welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Sunday, 11 July 2010

บทวิจารณ์ "วอเตอร์ไทม์"

บทวิจารณ์จากบล๊อก ช้าง กระทืบโลง
http://chor-chang-review.blogspot.com/



Water / Time
เวลาของน้ำ เวลาของเรา



ถ้าถามผมว่าเสน่ห์ของละคร Water / Time อยู่ที่ไหน ?

นักแสดง ? แน่นอน มือระดับคุณฮีน ศศิธร พานิชนก ที่ทั้งเรียนมาด้านนี้ ทั้งผ่านงานภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีมามากมาย คงไม่ต้องสงสัยในฝีไม้ลายมือของเธอ

ผู้กำกับ ? ก็อีกนั่นแหละ ระดับ “ครูหนิง” พันพัสสา ธูปเทียน ก็รับประกันได้อยู่แล้ว ว่าในฐานะ “ผู้ชมคนแรก” เธอย่อมต้องกลั่นกรอง เลือกสรร (หรือเค้นหา) สิ่งที่ “ใช่” ที่สุดในสายตามาเสนอแก่ผู้ชม


บทละคร ? ได้อ่านจากใบปลิวสูจิบัตร ว่าบทละครเรื่องนี้ โชโกะ ทานิกาวา (ซึ่งร่วมแสดงเอง) เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นขึ้นก่อน แล้วจึงมาแปลกลับเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษทีหลัง แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความกระชับ ตรงไปตรงมา แต่ก็แยบคายอย่างมีชั้นเชิงของตัวบท


ฉาก ? ก็เก๋และแปลกๆ ดี ที่กลับเอาประตูทางเข้าโรงมาให้ทั้งคนดูและนักแสดงใช้ด้วยกัน คือคนดูก็ใช้ผ่านเข้ามานั่งที่ ส่วนนักแสดงก็ใช้เดินเข้าฉาก เข้ามาในห้องพักอพาร์ตเมนต์ที่ “รก” อย่างได้ใจ และสมจริง

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมคิดว่า เสน่ห์เฉพาะตัวของ Water / Time ไม่ได้ตกไปอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่งที่พรรณนามาแล้วข้างต้น หากแต่อยู่ที่ “ส่วนรวม” หรือ “ผลลัพธ์” ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อหวนระลึกขึ้นมา กลับเด่นชัดในใจเสียยิ่งกว่าส่วนประกอบต่างๆ นั้นเสียอีก

เสน่ห์นั้นก็คือความงามอย่างเรียบง่าย จริงใจ ชนิดที่ถ้าให้นึกเองก็อาจมีอคติคิดไปว่า เป็นสไตล์ “ญี่ปู๊น ญี่ปุ่น” คือคิดมามาก แต่ใช้สอยเพียงอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก”


ความงามในความง่ายนั้นก็คือละครที่พูดถึงเรื่องราวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะพบเจอได้ในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทิ้งประเด็นใหญ่หลวงน่าขบคิดใคร่ครวญไว้ให้ติดหัวคนดูกลับไปบ้านด้วย


ถ้าเล่าอย่างย่อๆ เรื่องของ Water / Time ว่าด้วย คู่ผัวตัวเมียหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวไทย เคนจิ (โชโกะ ทานิกาวา) สามีหัวดื้อ มุ่งมั่นจะเป็นคนเขียนบท ส่วน น้ำ (ศศิธร พานิชนก) ภรรยาคนไทย ก็มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละคร แต่หนทางไปสู่สิ่งที่พวกเขาวาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในนิวยอร์ก มหานครที่เปรียบประดุจศูนย์กลางจักรวาลของแวดวงละคร น้ำต้องไปทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ หารายได้มาหล่อเลี้ยงความฝันของทั้งเขาและเธอ ในสภาพกดดัน แปลกแยกเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ต้องสื่อสารข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรม (ไทย/อเมริกัน/ญี่ปุ่น) อาจดูเป็นเรื่องน่าขันสำหรับผู้ชม แต่สำหรับทั้งสองคน การที่ “คนรัก” พร้อมจะกลับกลายเป็น “คนเคยรัก” นั้น ย่อมไม่ตลกเลย

ในพล็อตเรื่องที่ดูเหมือน “ไม่มีอะไร” เช่นนี้เอง ที่องค์ประกอบทุกภาคส่วน ทั้งนักแสดง บท ผู้กำกับ ฉาก (ตลอดจนส่วนงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนาม) กลับร่วมกันสร้างให้มี “อะไร” ขึ้นมา ตัวละครที่อยู่ต่อหน้าดูเป็น “คน” ที่มีชีวิต “จริง” จนเราสัมผัสได้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงง่ายๆ นั้นเอง ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างจังๆ ดังเช่นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โฆษณาตั้งแต่เมื่อละครออกแสดงใหม่ๆ ก็คือ “เวลาทะเลาะกับแฟน เราพูดภาษาอะไรกัน” ประโยคง่ายๆ แค่นี้ก็อาจชักนำให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อีกคนหนึ่งกำลังพูดภาษาอะไรอยู่ (ฟะ!) ทำไม่ไม่เข้าใจเหรอ ? ทำไมไม่พูดภาษาเดียวกัน (กับกรู) ล่ะ ? เหมือนกันกับที่น้ำและเคนจิ ต่างเหน็บแนม ประชดประชัน และ “ทำร้าย” กันและกันด้วยภาษาที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีวันเข้าใจ

ด้วยความที่บทละครเรื่องนี้ใช้ทั้งสามภาษา คือไทย/อังกฤษ/ญี่ปุ่น ไปพร้อมๆ กัน จึงต้องฉายคำบรรยาย (subtitles) อีกสองภาษาไว้ที่ตอนบนของผนังตลอดเวลา แรกๆ ผมก็พยายามอ่านตาม แต่แล้วกลับพบว่า ทำให้เสียสมาธิกับละครไปมาก ก็เลยตัดสินใจเลิกอ่าน ในกรณีของผม - ผู้ชมชาวไทย ซึ่งพอรู้ภาษาฝรั่งนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น – นั่นก็คือการกระโดดลงไปอยู่ในละคร ก้าวเข้าไปสู่ประสบการณ์เดียวกันกับสาวน้ำแบบตรงๆ และปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลน่าสนใจดีทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การเลิกอ่านคำบรรยายยังทำให้เรารับรู้พลังหรือ “สาร” ที่นักแสดงส่งออกมา ซึ่งอยู่พ้นไปจากอำนาจของถ้อยคำเสียด้วยซ้ำ

ชื่อเรื่อง Water / Time นั้น ในทางหนึ่ง ก็อาจจะหมายถึงบทละครที่เคนจิเขียน และน้ำเข้าใจว่าคงหมายถึง “เวลา(ของ)น้ำ” แต่พร้อมกันนั้น ละครก็ตั้งใจชักพาผู้ชมให้คิดไปถึงสำนวนที่มีทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ว่าเวลาและวารีย่อมไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยรั้งรอใคร สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ (เพราะชีวิตไม่มีปุ่ม undo เหมือนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ดังนั้น (ถ้าจะให้ฟังดูเป็นทางพระๆ หน่อย ก็คงต้องบอกว่า) จึงพึงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ใช้วันเวลา ณ ขณะนี้ให้เต็มเปี่ยม ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ถ้าเพียงแต่เรารู้เท่าทันว่า เวลากำลังใกล้จะหมดลงแล้ว...

ดูเหมือนว่า Water / Time จะบอกผมอย่างนั้น


Water / Time
Cresent Moon Space (สถาบันปรีดี พนมยงค์)
LIFE Theatre
กำกับการแสดง: พันพัสสา ธูปเทียน
นักแสดง: โชโกะ ทานิกาวา, ศศิธร พานิชนก, อภิรักษ์ ชัยปัญหา
17 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม และ 11 – 13 และ 18 – 20 กันยายน 2552


พิมพ์ครั้งแรกใน Vote ฉบับที่ 114 ปักษ์หลัง มีนาคม 2553
เขียนโดย ช้าง กระทืบโรง

ขอขอบคุณข้อมูลจากบล๊อก : ช.ช้างกระทืบโลง

No comments: