welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday 26 June 2008

4 นักแสดง ใน "รักบังตา"


แสดงโดย

เกรียงไกร ฟูเกษม

ภาวิณี สมรรคบุตร
เพียงไพฑูรย์ สาตราวาหะ
และ
จิรายุทธ ชัยเชียงเอม

Monday 16 June 2008

รักบังตา


เมื่อดวงใจมีรัก แต่กลับกลายเป็น รักบังตา
พระจันทร์เสี้ยวการละคร เสนอ

"รักบังตา" (Love Invisible)


ไม่สำคัญจะเห็นว่ารักหรือไม่เพราะใจได้รู้ว่ารักแล้ว
รัก เป็นจุดเริ่มต้นของหัวใจ แต่อาจเป็นจุดจบของบางเรื่องราวเพราะ...


รัก ไม่ได้เกิดกับคนทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ต้องการมัน
รัก ไม่ตอบรับกับคนทุกคน แต่มีเพียงแค่บางคนที่ได้รับ
รัก ไม่สมหวังกับคนทุกคน แต่คนบางก็วิ่งไล่ตาม

มุมมองเรื่องรักของใครบางคนที่หัวใจไม่ไร้รัก


เขียนบท กวินธร แสงสาคร และ สินีนาฏ เกษประไพ
กำกับโดย กวินธร แสงสาคร

วันเวลาแสดง
27,28,29 มิถุนายน 2551

4,5,6 กรกฎาคม 2551
รอบเวลา 19.30 น. / เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30 น.
(รวม 10 รอบ)

แสดงที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space
อยู่ในอาคาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่ออ (ลงสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ)


บัตรราคา 250 บาท (นักเรียน,นักศึกษา 200 บาท)

ติดต่อสอบถามที่ 081 259 6906 และ 081 612 4769


Thursday 5 June 2008

พูดคุยกับสาวๆจากห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์




พูดคุยกับผู้หญิง 4 คน จากห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์
ถามและถ่ายภาพโดย สินีนาฏ เกษประไพ



ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์ หรือ The Room no.O เป็นผลงานเรื่องใหม่ของกลุ่มบีฟลอร์ ที่มาแสดงที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space อาทิตย์นี้และอาทิตย์หน้ากำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ และ ธีระวัฒน์ มุลวิไล แสดงโดยสาวๆสี่คน ซึ่งเรากำลังตามมาพูดคุยทำความรู้จักกันทีละคนตามนี้

นาด : เริ่มจากน้องเล็กที่สุดก่อน คือ น้องมินท์ ช่วยแนะนำตัวหน่อย
มินท์ : ชื่อ มีนา จงไพบูลย์
นาด : ตอนนี้มินท์ยังเรียนอยู่ใช่ไหม เรียนอะไร ที่ไหน
มินท์ :
มินท์เรียนปี 2 ที่สวนสุนันทา คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกศิลปะการแสดง
นาด : ก็แสดงว่าทำละคร หรือเล่นละครกับที่คณะบ้างแล้วใช่ไหม
มินท์ :
ค่ะ แต่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเรียนที่สวนสุนันทาก็ได้เล่นบุโตกับพี่โกะ (โซโนโกะ พราว) มาแล้ว เริ่มแสดงมาตั้งแต่อยู่ ม.3 ชิ้นแรกน่าจะเป็นแสดงที่เทศกาลละคร แต่ปีไหนก็จำไม่ได้แล้ว แล้วก็มีมาเรื่อยๆ เช่น งานอาร์ทมาร์เก็ต แล้วเมื่อเดือนก่อนโน้นก็ได้ไปเวริ์คชอป B Fest 2008 กับ B Floor แล้วพี่จาก็เลยชวน ก็เลยลองดู อยากเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง อยากเล่นกับหลายๆกลุ่ม แล้วได้เล่นกับพี่ๆที่มีประสบการณ์มากกว่า
นาด : แล้วจากงาน B Fest 2008 และงานชิ้นนี้ ได้เจออะไรบ้าง
มินท์ : ที่ไปเวริ์คชอปที่พี่คาเงะสอนนี่ก็ได้ประโยชน์เยอะมาก ได้เคยทำแบบฝึกหัดที่ไม่เคยเจอไม่เคยทำ คือ หนูเริ่มเล่นละครโดยไม่ได้เรียน เพราะพี่ชวนไปทำก็ไปทำ ให้ซ้อมก็ซ้อม ก็ให้ได้เท่าที่มี เลยไม่ค่อยรู้อะไรมาก ไม่เคยรู้พื้นฐาน แล้วก็ได้มาเข้าเรียนที่สวนสุนันทาก็เพิ่งได้เริ่มเรียนไม่มาก
นาด : งั้นถามถึงการซ้อมงานชิ้นนี้เลย ห้องตกกระแทก หรือการร่วมงานครั้งแรกกับบีฟลอร์แบบเต็มๆเป็นยังไงบ้าง เจออะไรใหม่ๆบ้างไหม หรือชอบอะไร ประทับใจอะไรบ้างไหม หรืออะไรที่เราอยากพูดถึงบ้าง
มินท์ :
ที่อยากพูดถึงคือ วิธีคิดงานของพี่ๆ ก็แปลกดี
นาด : แปลกยังไง
มิ้นท์ : ก็ มันไม่เหมือนที่เคยเจอ หนูคิดว่ามันไม่น่าจะเหมือนละครอย่างอื่นน่ะค่ะ ที่แบบพอผู้กำกับมาถึงก็บอก คุณทำแบบนี้ๆ แต่อันนี้เรามาหา หาด้วยกันน่ะค่ะ คือหาการแสดงชิ้นนี้ด้วยกัน
นาด : แสดงว่ามินท์ไม่เคยแสดงละครพูดเลยเหรอ
มิ้นท์ : ค่ะ ตั้งแต่เล่นมายังไม่เคยเล่นละครพูด แต่ของในมหาลัยเคยเล่นละครเด็กเรื่องหนึ่ง
นาด : งั้นขอถามย้อนหลังอีกข้อว่า แล้วมาเจอบีฟลอร์ได้ยังไง ใครแนะนำมา หรือว่าเห็นเอง
มินท์ :
ก็เห็นเองด้วย แล้วพี่ก็บอกด้วย คือได้รับเมล์ข่าวค่ะ
นาด : แล้วทำไมมินท์ถึงชอบการแสดงหรือละคร เพราะอะไร
มินท์ : ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) อันนี้หนูไม่รู้ เหมือนกันว่าทำไมชอบ รู้แต่ว่าถ้าให้หนูไปเรียนเลข เรียนบัญชี หนูเรียนไม่ได้ หนูไม่เรียนน่ะ ก็ไม่รู้ หรืออาจเป็นเพราะหนูชอบทำกิจกรรม แล้วก็รู้สึกว่าละครมันมีอะไรหลายอย่าง เราเป็นได้ทุกตัวที่เราอยากจะเป็น แล้วเราก็ทำได้
นาด : เอาล่ะ คำถามสุดท้าย ถ้าให้พูดถึงห้องตกกระแทก มันคือห้องอะไรห้องแบบไหนในมุมมองของมินท์เอง
มินท์ : โอ้โห...(ลากเสียงยาว)
นาด : ห้องนี้มันคืออะไร
มินท์ : มันก็คือห้องห้องหนึ่งที่คนมาอยู่รวมกันแต่ต่างความคิด เพราะแต่ละคนก็มีความคิดของเขา แต่เอาความคิดนั้นมารวมกันให้เป็นห้องห้องหนึ่ง ก็เหมือนเราเอาบล๊อคสี่เหลี่ยมมาต่อต่อกันให้มันเป็นสี่เหลี่ยมอันใหญ่ ค่ะแค่นี้ล่ะค่ะ

นาด : เอาล่ะขอบคุณน้องมินท์มาก คราวนี้เราก็มาคุยกับอีกหนึ่งสาว คือ ปูเป้ นี่ก็เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับบีฟลอร์ ถ้าไม่รวมงานบีเฟส อยากให้ปูเป้แนะนำตัวเองหน่อย
ปูเป้ : ปูเป้ค่ะ ชื่อจริง ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ เป้จบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬา เอกภาษาอังกฤษ แต่ว่าตอนเรียนอยู่เนี่ยตอนปี 3 ได้ไป audition ละครเวทีของอักษร
นาด : เป็นละครเรื่องแรกของปูเป้รึเปล่า
ปู้เป้ : จริงๆแล้วละครเรื่องแรกเลยเป็นละครในงานจุฬาวิชาการ เป็นละครภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่อง Love Me Divide เป็นเรื่องของคิวปิดกับไซคี แต่ที่เล่นเรื่องแรกที่ภาคคือเรื่อง ตาดูหูชิม เป็นแบบมิวสิคัลรีวิว แล้วก็เล่นเรื่อง Animal Farm แล้วก็ พายุพิโรธ แล้วหลังจากนั้นก็เล่นละครเวทีมาเรื่อยๆ นาด : แล้วหลังจากนั้นก็ออกมาเล่นละครนอกมหาลัยใช่ไหม
ปูเป้ : ใช่ค่ะ ก็หลังจากเรียนจบก็มาเล่นให้ที่ Dream Box สองเรื่อง เป็นการ์ตูนๆเรื่องหนึ่งกับอีกเรื่องงาน AF The Musical น่ะค่ะ หลังจากนั้นก็มาเล่นเรื่อง Vagina Monologue ที่ครูหนิง (พันพัสสา ธูปเทียน) กำกับ ในงานผู้หญิงในดวงจันทร์ของพระจันทร์เสี้ยวเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็มีละครบ้างแต่ก็ไม่ใช่ละครแบบจริงจัง เป็นละครอีเวนท์บ้าง เป็นละครทำกันเอง ของรุ้นพี่อ่ะค่ะ จนมาช่วงเทศกาลละคร ก็ได้ไปเล่น ได้ไปดู ได้รู้จักคนละครมากขึ้น ก็เลยมีการติดต่อกันต่อนื่อง ก็เลยได้ไปทำงานกับกลุ่มโน้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง ก็วิ่งไปวิ่งมาหลายกลุ่ม ก็รู้สึกว่าดีเหมือนกัน
นาด : แล้วตอนนี้ล่ะ ได้ยินว่าเรียนต่ออยู่ใช่ไหม
ปูเป้ : ใช่ค่ะ ตอนนี้ปู้เป้ลงเรียนป.โท อักษรจุฬา ภาษาอังกฤษเหมือนเดิม
นาด : แล้วก็ทำงานไปด้วยใช่ไหม
ปู้เป้ : ใช่ค่ะ ก็ทำงานฟรีแลนซ์
นาด : สงสัยว่าปู้เป้สนใจแต่ด้านการแสดงอย่างเดียวเลยใช่ไหม หรือสนใจทำงานในหน้าที่อื่นด้วยไหม
ปู้เป้ : ก็คือว่า...คือ ถ้าพูดจริงๆเลยก็คือ เป้ยังไม่ค่อยได้มีโอกาสไปลองทำงานหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่แอคติ้ง หมายถึงว่าเป้ไม่เคยมีโอกาสไปเป็นสเตจแมน หรือว่าทำเสียงทำแสง ด้านแบ็คสเตจด้านโปรดักชั่น ยังไม่เคยได้ทำจริงๆ ก็เคยแค่มาช่วยดูมาช่วยจัดแจง แต่ไม่ได้มีหน้าที่นั้นจริงๆ ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าได้ทำแล้วจะชอบเหมือนกันมั๊ย แต่ก็รู้สึกว่าแอ็คติ้งก็ใช่มากแล้ว พอเราทำอย่างอื่นก็จะรู้สึกว่า โอ๊ะ เราอยากเล่นจัง ก็คงเป็นแอ็คติ้งแหละที่เป้ชอบที่สุด
นาด : งั้นถามต่อว่า ตอนนี้ปู้เป้ก็ยังอยากทำงานหลายๆชิ้นกับคนหลายๆคน คืออยากแสดงงานของผู้กำกับหลายๆคนอยู่ใช่ไหม หรือว่ายังไง
ปูเป้ :
ตอนนี้ก็ยังอยากจะหาไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเป้ก็ยังไม่ได้ผ่านอะไรมาเยอะนักหมายถึงว่าละครที่เป็นละครจริงๆจังๆ เราก็ผ่านมาไม่ค่อยเยอะก็เลยอยากหาประสบการณ์อยู่ อย่างเช่นเรื่องนี้ อย่างของบีฟลอร์เนี่ยเป้ก็ใหม่มากเพราะเป้ไม่เคยเล่นฟิสิคัล ก็เพิ่งมาเจอฟิสิคัลตอนไปเวริ์คชอปบีเฟส
นาด : งั้นขอถามต่อว่าตอนนั้นมาเจอบีเฟสได้ยังไง
ปู้เป้ : เจอข่าวจากอีเมลล์ แล้วก็อยากมาเพราะมันเป็นช่วงที่เราอยากจะขยายความสามารถด้านร่างกายอยู่แล้ว ก็พอดีเลย ไม่ลังเลเลย ราคาก็ไม่แพงด้วย ตัดสินใจได้ทันทีเลยว่ามาแน่ๆ แล้วก็เลยรีบจองก่อนจะได้ราคาถูก (หัวเราะ) เพราะก็รู้สึกหงุดหงิดว่าเราทำอะไรไม่ค่อยได้เกี่ยวกับร่างกายเรา วอร์มยืดขาก็ทำไม่ค่อยได้ ก็เลยอยากจะรู้ว่าทำยังไง
นาด : แล้วได้อะไรจากบีเฟสบ้าง
ปู้เป้ : ก็ได้เยอะ ปีนี้พี่เงะกับพี่จาสอนเรื่อง Viewpoint ตอนแรกเป้ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเจอแบบนี้ ก็คิดว่าคงสอนเรื่องการยืดร่างกายการจัดระเบียบร่างกายมากกว่า แต่พอเจอ Viewpoint ก็ดี เพราะมันเหมือนกับว่า ลองให้เราได้มีโอกาสคิดงาน หรือสร้างอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งก็รู้สึกว่าเออ เราทำได้นี่ เพราะก่อนหน้านี้เป้รู้สึกว่าเป้คิดงานเองไม่เป็น รอให้ผู้กำกับบอกอย่างเดียว พอมาเจออันนี้ก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้นี่ มันก็ไม่ได้แย่ แล้วคนอื่นก็ชอบบางอันที่เราทำ ก็รู้สึกดี มันเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งก็ต่างจากละครพูดที่เคยเล่น
นาด : แล้วมันต่อเนื่องมาถึงห้องตกกระแทกเลยหรือเปล่า
ปู้เป้ : ใช่ค่ะ คือพี่จาก็เลยชวนมาเล่นเรื่องนี้ ก็รับเลย เพราะหนูก็อยากเล่นละครอยู่แล้ว แล้วก็เป็งงาน movement ก็จะได้ลองด้วย
นาด : แล้วกระบวนการซ้อมเป็นยังไงบ้าง
ปู้เป้ :
มันเป็นกึ่งๆเวริ์คชอปและสร้างงานไปด้วยพร้อมกัน คือ บางครั้งที่ซ้อมเนี่ย ครึ่งหนึ่งของเวลาคือเป็นคล้ายๆเวริ์คชอปแล้วที่เหลือคือมาสร้างงานที่จะเอาเข้ามาเป็นซีน ก็ชอบที่ได้เราได้มาทำอะไรร่วมกันแล้วก็เห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน แล้วก็ มันไม่สามารถมีเรื่องที่เซ็ทมาได้ไม่งั้นมันก็เป็นเต้นไป ซึ่งเป้ก็รู้สึก เออ การทำงานแบบนี้ก็น่าสนใจ
นาด : แล้ว ถ้าถามว่า ห้องตกกระแทกห้องนี้คือห้องอะไร
ปูเป้ : ห้องนี้... หนูว่า มันเป็นศูนย์รวมความเป็นไปได้.. ต่างๆนาๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในพื้นที่ที่มีลักษณะแบบนี้ คือห้องสีขาว ที่มีบ๊อกซ์สีขาวอยู่สองสามอัน แล้วก็มีคนอยู่สี่คน แล้วทำอะไรได้บ้าง แล้วมันสามารถทำให้เกิด ความรู้สึก และภาพที่หลากหลายมาก ใครจะมานึกว่ากับการขยับกล่องไปมาจะทำให้เกิดความรู้สึกได้มากมายขนาดนี้ เป้สนใจและเป้ชอบเรื่อง...มันอัศจรรย์ว่าการขยับแค่นี้แล้วมันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา แล้วมันเกิดความหมายกับบางคน แล้วมันอาจจะมีความหมายอีกอย่างกับอีกคน
นาด : อืม เอาล่ะมาถึงคำถามสำคัญว่าเราเฝ้าถามทุกคนว่า ทำไมถึงชอบละครหรือยังเล่นละครอยู่ มันได้อะไร หรือทำไมถึงชอบ
ปู้เป้ : อืม..ถ้าพูดจริงๆก็คือ ละครเปลี่ยนชีวิตเป้ไปเยอะ แล้วก็เปลี่ยนข้างในความคิดเราเยอะ แล้วก็เราก็ชอบที่เรากลายมาเป็นคนแบบนี้มากกว่าแต่ก่อนก่อนที่จะเจอละคร ก็คือ มันเปิด ละคร สอนให้เรารู้จัก เออ... หาตัวเองให้เจอ แล้วก็อยู่กับตัวเอง จับตัวเองไว้ให้มั่น แล้วก็ไม่ต้องไปตามใครเพราะเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่า ให้เราอยู่กับตัวเอง แล้วก็เราก็มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น เพราะละครมันเปิด ให้เราเอนจอยกับทุกอย่าง แล้วเหมือนกับว่า ทำให้เราเข้าใจคนได้เยอะขึ้น เราได้เข้าใจมนุษย์ได้หลายแบบเพราะไปเจอตัวละครและเราต้องทำความเข้าใจเค้า ก็...บางที อย่างแบบ... บทของคนเลวอย่างนี้ ถ้าเราต้องไปเล่นเป็นเค้า เราต้องรู้ต้องเข้าใจว่าเค้าเป็นอะไรมา รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมเค้าถึงเลว พอเจอความคิดแบบนี้ ทำให้เรามองโลกว่ามันน่าอยู่มากขึ้น เหมือนเราเข้าใจคนแต่ละคนได้ว่าเค้าเป็นแบบนี้เพราะเค้ามีแบคกราวด์เค้ามีเหตุผลของเขา คือ ก็ไม่รู้กัน มันเกิดขึ้นข้างใน ก็อาจจะเหมือนคนหลายๆคนที่ตกหลุมรักละคร (หัวเราะ)
นาด : อืม ดีจัง ขอบคุณปู้เป้มาก แล้วเราก็ไปคุยต่อกับนักแสดงคนต่อไปแต่อดใจรอสักนิดนะคะ
นาด : แล้วเราก็ไปคุยต่อกับนักแสดงคนต่อไป คือ ฟา เอาล่ะ ถึงเราจะรู้จักกัน แต่ก็อยากให้แนะนำตัวให้กับใครหลายๆคนที่อาจะไม่รู้จักฟาคือใครแล้วมาทำละครได้ยังไง
ฟา : ชื่อจริง ชื่อฟารีดา จิราพันธุ์ นะคะ ก็เรียบจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน แล้วก็เข้ามาเรียนรู้ละครตั้งแต่ตอนยังมีศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณอยู่เลยค่ะ ประมาณปี พ.ศ. 2540 แล้วก็ มาทำละครกับพระจันทร์เสี้ยว แล้วหลังจากนั้นก็ไปทำละครกับคณะโน้นคณะนี้
นาด : ฟาอยู่พระจันทร์เสี้ยวจนถึงปี...
ฟา : ประมาณปี 45 หรือ 46 อ่ะค่ะ แล้วก็ไปเล่นกับคณะโน้นคณะนี้ ตอนนี้ก็ยังเล่นละครอยู่
นาด : งั้นถามย้อนกลับว่า ละครเรื่องแรกของฟาคือเรื่องอะไร
ฟา : ละครเรื่องแรกเต็มๆเป็นละคร คือผู้อภิวัฒน์ 2475
นาด : อ้าวเหรอ....ไม่... แล้วก่อนหน้านั้นไง เล่นเรื่องอื่นมาก่อนตั้งหลายเรื่องไม่ใช่เหรอ
ฟา : มันเหมือนเป็นเวิร์คชอปแล้วก็ไปเล่นน่ะ ก็ไปเล่นกับพวกพี่นั่นแหละ กับพี่นาด กับพระจันทร์เสี้ยวนี่แหละ คือตอนแสงอรุณก็เป็นแบบอ่านบท อ่านบทกวี มันไม่ใช่แบบละครเต็มๆ อภิวัฒน์นี่แหละเป็นเรื่องแรก
นาด : ขอย้อนถามหน่อยว่า อยู่ไปเริ่มทำละครกับที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณได้ยังไง
ฟา : ไปดูละครที่แสงอรุณ
นาด : เรื่องอะไร
ฟา : อา....อะไรนะ....ปรัชญาชีวิต ของหม่อมน้อย (มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล)
นาด : โอ้โห...ทันเรื่องนี้ด้วยเหรอ
ฟา : (หัวเราะ) ทัน คือไปดูแล้วก็ชอบมาก ชอบจังเลย แล้วก็อยากเล่นบ้าง หลังจากนั้นทางแสงอรุณรับสมัครนักแสดงมาเวริ์คชอป ก็เลยไปสมัคร แต่พี่ที่เขารับสมัครเขาบอกว่า เราไม่เคยมีประสบการณ์แสดงมาก่อน เขาเลยไม่รับ หลังจากนั้นประมาณเดือนหรือสองเดือนนี่แหละ ว่าทางแสงอรุณมีละครอะไรบ้าง คือจะไปดู ก็คือผลงานของพวกที่เข้าเวริ์คชอปนั่นแหละ เค้าก็ถามว่าจะเข้าไปช่วยได้ไหม ก็ได้ ก็เลยเข้าไปช่วยงาน ประสานงาน แล้วก็ได้เล่นไปด้วยด้วยความบังเอิญ แล้วหลังจากนั้นแสงอรุณต้องปิดตัวไป แต่ก็ยังชอบละครอยู่ ก็ไม่รู้จะไปไหน ก็พอดีเจอพี่ๆพระจันทร์เสี้ยวตอนเค้ามาซ้อมงาน พระมะเหลเถไถ เราก็ได้ดู แล้วก็เลยตามพระจันทร์เสี้ยวไป
นาด : งั้นแล้วเล่นละครมากี่ปีแล้วเนี่ย
ฟา : โอ้โห....นานมาก ก็เป็นสิบปีแล้วล่ะ
นาด : งั้นถามหน่อยว่าแล้วทำไมยังทำละครอยู่ หรือชอบละครเพราะอะไร
ฟา : ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แล้ว บางช่วงก็เคยเลิกทำไปเหมือนกัน มีช่วงพักไปประมาณ 2 ปี นาด : แล้วไปทำอะไร
ฟา : ก็ไปทำงานออร์กาไนซ์ ก็ ยังเป็นคนดู บางทีก็ไปเป็นแบ็คสเตจบ้าง แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่า เฮ้ย ชั้นต้องอยู่บนเวทีสิ (หัวเราะ) นี่คือที่ของชั้น (หัวเราะ) ก็เลยกลับมาเล่นอีกที
นาด : (หัวเราะ) แล้วก็มีคนให้เล่นด้วยใช่ไหม
ฟา : (หัวเราะ) ใช่ ช่วงนั้นก็พอดีบังเอิญพี่จุ๋ม (สุมณฑา สวนผลรัตน์) บอกว่าพี่อ้อ (มัลลิกา ตั้งสงบ) จะทำละครเรื่อง Quartet ก็เลยมาแคส แล้วก็ได้ ก็เลยเป็นการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ก็ประมาณยั้นแหละว่า ตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงเลิกทำละครไม่ได้ มันเป็นที่ของเรา มันเป็นชีวิตของเรา
นาด : ขอให้ช่วยเล่าย้อนหน่อยเกี่ยวกับบีฟลอร์ เพราะฟาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง เริ่มงานมาด้วยกัน แล้วก็เล่นเรื่องแรกคือ มิดะ เมื่อปี 2542
ฟา : ก็ บีฟลอร์ ถ้าพูดถึงบีฟลอร์ ฟาก็จะนึกถึง เรื่องการทำงานที่มันใช้ร่างกาย และที่มันหนักที่สุดก็คือ มันจะเริ่มด้วยการไม่มีอะไรเลยในตอนแรก แล้วเราก็จะมาเจอกันมารวมกัน ใช้ร่างกาย ใช้การรวมหัว คิดกันไปเรื่อยๆกว่าจะสร้างงานมาได้สักชิ้นหนึ่ง บางทีมันก็รู้สึกว่า (หัวเราะ) โอ้ย ทำไมมันเหนื่อยจัง แต่ว่าเพราะว่างานมันไม่ใช่เริ่มจาการที่มีบทมาก่อนเหมือนเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นสเตปของบีฟลอร์ก็คือ ช่วงแรกจะหนักมาก ต้องอดทน มันมาจากคนที่ทำงานด้วยกันช่วยกันพามันไป ซึ่งจริงๆมันก็คล้ายกับกระบวนการทำงานของพระจันทร์เสี้ยวอยู่แล้ว แต่ว่าของบีฟลอร์ที่มันหนักคือ มันใช้ร่างกาย มันต้องอยู่ด้วยกันเยอะมากๆ
นาด : คำถามสุดท้าย ในมุมมองของฟาแล้วห้องตกกระแทกมันคืออะไร
ฟา : คือ ห้องนี้เหมือนเป็นห้องกระแทกที่สะท้อนความรู้สึกของคน จะบอกว่าแค่ผู้หญิงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ มันแค่เป็นแค่ผู้หญิงเล่นเท่านั้นเอง แต่จริงๆแล้ว เราใช้ชีวิตยังไง บางอย่างมันไม่สามารถสำเร็จรูปได้ แต่บางทีเราถูกให้เป็นหรือถูกให้ทำจากกรอบของสังคมที่บอกเรา บางทีเราพยายามที่จะเหวี่ยงอะไรออกไปจากตัวเรา หรือเลี่ยงอะไรบางอย่าง แต่ทุกอย่างมันก็สะท้อนกลับมา เพราะว่ามันเกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก เราจึงไม่สามารถจะเหวี่ยงหรือบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวกับอะไรกับโลกนี้ได้ เพราะว่า มันไม่ได้หนีออกไปไหนจากโลกนี้ได้เลยสักอย่าง
นาด : ขอบคุณมาก เอาล่ะ ต่อไปเราจะไปคุยกับจาต่อแล้ว ให้จาช่วยแนะนำตัวเองให้กับคนที่อาจจะไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยดูละครมาก่อนเลย ว่าเป็นจาจบจากที่ไหน
จา : ชื่อจาค่ะ จารุนันท์ พันธชาติ เอ...ไม่รู้จักมาก่อนเลยเหรอ...อืม...ก็ต้องบอกว่าเป็นคนทำละครเวทีค่ะ ทำมาสิบปี (นับนิ้ว) ค่ะ ถึงแล้วสิบปีแล้วล่ะ ก็ทำมาตั้งแต่ตอนเรียนที่มหาลัยเชียงใหม่ ไม่ค่ะ ตอนนั้นมช.ยังไม่มีภาควิชาละคร มีแต่วิชาดราม่าอยู่ตัวเดียว
นาด : แล้วมาทำละครได้ยังไง แล้วเพราะอะไรถึงชอบ หรือยังทำละครอยู่
จา : ก็ตอนนั้นเข้าชมรมการแสดงของมหาลัย แล้วก็ช่วงนั้นโชคดี มีกิจกรรมเยอะมากที่เชียงใหม่ มีอาจารย์สอนแดนซ์มาสอนที่ ม.พายัพ แล้วอาจารย์ก็จัดเวิร์คชอบให้ แล้วที่เป็นจุดเปลี่ยนมากๆก็คือ ตอนนั้นเจอผู้กำกับจากนิวยอร์ค ชื่อจอร์ช ฟอกซ์ ก็ได้เวิร์คชอบ วิวพอยท์ เทคนิค แล้วก็รวมตัวกับเขาแล้วก็เพื่อนๆทำกลุ่มละครชื่อ ณInternational Wow Company ซึ่งมีโอกาสได้เจอนักแสดง ผู้กำกับที่มาจากนิวยอร์คในแต่ละโปรเจ็ค มันก็ทำให้เราทำละครแบบซีเรียสมากขึ้น เพราะต้องทำงานกับคนที่เป็นโปรเฟสชั่นนัล เราจะมาทำแบบเด็กๆมันก็ไม่ได้ แล้วมันก็ติดพัน ทำมาเรื่อยๆ
นาด : ช่วยเล่าเกี่ยวกับบีฟลอร์ให้ฟังหน่อย
จา : บีฟลอร์ เริ่มตั้งแต่ปี 42 ก็เป็นการรวมตัวกันของเพื่อนๆที่ทำละครกันอยู่แล้ว ทั้งจากพระจันทร์เสี้ยว วาวคอมปานี หรือเพื่อนที่ไม่สังกัดกลุ่ม เราก็อยากจะรวมตัวทำละครในแบบที่เราอยากทำ ทดลองกับทุกองค์ประกอบของละครเวที และก็ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสื่อสาร
นาด : ให้ช่วยเล่าเรื่งมาที่มาที่ไป ทำไมต้องห้องตกกระแทก มันมาได้ยังไง ในฐานะของผู้กำกับและคนทำเรื่อง
จา : พี่คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล) ผู้กำกับร่วม เขาได้แรงบันดาลใจจากชื่ออัลบั้มของพี่เคี้ยง (ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ) ชื่อ วัตถุตกกระแทกหมายเลขศูนย์ ส่วนจานึกถึงเรื่องของคนที่เดินทางโดยไร้จุดหมายแล้วหยุดแวะที่ห้องๆหนึ่ง แล้วออกไปจากห้องนั้นไม่ได้ ก็เลยพบกันครึ่งทาง เลยเป็นห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์ พอได้ชื่อแล้ว เราก็มาตีความทีละคำ ห้อง คืออะไร ตก คืออะไร กระแทก คืออะไร หมายเลขศูนย์คืออะไร มันเป็นจิ๊กซอว์ที่บางทีก็เข้ากันได้ดี บางทีก็ต้องมีตัวเชื่อมอื่น
นาด : แล้วในส่วนของการเป็นนักแสดงด้วย กับทำงานครั้งนี้กับนักแสดงเซ็ทนี้แล้วเป็นยังไงบ้าง
จา : ดีค่ะ เป็นนักแสดงที่เปิด แล้วก็พร้อมจะลองอะไรใหม่ๆ
นาด : ถามเหมือนกับคนอื่นๆ คือ อยากจะถามว่าสำหรับจาแล้ว ห้องตกกระแทกห้องนี้คืออะไร
จา : คือโลกค่ะ
นาด : อืม สั้นๆง่ายๆแต่มันยิ่งใหญ่จัง

ค่ะ ก็คงต้องมาติดตามดูกันว่าห้องนี้มันเป็นแบบไหนกันแน่ มันคือห้องอะไรสำหรับคุณ มาหาคำตอบกันได้ที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space นะคะ แสดงแค่ 8 รอบเท่านั้น และ อย่าลืมว่า โรงละครของเราเล็กมากจริงๆ รับผู้ชมได้เพียงรอบละ 30 ที่นั่งเท่านั้นค่ะ โปรดกรุณาโทรจองบัตรล่วงหน้านะคะเพื่อความสะดวกค่ะ

Tuesday 3 June 2008

The Room No.O



ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์


แสดงโดย
จารุนันท์ พันธชาติ
ฟารีดา จิราพันธ์
มีนา จงไพบูลย์
ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์

stage manager สุกัญญา เพี้ยนศรี
music director: คานธี อนันตกาญจน์
กำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ และ ธีระวัฒน์ มุลวิไล
6-8 มิถุนายน และ 11- 15 มิถุนายน 2551

เวลา 19.30 น.

บัตรราคา 250 บาท

โทร 089-6679539

จัดแสดงที่ crescentmoon space,

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ

(รถไฟฟ้าบีทีเอส ซอยทองหล่อ เดินมาในซอยอีก 5 นาที สถาบันปรีดีอยู่ทางซ้ายมือ ติดร้านแอนนาการ์เด้นท์)


The Room No.0


a new production of a Bangkok based physical theatre group; B-floor.


While taking a long journey, 4 women simply want to tell the story of their numerous experiments with truth.

directed by Jaa Phantachat & Ka-ge Teerawat Mulvilai


6 -8, 11- 15 June 2008 at 7:30 p.m.

@ Crescent Moon Space

Ticket: 250 Baht


call for reservation: 089- 667 9539