

ละครคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง เป็นการสื่อสารจากผู้หนึ่งผ่านบทละครและการแสดงไปสู่ผู้หนึ่งหรือกลุ่มคนหนึ่ง
ละครเรื่องรักบังตาก็เช่นกัน เนื่องจากในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความตรึงเครียดจนทำให้หลายคนเจอกับปัญหาและไม่มีทางออก
ทั้งปัญหาส่วนตัวและความรัก


เมื่อปัญหามาปิดบังทางออก คนเหล่านั้นมักคิดว่ามีตัวคนเดียวอยู่ในโลก ไม่มีใครเข้าใจ

ละครเรื่องรักบังตาจึงเพียงแค่ต้องการอยากจะบอกอยากให้กำลังใจผู้ที่กำลังมีปัญหาให้ลืมตาขึ้นมามอง
ก็จะเห็นว่ามีคนอีกมากมายที่อยู่รอบตัวเรา แต่ถ้าหากหลับตาแล้วจะเห็นใครได้อีกแม้แต่ตัวเอง