welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday 29 July 2010

บทวิจารณ์ "เด๊ดสะมอเร่"

บทวิจารณ์ “DeadSaMoRe”
เขียนโดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา
ข้อมูลจาก Madame FIGARO เดือนกรกฎาคม 2553



“การมีความทรงจำเลอเลิศแต่ ‘หลอกๆ’
กับไร้ความทรงจำ อะไรเจ็บปวดกว่ากัน”


ต้องยอมรับว่า นพพันธ์ บุญใหญ่ เป็นนักการละครสมัยใหม่ที่ขยันมากที่สุด ไฟแรงมากที่สุดในยุคนี้...เพียงผ่านมาครึ่งปี เขามีผลงานมาให้เราชมในปีนี้เป็นเรื่องที่สองแล้ว เรื่องแรกเขาทำงานกับคนรัก แต่เรื่องใหม่นี้เขาทำงานเดี่ยว เขียนบทละคร กำกับการแสดง และแสดงนำ
นับตั้งแต่ละครเรื่องแรกของเขาเมื่อสามปีก่อนจนถึงวันนี้ เขาผลิตผลงานละครเวทมีมาแล้ว 6 เรื่อง ไม่นับรวมผลงานย่อยๆที่เขาไปร่วมแจมกับเพื่อนศิลปินในสาขาอื่นๆ ผลงานของเขาสร้างแรงสะเทือนให้กับวงการละครเวทีร่วมสมัยไม่น้อย ด้วยมีทั้งผู้ชมที่ชื่นชมผลงานของเขาอย่างมากและขณะเดียวกันก็มีคนไม่ชอบผลงานของเขาเลย แต่ถึงกระนั้นงานทุกชิ้นของเขาก็กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องดู” เสมอ


เด๊ดสะมอเร่ เป็นละครอีกเรื่องหนึ่งที่นพพันธ์ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบ แอ๊บเสริ์ด (absurd) คือการเล่าเรื่องของชีวิตที่ดูราวกับเป็นเรื่องตลกขบขันไร้สาระไม่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งการเสพละครประเภทนี้ ข้อดีคือดูในระดับความบันเทิงก็ได้ เพราะนพพันธ์จัดมุขตลกร่วมสมัยเอาไว้ในละครของเขาเพียบ หรือจะดูในระดับลึกขึ้นอีกหน่อยก็ได้ เพราะนพพันธ์มีพื้นฐานเป็นนักนักอ่าน นักเสพงานศิลปะ ดังนั้นงานของเขาจึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และการจัดวางเอาไว้เพื่อตีความเสมอ...



เด๊ดสะมอเร่ เล่าเรื่องชีวิตหลังความตายที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวของชายหนุ่มนักทำงานโฆษณา (นพพันธ์ บุญใหญ่) ที่ต้องประสบอุบัตืเหตุเสียชีวิตพร้อมๆกับกิ๊กของเขา เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาก็พบกับชายลึกลับตนหนึ่ง (กีรติ ศิวะเกื้อ) ที่มารอรับเขาอยู่ และจะพาขำปไหนสักแห่ง แต่จู่ๆก็ปรากฏหญิงสาวลึกลับชุดขาวอีกคนหนึ่งที่ต้องการมาพาตัวเขาไปอีกแห่ง และในระหว่างที่ชายหญิงคู่นี้กำลังแย่งตัวเขาอยู่ เขาก็ได้มาพบกับฮิปปี้หนุ่ม (สายฟ้า ตันธนา) ผู้ออกมาวิพากษ์ปรัชญาการเมืองพร้อมๆกับจัดวางเครื่องปฐมพยาบาล ที่พอจัดเสร็จก็เก็บคืน แล้วจากไป และวิญญาณลามะเร่ร่อน (พลัฏ สังขกร) ที่อยู่ดีๆก็ลุกขึ้นจะมากินเขาเสียอย่างนั้น


ประเด็นท้าทายของละครเรื่องนี้ไปอยู่ตรงที่ชายชุดดำและหญิงชุดขาวต้องการให้เขากรอกข้อมูลในแบบฟอร์มเพื่อเลือกความทรงจำที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต เพื่อจะได้ติดตัวเขาไปในชีวิตใหม่...แต่เขาเลือกไม่ได้ เพราะเขายืนยันว่าไม่มี!


แต่กระนั้นเขายังมีความฝัน นั่นคือการได้รับรางวัลออสการ์และกล่าวขอบคุณบุคคลต่างๆ ดังนั้นชายลึกลับและหญิงลึกลับ จึงช่วยกันจำลองความฝันของเขาให้ออกมาเป็นภาพเสหมือนจริง จากนั้นเขาก็พร้อมจะออกเดินทาง ไปอีกโลกหนึ่งพร้อมๆกับความทรงจำ “เทียม” ติดตัวไปด้วย... เจ็บไหมครับ!


ละครเลือกเล่าความตายในแบบทีเลานทีจริง ตั้งแต่การยืมชื่อ “เด๊ดสะมอเร่” มาจากคุณเทิ่ง สติเฟื่อง พิธีกรรายการทีวียุคคุณยายมาใช้ การเล่นกับกติกาในโลกหลังความตายในแบบที่ไม่ได้เป็นกฏเกณฑ์เรื่องจักรวาลที่เรคุ้นเคย ซึ่งเต้มำปด้วยความกำกวม คลุมเครือ แต่ขระเดียวกันความลุ่มหลงบรรยากาศในอดีตของนพพันธ์ ก็ยังฉายออกมาเต็มละคร ผ่านสไลด์ที่เขาฉายเป็นฉาก เพลงประกอบที่เขานำเพลงประกอบภาพยนตร์เก่าๆ รวมทั้งการจตั้งชื่อ



นพพันธ์เลือกใช้เทคนิคการเล่าเรื่องน้องลงกว่าผลงานชิ้นก่อนๆ แต่ในด้านบท ผมกลับรู้สึกว่าเรื่องนี้ไปได้ลึกกว่าผลงานชิ้นก่อนๆพอสมควร การออกแบบแสงที่น้อยแต่มีประสิทธิภาพมากช่วยให้เรื่องดูมีมิติและเหงาหม่น อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องจะเน้นความไม่สมจริง แต่ผมก็ยังอยากเห็น “ความจริง” ที่ตัวละครเชื่อ ออกมาพร้อมกับการแสดงที่ดูไร้สาระนั้น เหมือนกับที่สายฟ้าได้ให้การแสดงที่ดีเยี่ยมในเรื่องนี้ไว้จากตัวละครอื่นๆเพิ่มขึ้น ในการรีเสตจครั้งต่อไป


ดูละครเรื่องนี้จบ ผมไม่ได้กลัวความตาย... แต่ผมกลัวการตายอย่างไร้ความทรงจำที่มีค่ามากกว่า....


ขอขอบคุณ

คุณอภิรักษ์ ชัยปัญหา และ Madame Figaro


Monday 12 July 2010

บทวิจารณ์ "ช่อมาลีรำลึก"

บทวิจารณ์นี้มาจากบล๊อกของ ช้าง กระทืบโลง อีกแล้ว ตามอ่านเกี่ยวกับเจ๊ช่อแพ่อตุ๊กติ๊กได้เลย ณ บัดนี้ หากใครอยากอ่านวิจารณ์เรื่องอื่นๆของ ช้าง กระทืบโลงไปตามอ่านต่อได้ที่นี่
http://chor-chang-review.blogspot.com/


คำประกาศอิสรภาพของ “แม่บ้าน”

ชื่อ ช่อมาลี แสงสุริยา
อายุ 42 ปี
สถานภาพ สมรส บุตร 2 คน

เธอก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงไทยมากมาย หรือจะว่าไป ก็คงคล้ายๆ กับผู้หญิงอีกหลายร้อยล้านคนบนโลกกลมๆ ใบนี้

เธอไม่ใช่คนเด่นคนดัง เป็นคนธรรมดาๆ บ้านๆ อะไรแบบนั้น
หรืออาจเรียกว่าเธอเป็น “เจ๊ข้างบ้าน” (“The Jeh” next door) ตัวจริงก็ย่อมได้

จากเด็กผู้หญิง “ทั่วไป” ที่ไม่ได้หน้าตาสะสวย หรือเรียนเก่งอะไร จนเมื่อเธอมีคำตอบให้แก่ครูภูมิศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แล้วครูกลับไม่เชื่อว่าเธอตอบได้ด้วยตัวเอง ช่อมาลีจึงผันตัวเองไปเป็น “เด็กหลังห้อง” ใส่ชุดนักเรียนคับติ้ว ปากเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ และก่อวีรกรรมสารพัด เช่นการกระโดดลงจากหลังคา แล้วเธอก็เติบโตขึ้นมา ดำเนินชีวิตต่อไปตามอย่างที่คนปกติ “เขาเป็นกัน” คือมีคนรัก แต่งงาน สร้างบ้าน มีลูก เลี้ยงลูก ดูแลผัว ฯลฯ

เมื่อเธอรู้ตัวอีกที หนุ่มสาวคู่นั้นที่เคยรักกันสวีทหวาน ร่วมกันสร้าง “วิมานสีชมพู” ก็พลันหายตัวไประหว่างทาง ทิ้งไว้แต่คนคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งต้องบังเอิญมาใช้ชีวิตในพื้นที่เดียวกันเป็นบางเวลา มีให้กันก็แต่ความเงียบ หรือไม่ก็วาจาเชือดเฉือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ช่อมาลีใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตแม่บ้านไปกับการพูดคุยกับฝาบ้าน

จนมาวันหนึ่ง ตุ๊กติ๊ก เพื่อนสาวโสดรุ่นน้องที่สนิทสนมกันมานาน ก็ทะลวงทลายชีวิตเปล่าดายของช่อมาลีลง ด้วยการชักชวนเธอให้ “หนี” ไปกรีซด้วยกัน 2 อาทิตย์ โดยตุ๊กติ๊
กจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เพื่อที่จะได้ไป “ในที่แปลกๆ ที่พูดภาษาของแ _่งไม่ได้...” (ตามคำของตุ๊กติ๊ก)

โลกที่ช่อมาลี แม่บ้านวัยกลางคน คุ้นเคย จำเจ และเบื่อหน่าย จึงถึงแก่กาลอวสานลง...

ช่อมาลีรำลึก สร้างตัวละคร ช่อมาลี แสงสุริยา (เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์) ขึ้นมา อย่างที่ทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจ ว่าเธอเป็น “เจ๊” คนนั้นจริงๆ ทั้งด้วยคาแร็คเตอร์ การแต่งเนื้อแต่งตัว (รวมถึงการพูดไม่ชัดในบางคำ) และการแสดงที่ดูเหมือนไม่ได้แสดง เยาวลักษณ์ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคย และคลับคล้ายคลับคลา ว่าเราเองก็รู้จักคนแบบนี้ตัวเป็นๆ อยู่ด้วย

ตรงกันข้ามกับปานรัตน กริชชาญชัย ที่รับบท “ตุ๊กติ๊ก” เธอมีวิธีการแสดงอีกแบบหนึ่ง ที่ดูลอยๆ เหนือจริง และมักพรั่งพรูคำพูดเชือดเฉือนออกมาหน้าตาเฉย นอกจากนั้นแล้ว ปานรัตนยังทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งกำกับการแสดง เขียนบท และรับบทเป็นตัวละครอื่นๆ ในเรื่องด้วย ตั้งแต่คุณครูวิชาภูมิศาสตร์ ภาวิณี เพื่อนแสนสวยแสนเก่งจากวัยเยาว์ ที่ผันตัวไปเป็นกะหรี่ข้ามชาติ เจ๊เกียว เพื่อนบ้านแบรนด์เนมจอมจุ้น และเก๋ ลูกสาววัยรุ่นของช่อมาลี

ในบทละครของ ช่อมาลีรำลึก กล่าวซ้ำๆ เรื่องการเดินทางที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นบทพูดยาวเหยียด ว่าด้วยซิกมันด์ ฟรอยด์ และความสุขสมในชีวิตทางเพศของผู้หญิง ที่ไม่เคยได้รับจากผู้ชาย เปรียบเทียบกับการนั่งรถเมล์สาย 8 (สะพานพุทธ – แฮปปี้แลนด์) จะไปดอยช้างม่อย ซึ่งไม่มีวันไปถึง คำบอกเล่าของช่อมาลี ถึงละครวันคริสต์มาสที่โรงเรียนของลูก เมื่อไก๋ ลูกชายของเธอ ตัดสินใจเปลี่ยนบทพูดของยอแซฟ จนทำให้ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ไปไม่ถึงนครเบธเลเฮม จนมาสรุปลงที่การเดินทางไปกรีซ ที่ทำท่าว่าจะล่มไปเสียก่อน เพราะช่อมาลีไม่กล้าพอที่จะลุกขึ้นหนีไปจากชีวิตเดิมๆ ของเธอ แต่แล้ว การตัดสินใจไปกรีซ ก็ทำให้เธอได้ค้นพบตัวตนอีกครั้งหนึ่ง หลุดไปจากบทบาทแม่หรือเมีย ตลอดจนปมต่างๆ ในชีวิตที่ถูกกดทับเอาไว้ กลายเป็นปัจเจกชนที่เป็นไท เป็นอิสระ อีกครั้งหนึ่ง

น่าสนใจว่า ตลอดทั้งเรื่อง ช่อมาลีจะเป็นฝ่ายพูดคนเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่บ้าน เธอก็พูดคุยกับข้างฝา แม้เมื่อเธออยู่ร่วมฉากกับตุ๊กติ๊ก ก็ดูเหมือนว่าต่างคนต่างพูด และไม่ใช่บทสนทนา (dialogue) ทว่าเป็นบทพูดคนเดียว (monologue) ของเธอเสียมากกว่า จนทำให้เราอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า จริงๆ แล้ว “ตุ๊กติ๊ก” (ตุกติก ?) มีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงภาพในใจของเจ๊ช่อ เป็นสิ่งที่เธอเองอยากเป็นอยากมีเสมอมา แต่ไม่เคยกล้าพอที่จะเลือก

อย่างที่จะเห็นว่า ขณะที่ช่อมาลีถูกเรียกขานด้วยชื่อจริง พร้อมนามสกุล ตลอดเวลา แต่ตุ๊กติ๊กกลับมีชื่อเรียกอยู่เพียงแค่นั้นตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งกว่านั้น เมื่อเจ๊แกตัดสินใจขึ้นเครื่องบินไปกรีซ ตุ๊กติ๊กที่ไปด้วยกันก็ขอแยกตัวไปกับหนุ่มที่รู้จักกันบนเครื่องบิน ก่อนจะกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อช่อมาลีกำลังลังเลใจว่าเธอจะทำอย่างไรกับชีวิตดี สุดท้าย เมื่อถึงวันกลับ ที่สนามบิน ตุ๊กติ๊กเองกลับเป็นฝ่ายแยกจากเธอไป เมื่อเจ๊ช่อไม่ยอมกลับเมืองไทย แต่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตใหม่ของเธอที่นั่น นั่นก็คือ ตุ๊กติ๊กก็คือตัวตนอีกภาคหนึ่งของช่อมาลี ดังนั้น เมื่อเธอได้ประกาศอิสรภาพให้ตัวเองเรียบร้อยแล้ว ตุ๊กติ๊กจึงไม่จำเป็นสำหรับชีวิตของเธออีกต่อไป

ถ้าทั้งหมดนี้ จะทำให้ฟังดูเหมือนว่า ช่อมาลีรำลึก เป็นละครเฟมินิสม์จ๋า พาเครียดหดหู่ ก็ต้องปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่จริงเล้ยยย... ละครเรื่องนี้ “ตลกมาก” (ขอบอก) และ “แร็งงง” อย่างฮา แฟนละครประเภทที่ชอบบทเสียดสี ขบกัด เย้ยหยันอย่างร้ายลึก น่าจะรักละครเรื่องนี้ได้โดยง่าย


ช่อมาลีรำลึก
New Theatre Society
ได้รับแรงบันดาลใจจากบทละคร Shirley Valentine ของ Willy Russell (บทดั้งเดิมได้รับรางวัล Best Comedy ของ Laurence OIivier Awards 1998) และกลอนชื่อ Waiting ของ Faith Wilding
นักแสดง เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ / ปานรัตน กริชชาญชัย
กำกับการแสดง/เขียนบท ปานรัตน กริชชาญชัย


Cresentmoon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
26 – 30 สิงหาคม, 2 – 6 กันยายน 2552
เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสาร Vote ปีที่ 5 ฉบับที่ 110 ปักษ์หลัง มกราคม 2553
เขียนโดย ช้าง กระทืบโรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://chor-chang-review.blogspot.com/


Sunday 11 July 2010

บทวิจารณ์ "วอเตอร์ไทม์"

บทวิจารณ์จากบล๊อก ช้าง กระทืบโลง
http://chor-chang-review.blogspot.com/



Water / Time
เวลาของน้ำ เวลาของเรา



ถ้าถามผมว่าเสน่ห์ของละคร Water / Time อยู่ที่ไหน ?

นักแสดง ? แน่นอน มือระดับคุณฮีน ศศิธร พานิชนก ที่ทั้งเรียนมาด้านนี้ ทั้งผ่านงานภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีมามากมาย คงไม่ต้องสงสัยในฝีไม้ลายมือของเธอ

ผู้กำกับ ? ก็อีกนั่นแหละ ระดับ “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน ก็รับประกันได้อยู่แล้ว ว่าในฐานะ “ผู้ชมคนแรก” เธอย่อมต้องกลั่นกรอง เลือกสรร (หรือเค้นหา) สิ่งที่ “ใช่” ที่สุดในสายตามาเสนอแก่ผู้ชม


บทละคร ? ได้อ่านจากใบปลิวสูจิบัตร ว่าบทละครเรื่องนี้ โชโกะ ทานิกาวา (ซึ่งร่วมแสดงเอง) เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นก่อน แล้วจึงมาแปลกลับเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษทีหลัง แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความกระชับ ตรงไปตรงมา แต่ก็แยบคายอย่างมีชั้นเชิงของตัวบท


ฉาก ? ก็เก๋และแปลกๆ ดี ที่กลับเอาประตูทางเข้าโรงมาให้ทั้งคนดูและนักแสดงใช้ด้วยกัน คือคนดูก็ใช้ผ่านเข้ามานั่งที่ ส่วนนักแสดงก็ใช้เดินเข้าฉาก เข้ามาในห้องพักอพาร์ตเมนต์ที่ “รก” อย่างได้ใจ และสมจริง

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมคิดว่า เสน่ห์เฉพาะตัวของ Water / Time ไม่ได้ตกไปอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่งที่พรรณนามาแล้วข้างต้น หากแต่อยู่ที่ “ส่วนรวม” หรือ “ผลลัพธ์” ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อหวนระลึกขึ้นมา กลับเด่นชัดในใจเสียยิ่งกว่าส่วนประกอบต่างๆ นั้นเสียอีก

เสน่ห์นั้นก็คือความงามอย่างเรียบง่าย จริงใจ ชนิดที่ถ้าให้นึกเองก็อาจมีอคติคิดไปว่า เป็นสไตล์ “ญี่ปู๊น ญี่ปุ่น” คือคิดมามาก แต่ใช้สอยเพียงอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก”


ความงามในความง่ายนั้นก็คือละครที่พูดถึงเรื่องราวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะพบเจอได้ในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทิ้งประเด็นใหญ่หลวงน่าขบคิดใคร่ครวญไว้ให้ติดหัวคนดูกลับไปบ้านด้วย


ถ้าเล่าอย่างย่อๆ เรื่องของ Water / Time ว่าด้วย คู่ผัวตัวเมียหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวไทย เคนจิ (โชโกะ ทานิกาวา) สามีหัวดื้อ มุ่งมั่นจะเป็นคนเขียนบท ส่วน น้ำ (ศศิธร พานิชนก) ภรรยาคนไทย ก็มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละคร แต่หนทางไปสู่สิ่งที่พวกเขาวาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในนิวยอร์ก มหานครที่เปรียบประดุจศูนย์กลางจักรวาลของแวดวงละคร น้ำต้องไปทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ หารายได้มาหล่อเลี้ยงความฝันของทั้งเขาและเธอ ในสภาพกดดัน แปลกแยกเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ต้องสื่อสารข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรม (ไทย/อเมริกัน/ญี่ปุ่น) อาจดูเป็นเรื่องน่าขันสำหรับผู้ชม แต่สำหรับทั้งสองคน การที่ “คนรัก” พร้อมจะกลับกลายเป็น “คนเคยรัก” นั้น ย่อมไม่ตลกเลย

ในพล็อตเรื่องที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” เช่นนี้เอง ที่องค์ประกอบทุกภาคส่วน ทั้งนักแสดง บท ผู้กำกับ ฉาก (ตลอดจนส่วนงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนาม) กลับร่วมกันสร้างให้มี “อะไร” ขึ้นมา ตัวละครที่อยู่ต่อหน้าดูเป็น “คน” ที่มีชีวิต “จริง” จนเราสัมผัสได้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงง่ายๆ นั้นเอง ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างจังๆ ดังเช่นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โฆษณาตั้งแต่เมื่อละครออกแสดงใหม่ๆ ก็คือ “เวลาทะเลาะกับแฟน เราพูดภาษาอะไรกัน” ประโยคง่ายๆ แค่นี้ก็อาจชักนำให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อีกคนหนึ่งกำลังพูดภาษาอะไรอยู่ (ฟะ!) ทำไม่ไม่เข้าใจเหรอ ? ทำไมไม่พูดภาษาเดียวกัน (กับกรู) ล่ะ ? เหมือนกันกับที่น้ำและเคนจิ ต่างเหน็บแนม ประชดประชัน และ “ทำร้าย” กันและกันด้วยภาษาที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีวันเข้าใจ

ด้วยความที่บทละครเรื่องนี้ใช้ทั้งสามภาษา คือไทย/อังกฤษ/ญี่ปุ่น ไปพร้อมๆ กัน จึงต้องฉายคำบรรยาย (subtitles) อีกสองภาษาไว้ที่ตอนบนของผนังตลอดเวลา แรกๆ ผมก็พยายามอ่านตาม แต่แล้วกลับพบว่า ทำให้เสียสมาธิกับละครไปมาก ก็เลยตัดสินใจเลิกอ่าน ในกรณีของผม - ผู้ชมชาวไทย ซึ่งพอรู้ภาษาฝรั่งนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น – นั่นก็คือการกระโดดลงไปอยู่ในละคร ก้าวเข้าไปสู่ประสบการณ์เดียวกันกับสาวน้ำแบบตรงๆ และปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลน่าสนใจดีทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเลิกอ่านคำบรรยายยังทำให้เรารับรู้พลังหรือ “สาร” ที่นักแสดงส่งออกมา ซึ่งอยู่พ้นไปจากอำนาจของถ้อยคำเสียด้วยซ้ำ

ชื่อเรื่อง Water / Time นั้น ในทางหนึ่ง ก็อาจจะหมายถึงบทละครที่เคนจิเขียน และน้ำเข้าใจว่าคงหมายถึง “เวลา(ของ)น้ำ” แต่พร้อมกันนั้น ละครก็ตั้งใจชักพาผู้ชมให้คิดไปถึงสำนวนที่มีทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ว่าเวลาและวารีย่อมไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยรั้งรอใคร สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ (เพราะชีวิตไม่มีปุ่ม undo เหมือนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ดังนั้น (ถ้าจะให้ฟังดูเป็นทางพระๆ หน่อย ก็คงต้องบอกว่า) จึงพึงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ใช้วันเวลา ณ ขณะนี้ให้เต็มเปี่ยม ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ถ้าเพียงแต่เรารู้เท่าทันว่า เวลากำลังใกล้จะหมดลงแล้ว...

ดูเหมือนว่า Water / Time จะบอกผมอย่างนั้น


Water / Time
Cresent Moon Space (สถาบันปรีดี พนมยงค์)
LIFE Theatre
กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน
นักแสดง: โชโกะ ทานิกาวา, ศศิธร พานิชนก, อภิรักษ์ ชัยปัญหา
17 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม และ 11 – 13 และ 18 – 20 กันยายน 2552


พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 114 ปักษ์หลัง มีนาคม 2553
เขียนโดย ช้าง กระทืบโรง

ขอขอบคุณข้อมูลจากบล๊อก : ช.ช้างกระทืบโลง

บทวิจารณ์ "ไฟล้างบาป"

เราค้นไปเจอบทวิจารณ์ละครเวทีเรื่อง "ไฟล้างบาป" จากบล๊อกช.ช้างกระทืบโลง เลยนำมาแบ่งกันอ่านที่ หากใครสนใจอ่านบทวิจารณ์ละครเวทีเรื่องอื่นๆได้ที่นี่



ไฟล้างบาป
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ?


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มิตรรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยเปรยขึ้นในวงสนทนาว่า “นรก” ในจินตภาพของคนไทยนั้น ดูๆ ไปก็ไม่ผิดกับครัว คือมีทั้งไฟ กระทะ และของมีคมนานาชนิด บรรดาสัตว์นรกทั้งหลายก็จะต้องมาชำระล้างบาปของตน ด้วยกรรมวิธีเฉกเช่นเดียวกับที่ “ของสด” ถูกหั่น สับ ปิ้ง ย่าง ต้ม แกง จนกลายเป็น “กับข้าว” ที่เป็น “ของสุก”

ไฟล้างบาป ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่เพิ่งกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง ก็ชวนให้ผมนึกถึงถ้อยคำของอาวุโสท่านนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะบางทีบางที่ “นรก” ก็อาจอยู่ถัดจากครัวไปอีกหน่อยหนึ่ง...

แน่นอนว่า สำหรับละครเรื่องนี้ (หรือเรื่องไหนๆ ก็เถอะ!) นักแสดงย่อมเป็นส่วนสำคัญ แต่ละคนของไฟล้างบาป ล้วนจัดอยู่ในระดับ “ยอดฝีมือ” ของวงการละครเวทีร่วมสมัยของเมืองไทย เช่น สินีนาฏ เกษประไพ เจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2551 ในฐานะศิลปินร่วมสมัยด้านการละคร หรือ ฟารีดา จิราพันธุ์ ซึ่งถ้าให้เดา ก็มีท่าทีว่าคงจะได้รับเกียรติยศอย่างเดียวกันกับสินีนาฏในอีกไม่นานเกินรอ

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ก็คือบทละคร ซึ่งริเริ่มโดยนักแสดงทั้งสี่ของเรื่องนี้เอง ในการจัดเวิร์คช็อปของเพต้า (PETA - Philippines Educational Theatre Association) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2549 และพัฒนาต่อมา จนได้ออกตระเวนทัวร์แสดงตามสถาบันการศึกษาต่างๆ นับสิบแห่งในประเทศ และล่าสุด ก่อนหน้าการแสดงครั้งล่าสุดนี้ พวกเธอๆ ก็เพิ่งกลับมาจากการนำละครไปแสดงในเทศกาล Mekong Arts and Media Festival 2009 ที่โรงละครจตุมุข กรุงพนมเปญ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมานี่เอง



ไฟล้างบาป เริ่มต้นขึ้น ณ สถานที่แปลกประหลาดแห่งหนึ่ง จะด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด ผู้หญิงแปลกหน้าสามคนมาพบกัน มีทั้ง “ป้าทอม” หนุ่มใหญ่ในร่างหญิง (สินีนาฏ เกษประไพ) ลูกจ้างทำงานบ้าน (ศรวณี ยอดนุ่น) และดาราสาวคนดัง (ฟารีดา จิราพันธุ์) ในไม่ช้า พวกเธอก็ตระหนักว่า ตัวเองตายไปแล้ว และสรุปกันว่า สถานที่แห่งนั้นคงต้องเป็น “นรก”

แต่นรกขุมนั้น ไม่มีเปลวไฟ และไม่มียมบาลใส่หมวกเขาควาย ทว่า จู่ๆ ก็มีกองเสื้อผ้าสกปรก กะละมัง 3 ใบ และผงซักฟอกกล่องใหญ่ขนาดเท่ากระเป๋าเดินทาง หล่นลงมา พวกเธอทั้งสามก็สำเหนียกว่า ในเมื่อที่นั่นเป็นนรก พวกเธอก็ย่อมมีหน้าที่ต้องชดใช้ความผิดบาปที่เคยกระทำมาเมื่อครั้งยังมีชีวิต จึงก้มหน้าก้มตาซักผ้า ชำระล้างบาปไป

ชีวิตซ้ำซากเวียนวนในนรกขุมซักผ้านี้ ดำเนินไปควบคู่กับการที่ผู้หญิงแต่ละคน เริ่มผลัดกันเล่าเท้าความถึงชีวิตเมื่อยังอยู่บนโลกมนุษย์ของตน ไม่ว่าจะเป็น “ป้าทอม” กับความรักแบบ “หญิงรักหญิง” ที่ถูกสังคมประณามว่าผิดเพศ ดาราสาวกับพฤติกรรม “ฉาวโฉ่” ในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งเด็กสาวบ้านนอก ผู้ถูกกลุ่มชายโฉดรุมข่มเหง สร้างตราบาปให้แก่ชีวิตเธอ

แต่ครั้นแล้ว ทุกคนก็เริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่เธอ “เป็น” นั้น มันเป็นความผิดบาปอย่างมหันต์ถึงขนาดที่ต้องตกนรกหมกกะละมังอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์เช่นนั้นเชียวหรือ พวกเธอจึงกู่ก้องตะโกนเรียกหา “ท่าน” เพื่อทวงถาม
ในที่สุด “ท่าน” (สุมณฑา สวนผลรัตน์) ก็ปรากฏตัวออกมา เป็นสาวใหญ่ในชุดขาว ด้วยมาดสตรีหมายเลขหนึ่ง ท่ามกลางความงุนงงของทุกคนว่า เหตุใด “ท่าน” (พระเจ้า? ยมบาล? ใคร?) จึงเป็นผู้หญิง ต่างกับภาพที่มักนึกกันโดยทั่วไปว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาลจะต้องเป็นเพศชาย

ยิ่งไปกว่านั้น “ท่าน” ซึ่งสั่งให้ทุกคนเรียกเธอว่า “โกลดี้” ก็ย้อนถามทั้งสามสาวว่า มีใครบอกให้เธอไปซักผ้าหรือไม่ ? หรือพวกเธอทำไปเองเพียงเพราะความเคยชิน ? ทั้งยังสำทับด้วยว่า กะละมังนั้น ถ้าไม่หงายใส่น้ำซักผ้า ก็สามารถคว่ำลงใช้วางเท้าได้!

เช่นเดียวกับ “โทษบาป” ที่ทั้งสามคนแบกรับไว้นั้น ล้วนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องชดใช้ด้วยการลงโทษทัณฑ์ ว่าแล้ว โกลดี้ก็ลุกขึ้นเต้น จับมือกับสามสาว พากันเต้นออกไปจาก “นรกแม่บ้าน” นั้น...

ไฟล้างบาป ใช้เวลาแสดงเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่ก็นำเสนอ “สาร” ได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น

ประเด็นที่ว่าด้วย “คำพิพากษา” ที่สังคมมีแก่ผู้หญิง ว่า ผู้หญิง “ที่ดี” หรือ “ปกติ” นั้น ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ควรต้องทำอะไร มีเพศสัมพันธ์แบบไหน กับใครได้บ้าง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างภาวะจำยอม และเป็นภาระที่ต้องแบกติดตัวไปตลอดชีวิต (หรือเลยไปกว่านั้นด้วย...)

แม้ประเด็นเหล่านี้ อาจดูเหมือน “เกือบ” จะเชย เพราะก็มีการหยิบยกมานำเสนอบนเวทีละครของกลุ่มละครเล็กๆ ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่ที่มันยังไม่เชย ก็เพราะนอกโรงละคร พ้นไปจากเวทีเล็กๆ นั้น ในโลกจริงข้างนอก การฉกฉวยโอกาสจากร่างกาย และ “ความเป็นหญิง” ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เหมือนที่เคยเป็นมา ซ้ำร้าย ยิ่งทวีความรุนแรงและความแยบยลขึ้นเป็นลำดับ

และผมก็เชื่อ – ด้วยความเศร้าใจยิ่ง – ว่า ไฟล้างบาป จะยังสามารถนำกลับมาขึ้นเวที (Restage) ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้นานปี โดยยังไม่ล้าสมัยง่ายๆ


ไฟล้างบาป (Restage)
พระจันทร์เสี้ยวการละคร
นักแสดง สินีนาฏ เกษประไพ, ศรวณี ยอดนุ่น, ฟารีดา จิราพันธุ์, สุมณฑา สวนผลรัตน์
Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
3-7 ธันวาคม 2552


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 117 ปักษ์หลัง พฤษภาคม 2553
เขียนโดย ช้าง กระทืบโรง


ขอขอบคุณ:
ช.ช้างกระทืบโลง
ภาพถ่ายโดย:
จีรณัท เจียรกุล

Crescent moon space in July : 2010

เดือนกรกฎาคม เดือนนี้ที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon space ไม่มีละครมาลงโรง ก็ได้ให้สเปซพักผ่อนกันบ้าง จะมีงานซ้อมละคร ประชุม และงานคาสติ้งที่เข้ามาใช้ เราเพิ่งเจอบทวิจารณ์ละครเวทีหลยเรื่องที่นักวิจารณ์เขียนถึงละครที่ลงในสเปซของเรา ก็จะนำมาปันกันอ่านในเร็วๆนี้

เดือนหน้าเตรียมพบกับสองหนุ่มนักละครใบ้ งิ่ง ธา เบบี้ไมม์ และแขกรีบเชิญพิเศษใน Little Mime Project 2 ตั้งแต่ 12 - 22 สิงหาคมนี้