welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Sunday, 30 November 2008

ดอกไม้ เพิ่มรอบ ด่วน


สวัสดีอีกครั้งครับ ผมอยากฝากข่าวนิดหน่อย นั่นก็คือ ดอกไม้ในแสงแดดจะเพิ่มรอบนะครับ วันอาทิตย์นี้ (วันนี้เนี้ยแหละ) ตอนรอบ ทุ่มครึ่ง นะรอบพิเศษ ราคาพิเศษ ติดต่อด่วนถ้าอยากจองนะ
โทร 0868141676
สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิทห้าสิบห้า ซอยทองหล่อ crescentmoon space
จาก อ้น นพพันธุ์ บุญใหญ่

Tuesday, 18 November 2008

Talk Behind the Scene with Sun Flower(again)

กลับมาอีกครั้งกับ "ดอกไม้ในแสงแดด" เลยเอาบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและนักแสดงที่เคยลงไว้เมื่อคราวเปิดแสดงครั้งแรกในเดือนมกราคมมาให้อ่านกันอีกครั้ง

อยากจะแนะนำให้รู้จักกับนักการละครที่กำลังสร้างงานมาแสดงที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เพื่อเป็นการทำความรู้จัก รู้ที่มาที่ไปในห้วงเวลาตอนที่เขาสร้างงาน อาจจะเป็นการเตือนความจำ และอาจจะเป็นการบันทึกถึงงานและคนสร้างงานที่เวียนกันเข้ามาเล่าเรื่องทำละครให้เราได้ดู อยากให้ที่นี่เป็นที่ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าสู่กันฟัง ทำความรู้จัก หรือเรียนรู้กันผ่านงานละครเวทีที่เรารัก
ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เปิดฉากอย่างคึกคักด้วยละคร ดอกไม้ในแสงแดด ละครเวทีเรื่องแรกของปีนี้ที่ของคนเขียนบทและผู้กำกับหน้าใหม่ ชื่อ นพพันธ์ บุญใหญ่ ซึ่งใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าชื่อ อ้น ใครหลายคนก็อาจจะร้องอ๋อ แต่สำหรับทั้งคนที่รู้จักเขาหรือไม่รู้จักเขา ก็ลองมาทำความรู้จักเขามากขึ้นในแง่มุมละครผ่านการพูดคุยกับเขาก่อนการแสดงรอบแรกรอบสื่อเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

นาด: เข้ามาเกี่ยวข้องกับละครเวทีได้ยังไง
อ้น: (หัวเราะ) เมื่อประมาณสองปีที่แล้วโน่น ก็วันหนึ่ง ตอนนั้นผมพักอยู่แถวๆสะพานควาย แล้วเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ท้ายซอยนี่มีมะขามป้อมอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามะขามป้อมคืออะไร เขาบอกว่า เป็นกลุ่มละครเวที ละครชุมชน แล้ววันหนึ่งผมก็ตัดสินใจเดินไปที่มะขามป้อม ไปประตู ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเปิดรับ เขาถามว่ามาทำอะไร ผมก็บอกเขาว่า มีอะไรให้ผมทำมั๊ยครับ (หัวเราะ) ผมชอบละคร ผมชอบการแสดง มีอะไรให้ผมทำมั๊ย แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินสวนมา เขาก็กระซิบกับผู้หญิงคนนั้นว่า เอามันไปใส่ในงานศรีบูรพา แล้วผมมารู้ทีหลังว่าผู้หญิงคนนั้นชื่อ ตา และผู้ชายคนนั้นก็ชื่อ พี่ตั้ว(ประดิษฐ ประสาททอง) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมกับอาสาสมัครมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับวันเด็ก ซ้อมเชิดหุ่นกับซ้อมละคร ก็ไปร่วมทำ แต่ไม่ได้เล่น เพราะตอนเขาเล่นผมก็ไปอังกฤษแทน ดู ดูมันทำ แล้วจะทำไปทำไมไม่รู้


นาด: ตอนนั้นเป็นเพราะอ้นถามเพื่อนเกี่ยวกับละครหรือเพราะเพื่อนรู้ว่าอ้นชอบละครอยู่แล้ว
อ้น: เพื่อนรู้ แล้วเพื่อนบอก ตอนนั้นช่วงเดือนสองเดือน ก็ไปมะขามป้อมทุกวัน แล้วพี่ตั้วก็ชวนมาเป็นพิธีกรในเทศกาลละครกรุงเทพ แล้วก็ได้ไปดูงานของพี่กั๊ก (วรรณศักดิ์ ศิริหล้า) ที่ชื่อว่า Thank You ตอนนั้นเขาโซโล่ที่ Alliance Francaise ตอนนั้นก็ยังไม่เก็ทงานเค้าหรอก ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับละครซักเท่าไหร่ แล้ววันหนึ่งก็ไปดูหนังที่สกาล่าแล้วก็เห็นพี่กั๊กนั่งโดดเดี่ยวอยู่ที่เก้าอี้หน้าโรงหนัง ผมจำเขาได้ ก็เลยเข้าไปหาเขา บอกเขาว่า ผมชอบการแสดง ผมเป็นนักแสดง ถ้าพี่มีโปรเจคอะไร หรือถ้าพี่ขาดนักแสดงเรียกผมนะ เขาก็งงๆ เขาก็มองหน้าผมแบบงงๆ แล้วก็เจอเขาอีกบนรถไฟฟ้า เออ ก็แปลกดี ก็บอกเขาอีก เขาก็เลยจับไปเล่นเรื่อง ราโชมอน All Men Cast เล่นกับพี่โมทย์ และน้องชื่อคม นั่นเป็นงานละครชิ้นแรกกับพี่กั๊กในเทศกาลละคร


นาด: แล้วงานศรีบูรพา นี่เล่นทีหลังเหรอ
อ้น: ใช่ๆ มาทีหลัง นานเลย ตอนที่เล่นละครครั้งแรกก็ สนุกดี แต่ไม่รู้อะไรเท่าไหร่ ไม่รู้เทคนิค ไม่รู้การโคลสอัพ ซูมอิน สเตจมูฟเม้นท์ การเล่นให้คนดู การโปรเจคเสียง ไม่รู้อะไรซักอย่าง พอมองย้อนหลังไปแล้วรู้สึกแย่ นึกถึงภาพตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองเล่นอะไรเนี่ย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แล้วหลังจากนั้นมา ก็มาเล่นบีเฟส
นาด: ตอนนั้นมาบีเฟสได้ยังไง (B FEST คือ Workshop-Showcase จัดโดยกลุ่มละคร B Floor ปี 2549 - นาด)
อ้น: ตอนนั้นเพื่อนบอกเพื่อนชวนมา

นาด: ได้ยินอะไรเกี่ยวกับ B FEST มาก่อนบ้าง
อ้น: ก็ได้ยินมามาว่าเป็นเวริ์คชอป ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง Physical ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ก็เลยลองเข้ามาดู มาเวริ์คชอป แล้วประทับใจมาก มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องพูดน่ะ แต่แบบ ลองทำดูแล้วมันจะรู้ว่า เราได้คอลิตี้อะไรบ้างจากความรู้สึกจากร่างกายเรา มันพูดได้ง่ายกว่าคำพูดทางภาษา แล้วตอนที่ทำเวริ์คชอปอยู่เนี่ย ผมรู้สึกว่า มันคล่องตัวมาก มันใกล้ตัวมาก เลยรู้สึกว่า เราชอบแบบนี้ เราถนัดแบบนี้ ก็เลยอินมาก ชอบมาก


นาด: ถ้าถามว่าวันนี้อ้นชอบละครเวทีเพราะอะไร หรือชอบแนวไหน
อ้น: ตอนนี้ยังเริ่มต้นอยู่เพิ่งเริ่มต้นที่จะทำเอง ผมคงไม่สามารถทำละครแบบดั้งเดิม แบบกรีก หรือแบบเชคสเปียร์อะไรอย่างนั้นได้ ผมไม่รู้เรื่อง แต่ผมรู้ว่า อยากให้คนดูดูอะไร อยากให้คนดูรู้สึกอะไร ผมรู้ อยากให้เห็นภาพแบบไหน ผมสนใจสภาพแวดล้อมที่คนไม่ใส่ใจ แล้วเรานำมันมาเสนอ ในมุมมองของผม ผมว่ามันน่าสนใจ บางทีมันเป็นเวลาของเราที่จะเล่าเรื่องได้แล้ว ใช่ไหมฮะ บางทีคนเราก็มีเรื่องอยากจะเล่า ผ่านมุมของเรา ทุกคนก็อยากจะเล่าเรื่องของตัวเอง
นาด: รู้ได้ยังไงว่าถึงเวลาที่จะเล่าแล้ว
อ้น: มันมีอะไรสักอย่างขับดันอยู่ข้างใน ที่มันบอกว่า นายมีอะไรที่จะบอก แล้วนายก็มีวิธีที่จะบอกด้วย คือเมื่อก่อนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่ตอนนี้ได้เล่นละครกับพี่ ได้ดูดวิชามา ก็ดี นี่พอกลับไปเมืองนอกอีก ที่อังกฤษน่ะ ผมก็ไปเรียน ไปเวริ์คชอป มันแบบ มันเข้าทางได้ง่ายมากเลย แบบว่าเรารู้มาแล้วไง ทำแบบนี้ก็ได้แล้ว วอร์มอัพก็แบบนี้ ก็ได้แล้ว เขาไปเรียน เชคอฟ ไปเรียนนู่นเรียนนี่ มันก็เข้าใจได้ง่ายมากเลย เพราะเรารู้แล้วไง เราต้องการให้เขาโยนวิชาขั้นอื่นมาให้เรา เพราะขั้นนี้เรารู้แล้วไง อืม..ก็สนุกดีนาด ที่ไปเวริ์คชอปมานี่ เรียกว่าอะไร เกี่ยวกับอะไรอ้น มันหลายอันมากเลย ผมไปเข้าเวริ์คชอปตั้ง 20 กว่า คอร์ส ก็เยอะ ก็บางอันก็แบบธรรมดา บางอันก็เจอมาแล้ว แต่โดยรวมมันๆ มันได้เห็นความคิดของคนอื่น คนทำละคร ผู้กำกับ นักแสดงที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาก็เปิดทัศนคติเรากว้างขึ้น


นาด: ก่อนหน้านั้นอ้นอยู่อังกฤษ ทำอะไรอยู่ที่นั่น เรียนอะไร
อ้น: ผมเรียนกราฟฟิคดีไซด์ฮะ ก็งั้นๆ ก็อยู่หน้าจอทั้งวันทั้งคืนน่ะฮะ กราฟฟิคดีไซด์ เออ..แต่พอมาเล่น มาดู มาลง B FEST เนี่ย ผมเห็นว่ามันใกล้กับการทำกราฟฟิคมากเลย องค์ประกอบสเปซ ไซด์ อะไรอย่างนี้ จะเอาอะไรวางตรงไหน อะไรมันจะลงตัว ลองจัดแบบโล่งๆ หรือรกๆ มันได้หมดเลย ถ้าเกิดมันลงตัวแล้วมันดูแล้วมันโอเค สิ่งที่กราฟฟิคเล่นไม่ได้ คือ ความรู้สึกมั้งฮะ ความรู้สึก สัมผัส เขาเรียกว่าอะไรล่ะ เวลา ห้วงเวลา นี่ มัน real กว่าไง

นาด: แล้วรู้สึกยังไงกับการกำกับครั้งแรก
อ้น: กำกับครั้งแรกหรือฮะ ก็จริงๆแล้วก็เคยกำกับหนังสั้นมาก่อน แล้วก็มั่ว พูดจาไม่รู้เรื่อง นักแสดงก็ไม่รู้เรื่อง นาด ทำหนังสั้นกี่เรื่อง เรื่องอะไรบ้างอ้น ทำ 3 เรื่อง ก็มีเรื่อง Almost a Love Story แล้วก็ Spook และก็เรื่อง ประเทศกูหายไปไหน


นาด: ตอนนั้นทำในวาระอะไร ฉายที่ไหน
อ้น: ก็ทำส่งประกวดบ้าง ส่งเพื่อโครงการ FTA กับมันตา เกี่ยวกับศิลปะอะไรหลายๆอย่าง ผมเลือกทำหนังสั้น ถ่ายไปทำไปก็ไม่ได้ฉาย เพราะมีปัญหาทางเทคนิค ก็เลยเอาการแสดงสดไปแสดงแทน แต่พอมากำกับเรื่องนี้จริงก็ กำกับละครเวทีครั้งแรก ยังไงดีล่ะ บางทีอยากได้อะไรบางอย่าง บางทีในหัวของเรามันมีภาพบางอย่าง แต่การสื่อสารของเรามันขัดข้องไง ที่จะอธิบายให้นักแสดงได้รับรู้ว่าเราต้องการภาพแบบไหน แต่ผมก็มีวิธีที่จะได้ภาพแบบนั้นออกมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับนักแสดงด้วยว่า เขาเห็นด้วยหรือเปล่า เมื่อก่อนเราเคยเป็นนักแสดงมาก่อน ทำงานกับผู้กำกับบางคน เราไม่เห็นด้วยกับเขาไง เราก็จะเกิดคอนฟลิค แบบเราก็ทำไป แต่เราไม่เกิดแรงขับจริงๆ เพราะว่าเราอยากจะทำอะไรที่เราคิดเราเชื่ออยู่ไง พอตอนนี้มาเป็นผู้กำกับ ผมก็ไม่อยากจะคิดแบบนั้น กำกับแบบนั้น ว่าฉันต้องการอย่างนี้ ต้องทำอย่าง ไม่ ผมไม่อยากจะทำแบบนั้น ผมแค่อยากให้เขารู้สึกในตอนนั้นมากกว่าจะไปบังคับเขา ก่อนที่คนดูจะรู้สึกอะไรได้จากการดูละคร นักแสดงต้องรู้สึกก่อน มันไม่ดีที่จะวางว่าฉากนี้ฉันต้องรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นการห่อของขวัญแล้วยื่นให้คน ซึ่งคนดู ก็อ้าวฉันจะมาดูทำไมล่ะ ถ้าเกิดเธอมาใช้อารมณ์รู้สึกทุกอย่างแทนแล้ว มันก็ไม่มีอะไรให้ค้นหา เพราะฉะนั้นนักแสดงต้องรู้สึกจริงๆ ถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ต้องเล่น ถ้ามันกระตุ้นก็กระตุ้น ไม่ต้องมาเสแสร้งให้มันกระตุ้นขึ้นมา ไม่งั้นคนดูก็จับได้ว่าพวกนายเสแสร้งเล่นกัน มันเป็นเส้นบางๆระหว่างเสแสร้งกับแอคติ้งนะฮะ มันมาจากเรารู้สึกยังไงกับโมเม้นท์นั้น มันต้องอยู่ทุกโมเม้นท์เลย เพราะฉะนั้นจะทำยังไงจะอยู่ได้ทุกโมเม้นท์ ต้องหยุดคิดถึงตัวเองเลย หยุดคิดสิ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองเลย หยุดคิดยังไง ก็คือ เอาสมาธิทุกอย่างไปอยู่กับเพื่อนที่แสดงด้วย อยู่ที่เขา มองที่เขา อ่านเขาว่าเขากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ แล้วเวลาที่เขาพูดกับเราเนี่ย แล้วเรารู้สึกยังไงกับที่เขาพูด แล้วเราก็เล่นไปกับอารมณ์นั้น ซึ่งถ้าเกิดฝึกบ่อยๆมันจะคมมาก มันจะมาเร็วมากแต่ถ้าเฮ้ย.. มันไม่ได้ เพราะถ้าคุณไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันต้องฝึกบ่อยๆ ไม่ใช่แค่มาท่องบทบ่อยๆ มันมีแบบฝึกหัดอันหนึ่งที่เราทำกัน เมื่อทำแล้วมันช่วยให้เราอ่านกันดีขึ้น พอไม่ทำ มันเหมือนโดนตัด ไม่มีคอนเนคชั่นกัน แต่พอทำแบบฝึกหัด ผมสังเกตว่า มันเปิดอะไรข้างในตัวเขา ซึ่งเมื่อก่อนผมก็เป็นนะ คิดถึงแต่ตัวเองตอนเล่น ฉันน่าจะเล่นอย่างนี้ มันเรียกว่า เล่นเพื่อเอาผลลัพธ์ บางทีเราเล่นแบบตั้งโจทย์ไว้ว่าฉันจะต้องไปให้ถึงพีคนี้ให้ได้ ฉันจะเล่นอย่างนี้ ผมเห็นว่ามันทรมานตัวเองไป ถ้าเล่นไม่ได้ก็เสียใจ ก็เครียด ปวดหัว เพราะว่าตั้งโจทย์ให้ตัวเองเล่น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในชีวิตจริง คุณก็ไม่ใช่คนคนนั้น เช่น ความโกรธ มันมาจากไหนล่ะ จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ โกรธ ฉันโกรธ แต่คุณโกรธเรื่องอะไรกันแน่ มันต้องมีแรงขับส่วนตัวใช่ไหมล่ะ ถ้าเกิดต้องเข้ามาฉากนี้ ต้องโกรธคนนี้ แต่คนนี้ยังไม่ได้ส่งอะไรมาเลย แล้วอยู่ดีๆก็โกรธเขา เออ เขาทำอะไรให้โกรธหรือ ทำไมถึงโกรธ มันต้องรู้สึกจริงๆจากข้างใน แบบฝึกหัดที่เราทำกันก็จะเน้นเรื่องการฝึกกล้ามเนื้อตรงนี้นาด ฝึกกล้ามเนื้อทางอารมณ์ว่างั้นเถอะอ้น กล้ามเนื้อทางอารมณ์ จับให้มันมั่นๆ แล้วก็ใช้มันคมๆ


นาด: อยากถามเรื่องบทนิดหนึ่ง เรื่องนี้บทมาก่อนใช่ไหม คือเขียนบทก่อน แล้วเริ่มซ้อมกับนักแสดงยังไง คุยอะไรกับนักแสดง
อ้น: ตอนแรกเลยก็เวริ์คชอปก่อน แล้วก็คุยกันเรื่องปัญหาของการแสดง แล้วค่อยให้บท อ่านทีเดียวก่อน แล้วค่อยให้มาอ่านด้วยกันอีกที โดยหันหน้ามองเพื่อนที่เล่นด้วย แต่ไม่ต้องสนใจเรื่องบทว่าต้องถูกต้องตรงเป๊ะๆ คือ อ่านไม่ต่อเนื่องไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือ ต้องฟัง ฟังว่าแต่ละประโยคทำให้เรารู้สึกยังไง แล้วซ้อมไปซักพักก็มีปรับบทบ้าง

นาด: แล้วตอนเริ่มลงซีน ทำยังไง ลง Blocking ก่อนไหม ทำยังไง
อ้น: จำไม่ได้ มันคงหลายๆทางมั้ง บางทีก็ให้คนนี้เป็นตัวนี้ตัวนั้น บางทีก็สลับกัน มันก็ลองไปเรื่อง มันช่วยเรื่องมุมมอง

นาด: หมายถึงใช้เน้นใช้กระบวนการค้นหาใช่ไหม
อ้น: อื้ม แล้ว Blocking มาทีหลัง

นาด: วางแผนไว้หรือเปล่า ว่าจะมีงานกำกับอีกเมื่อไหร่
อ้น: หลังจากเดือนนี้ ก็จะเริ่มอีกเรื่อง มันเป็นบทเรื่องแรกที่ผมเขียนไว้ แต่มันเขียนตามใจตัวเองมากเลย

นาด: หมายถึงเขียนไว้ก่อนเรื่อง ดอกไม้ในแสงแดด
อ้น: ใช่ฮะ เรื่องนี้ ดอกไม้ในแสงแดด อยู่ดีๆมันก็พุ่งขึ้นมาเฉยเลยฮะ แล้วผมรู้สึกว่ามันทำได้ มันไม่ยาก มันใกล้ตัว มันทำได้นาด อยากรู้ตอนมันพุ่งมา นี่น่ะ มันยังไง มาได้ยังไงอ้น ครั้งหนึ่ง ไปกินข้าวกับบอลกับกอล์ฟ (นักแสดงอีก 2 คน ในเรื่อง) หลังจากซ้อมละคร ความฝันกลางเดือนหนาว (ละครของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ปี 2549) แล้วก็หมดเบียร์ไป 9 ชวด แล้วชอบบรรยากาศคืนนั้นมาก


าด ยังไง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
อ้น ตอนนั้มันเป็นช่วง ที่ผมอยู่คนเดียว กอล์ฟก็เพิ่งเริ่มงานใหม่ บอลก็เบื่อๆบ่นๆกับงานเก่า แฟนก็อยู่ต่างประเทศเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างเป็นอย่างงี้ นายก็อยู่ห่างแฟน เราก็อยู่ห่างแฟน กอล์ฟไม่มีแฟน แต่เพิ่งเริ่มงานใหม่ คือตอนนั้นก็ไม่เป็นแบบตอนนี้นะ ตอนนี้แต่ละคนเปลี่ยนไปหมดแล้ว ซึ่งผมเห็นได้ แล้วเราก็พูดเรื่องคนที่เราต้องเจอ พูดเรื่อง แฟน เรื่องชีวิต เรื่องการแสดง หลายเรื่อง แล้วก็จะมีแคแรคเตอร์เข้ามาในฉากหลายคน อย่าง มีผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นช่างภาพที่รู้จักกันก็พาสาวมาอวดสองคน แล้วก็มาชวนคุยแบบข้ารู้ทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้นก็คิดเป็นหนังสั้น ได้เป็นช็อตๆ แต่ไม่เต็มเรื่อง แล้วเมื่อสองเดือนที่แล้ว กำลังจะออกจากบ้าน แล้วเปิดเพลง บีทเทิล เพลงนึงไว้ แล้วก็เห็นตอนเริ่มต้นของเรื่อง แล้วก็เห็นตอนจบของเรื่อง ก็หยุดเลยไม่ไปไหน เขียนเลย สามวันผ่านไปก็ได้ร่างแรก ก็โทรหาเพื่อน ว่าจะทำ ไม่รู้ว่าบ้ารึเปล่า

นาด: มีอะไรจะบอกเราอีกไหม
อ้น: ก็ละครเรื่องหน้าก็จะแปลกมากเลยฮะ ผมจะเรียกมันว่า Welcome to Nothing ซึ่งจะมีนักแสดง 3 คนเหมือนกัน จะเป็นแบบ Absurd ครับ

อ่านบทสัมภาษณ์นักแสดงได่ต่อที่นี่

http://crescentmoonspace.blogspot.com/2008/01/talk-behind-scene-sun-flower.html







Monday, 17 November 2008

Crescent moon Space




ละครโรงเล็ก Crescent Moon Sapce เป็นอีกหนึ่งโรงละครที่เข้าร่วมในงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2008 "Theatre Spark Life"


Crescent Moon Space

โรงละคร Crescent Moon Space เดิมเคยเป็นห้องสำนักงานของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งได้การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่นี้จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันปรับปรุงเป็นโรงละครโรงเล็ก Crescent Moon Space ตั้งแต่ปี 2550 ใช้เป็นที่ซ้อม ที่ประชุม ที่จัดทำอุปกรณ์ เป็นที่แสดงผลงานละครเวทีและงานศิลปะอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถจุผู้ชมประมาณ 30-40 ที่นั่ง
เหมาะสำหรับการแสดงขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์และฉากน้อย เน้นให้นักแสดงกับผู้ชมนั้นอยู่ในระยะใกล้ชิด เพื่อเป็นพื้นที่ทางเลือกที่จะเชื่อมโยงผู้สร้างงานศิลปะการละครกับผู้ชม และเชื่อมโยงคนในสังคมให้มีพื้นที่ปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้โดยผ่านงานด้านศิลปะและการละคร ขณะนี้ได้จัดแสดงละครไปแล้วกว่า 19 เรื่อง รวม 129 รอบ

Crescent Moon Space จะจัดแสดงละครในงานเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ได้แก่ เรื่อง “Sun Flower: ดอกไม้ในแสงแดด” กำกับโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่ จัดแสดงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน และ 4-7 ธันวาคมนี้ วันธรรมดา รอบเวลา 19.30 น. และ เสาร์-อาทิตย์ รอบเวลา 14.00 น.


Crescent Moon Space ตั้งอยู่ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ชั้น 1 ด้านหลังแท่นหินสีดำ ตรงลานน้ำพุ สถานที่รถไฟฟ้าทองหล่อ ทางออก 3 รถประจำทางสายที่ผ่าน ได้แก่ 2, 25, 38, 40, 48, 98, ปอ.25, ปอ.508, ปอ.501 และ ปอ.513

ติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์
และ

Sunday, 2 November 2008

Sunflower


ดอกทานตะวันหันตามแสง
คนวิ่งหาความรักและความอบอุ่น


ผู้ชายที่ชื่อ ธวัญ นั่งรับรังสีจากแสงจอคอม วันแล้ววันเล่า จนวันหนึ่งแฟนหายไป
ผู้หญิงที่ชื่อ อรนง กำลังมีความลับ - เธอไม่ใช่แฟน...เลยทำแทนไม่ได้
ผู้ชายที่ชื่อ นพ ดำรงชีวิตด้วยการสร้างเปลือกที่ดูดี


เส้นแบ่งเขตระหว่างความรัก ความหลง และความใคร่ – มันช่างบางเหลือเกิน


Sunflower – ดอกไม้ในแสงแดด

การกลับมาของดอกไม้ในแสงแดดละครเรื่องแรกของ นพพันธ์ บุญใหญ่ ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2008
“Theatre sparks life”


แสดงโดย
วรัญญู อินทรกำแหง / อรอนงค์ ไทยศรีวงค์ / นพพันธ์ บุญใหญ่

เขียนบท/กำกับโดย นพพันธ์

แสดงที่ Crescentmoon space สถาบัน ปรีดี พนมยงค์
สุขุมวิท55 ซอยทองหล่อ
วันแสดง 27 – 30 Nov, 4 – 7 Dec
รอบแสดง วันธรรมดา 19.30
เสาร์ อาทิตย์ 14.30 (เท่านั้น)


ราคาบัตร 300 นักศึกษา 250
จองบัตร 083238519 / 0868141676

มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ
With English subtitles

Saturday, 1 November 2008

ดอกไม้ในแสงแดด


ดอกไม้ในแสงแดดการกลับมาของ "ดอกไม้ในแสงแดด"

ละครเรื่องแรกของ นพพันธ์ บุญใหญ่ ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2008 “Theatre sparks life”

วันแสดง 27 – 30 พ.ย. และ 4 – 7 ธันวาคม 2551

รอบแสดง วันธรรมดา 19.30
เสาร์ อาทิตย์ 14.30
สอบถามและจองบัตรได้ที่
086 814 1676