welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Saturday 28 February 2009

Hamlet - ฝ่ายบัตรขอบอก

ฝ่ายบัตรของ New Theatre Society ขอบอกกล่าวกับท่านผู้ชมว่า

'Hamlet: The Techno Drama'

เชิญจองบัตรได้แล้วนะคะ!!
2 วันแรก ราคาบัตรจะถูกสุด @ 250 บาท

หลังจากนี้ราคาจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ รีบๆจองนะคะ อิอิ

รอบละ 30 ที่นั่งเท่านั้น

มีเพียง 10 รอบเท่านั้น ค่ะ

Friday 27 February 2009

Director's Note on HAMLET




“จะอยู่หรือตายนั่นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป”



“แฮมเล็ต” เป็นหนึ่งในบรรดาบทละครสุดโปรดของผม เนื่องจากมันเป็นละครที่ผมอยากเรียกว่า “มีปัญหามาก” ในหลาย ๆ ด้านจนน่าสนใจ ครูของผมคนหนึ่งที่อังกฤษเคยพูดให้ฟังว่าเหตุที่เรื่องนี้มันมีความยาวมากและบางทีอาจจะซับซ้อนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ของเชคสเปียร์อาจเป็นเพราะว่ามีการแต่งเสริมเข้าไปโดยฝีมือนักแสดงในสมัยต่อ ๆ มา ซึ่งนั่นก็อาจเป็นไปได้อีกว่าเหตุใดละครเรื่องนี้ถึงได้มีมิติที่หลากหลายมากตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับอภิปรัชญา อีกทั้งยังเอื้อต่อการตีความไปต่าง ๆ นานาตามแต่เหตุผลและความรู้สึกของผู้กำกับการแสดง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องขอแสดงความนับถือต่อผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเสน่ห์ให้แก่บทละครเรื่องนี้-ที่มีความเป็นปริศนามากพออยู่แล้ว...ให้มีความปริศนามากขึ้นไปอีก...ถือว่าเป็นโชคดีแท้ ๆ ของชาวโลกชนิดหนึ่ง



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในการทำแฮมเล็ตครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นอภิปรัชญาใด ๆ ตามที่นักวิชาการหรือนักวิจารณ์ได้สร้างฐานข้อมูลและชุดความคิดให้เราได้ร่ำเรียนหรือรับรู้กันมา ผมไม่ได้เปลี่ยนบทของเชคสเปียร์ด้วยวิธีการที่ผมเคยใช้ในการดัดแปลงบทต่างประเทศเหมือนเรื่องก่อน ๆ ผมทำแค่การตัดต่อบทแล้วค้นหารูปแบบการนำเสนอตามสัญชาติญาณในระหว่างกระบวนการซ้อมเท่านั้น อีกทั้งผมไม่คิดที่จะเชื่อมโยงแฮมเล็ตกับบริบททางสังคมใด ๆ อย่างที่เคยเป็นที่นิยมทำกันด้วย สิ่งที่ผมสนใจในปัจจุบันอยู่ที่ความเป็นตัวตนของแฮมเล็ต ซึ่งไม่ว่าใคร (หมายถึงทั้งคนในเรื่องและนอกเรื่อง) จะว่าเขาเป็นอย่างไร ผมได้มุ่งพิจารณาเฉพาะในสิ่งที่เขาคิด พูด และกระทำออกมาเท่านั้น การดึงบทเฉพาะที่แฮมเล็ตพูดออกมาเรียงร้อยต่อกันโดยเฉพาะช่วงที่เรียกว่า “บทรำพึงรำพัน” (soliloquy) ผมไม่เพียงแต่พบว่ามันสามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบได้ (แถมยังสามารถทำเป็นการแสดงเดี่ยวได้ด้วย) แต่ทำให้ผมรู้สึกมากยิ่งขึ้นด้วยว่าเขาไม่ได้ผิดแผกอะไรไปกว่ามนุษย์ธรรมดาปกติทุกคนซึ่งสามารถเป็นไปได้ทุกอย่าง


ผมรู้สึกว่าวลีสุดฮิตอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลที่ว่า “To be or not to be that is the question” นั้น อาจจะไม่แตกต่างอะไรกับ “ดาวินชีโค้ด” ที่สามารถเอามาไขปริศนาอันซับซ้อนในตัวของเขาได้ ผมจึงลองใช้วลีนี้เป็นแกนในการสำรวจการกระทำทุกอย่างของแฮมเล็ต ไม่ว่าจะเป็นการใช้จับหรือถอดประโยคต่าง ๆ ในเรื่องที่แฮมเล็ตพูดไปโดยตลอด ไปจนถึงการลองเปลี่ยนคำในวลีนี้ดู แต่ยังคงรักษาแบบแผนของกวีนิพนธ์ประหลาด feminine ending ที่มี 11 พยางค์ไว้ (ปกติจะมี 10 พยางค์) เผื่อว่าอาจจะเจออะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงกับความคิดสะเปะสะปะที่ทดไว้ในใจได้ จนในที่สุดรูปนักโทษคนหนึ่งที่ถือป้ายเขียนข้อกล่าวหาก็ได้ดลใจให้ผมลองเปลี่ยนคำสุดท้ายจากคำว่า “question” เป็น “sentence” แล้วผมก็ถึงบางอ้อทันทีสำหรับทิศทางการกำกับการแสดงในครั้งนี้ มันคงจะต้องเป็นไปได้ว่า “คนเราจะอยู่หรือตาย จะเป็นโน่นนี่นั่นหรือไม่เป็นนั่นโน่นนี่ แท้จริงมันถูกตัดสินเรียบร้อยแล้วโดยคนอื่น ๆ หาใช่ปัญหาหรือคำถามอีกต่อไป”


แน่นอน ผมตั้งสมมุติฐานว่าสิ่งนี้เองคงเป็นชะตากรรมที่จำเลยอย่างแฮมเล็ตจำต้องเผชิญตลอดเรื่องราวที่เกิดขึ้น และด้วยความรู้สึกต่อเรื่องในวิถีทางนี้ ทำให้ผมมองเห็นมิติในวิธีการใคร่ครวญคิดหาหนทางของแฮมเล็ตที่ดูเหมือนจะมีจังหวะตอกย้ำ และท่วงทำนองหลอกหลอนราวกับดนตรีแนว Trance และ Techno ทุกประโยคที่เขาพูดและทุกการกระทำที่เขาแสดงออกมา ทำให้ผมเชื่อชัดได้ว่านั่นเป็นคำตอบที่แจ่มแจ้งพอว่าเขากำลัง “หลีกหนี” (escape) จากการพิพากษา ทั้งจากตัวของเขาเองและจากคนอื่นเพื่อธำรงความมีอยู่ของตัวตนในสภาวะที่เขาเชื่อว่าเลวร้าย ครั้งนี้ผมจึงไม่รู้สึกว่าเขาเป็นนักสู้ผู้มุ่งมั่น หรือผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขาเป็น “The Fool” ผู้สับสน ร้อนรนและขลาดเขลา (รวมทั้งเขาอาจจะรู้ชะตากรรมตั้งแต่เริ่มต้นปัญหาแล้วว่าท้ายที่สุดเขาจะต้องตาย)


และการที่เขาพยายามใคร่ครวญเหตุผลของการดำรงอยู่ของตัวตนนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนอื่น ๆ มองเขาว่าเป็นคนวิกลจริต หรือแสร้งทำเป็นวิกลจริตเพื่อหวังผลอะไรบางอย่างก็ได้ ซึ่งนั่นก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถฟันธงหรือคอนเฟิร์มว่าฝ่ายไหนทำผิดแต่อย่างใด เพียงแต่คนเราอาจจะเกิดและเติบโตมามาพร้อมกับชุดความคิดที่แตกต่างกันเท่านั้น ทุกคนเป็นโจทก์และจำเลยของตัวเอง รวมทั้งเป็นโจทก์และจำเลยของซึ่งกันและกัน อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ที่รอด ใครเป็นคนตัดสิน และใครจะเป็นผู้ที่โดนดี...จะอยู่หรือจะไป...ก็เท่านั้นเอง


ขอให้ทุกคนโชคดีและมีความสุขที่สุดตามอัตตภาพ ส่วนตัวผมเองก็ยังคงอยากที่จะทำแฮมเล็ตในแบบที่มีตัวละครครบเซ็ทในโอกาสต่อไป อิอิ


ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
กรุงเทพฯ 25 กุมภาพันธ์ 2552

Thursday 26 February 2009

H-A-M-L-E-T Preview


H-A-M-L-E-T
THEATRE PREVIEW in Daily Xpress
By Pawit Mahasarinand
SPECIAL TO DAILY XPRESS
Published on February 26, 2009


THEATRE PREVIEWDISCO SHAKESPEARE!


The one-man show 'Hamlet: The Techno Drama' should be a stunner
Having proved itself with adaptations of "Waiting for Godot" and "Arms and the Man", the New Theatre Society, led by veteran director Damkerng Thitapiyasak, is about to tackle one of the most complex plays of all time.
"To be or not to be," the promotions say, "that is the … sentence" - and you know right away that this is going to be a different species of "Hamlet".
For one thing, it's a solo performance. For another, the full title is "Hamlet: The Techno Drama".
"It's set in the modern day," Damkerng explains.
"It's like entering a discotheque where trance and techno music are filling the air, and my script focuses on Hamlet's confusion. In my opinion, what the other characters view in his actions as madness is simply him escaping from his misery."

And the miserable lunatic alone onstage?
"I've seen different versions of the play, by visionary directors like Robert LePage, Robert Wilson and Peter Brook," says Damkerng, "and I found that it can be told entirely through Hamlet's point of view.

"I experimented by using only his soliloquies and monologues and putting them all together - cutting the play down to the core - and found that the whole story still makes sense.
One actor
"All the major characters are still there, but they're being portrayed by just one actor."

Damkerng chose one of Thailand's most charismatic stage performers, Nophand Boonyai, whom he directed in last year's "Breaking the Surface".
"He has a rebel's character and frequently comes up with new ideas. I suggested some line changes to make them more modern, but he insisted on memorising the poetic ones."

Nophand's performance will be augmented with projected images arranged by Banphot Wutthipreecha - tarot cards to indicate the different characters and video to help present the royal ghost.
HAMLET IN DA HOUSE


"Hamlet: The Techno Drama" is at the Crescent Moon Space
at the Pridi Banomyong Institute.

Showtime is 7.30 nightly from next Wednesday to Sunday
(March 4 to 15).
Tickets are Bt250 to Bt350.

Call (086) 787 7155


H-A-M-L-E-T


“To be or not to be that is the sentence: จะอยู่หรือตายนั่นเป็นคำตัดสิน”
New Theatre Society ได้ร่วมกับ Crescent Moon Space เปิดศักราชใหม่ประจำปี 2552 ด้วยการแสดงเดี่ยวของ
“อ้น - นพพันธ์ บุญใหญ่”
ในละครเวทีแนวเทคโนเรื่อง

“แฮมเล็ต”
จากบทละครอมตะของ วิลเลียม เชคสเปียร์
ดัดแปลงบทและกำกับการแสดงโดยดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์


เรื่องราวของ ละครกล่าวถึง “แฮมเล็ต” ชายหนุ่มผู้มุ่งมั่นแต่สับสน เขาปักใจเชื่อว่าอาของเขาได้สมคบกับแม่ของตนในการสังหารพ่อของเขาเพื่อครอบ ครองทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความปรารถนาที่จะรู้ความจริงให้ได้ เขาจึงจัดการแสดงละครเลียนแบบเหตุการณ์การฆาตกรรมขึ้นมาเพื่อจับพิรุธผู้ ต้องสงสัย ซึ่งในระหว่างกระบวนการนี้เองได้โยงใยผู้คนหลายคนหลายฝ่ายเข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น “โอฟีเลีย” คนรักของเขา รวมไปถึง “โฮราชิโอ” เพื่อนสนิท, “โพโลเนียส” ชายชราเจ้าเล่ห์พ่อของโอฟีเลีย” รวมทั้ง “โรเซนครานซ์” และ “กิลเดนสเทิร์น” สหายเก่าซึ่งถูกส่งตัวมาให้จับตาดูความประพฤติของเขา
แทบทุกคนได้ลงความเห็นว่าแฮมเล็ตมีอาการวิกลจริต และในที่สุดเขาก็ได้ถูกส่งตัวไปยังอังกฤษเพื่อแผนการสังหาร แต่โชคชะตานำพาให้เขารอดกลับมาจนได้เพื่อทำการแก้แค้น และได้มาเผชิญหน้ากับ “เลเอทิศ” ผู้ผูกจิตพยาบาทจากการที่แฮมเล็ตสังหารโพโลเนียสผู้เป็นบิดา รวมทั้งยังเป็นสาเหตุของการตายของโอฟีเลียน้องสาวของเขาอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการนำเสนอแฮมเล็ตในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงเดี่ยวที่นักแสดง “อ้น - นพพันธ์” จะต้องรับหน้าที่เป็นตัวละครหลายหลากบทบาทในเวลาเดียวกันแล้ว ยังเป็นการนำเอาเทคนิคด้านภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาสร้างมิติใหม่ให้แก่การเล่าเรื่องราวอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนหนึ่งเป็นผู้ติดตามความรู้สึกภายในจิตใจของแฮม เล็ต รวมทั้งตัวละครต่าง ๆ ที่ร้อนรนอยู่ภายใต้บรรยากาศอันรุนแรงและน่าสะพรึงด้วยดนตรีแนว Trance และ Techno อันเร้าใจไปในเวลาเดียวกัน

“แฮมเล็ต”
จัดแสดงเพียง 10 รอบเท่านั้น
ณ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space
สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ

ระหว่างวันที่ 4-15 มีนาคม 2552
เวลา 19.30 น. / 10 รอบ (เว้นวันจันทร์,อังคาร)
การแสดงมีความยาว 100 นาที รวมพักครึ่ง
บัตรราคา 250-350 บาท

สำรองที่นั่งได้แล้ววันนี้ที่โทร 086 787 7155
ที่นั่งมีจำนวนจำกัดเพียง 30 ที่ต่อรอบเท่านั้น

Wednesday 25 February 2009

Water Time’s Note

เก็บข้อความเล็กๆของผู้กำกับและนักแสดงจากสูสิบัตรเรื่อง Water Time

Playwright’s note – โชโกะ ทานิกาวา

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่มีคนขอให้เขียนให้ พอเริ่มเขียน ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ภาพของน้ำทำให้ผมได้อะไร “ผมนั่งมองสายน้ำอยู่นาน แล้วผมก็เขียนมันออกมา”

Director’s note – พันพัสสา ธูปทียน
สายน้ำ และเวลามีความเกี่ยวพันธ์กันคือ เวลานั้นเปรียบเสมือนสายน้ำที่ไหลผ่านไปและไม่มีวันหวนคืน การเสียใจกับอดีต เป็นความเจ็บปวดที่เศร้ามาก เพราะเราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ Water Time มีจุดกำเนิดจากการพูดคุยกันกับนักแสดง คนเขียนบทและผู้กำกับ โดยนำเอาประสบการณ์ร่วมของพวกเรามาเป็นแรงบันดาลใจ “This one is for you…DAD”


Actor’s note

“ขอบคุณบทดีๆ ผู้กำกับเก่งๆ นักแสดงและทีมงานทุกคน มีความสุขมากที่ได้ทำและเล่นเรื่องนี้” ศศิธร พาณิชนก (ฮีน)

“ตอนที่เขียนบท คิดว่าบทเคนจิเป็นบทที่นักแสดงชายน่าจะอยากเล่น แต่พอต้องมาเล่นเอง มันไม่ง่ายเลย แต่จะพยายามครับ Gan ba ri mas!”
โชโกะ ทานิกาว่า (โช)

"บางครั้งเราก็ตัดสินใจอะไรง่ายไป พอเขาชวนก็มา... แต่ดีใจมากที่ครั้งนี้ตัดสินใจไม่ผิด”
อภิรักษ์ ชัยปัญหา (โย)


ข้อความเล็กๆจาก Life Theatre –หนิง – ฮีน - โช

“เกิดขึ้นจากความคิดร่วมกันของเราสามคน ที่อยากทำละครเรียบๆ ง่ายๆ แต่จริงใจ และแสดงถึงแง่มุมของชีวิตมนุษย์ที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง”
“We want to create something simple, straight forward but full of real feeling, and this is the beginning of LIFE THEATRE. We hope that our works will reflect some aspect of life which already has its own value.”

Monday 23 February 2009

Water Time - ในโลกใต้น้ำ

เหลืออีกเพียงอาทิตย์นี้อาทิตย์เดียวเท่านั้น อย่าพลาดกับห้วงเวลาของน้ำ มีคนเขียนวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในบล๊อกมัลติพลาย เราเลยขอเขาเอามาลงให้อ่านกัน หากใครยังไม่ได้ดู แนะนำว่าอย่าเพิ่งอ่าน




Water Time...ในโลกใต้น้ำ
Feb 22, '09 6:23 PM
Hype Art & Culture, March 2009







Text : วรัญญู อินทรกำแหง – varanyoob@hotmail.com


Water Time - ในโลกใต้น้ำ...รอยยิ้มและร่างกายของเธอคืออากาศที่ผมใช้หายใจ ผมไม่ได้เขียนถึงละครในแนวสมจริง (realistic) มาเสียนาน อาจจะเป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวที่ช่วงหลังๆ รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการแสดงในแนวนี้ที่ต่อให้ผู้แสดงๆ ได้ดีและสมจริงเพียงใด แต่เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อประเภทละครเวที (แสงเสียง ฉาก โรงละคร) ซึ่งแม้จะพยายามจะช่วยสมรู้ร่วมคิดสร้างความเชื่อไปกับเขาด้วยแล้วก็ตาม ผู้ชมอย่างเราก็จะรับรู้อยู่เสมอว่านั่นไม่ใช่ความจริง ซึ่งผิดกับสื่อภาพยนตร์ซึ่งมักจะให้ ‘ภาพลวง’ ที่สมจริงได้มากกว่า ประกอบกับผมไม่ค่อยโชคดีได้เจอละครในแนวสมจริงซึ่งมีนักแสดง ‘ทั้งแคส’ ที่ทั้งมีพลังและแสดงได้ดีจนเป็นธรรมชาติจนทำให้เรารู้สึกเชื่อไปตามบทบาทที่พวกเขาได้รับไปตลอดเรื่องได้ นี่ยังไม่นับเรื่องบทละครในแนวนี้ซึ่งหาคนเขียนดีได้ยากเต็มทีอีกประการหนึ่ง ทำให้ช่วงหลังๆ ความสนใจของผมจึงหันเหไปที่ละครแนว stylization มากกว่า เพราะไหนๆ ถ้าจะหาความสมจริงได้ยากถึงเพียงนั้นแล้ว ก็ไปหา ‘ความจริง’ ในความไม่สมจริงแต่มีสไตล์และมีพลังน่าจะดีกว่า แต่การได้กลับมาชมละครเวทีเล็กๆ เรื่องนี้ทำให้ต้องหวนกลับมาพิจารณาอะไรบางอย่าง และคงถึงขั้นเสียดายหากไม่ได้ชมละครเวีทีเล็กๆ เรื่องนี้

‘Water Time’ เป็นผลงานของกลุ่ม ‘Life Theatre’ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นชื่อใหม่สำหรับผู้ชมละครเวทีในบ้านเรา แต่หากพลิกไปดูสูจิบัตรแล้วจะพบว่าเป็นชื่อที่คุ้นหูพอสมควร เพราะเกิดจากการรวมตัวของสามคนละครอันได้แก่ พันพัสสา ธูปเทียน หรือ ‘ครูหนิงเอเอฟสอง’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ, โชโกะ ทานิกาวา หนุ่มลูกครึ่งชาวไทยญี่ปุ่น ที่สร้างสีสันผลงานละครเวทีอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทั้งในฐานะนักแสดง และผู้กำกับฯ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง ‘Water Time’ นี้เองอีกด้วย ส่วนอีกคนคือ ศศิธร พานิชนก หรือ ‘ฮีน’ ซึ่งหลายคนอาจจะจำเธอได้จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ตะลุมพุก’ เมื่อหลายปีก่อน น่าชื่นใจว่าเธอก็เป็นหนึ่งในไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของบัณฑิตสาขาการละครมาที่ยังคงทำงานด้านนี้ต่อหลังเรียนจบ

เรื่องราวใน ‘Water Time’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาต่างเชื้อชาติซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเม้นต์กลางมหานครนิวยอร์ก เรื่องเปิดขึ้นที่หญิงสาวคนหนึ่งตื่นขึ้นมาตอนเช้าและเปิดเพลง ‘A Time For Us’ และซ้อมแสดงบทของจูเลียตในละครเรื่อง Romeo & Juliet ของเชกสเปียร์ ซึ่งซ่อนนัยยะสำคัญต่อสารที่ละครต้องการจะสื่อเอาไว้ ต่อมาเราได้รับรู้ว่าผู้หญิงคนไทยคนนี้ชื่อ ‘น้ำ’ เป็นภรรยาของ ‘เคนจิ’ นักเขียนบทละครชาวญี่ปุ่นหัวดื้อ ซึ่งเคยมีผลงานสร้างชื่อเสียง แต่ก็ตกอับเพราะไม่ได้เขียนงานที่ใช้ได้มาพักใหญ่แล้ว จนภรรยาซึ่งเป็นนักแสดงต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้านด้วยการเป็นสาวเสิร์ฟและหมั่นไปออดิชั่นเป็นนักแสดงควบคู่ไปด้วย ภายใต้สภาวะความกดดันของชีวิตคู่ เคนจิตั้งใจจะเขียนบทละครที่ทั้งขายได้และมีความแปลกใหม่ทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับงาน

ในขณะที่น้ำคาดหวังว่าเคนจิจะเขียนบทละครซึ่งเป็นที่น่าจดจำเช่นเดียวกับบทละครเรื่องที่นำทั้งคู่ให้มาพบรักและแต่งงานกันรวมทั้งทำความเข้าใจกับความต้องการของเธอให้มากกว่านี้ ประกอบกับความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของทั้งคู่อันเปรียบเสมือนกำแพงที่มองไม่เห็นที่กั้นพวกเขาให้ไกลห่างจากกันออกไป ซึ่งเราจะได้เห็นกำแพงนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในยามที่ทั้งสองคนทะเลาะและระเบิดอารมณ์ใส่กันด้วยภาษาแม่ของแต่ละคนโดยไม่ยอมใช้ภาษาอังกฤษอันเป็นสื่อกลาง ร้อนไปถึงเพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นต์ชาวไทยที่ชื่อ ‘เอ’ (บทนี้รับเชิญโดยอภิรักษ์ ชัยปัญหา) ที่จะต้องมาคอยเป็นล่ามแปลภาษาให้แบบแถๆ ไม่กล้าแปลให้ตามจริงเพราะกลัวว่าคู่รักเขาจะแตกหักกันเพราะตนเอง

พูดง่ายๆ ว่าละครเรื่องนี้เป็นละครสามภาษาซึ่งในช่วงสองในสามของเรื่องจะมี subtitle ทั้งสามภาษาบรรยายให้กับผู้ชมที่รู้ไม่ครบทั้งสามภาษา ด้วยความจงใจของผู้กำกับฯ ที่ต้องการจะให้คนดูอยู่ในฐานะผู้รู้ที่มีความเข้าใจในเหตุผลการกระทำของตัวละครทั้งสองคน ซึ่งหากคิดๆ ดูแล้วการที่นำเพลง A Time For Us และบทละครของเชกสเปียร์มาใช้ในตอนแรกนั้นก็เพื่อต้องการสื่อเห็นว่าสิ่งซึ่งเป็นกำแพงของความรักระหว่างโรเมโอกับจูเลียตนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกอันมาจากความขัดแย้งของทั้งสองตระกูล

ส่วนอุปสรรค์ความรักของน้ำและเคนจิใน Water Time นั้นหากมองเผินๆ แล้วอาจคิดได้ว่าเป็นเรื่องของภาษา แต่เมื่อ Subtitle ช่วงท้ายของเรื่องหายไปผู้ชมจะพบความจริงว่ามันมาจากปัจจัยภายในของคนทั้งคู่เอง โดยเฉพาะตัวละครฝ่ายชายซึ่งไม่ได้ตระหนักหรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ณ ปัจจุบัน จนมาเข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อรู้ว่าไม่สามารถหวนคืนเวลากลับมาได้ เหมือนกับประโยคหนึ่งภายในเรื่องที่บอกว่า... “ในโลกใต้น้ำที่อึดอัดหายใจไม่ออก...รอยยิ้มและร่างกายของคุณคืออากาศที่ผมใช้หายใจ

โดยรวมแล้วการแสดงของนักแสดงทั้งสามถือว่าดีมากๆ ทีเดียวครับ เมื่อหลายปีก่อนผมเคยเขียนวิจารณ์เกี่ยวกับการแสดงของฮีนในละครเวทีเรื่องกุหลาบสีเลือดไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่งอย่างค่อนข้างแรงว่าน่าผิดหวังที่เป็นนักเรียนการละคร หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ชมการแสดงของเธออีกเลย พอมาเจอในเรื่องนี้เธอลบคำสบประมาทนั้นลงได้อย่างราบคาบเชียวล่ะครับ แถมยังมีเสน่ห์มากสำหรับบทของน้ำ, โชโกะในบทเคนจิเองก็มีเสน่ห์ อารมรณ์ขัน และความน่ารำคาญได้ในเวลาเดียวกันตามที่แคเร็คเตอร์นี้ควรจะเป็น ส่วนบทรับเชิญของอภิรักษ์ ชัยปัญหาที่โผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยนั้นก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใดทั้งยังสร้างสีสันให้กับเรื่องได้มาก

นอกจากบรรดานักแสดงแล้วคงต้องยกความดีให้กับ ‘ครูหนิง’ ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ ที่สามารถโค้ชนักแสดงให้แสดงออกมาได้อย่างมีจังหวะจะโคนและเป็นธรรมชาติจนมีบางช่วงที่แม้จะรุ้อยู่แล้วว่าไม่จริงแต่กลับรู้สึก ‘จริง’ จนเผลอคิดไม่ได้ว่ากำลังแอบดูชีวิตของคนอื่นอยู่หรือเปล่า แต่อีกประการหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือความเรียบง่ายจากการแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาของตัวละครซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเสน่ห์ที่ดูง่ายสำหรับคนดูโดยทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็มองได้เช่นกันว่าเป็นจุดด้อยที่ยังอาจจะดูได้ว่าอ่อนชั้นเชิงไปสักหน่อยสำหรับคนดูอีกจำพวกที่ต้องการความท้าทายขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง กระนั้นแล้ว ละครเวทีเล็กๆ ในแนวสมจริงเรื่องนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของนักการละครท่านหนึ่งที่เคยพูดคุยกันเมื่อหลายปีที่แล้วและบอกว่า “realistic…absurd…melodrama หรือ Brecth ไม่ว่าละครแนวไหนต่างก็มีความงามในตัวของมันเองทั้งสิ้น ถ้าเพียงแต่ละครเรื่องนั้นจะไปให้สุดทาง” และก็ทำให้ผมตระหนักถึงความงามที่ว่าของละครในแนวสมจริง รวมทั้งคุณค่าของความรัก ณ ปัจจุบัน จนอยากกลับบ้านไปกอดแฟนและรักษามันไว้ให้ดีๆ ก่อนที่จะขาด...อากาศหายใจ


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
http://varanyoob.multiply.com/journal/item/31/31

Sunday 22 February 2009

ภาพจาก Water Time

เก็บภาพจากละครเรื่อง Water Time มาให้ดูกัน
ภาพถ่ายโดย พลัฏฐ์ สังขกร















น้ำ กับ เคนจิ แสดง โดย ฮีน ศศิธร และ โชโกะ

















กับความสัมพันธ์ของพวกเขา

















เพื่อนของทั้งคู่ แสดง โดย โย อภิรักษ์






ยังเหลืออีกหลายรอบ แต่อย่าวางใจ
โปรดกรุณาโทรจองก่อน
เพราะโรงละครรับผู้ชมรอบละ 30 ที่นั่ง






โทร 082 558 6163


Tuesday 17 February 2009

Water Time รอบแถลงข่าว

เมื่อวานนี้ 16 กุมภาพันธ์ มีละคร Water Time รอบแรก ซึ่งเป็นรอบแถลงข่าว เรื่องนี้ทั้งผู้กำกับ นักแสดง และทีมงาน ต่างตั้งใจกันมากที่จะจำลองฉากในอพาร์ทเม้นท์ของสองตัวเอก ละครเรื่องนี้ยังนำเสนอบทละครเกี่ยวกับความรักและความเข้าใจระหว่างกัน เน้นการแสดงอารมณ์อันละเอียดอ่อน ใครเป็นแฟนฝีมือกำกับของครูหนิง พันพัสสา และติดตามการแสดงของ ฮีน โชโกะ และ โย มาติดตามชมกันได้ Water Time เริ่มแสดงตั้งแต่วันนนี้ แสดงจนถึงวันที่ 1 มีนาคมนี้ ที่ Crescent Moon space

"Water Time" in NATIONblog

Permalink : http://blog.nationmultimedia.com/danceandtheatre/2009/02/11/entry-1

Monday 16 February 2009

Water Time เล่นจริงแล้ว




Water Time
(Mizuno Zikan)


"เวลาทะเลาะกับแฟน เราทะเลาะเป็นภาษาอะไร"

เรื่องของนักเขียนบทหนุ่มชาวญี่ปุ่น และ สาวไทย

Play in English Japanese and Thai with subtitle



กำกับการแสดงโดย พันพัสสา ธูปเทียน

เขียนบท โชโกะ ทานิกาวา

นักแสดงชาย โชโกะ ทานิกาวา
นักแสดงหญิง ศศิธร พานิชนก
และ อภิรักษ์ ชัยปัญหา


Showtime

17 กุมภาพันธ์ 2552 - 1 มีนาคม 2552
รอบเวลา 19.30 น.
*****ยกเว้นวันจันทร์*****

เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น.
(รวม 16 รอบ)

บัตรราคา 300 บาท, นักเรียน นักศีกษา 150 บาท


สร้างสรรค์โดย Life Theatre


Tel 0825586163


E mail : lifetheatrebkk@gmail.com

http://lifetheatre.page.tl

Sunday 15 February 2009

MEMOMENT โมเม้นท์นี้ของพวกเขา



บรรยากาศการแสดงสด MEMOMENT

ในส่วนบริเวณหน้างาน เป็นส่วนภาพถ่าย ในส่วนการแสดงแบ่งพื้นที่การแสดงเป็นสองส่วน คือใน Crescent Moon space จะเป็นส่วนของการแสดงการเคลื่อนไหว และในห้อง B Floor room จะเป็นส่วนของดนตรี ทั้งสองห้องจะถูกเชื่อมกันด้วยเสียงดนตรี หนังสั้น และภาพวิดิโอ

การแสดงทั้งสองวันจบลงไปแล้วอย่างสวยงาม

เรามีภาพการเคลื่อนไหวของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ มาให้ดูกัน
ภาพถ่ายโดย ภูมิฐาน ศรีนาค





































Friday 13 February 2009

อุ่นรัก...อ่าน(เรื่อง)รัก

มีคนเขียนถึงโครงการอ่านบทละครที่บล็อคโอเคเนชั่น เมื่อวันพุธ ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 เลยขอเค้าแล้วเอามาลงไว้ที่นี่ด้วย


อุ่นรัก...อ่าน(เรื่อง)รัก
Posted by nonglucky



อ่าน(เรื่อง)รัก : อ่านรักจากวรรณกรรม



พระจันทร์เสี้ยวการละค
ร โดย สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงปี ๒๕๕๑ ได้ชักชวนนักการละคร ๑๐ คน ที่สมัครใจร่วมโครงการ อ่าน(เรื่อง)รัก : อ่านรักจากวรรณกรรม มาร่วมกันสุมหัวเพื่อนำเสนอความรักหลากหลายมิติ เรื่องรักทั้ง ๑๐ สินีนาฏเปิดพื้นที่ให้กับคนทำละครทั้งสิบชีวิต คัดสรรนำมาอ่าน และนำเสนอชิ้นงานทั้งสิบอย่างอิสระ สินีนาฏกล่าวว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในปีที่ผ่านมา มีความตึงเครียด บรรยากาศของบ้านเมืองทำให้เกิดการแบ่งแยกและเกลียดชัง จึงอยากนำเสนอโครงการแรกจากพระจันทร์เสี้ยวด้วยเรื่องรัก เพื่อให้ผู้สนใจพูดถึงความอ่อนไหวในใจอย่างความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ร่วมงานกับคนทำละครทั้งสิบ ทำให้เห็นมิติความหลากหลาย มุมมองความรัก หนังสือที่เขาชอบอ่าน การตีความที่มีต่อความรักและวรรณกรรม

แม้จะเป็น โครงการที่ไม่มีกระบวนการซับซ้อนเหมือนการทำละครเวที แต่ทั้งสินีนาฏและนั
กการละครอีกสิบคน มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ๓ ครั้ง และเตรียมงานกันร่วมหนึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนเศษๆ สวนีย์ อุทุมมา, สายฟ้า ตันธนา, คานธี อนันตกาญจน์, อภิรักษ์ ชัยปัญหา, ปานรัตน กริชชาญชัย, เกรียงไกร ฟูเกษม, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศรวณี ยอดนุ่น, เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ และสุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล คือนักทำละครทั้งสิบคนที่ยินดีเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทุก คนต่างมีฉากและตอนที่ประทับใจในแง่มุมของความรัก จากหนังสือที่พวกเขาคัดมาแตกต่างกัน เรื่องรักทั้งสิบมีทั้งงานเขียนของนักเขียนไทยและนักเขียนต่างประเทศ


การนำเสนอ นักทำละครทั้งสิบจะนำเรื่องรักที่ตัวเองคัดตอนมาแล้ว มาอ่า
นให้ผู้เข้าชมฟัง พร้อมกับมีการแสดงประกอบไปด้วย วิธีการแสดงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนำเสนอแบบสื่อมัลติมีเดีย ฉายภาพเคลื่อนไหวประกอบ มีเสียงดนตรี การจัดฉากเล็กๆ เหมือนเล่นละครเวที ความรู้สึกเหมือนได้นั่งชมละครเวทีสั้น ๑๐ เรื่อง แต่ละครเวทีสั้นครั้งนี้ มีนักแสดงถือแผ่นกระดาษอ่านบทให้ฟังไปด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยอารมณ์รัก เศร้า สูญเสีย เป็นน้ำเสียงการอ่านที่มาจากอารมณ์อันเป็นแรงขับที่เกิดจากการรู้สึกไปกับ งานเขียนทั้งสิบเรื่อง แต่ละเรื่องมีความยาวตั้งแต่ ๑๐ นาทีไปจนถึง ๒๐ นาที


สวนีย์ อุทุมมา นักทำละครจากกลุ่มมะขามป้อม คัดตอ
น ๔ หน้า ๔๒-๕๒ ของนวนิยายเรื่อง “ความรักของวัลยา” เขียนโดย เสนีย์ เสาวพงศ์ สวนีย์บอกว่า ชอบเรื่องนี้มากตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น แม้ภาษาจะอุดมคติ แต่ก็ยังเลือกตอน ๔ ที่มีหญิงชราชาวฝรั่งเศส สนทนากับตัวเอกในเรื่องถึงความกล้าหาญของสตรีชาวฝรั่งในหน้าประวัติศาสตร์ ของฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มตั้งแต่การทำลายคุกบาสติลล์ไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีรุกราน หญิงชราชาวฝรั่งเศสวัย ๖๐ เล่าถึงความกล้าหาญของสตรีฝรั่งเศสว่า มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่เสรีภาพและภราดรภาพ เธอเล่าถึงความกล้าหาญด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ และกระชากความสะเทือนผู้ชมว่า เธอสูญเสียลูกสาวไปถึงสองคนในสงครามเช่นกัน เธอเล่าและยิ้มอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจที่มีลูกสาวกล้าหาญถึงสองคน แม้ทั้งสองจะเสียชีวิตในสงครามก็ตาม สวนีย์ต่ออีกว่า รอยยิ้มในความภาคภูมิใจนั้นอาจจะไม่ใช่อย่างเวลาที่แม่เห็นลูกขึ้นไปรับถ้วย รางวัล แม้เรื่องนี้ภาษาจะอุดมคติ กลับสร้างความประทับใจให้แก่นักศึกษาที่เข้าฟังจำนวนมากในวันนั้น เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราว ทำให้นักศึกษาฉุกคิดและตั้งคำถาม รวมถึงสะเทือนใจไปกับเหตุการณ์ที่หญิงชราชาวฝรั่งเศสเล่าออกมา ...สงครามเป็นความสูญเสียที่สร้างความรู้สึกร่วมให้มนุษยชาติเสมอ แต่สงครามก็ยังไม่สิ้นสุด...หญิงชราพูดว่า “ฉันหวังว่าลูกสาวของฉันทั้งสองคนคงจะเป็นคนสุดท้ายที่ต้องเสียชีวิตไปใน สงคราม” เรื่องนี้อ่านโดย อาจารย์พรรัตน์ ดำรุง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คานธี อนันตกาญจน์ คัดเลือกตอนและกำกับการอ่านโดย สวนีย์ อุทุมมา


"ไหม" งานเขียนของ อเลซซานโดร บาริกโก แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นชิ้นงานที่สายฟ้า ตันธนา คัดเลือกมาอ่านพร้อมกับเพื่อนอีกสองคนคือน้ำผึ้งและคิ้ม โดยเลือกเอาตอนจบของเรื่องมานำเสนอ คือตอนที่แอรเว ฌองกรู (พ่อค้าไหม) รู้ว่าจดหมายฉบับนั้น เอแลน (ภรรยา) เป็นคนเขียน
คนทำละครที่มาอ่านงาน ทั้งสามคนออกมาในชุดสีดำสนิท สร้างบรรยากาศกดทับและอึงคะนึงแก่ผู้เข้าชม...น้ำเสียงของคิ้ม ให้ความรู้สึกกระเทือนใจและอาลัยอาวรณ์ในบางที การถ่ายทอดอารมณ์ในน้ำเสียงของคิ้มทำได้ดีไม่มีที่ติ คิ้ม มินตา ภณปฤณ พูดถึงงานเขียนเรื่องไหมและตีความงานเขียนชิ้นนี้ว่า...ไหมเป็นการพูดถึง
ความรัก ความเจ็บปวด ความปรารถนา ที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แสดงให้เห็นถึงดินแดนของผู้หญิงซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาติหรือภาษาใดต่างก็มีจุด ร่วมในความเป็นหญิงเหมือนกัน และผู้ชายในเรื่อง (แอรเว) ต้องเดินทางเข้าไปสู่ดินแดนของผู้หญิงทั้งหมดในเรื่อง การล่วงล้ำเข้าไปในเพศหญิง ในดินแดนของผู้หญิง แต่แอรเวกลับไม่เข้าใจสถานที่เหล่านั้นเลย... สำหรับฉันในฐานะผู้ชมและ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ พลันอ่านจบ ฉันกลับรู้สึกอ้างว้างและรู้สึกว่าความรักแอรเวมีต่อภรรยา ช่างว่างเปล่านัก ตอนที่แอรเวบอกกับเอแลนว่า “ฉันจะรักเธอตลอดไป” เป็นคำบอกรักที่จืดชืดสนิท ฉันรู้สึกเหมือนแอรเวสักแต่พูดตามหน้าที่ เป็นคำบอกรักที่ไม่ชอบมาพากล เหมือนรักในสุญญากาศ เจ็บปวดที่ได้ยินมากกว่าจะอิ่มเอมใจ


"เสียงระหว่างเรา" ที่คานธี อนันตกาญจน์ นำมาอ่าน เรียกความหวานของรักกลับคืนมา แม้ว่ารักของคนทั้งคู่กำลังจบลงด้วยความตายของอีกฝ่ายก็ตามที เสียงระหว่างเรา อยู่ในหนังสือเรื่องสั้น(ขนาดสั้น) เรื่อง ภวาภพ เขียนโดย อุเทน มหามิตร
เรื่องที่เลือกมาอ่านเป็นความผูกพันระหว่าง คู่รัก ในอ้อมกอดของกันและกัน ในวาระสุดท้ายที่ฝ่ายช
ายกำลังจะตายไปจากหญิงใบ้ผู้เป็นที่รักของเขา คานธีอ่านคนเดียว พร้อมฉายภาพหญิงใบ้ที่เป็นใบ้จริงๆ ในเรื่องที่นำมาอ่าน บอกว่า คู่รักสื่อความหมายต่อกันด้วยภาษามือ แล้วผู้ชมก็ได้ร่วมดื่มด่ำไปกับเสียงเปียโนอันเพราะพริ้งจากปลายนิ้วของนัก เปียโนรับเชิญ ภาพเคลื่อนไหวฉายให้เห็นเฉพาะนิ้วทั้งสิบที่กำลังกรีดกรายอยู่บนเปียโน เสียงเพลงเปียโนคลอเบาไปกับเสียงอ่านที่น่าฟังของคานธี เมื่ออ่านจบเสียงปรบมือจากผู้ชมดังเกรียวกราว


ผลงานซีไรท์เล่มล่าสุดของวัชระ สัจจะสารสิน รวมเรื่องสั้นชุด เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นงานเขียนที่อภิรักษ์ ชัยปัญหา นำมาอ่านในครั้งนี้ โดยเลือกเรื่อง “หาแว่นให้หน่อย” ให้นักแสดงสองคนอ่านพร้อมแสดงประกอบ รักในวรรณกรรมเรื่องนี้ เร่าร้อนและดุเดือด เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม แต่สะกิดต่อมความคิด นักเขียนซีไรท์อย่างวัชระเล่าเรื่องการปฏิวัติระหว่างการเมคเลิฟของสามี ภรรยาคู่นี้ ประหนึ่งว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นกิจ
กรรมทางเพศชนิดหนึ่ง


หากใครอยากบ่มเพาะและรำลึกถึงความรู้สึกแบบรักแรก ปานรัตน กริชชาญชัย นำวรรณกรรมเรื่อง "แวร์เธอร์ระทม" จากวรรณกรรมเยอรมันเรื่อง Die Leiden des jungen Werther ของ โยฮันน์ โวลฟ์กัง ฟอน เกอเธ่ แปลโดย รศ.ถนอมนวล โอเจริญ
ปาน รัตนชอบมุมมองการนำเสนอ “ความรักในความคิดฝัน” เป็นความรักแบบโรแมนติกหรือแบบ storm and stress โดยเลือกเอาช่วงกลางจนถึงจบเรื่อง(เอามาเฉพาะบางหน้า) ซึ่งเป็นตอนที่พระเอกพรั่งพรูถึงความรักที่มีมากมายเหลือคณากับนางเอก ปานรัตนเลือกตอนนี้เพราะเป็นช่วงที่พระเอกได้กลั่นกรองทัศนะของความรักและความ รู้สึกจากก้นบึ้งขอ
งหัวใจออกมาชัดเจนที่สุด เป็นช่วงเคลิ้ม น่าใหลหลงในคำที่เขาเอ่ยออกมา ทำให้เห็นมุมมองของความรักที่มันเป็นความคิดฝันแบบสุดโต่ง ไม่เหลือที่ว่างให้กับความเป็นจริงและเหตุผลเลยแม้แต่น้อย เมื่อฟังแล้วชวนให้คิดคำนึงไปถึงวันแรกที่เราประสบพบพักตร์กับคนที่เรารัก และตัดสินใจที่ริจะรักเขา มันเป็นความอยากได้ใคร่ปรารถนาที่สวยงาม ทำให้หวนคิดว่าคนเรามีความสามารถที่จะมองความรักได้งามถึงปานนั้นเชียวหรือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็น่าลองใช้ความสามารถทางความฝันเหล่านี้และอารมณ์รัก แรกเริ่มมาเติมความรักในโลกของความเป็นจริงกันดูบ้าง เพราะถ้าชีวิตอยู่ได้ด้วยแรงแห่งความฝันฉันใด ความรักก็คงดำรงอยู่ได้ด้วยความคิดฝันฉันนั้นกระมัง เมื่ออ่านมุมมองที่ ปานรัตนอยากนำเสนอ ฉันเองก็มาตั้งคำถามว่า ...เราจะสามารถรักคนที่เรารักได้ดั่งวันแรกที่รักเขาได้ตลอดไปหรือไม่?... แว ร์เธอร์ระทม งดงามด้วยนักแสดงหญิงที่สวยมาก และนักแสดงชายอีกสองคนที่มาอ่านร่วมกัน การจัดฉากและแต่งกายแบบย้อนยุค นักแสดงที่เล่นเป็นเกอเธ่ยังเดี่ยวกีต้าร์ร้องเพลงรักสดๆ เพื่อเผยความรู้สึกแรกที่มีต่อนางเอกในเรื่องให้ผู้ชมได้หวานกัน

เมื่อสักห้าปีก่อน(กระมัง) นวนิยายของนักเขียนญี่ปุ่นนาม ท์ซึจิ ฮิโตนาริ เขียนหนังสือออกมาสองเล่มคู่กัน คือ BLU "เยือกเย็น" กับอีกเล่ม (จำไม่ได้) เกรียงไกร ฟูเกษม เลือก BLU เยือกเย็น แปลโดย สมเกียรติ เชวงกิจวณิช มานำเสนอ ตะเกียงเลือกตอนที่เป็นการพูดถึงการเลือกที่จะ ดำเนินชีวิตของจุนเซ (ตัวละครหลัก) ที่จะยังคงจมอยู่กับสัญญาในอดีต และตามหาร่องรอยความรักในอดีตของหญิงที่ตนเคยรัก จะมองไกลออกไปสู่อนาคตกับเมมิ สาวน้อยลูกครึ่งอิตาลีกับโตเกียว และการที่จะยังคงเลือกเป็นนักซ่อมภาพศิลปะ หรือจะเป็นผู้วาดงานศิลปะขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้ใช้ผู้อ่านเพียงคนเดียว โดยเลือกบทบาทให้ผู้อ่านเป็นนักพิสูจน์อักษร ที่มานั่งอ่านและแก้ไขเรื่องนี้
ให้ผู้ชมฟัง

เสียง กรี๊ดและเสียงหัวเราะดังสนั่นเมื่อนพพันธ์ บุญใหญ่ นำเสนองานเขียนเรื่อง "ความลับในความรัก" เขียนโดย จอห์น อาร์มสตรอง แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา... นพพันธ์นำเสนอ ความลับในความรัก ตามขนบวิธีคิดนอกกรอบในแบบที่เป็นตัวเขาเอง และดำเนินเรื่องอย่างสนุกสนานด้วยการเขียนละครซ้อนบทประพันธ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เหมือนตั้งคำถามว่า ความลับในความรักคืออะไร อย่างตอนที่พูดถึง เวลาคนมีความรักมักจะใส่แว่นตาอีกอัน หรือการเล้าโลมทางเพศด้วยคำพูดของสามีภรรยาคู่หนึ่งในร้านอาหาร และคู่รักนักประกาศข่าวที่ทะเลาะกันแล้วจบลงด้วยการเมคเลิฟ ...นพพันธ์มักทำอะไรไร้กรอบ แต่ไม่ไร้ความคิด... หากจะหัวเราะกันดัง ลั่นกับ การแสดงของผู้อ่านทั้งสี่คน แต่อย่าหัวเราะเพลินจนลืมกลับเอาเก็บไปคิด เพราะนพพันธ์เขาไม่ได้เฉลยว่า หนึ่งบวกหนึ่งแล้วเท่ากับสอง

ศรวณี ยอดนุ่น ชอบเรื่อง The Missing Piece Meets the Big O หรือ "การเดินทางของส่วนที่หายไป" มาอ่าน เพราะให้ความรู้สึกว่า ความรักไม่จำเป็นต้องแสวงหา มันมีอยู่แล้วในตัวเอง ถ้าเรารักตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมารักเรา เราก็จะมีความสุขมากๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนที่ขาดหายไปของใคร เพราะเรานั้นสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว แต่เราเพียงแค่อยากมีเพื่อนกลิ้งไปด้วยกันก็เท่านั้น ศรวณีอ่านให้ฟัง และมีเพื่อนอีกสองมากลิ้งไปกลิ้งมาเป็นวงกลมระหว่างที่อ่านไป ก็จะเห็นนักแสดงอีกสองคนกลิ้งไป

งานเขียนของปราบดา หยุ่น เรื่อง "แพนด้า" เป็นเรื่องที่เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ เลือกมาอ่าน และมีเพื่อนอีกสองคนร่วมแสดงและร่วมอ่าน เขาเลือกตอนที่เป็นบันทึกครั้งที่ ๑๐ เป็นการบันทึกการเดินทางของแพนด้าจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่
“แพนด้า” หนุ่มวัย ๒๗ ปี มีรูปร่างคล้ายกับหมีในประเทศจีน เขามีความคิดว่าเขาและมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ล้วนเกิดมาผิดดวงดาว เป็นเหตุที่ทำให้
โลกใบนี้เสียสมดุลและเกิดความวุ่นวาย การเดินทางของเขาในครั้งนี้คือการเดินทางกลับไปดาวบ้านเกิด โดยมีผู้ร่วมการเดินทางไปด้วยอีกคนหนึ่งคือ “หยิน” สาววัย ๒๒ ปีที่พร้อมจะเคียงข้างไปกับแพนด้า โดยที่ไม่รู้ปลายทางคือที่ใด เบญจ์ บอกว่า ที่เลือกตอนนี้เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อ กัน เป็นมุมมองความรักที่แสดงถึงการยอมรับกัน และสุดท้ายจบลงด้วยการเดินทางครั้งใหม่ เรื่องนี้นำเสนอได้น่ารัก ผู้แสดงก็ยังสดใส เรื่องจึงเต็มไปด้วยความใส และรอยยิ้มใสๆ


"เขาไม่นับเธอ" เขียนโดย ไฮนริช เบิล แปลโดย อำภา โอตระกูล เป็นเรื่องที่ สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล เลือกมาอ่าน
ชีวิต ของผู้ชายคนหนึ่งที่วันๆ เอาแต่จดจ่ออยู่กับตัวเลขสถิติจำนวนผู้ใช้สะพาน เพื่อไปรายงานต่อบริษัทเปลี่ยนไป เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านสะพาน ชีวิตของเขามีความหมาย ไม่ซังกะตาย และทุกครั้งที่เธอเดินผ่านมา เขาไม่สนใจที่จะนับจำนวนผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาบนสะพาน ตัวเลขสถิติหยุดลง และเขาไม่นับเธอให้เป็นหนึ่งในตัวเลขทางสถิตินั้น วัน ธรรมดาของเขาในแต่ละวัน กลายเป็นวันแห่งการรอคอยที่จะไม่ได้นับเธอ ชีวิตมีความหมายเมื่อได้คอยใครสักคน แล้วตัวเลขและเวลาก็ประหนึ่งจะหยุดลง เมื่อการรอคอยได้สิ้นสุด การอ่านเรื่องนี้ขอชมนักแสดงที่มาอ่านว่า แสดงออกทางอารมณ์ได้ดีทีเดียว ทำให้รู้สึกอึดอัด กระวนกระวายใจระหว่างที่รอเธอคนนั้น และหัวใจเบ่งบานเมื่อในที่สุดเธอก็เดินผ่านมา

ทั้งสิบเรื่องของโครงการนี้ ทำให้ผู้เข้าชมที่ยังเป็นนักศึกษา เกิดความรู้สึกอยากอ่านหนังสือทั้ง ๑๐ เล่ม และกิจกรรมครั้งนี้ยังสามารถเป็นการปูพื้นฐานให้กับนักศึกษาด้านละครเวที นำไปปรับใช้กับการเขียนบทละครเวทีได้อีกด้วย การ กระตุ้นการอ่านวรรณกรรม และหนังสือครั้งนี้ เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่าง นาฏกรรมและวรรณกรรมได้อย่างลงตัว และคงทำให้มีคนรักการอ่าน อยากอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร ยิ่งเมื่อผู้เข้าชมได้รับฟังการตีความของคนทำละครทั้ง ๑๐ ที่มีต่อเรื่องที่พวกเขานำเสนอ เชื่อแน่ว่า ความคิดเห็นของคนทำละครจะเป็นประกายที่ช่วยจุดไฟในการรักการอ่าน และอยากอ่านวรรณกรรมดีๆ


เขียนโดย
นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ

ผู้เข้าชมทั้ง ๑๐ เรื่องรักจากวรรณกรรม



Tuesday 10 February 2009

เตรียมพบกับ MEMOMENT


ใกล้วันแล้วที่เราจะพบกับการแสดง MEMOMENT เลยมาถามคนจัดว่างานนี้มันจะเป็นยังไง ไปไงมาไงถึงจัดขึ้นมาได้ เราเลยมาถาม ดุจดาว วัฒนปกรณ์
ถามโดย สินีนาฏ เกษประไพ

ทำความรู้จักกับเธอสักนิด

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ หรือ ดาว เป็นนักการละครจากกลุ่มบีฟลอร์ มีผลงานมานานแล้ว เพิ่งกลับมาจากการไปเรียน dance movement therapy ที่ลอนดอน เธอสนใจว่าการเคลื่อนไหวร่างกายมันมีความสัมพันธ์กับจิตใจคนเราได้ยังไง เธอเพิ่งเปิด workshop movement ไปเมื่อไม่นานนี้ ล่าสุด ร่วมแสดงใน Butoh เรื่อง "สันดานกา" ของบีฟลอร์ งาน MEMOMENT
ในครั้งนี้เธอเป็นแม่งาีนและเป็นหนึ่งในผู้แสดงงานด้วย

นาด : งานนี้จะเป็นงานแบบไหน
ดาว : งาน MEMOMENT คืองานแสดงศิลปะที่พูดเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำผ่านศิลปินสี่แขนงด้วยกัน มี Photograph, Performance, Film and Music
ลักษณะงานจะเป็นงานจัดวาง แสดงสด และ เป็นแบบ IMPROVISATION งานของศิลปินสี่คนจะมีการคิดและตีความจากตีความเดียวกันและสร้างสรรค์งานมาแล้ว เป็นโครงสร้างหลักและเมื่อถึงเวลาแสดงงานงานทั้งหมดจะมีการโต้ตอบสอดรับกัน ด้วยจังหวะของเทคนิคงานในแขนงต่างๆ
นาด : ไปไงมาไงถึงจัดงานนี้
ดาว :
งานนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการเปิดกว้างกลุ่มคนดูที่เสพงานศิลปะเพียง เฉพาะด้าน งานนี้จะทำให้คนรักงานศิลปะได้มองเห็นศิลปะแขนงอื่นๆในมุมที่กว้างขึ้นเมื่อ เราทุกคนมาพูดถึงเรื่องๆเดียวกันโดยมีการsupport ซึ่งกันและกัน เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ คนกลุ่มเล็กๆ พูดถึงเรื่องเล็กๆที่บางครั้งอาจดูเชย แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของความทรงจำเป็นเรื่องที่เรามีมันอยู่ตลอดเวลาจริงๆ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่และบางครั้งอาจจะอยากปฏิเสธมันอย่างไร
นาด : ศิลปินในงานนี้ มีใครบ้าง
ดาว : เป็นเพื่อนๆที่มารวมตัวกันเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เราไม่ค่อยได้เจอกัน เนื่องจากทำงานกันคนละสาย เลยอยากมาเจอกัน ก็มี
อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ -- จบตรีโท จิตกรรมศิลปกร เป็นศิลปินแลกเปลี่ยนต่างประเทศบ่อยครั้ง เป็นช่างภาพและสไตลิสต์ปากจัดในวงการแฟชั่นก็หลายปี งานนี้ต้องอันเชิญมาร่วมงานค่ะ
มานุสส วรสิงห์ -- จบวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สาขา ภาพยนตร์และภาพนิ่ง เป็นมือชิงรางวัลหนังสั้นมาหลายรางวัล งานหนังส่วนใหญ่ถูกเชิญไปฉายต่างประเทศ ที่เมืองไทยทำตัวคุดคู้เป็นมือตัดหนังตัวอย่างให้กับงานภาพยนตร์ไทยมาเพียบ ตอนนี้ก็แอบเป็นตากล้องให้รายการเจ้าอยู่ ดูมัน

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ -- อดทำการแสดงมาสองปี เพราะไปเรียน Dance Movement Therapy จาก Goldsmiths University of London งานนี้ขอปล่อยของค่ะ ก่อนไปทำงาน solo เล็กๆ ชื่อ LOOK CLOSERเอาไว้ สองปีแล้วขอทำงานชิ้นอื่นบ้าง

วง The Cucumber The Killer -- เจ๋งไม่เจ๋งไม่รู้ แต่ตอนนี้มีงานร่วมแสดงอยู่ที่หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพ

อยากบอกว่างานนี้รวมตัวศิลปินรุ่นไม่เก๋านะคะ แต่เอามันส์

มันส์แค่ไหนมาชมกันได้ งานนี้ชมฟรี แสดง 19.30 เป็นต้นไป ในคืนวันศุกร์และเสาร์ที่ 13-14 กุมภานี้ที่ Crescent Moon Space และ B Floor room งานนนี้จะออกแนวกึ่งปาร์ตี้ แต่โทรบอกเจ้าของงานไว้ก่อนก็จะดีค่ะ เพื่อการเตรียมการต่างๆ โทร 084 713 5075


Monday 9 February 2009

เก็บเรื่องรักเอามาเล่า

เก็บบรรยากาศการพูดคุยจากโครงการอ่านเรื่องรัก (ขอแปะเอาไว้ก่อน จะรีบโพสต์เร็วๆนี้)

Sunday 8 February 2009

บรรยากาศ-อ่านเรื่องรัก

ผ่านไปแล้ว 2 รอบ เมื่อวานนำเสนอไปแล้วทั้ง 10 เรื่อง อยากจะเก็บภาพบรรยากาศมาฝาก แต่ยังไม่ว่างพอ โปรดคิดตาม ไม่นานเกินรอ

Friday 6 February 2009

พวกเขาพร้อมที่จะ-อ่าน

วันนี้เป็นวันซ้อมใหญ่ของ อ่าน(เรื่อง)รัก เป็นการพพบกันหมดทุกชิ้นงาน มาเจอกันทุกคน

Tuesday 3 February 2009

รอบการแสดงอ่านบทละคร "อ่าน(เรื่อง)รัก"


อ่านเรื่องรัก
จะลงโรงเสาร์-อาทิตย์นี้แล้ว
ได้รายละเอียดรอบการแสดงมาดังนี้


วันเสาร์ 7 กุมภาพันธ์ (รอบบ่าย 15.00)

สายฟ้า ตันธนา เสนอฉากรักจากเรื่อง “ไหม”
เกรียงไกร ฟูเกษม เสนอฉากรักจากเรื่อง “เยือกเย็น”
สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล เสนอฉากรักจากเรื่อง “เขาไม่นับเธอ”
คานธี อนันตกาญจน์ เสนอฉากรักจากเรื่อง “เสียงระหว่างเรา”
สวนีย์ อุทุมมา เสนอฉากรักจากเรื่อง “ความรักของวัลยา”


วันเสาร์ 7 กุมภาพันธ์ (รอบค่ำ 19.30)

ปานรัตน กริชชาญชัย เสนอฉากรักจากเรื่อง “แวร์เธอร์ระทม”
เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ เสนอฉากรักจากเรื่อง “แพนด้า”
ศรวณี ยอดนุ่น เสนอฉากรักจากเรื่อง “การเดินทางของส่วนที่หายไป”
นพพันธ์ บุญใหญ่ เสนอฉากรักจากเรื่อง “ความลับในความรัก”
อภิรักษ์ ชัยปัญหา เสนอฉากรักจากเรื่อง “หาแว่นให้หน่อย”


วันอาทิตย์ 8 กุมภาพันธ์ (รอบบ่าย 15.00)

เกรียงไกร ฟูเกษม เสนอฉากรักจากเรื่อง “เยือกเย็น”
สายฟ้า ตันธนา เสนอฉากรักจากเรื่อง “ไหม”
อภิรักษ์ ชัยปัญหา เสนอฉากรักจากเรื่อง “หาแว่นให้หน่อย”
นพพันธ์ บุญใหญ่ เสนอฉากรักจากเรื่อง “ความลับในความรัก”
ปานรัตน กริชชาญชัย เสนอฉากรักจากเรื่อง “แวร์เธอร์ระทม”


วันอาทิตย์ 8 กุมภาพันธ์ (รอบค่ำ 19.30)

สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล เสนอฉากรักจากเรื่อง “เขาไม่นับเธอ”
ศรวณี ยอดนุ่น เสนอฉากรักจากเรื่อง “การเดินทางของส่วนที่หายไป”
เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ เสนอฉากรักจากเรื่อง “แพนด้า”
สวนีย์ อุทุมมา เสนอฉากรักจากเรื่อง “ความรักของวัลยา”
คานธี อนันตกาญจน์ เสนอฉากรักจากเรื่อง “เสียงระหว่างเรา”


Monday 2 February 2009

2nd Meeting อ่านเรื่องรัก


เมื่อวานเรามี 2nd Meeting กัน ครั้งนี้เรานัดกันมาพูดคุยเรื่องความคืบหน้า พบหน้าพบตาทำความรู้จักกับผู้อ่านของแต่ละชิ้นงาน หลังจากนั้นเรา ได้ดูซ้อมบางเรื่อง เลยเก็บภาพบรรยายกาศสบายๆมาให้ดู












จากเรื่อง "แวร์เธอร์ระทม"












จากเรื่อง "ไหม"











แล้วล้อมวงเล่าสู่กันฟังว่าแต่ละชิ้นงานเป็นยังไงกันบ้าง





กุมภาพันธ์





เดือนแห่งความรักพระจันทร์เสี้ยวจะเสนอการอ่านบทละคร อ่าน(เรื่อง)รัก อ่านรักจากวรรณกรรมโดยคนทำละคร เพื่อพูดถึงความรักในหลากหลายมิติ จัดแสดงวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์

ความน่าสนใจ - ตอนแรกคิดว่าจะเป็นโปรเจคเล็กๆ แต่ทำไปทำมากลายเป็นการรวมตัวของคนทำละครมากกว่า 30 คน หนึ่งในนั้น เราได้รับเกียรติจากครูอุ๋ย พรรัตน์ ดำรุง มาร่วมอ่านรักในครั้งนี้


เดือนนี้นอกจากจะมีความรักแล้วเรายังมีกิจกรรมแน่นทั้งเดือนกับอีก 2 งาน คือ MEMOMENT เป็นงานอาร์ตอาร์ตโดยดุจดาวและเพื่อน งานนี้รวมตัวกันหลายคนมาปล่อยของ มีภาพยนตร์ การแสดง ภาพถ่าย และดนตรี จัดแสดง วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์

ความน่าสนใจ - เป็นการรวมตัวของเพื่อนที่เจอกันได้ยากยิ่ง เพราะทุกคนต่างมีงานกันคนละด้าน ครั้งนี้ด้วยความรักและคิดถึง จึงนัดกันมาปล่อยของและฉลองปาร์ตี้ พิเศษเพียงแค่ 2 รอบเท่านั้น






และงานที่สามเป็นละครจาก Life Theatre เสนอเรื่อง Water Time เรื่องราวของคนคู่หนึ่งกับความเข้าใจ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม (เว้นคืนวันจันทร์)

ความน่าสนใจ - เด่นดังทั้งผู้กำกับและนักแสดง กับการพยามยามจะสื่อสารกันด้วยสามภาษา

กุมภาพันธ์กับงาน 3 รูปแบบ สนใจหรือชอบดูแบบไหนมาดูมาชมพวกเขาได้ ส่วนเดือนหน้าเข้มข้นไม่แพ้กัน กับการแสดงจากบีฟลอร์ “Something else” โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และละครแสดงเดี่ยวโดย นพพันธ์ บุญใหญ่ ในบทบาท “Hamlet” กำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ จาก New Theatre Society ติดตามรายละเอียดกันได้เร็วๆนี้