welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday 5 June 2008

พูดคุยกับสาวๆจากห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์




พูดคุยกับผู้หญิง 4 คน จากห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์
ถามและถ่ายภาพโดย สินีนาฏ เกษประไพ



ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์ หรือ The Room no.O เป็นผลงานเรื่องใหม่ของกลุ่มบีฟลอร์ ที่มาแสดงที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space อาทิตย์นี้และอาทิตย์หน้ากำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ และ ธีระวัฒน์ มุลวิไล แสดงโดยสาวๆสี่คน ซึ่งเรากำลังตามมาพูดคุยทำความรู้จักกันทีละคนตามนี้

นาด : เริ่มจากน้องเล็กที่สุดก่อน คือ น้องมินท์ ช่วยแนะนำตัวหน่อย
มินท์ : ชื่อ มีนา จงไพบูลย์
นาด : ตอนนี้มินท์ยังเรียนอยู่ใช่ไหม เรียนอะไร ที่ไหน
มินท์ :
มินท์เรียนปี 2 ที่สวนสุนันทา คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกศิลปะการแสดง
นาด : ก็แสดงว่าทำละคร หรือเล่นละครกับที่คณะบ้างแล้วใช่ไหม
มินท์ :
ค่ะ แต่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเรียนที่สวนสุนันทาก็ได้เล่นบุโตกับพี่โกะ (โซโนโกะ พราว) มาแล้ว เริ่มแสดงมาตั้งแต่อยู่ ม.3 ชิ้นแรกน่าจะเป็นแสดงที่เทศกาลละคร แต่ปีไหนก็จำไม่ได้แล้ว แล้วก็มีมาเรื่อยๆ เช่น งานอาร์ทมาร์เก็ต แล้วเมื่อเดือนก่อนโน้นก็ได้ไปเวริ์คชอป B Fest 2008 กับ B Floor แล้วพี่จาก็เลยชวน ก็เลยลองดู อยากเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง อยากเล่นกับหลายๆกลุ่ม แล้วได้เล่นกับพี่ๆที่มีประสบการณ์มากกว่า
นาด : แล้วจากงาน B Fest 2008 และงานชิ้นนี้ ได้เจออะไรบ้าง
มินท์ : ที่ไปเวริ์คชอปที่พี่คาเงะสอนนี่ก็ได้ประโยชน์เยอะมาก ได้เคยทำแบบฝึกหัดที่ไม่เคยเจอไม่เคยทำ คือ หนูเริ่มเล่นละครโดยไม่ได้เรียน เพราะพี่ชวนไปทำก็ไปทำ ให้ซ้อมก็ซ้อม ก็ให้ได้เท่าที่มี เลยไม่ค่อยรู้อะไรมาก ไม่เคยรู้พื้นฐาน แล้วก็ได้มาเข้าเรียนที่สวนสุนันทาก็เพิ่งได้เริ่มเรียนไม่มาก
นาด : งั้นถามถึงการซ้อมงานชิ้นนี้เลย ห้องตกกระแทก หรือการร่วมงานครั้งแรกกับบีฟลอร์แบบเต็มๆเป็นยังไงบ้าง เจออะไรใหม่ๆบ้างไหม หรือชอบอะไร ประทับใจอะไรบ้างไหม หรืออะไรที่เราอยากพูดถึงบ้าง
มินท์ :
ที่อยากพูดถึงคือ วิธีคิดงานของพี่ๆ ก็แปลกดี
นาด : แปลกยังไง
มิ้นท์ : ก็ มันไม่เหมือนที่เคยเจอ หนูคิดว่ามันไม่น่าจะเหมือนละครอย่างอื่นน่ะค่ะ ที่แบบพอผู้กำกับมาถึงก็บอก คุณทำแบบนี้ๆ แต่อันนี้เรามาหา หาด้วยกันน่ะค่ะ คือหาการแสดงชิ้นนี้ด้วยกัน
นาด : แสดงว่ามินท์ไม่เคยแสดงละครพูดเลยเหรอ
มิ้นท์ : ค่ะ ตั้งแต่เล่นมายังไม่เคยเล่นละครพูด แต่ของในมหาลัยเคยเล่นละครเด็กเรื่องหนึ่ง
นาด : งั้นขอถามย้อนหลังอีกข้อว่า แล้วมาเจอบีฟลอร์ได้ยังไง ใครแนะนำมา หรือว่าเห็นเอง
มินท์ :
ก็เห็นเองด้วย แล้วพี่ก็บอกด้วย คือได้รับเมล์ข่าวค่ะ
นาด : แล้วทำไมมินท์ถึงชอบการแสดงหรือละคร เพราะอะไร
มินท์ : ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) อันนี้หนูไม่รู้ เหมือนกันว่าทำไมชอบ รู้แต่ว่าถ้าให้หนูไปเรียนเลข เรียนบัญชี หนูเรียนไม่ได้ หนูไม่เรียนน่ะ ก็ไม่รู้ หรืออาจเป็นเพราะหนูชอบทำกิจกรรม แล้วก็รู้สึกว่าละครมันมีอะไรหลายอย่าง เราเป็นได้ทุกตัวที่เราอยากจะเป็น แล้วเราก็ทำได้
นาด : เอาล่ะ คำถามสุดท้าย ถ้าให้พูดถึงห้องตกกระแทก มันคือห้องอะไรห้องแบบไหนในมุมมองของมินท์เอง
มินท์ : โอ้โห...(ลากเสียงยาว)
นาด : ห้องนี้มันคืออะไร
มินท์ : มันก็คือห้องห้องหนึ่งที่คนมาอยู่รวมกันแต่ต่างความคิด เพราะแต่ละคนก็มีความคิดของเขา แต่เอาความคิดนั้นมารวมกันให้เป็นห้องห้องหนึ่ง ก็เหมือนเราเอาบล๊อคสี่เหลี่ยมมาต่อต่อกันให้มันเป็นสี่เหลี่ยมอันใหญ่ ค่ะแค่นี้ล่ะค่ะ

นาด : เอาล่ะขอบคุณน้องมินท์มาก คราวนี้เราก็มาคุยกับอีกหนึ่งสาว คือ ปูเป้ นี่ก็เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับบีฟลอร์ ถ้าไม่รวมงานบีเฟส อยากให้ปูเป้แนะนำตัวเองหน่อย
ปูเป้ : ปูเป้ค่ะ ชื่อจริง ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ เป้จบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬา เอกภาษาอังกฤษ แต่ว่าตอนเรียนอยู่เนี่ยตอนปี 3 ได้ไป audition ละครเวทีของอักษร
นาด : เป็นละครเรื่องแรกของปูเป้รึเปล่า
ปู้เป้ : จริงๆแล้วละครเรื่องแรกเลยเป็นละครในงานจุฬาวิชาการ เป็นละครภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่อง Love Me Divide เป็นเรื่องของคิวปิดกับไซคี แต่ที่เล่นเรื่องแรกที่ภาคคือเรื่อง ตาดูหูชิม เป็นแบบมิวสิคัลรีวิว แล้วก็เล่นเรื่อง Animal Farm แล้วก็ พายุพิโรธ แล้วหลังจากนั้นก็เล่นละครเวทีมาเรื่อยๆ นาด : แล้วหลังจากนั้นก็ออกมาเล่นละครนอกมหาลัยใช่ไหม
ปูเป้ : ใช่ค่ะ ก็หลังจากเรียนจบก็มาเล่นให้ที่ Dream Box สองเรื่อง เป็นการ์ตูนๆเรื่องหนึ่งกับอีกเรื่องงาน AF The Musical น่ะค่ะ หลังจากนั้นก็มาเล่นเรื่อง Vagina Monologue ที่ครูหนิง (พันพัสสา ธูปเทียน) กำกับ ในงานผู้หญิงในดวงจันทร์ของพระจันทร์เสี้ยวเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็มีละครบ้างแต่ก็ไม่ใช่ละครแบบจริงจัง เป็นละครอีเวนท์บ้าง เป็นละครทำกันเอง ของรุ้นพี่อ่ะค่ะ จนมาช่วงเทศกาลละคร ก็ได้ไปเล่น ได้ไปดู ได้รู้จักคนละครมากขึ้น ก็เลยมีการติดต่อกันต่อนื่อง ก็เลยได้ไปทำงานกับกลุ่มโน้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง ก็วิ่งไปวิ่งมาหลายกลุ่ม ก็รู้สึกว่าดีเหมือนกัน
นาด : แล้วตอนนี้ล่ะ ได้ยินว่าเรียนต่ออยู่ใช่ไหม
ปูเป้ : ใช่ค่ะ ตอนนี้ปู้เป้ลงเรียนป.โท อักษรจุฬา ภาษาอังกฤษเหมือนเดิม
นาด : แล้วก็ทำงานไปด้วยใช่ไหม
ปู้เป้ : ใช่ค่ะ ก็ทำงานฟรีแลนซ์
นาด : สงสัยว่าปู้เป้สนใจแต่ด้านการแสดงอย่างเดียวเลยใช่ไหม หรือสนใจทำงานในหน้าที่อื่นด้วยไหม
ปู้เป้ : ก็คือว่า...คือ ถ้าพูดจริงๆเลยก็คือ เป้ยังไม่ค่อยได้มีโอกาสไปลองทำงานหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่แอคติ้ง หมายถึงว่าเป้ไม่เคยมีโอกาสไปเป็นสเตจแมน หรือว่าทำเสียงทำแสง ด้านแบ็คสเตจด้านโปรดักชั่น ยังไม่เคยได้ทำจริงๆ ก็เคยแค่มาช่วยดูมาช่วยจัดแจง แต่ไม่ได้มีหน้าที่นั้นจริงๆ ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าได้ทำแล้วจะชอบเหมือนกันมั๊ย แต่ก็รู้สึกว่าแอ็คติ้งก็ใช่มากแล้ว พอเราทำอย่างอื่นก็จะรู้สึกว่า โอ๊ะ เราอยากเล่นจัง ก็คงเป็นแอ็คติ้งแหละที่เป้ชอบที่สุด
นาด : งั้นถามต่อว่า ตอนนี้ปู้เป้ก็ยังอยากทำงานหลายๆชิ้นกับคนหลายๆคน คืออยากแสดงงานของผู้กำกับหลายๆคนอยู่ใช่ไหม หรือว่ายังไง
ปูเป้ :
ตอนนี้ก็ยังอยากจะหาไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเป้ก็ยังไม่ได้ผ่านอะไรมาเยอะนักหมายถึงว่าละครที่เป็นละครจริงๆจังๆ เราก็ผ่านมาไม่ค่อยเยอะก็เลยอยากหาประสบการณ์อยู่ อย่างเช่นเรื่องนี้ อย่างของบีฟลอร์เนี่ยเป้ก็ใหม่มากเพราะเป้ไม่เคยเล่นฟิสิคัล ก็เพิ่งมาเจอฟิสิคัลตอนไปเวริ์คชอปบีเฟส
นาด : งั้นขอถามต่อว่าตอนนั้นมาเจอบีเฟสได้ยังไง
ปู้เป้ : เจอข่าวจากอีเมลล์ แล้วก็อยากมาเพราะมันเป็นช่วงที่เราอยากจะขยายความสามารถด้านร่างกายอยู่แล้ว ก็พอดีเลย ไม่ลังเลเลย ราคาก็ไม่แพงด้วย ตัดสินใจได้ทันทีเลยว่ามาแน่ๆ แล้วก็เลยรีบจองก่อนจะได้ราคาถูก (หัวเราะ) เพราะก็รู้สึกหงุดหงิดว่าเราทำอะไรไม่ค่อยได้เกี่ยวกับร่างกายเรา วอร์มยืดขาก็ทำไม่ค่อยได้ ก็เลยอยากจะรู้ว่าทำยังไง
นาด : แล้วได้อะไรจากบีเฟสบ้าง
ปู้เป้ : ก็ได้เยอะ ปีนี้พี่เงะกับพี่จาสอนเรื่อง Viewpoint ตอนแรกเป้ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเจอแบบนี้ ก็คิดว่าคงสอนเรื่องการยืดร่างกายการจัดระเบียบร่างกายมากกว่า แต่พอเจอ Viewpoint ก็ดี เพราะมันเหมือนกับว่า ลองให้เราได้มีโอกาสคิดงาน หรือสร้างอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งก็รู้สึกว่าเออ เราทำได้นี่ เพราะก่อนหน้านี้เป้รู้สึกว่าเป้คิดงานเองไม่เป็น รอให้ผู้กำกับบอกอย่างเดียว พอมาเจออันนี้ก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้นี่ มันก็ไม่ได้แย่ แล้วคนอื่นก็ชอบบางอันที่เราทำ ก็รู้สึกดี มันเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งก็ต่างจากละครพูดที่เคยเล่น
นาด : แล้วมันต่อเนื่องมาถึงห้องตกกระแทกเลยหรือเปล่า
ปู้เป้ : ใช่ค่ะ คือพี่จาก็เลยชวนมาเล่นเรื่องนี้ ก็รับเลย เพราะหนูก็อยากเล่นละครอยู่แล้ว แล้วก็เป็งงาน movement ก็จะได้ลองด้วย
นาด : แล้วกระบวนการซ้อมเป็นยังไงบ้าง
ปู้เป้ :
มันเป็นกึ่งๆเวริ์คชอปและสร้างงานไปด้วยพร้อมกัน คือ บางครั้งที่ซ้อมเนี่ย ครึ่งหนึ่งของเวลาคือเป็นคล้ายๆเวริ์คชอปแล้วที่เหลือคือมาสร้างงานที่จะเอาเข้ามาเป็นซีน ก็ชอบที่ได้เราได้มาทำอะไรร่วมกันแล้วก็เห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน แล้วก็ มันไม่สามารถมีเรื่องที่เซ็ทมาได้ไม่งั้นมันก็เป็นเต้นไป ซึ่งเป้ก็รู้สึก เออ การทำงานแบบนี้ก็น่าสนใจ
นาด : แล้ว ถ้าถามว่า ห้องตกกระแทกห้องนี้คือห้องอะไร
ปูเป้ : ห้องนี้... หนูว่า มันเป็นศูนย์รวมความเป็นไปได้.. ต่างๆนาๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในพื้นที่ที่มีลักษณะแบบนี้ คือห้องสีขาว ที่มีบ๊อกซ์สีขาวอยู่สองสามอัน แล้วก็มีคนอยู่สี่คน แล้วทำอะไรได้บ้าง แล้วมันสามารถทำให้เกิด ความรู้สึก และภาพที่หลากหลายมาก ใครจะมานึกว่ากับการขยับกล่องไปมาจะทำให้เกิดความรู้สึกได้มากมายขนาดนี้ เป้สนใจและเป้ชอบเรื่อง...มันอัศจรรย์ว่าการขยับแค่นี้แล้วมันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา แล้วมันเกิดความหมายกับบางคน แล้วมันอาจจะมีความหมายอีกอย่างกับอีกคน
นาด : อืม เอาล่ะมาถึงคำถามสำคัญว่าเราเฝ้าถามทุกคนว่า ทำไมถึงชอบละครหรือยังเล่นละครอยู่ มันได้อะไร หรือทำไมถึงชอบ
ปู้เป้ : อืม..ถ้าพูดจริงๆก็คือ ละครเปลี่ยนชีวิตเป้ไปเยอะ แล้วก็เปลี่ยนข้างในความคิดเราเยอะ แล้วก็เราก็ชอบที่เรากลายมาเป็นคนแบบนี้มากกว่าแต่ก่อนก่อนที่จะเจอละคร ก็คือ มันเปิด ละคร สอนให้เรารู้จัก เออ... หาตัวเองให้เจอ แล้วก็อยู่กับตัวเอง จับตัวเองไว้ให้มั่น แล้วก็ไม่ต้องไปตามใครเพราะเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่า ให้เราอยู่กับตัวเอง แล้วก็เราก็มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น เพราะละครมันเปิด ให้เราเอนจอยกับทุกอย่าง แล้วเหมือนกับว่า ทำให้เราเข้าใจคนได้เยอะขึ้น เราได้เข้าใจมนุษย์ได้หลายแบบเพราะไปเจอตัวละครและเราต้องทำความเข้าใจเค้า ก็...บางที อย่างแบบ... บทของคนเลวอย่างนี้ ถ้าเราต้องไปเล่นเป็นเค้า เราต้องรู้ต้องเข้าใจว่าเค้าเป็นอะไรมา รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมเค้าถึงเลว พอเจอความคิดแบบนี้ ทำให้เรามองโลกว่ามันน่าอยู่มากขึ้น เหมือนเราเข้าใจคนแต่ละคนได้ว่าเค้าเป็นแบบนี้เพราะเค้ามีแบคกราวด์เค้ามีเหตุผลของเขา คือ ก็ไม่รู้กัน มันเกิดขึ้นข้างใน ก็อาจจะเหมือนคนหลายๆคนที่ตกหลุมรักละคร (หัวเราะ)
นาด : อืม ดีจัง ขอบคุณปู้เป้มาก แล้วเราก็ไปคุยต่อกับนักแสดงคนต่อไปแต่อดใจรอสักนิดนะคะ
นาด : แล้วเราก็ไปคุยต่อกับนักแสดงคนต่อไป คือ ฟา เอาล่ะ ถึงเราจะรู้จักกัน แต่ก็อยากให้แนะนำตัวให้กับใครหลายๆคนที่อาจะไม่รู้จักฟาคือใครแล้วมาทำละครได้ยังไง
ฟา : ชื่อจริง ชื่อฟารีดา จิราพันธุ์ นะคะ ก็เรียบจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน แล้วก็เข้ามาเรียนรู้ละครตั้งแต่ตอนยังมีศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณอยู่เลยค่ะ ประมาณปี พ.ศ. 2540 แล้วก็ มาทำละครกับพระจันทร์เสี้ยว แล้วหลังจากนั้นก็ไปทำละครกับคณะโน้นคณะนี้
นาด : ฟาอยู่พระจันทร์เสี้ยวจนถึงปี...
ฟา : ประมาณปี 45 หรือ 46 อ่ะค่ะ แล้วก็ไปเล่นกับคณะโน้นคณะนี้ ตอนนี้ก็ยังเล่นละครอยู่
นาด : งั้นถามย้อนกลับว่า ละครเรื่องแรกของฟาคือเรื่องอะไร
ฟา : ละครเรื่องแรกเต็มๆเป็นละคร คือผู้อภิวัฒน์ 2475
นาด : อ้าวเหรอ....ไม่... แล้วก่อนหน้านั้นไง เล่นเรื่องอื่นมาก่อนตั้งหลายเรื่องไม่ใช่เหรอ
ฟา : มันเหมือนเป็นเวิร์คชอปแล้วก็ไปเล่นน่ะ ก็ไปเล่นกับพวกพี่นั่นแหละ กับพี่นาด กับพระจันทร์เสี้ยวนี่แหละ คือตอนแสงอรุณก็เป็นแบบอ่านบท อ่านบทกวี มันไม่ใช่แบบละครเต็มๆ อภิวัฒน์นี่แหละเป็นเรื่องแรก
นาด : ขอย้อนถามหน่อยว่า อยู่ไปเริ่มทำละครกับที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณได้ยังไง
ฟา : ไปดูละครที่แสงอรุณ
นาด : เรื่องอะไร
ฟา : อา....อะไรนะ....ปรัชญาชีวิต ของหม่อมน้อย (มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล)
นาด : โอ้โห...ทันเรื่องนี้ด้วยเหรอ
ฟา : (หัวเราะ) ทัน คือไปดูแล้วก็ชอบมาก ชอบจังเลย แล้วก็อยากเล่นบ้าง หลังจากนั้นทางแสงอรุณรับสมัครนักแสดงมาเวริ์คชอป ก็เลยไปสมัคร แต่พี่ที่เขารับสมัครเขาบอกว่า เราไม่เคยมีประสบการณ์แสดงมาก่อน เขาเลยไม่รับ หลังจากนั้นประมาณเดือนหรือสองเดือนนี่แหละ ว่าทางแสงอรุณมีละครอะไรบ้าง คือจะไปดู ก็คือผลงานของพวกที่เข้าเวริ์คชอปนั่นแหละ เค้าก็ถามว่าจะเข้าไปช่วยได้ไหม ก็ได้ ก็เลยเข้าไปช่วยงาน ประสานงาน แล้วก็ได้เล่นไปด้วยด้วยความบังเอิญ แล้วหลังจากนั้นแสงอรุณต้องปิดตัวไป แต่ก็ยังชอบละครอยู่ ก็ไม่รู้จะไปไหน ก็พอดีเจอพี่ๆพระจันทร์เสี้ยวตอนเค้ามาซ้อมงาน พระมะเหลเถไถ เราก็ได้ดู แล้วก็เลยตามพระจันทร์เสี้ยวไป
นาด : งั้นแล้วเล่นละครมากี่ปีแล้วเนี่ย
ฟา : โอ้โห....นานมาก ก็เป็นสิบปีแล้วล่ะ
นาด : งั้นถามหน่อยว่าแล้วทำไมยังทำละครอยู่ หรือชอบละครเพราะอะไร
ฟา : ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แล้ว บางช่วงก็เคยเลิกทำไปเหมือนกัน มีช่วงพักไปประมาณ 2 ปี นาด : แล้วไปทำอะไร
ฟา : ก็ไปทำงานออร์กาไนซ์ ก็ ยังเป็นคนดู บางทีก็ไปเป็นแบ็คสเตจบ้าง แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่า เฮ้ย ชั้นต้องอยู่บนเวทีสิ (หัวเราะ) นี่คือที่ของชั้น (หัวเราะ) ก็เลยกลับมาเล่นอีกที
นาด : (หัวเราะ) แล้วก็มีคนให้เล่นด้วยใช่ไหม
ฟา : (หัวเราะ) ใช่ ช่วงนั้นก็พอดีบังเอิญพี่จุ๋ม (สุมณฑา สวนผลรัตน์) บอกว่าพี่อ้อ (มัลลิกา ตั้งสงบ) จะทำละครเรื่อง Quartet ก็เลยมาแคส แล้วก็ได้ ก็เลยเป็นการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ก็ประมาณยั้นแหละว่า ตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงเลิกทำละครไม่ได้ มันเป็นที่ของเรา มันเป็นชีวิตของเรา
นาด : ขอให้ช่วยเล่าย้อนหน่อยเกี่ยวกับบีฟลอร์ เพราะฟาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง เริ่มงานมาด้วยกัน แล้วก็เล่นเรื่องแรกคือ มิดะ เมื่อปี 2542
ฟา : ก็ บีฟลอร์ ถ้าพูดถึงบีฟลอร์ ฟาก็จะนึกถึง เรื่องการทำงานที่มันใช้ร่างกาย และที่มันหนักที่สุดก็คือ มันจะเริ่มด้วยการไม่มีอะไรเลยในตอนแรก แล้วเราก็จะมาเจอกันมารวมกัน ใช้ร่างกาย ใช้การรวมหัว คิดกันไปเรื่อยๆกว่าจะสร้างงานมาได้สักชิ้นหนึ่ง บางทีมันก็รู้สึกว่า (หัวเราะ) โอ้ย ทำไมมันเหนื่อยจัง แต่ว่าเพราะว่างานมันไม่ใช่เริ่มจาการที่มีบทมาก่อนเหมือนเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นสเตปของบีฟลอร์ก็คือ ช่วงแรกจะหนักมาก ต้องอดทน มันมาจากคนที่ทำงานด้วยกันช่วยกันพามันไป ซึ่งจริงๆมันก็คล้ายกับกระบวนการทำงานของพระจันทร์เสี้ยวอยู่แล้ว แต่ว่าของบีฟลอร์ที่มันหนักคือ มันใช้ร่างกาย มันต้องอยู่ด้วยกันเยอะมากๆ
นาด : คำถามสุดท้าย ในมุมมองของฟาแล้วห้องตกกระแทกมันคืออะไร
ฟา : คือ ห้องนี้เหมือนเป็นห้องกระแทกที่สะท้อนความรู้สึกของคน จะบอกว่าแค่ผู้หญิงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ มันแค่เป็นแค่ผู้หญิงเล่นเท่านั้นเอง แต่จริงๆแล้ว เราใช้ชีวิตยังไง บางอย่างมันไม่สามารถสำเร็จรูปได้ แต่บางทีเราถูกให้เป็นหรือถูกให้ทำจากกรอบของสังคมที่บอกเรา บางทีเราพยายามที่จะเหวี่ยงอะไรออกไปจากตัวเรา หรือเลี่ยงอะไรบางอย่าง แต่ทุกอย่างมันก็สะท้อนกลับมา เพราะว่ามันเกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก เราจึงไม่สามารถจะเหวี่ยงหรือบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวกับอะไรกับโลกนี้ได้ เพราะว่า มันไม่ได้หนีออกไปไหนจากโลกนี้ได้เลยสักอย่าง
นาด : ขอบคุณมาก เอาล่ะ ต่อไปเราจะไปคุยกับจาต่อแล้ว ให้จาช่วยแนะนำตัวเองให้กับคนที่อาจจะไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยดูละครมาก่อนเลย ว่าเป็นจาจบจากที่ไหน
จา : ชื่อจาค่ะ จารุนันท์ พันธชาติ เอ...ไม่รู้จักมาก่อนเลยเหรอ...อืม...ก็ต้องบอกว่าเป็นคนทำละครเวทีค่ะ ทำมาสิบปี (นับนิ้ว) ค่ะ ถึงแล้วสิบปีแล้วล่ะ ก็ทำมาตั้งแต่ตอนเรียนที่มหาลัยเชียงใหม่ ไม่ค่ะ ตอนนั้นมช.ยังไม่มีภาควิชาละคร มีแต่วิชาดราม่าอยู่ตัวเดียว
นาด : แล้วมาทำละครได้ยังไง แล้วเพราะอะไรถึงชอบ หรือยังทำละครอยู่
จา : ก็ตอนนั้นเข้าชมรมการแสดงของมหาลัย แล้วก็ช่วงนั้นโชคดี มีกิจกรรมเยอะมากที่เชียงใหม่ มีอาจารย์สอนแดนซ์มาสอนที่ ม.พายัพ แล้วอาจารย์ก็จัดเวิร์คชอบให้ แล้วที่เป็นจุดเปลี่ยนมากๆก็คือ ตอนนั้นเจอผู้กำกับจากนิวยอร์ค ชื่อจอร์ช ฟอกซ์ ก็ได้เวิร์คชอบ วิวพอยท์ เทคนิค แล้วก็รวมตัวกับเขาแล้วก็เพื่อนๆทำกลุ่มละครชื่อ ณInternational Wow Company ซึ่งมีโอกาสได้เจอนักแสดง ผู้กำกับที่มาจากนิวยอร์คในแต่ละโปรเจ็ค มันก็ทำให้เราทำละครแบบซีเรียสมากขึ้น เพราะต้องทำงานกับคนที่เป็นโปรเฟสชั่นนัล เราจะมาทำแบบเด็กๆมันก็ไม่ได้ แล้วมันก็ติดพัน ทำมาเรื่อยๆ
นาด : ช่วยเล่าเกี่ยวกับบีฟลอร์ให้ฟังหน่อย
จา : บีฟลอร์ เริ่มตั้งแต่ปี 42 ก็เป็นการรวมตัวกันของเพื่อนๆที่ทำละครกันอยู่แล้ว ทั้งจากพระจันทร์เสี้ยว วาวคอมปานี หรือเพื่อนที่ไม่สังกัดกลุ่ม เราก็อยากจะรวมตัวทำละครในแบบที่เราอยากทำ ทดลองกับทุกองค์ประกอบของละครเวที และก็ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสื่อสาร
นาด : ให้ช่วยเล่าเรื่งมาที่มาที่ไป ทำไมต้องห้องตกกระแทก มันมาได้ยังไง ในฐานะของผู้กำกับและคนทำเรื่อง
จา : พี่คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล) ผู้กำกับร่วม เขาได้แรงบันดาลใจจากชื่ออัลบั้มของพี่เคี้ยง (ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ) ชื่อ วัตถุตกกระแทกหมายเลขศูนย์ ส่วนจานึกถึงเรื่องของคนที่เดินทางโดยไร้จุดหมายแล้วหยุดแวะที่ห้องๆหนึ่ง แล้วออกไปจากห้องนั้นไม่ได้ ก็เลยพบกันครึ่งทาง เลยเป็นห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์ พอได้ชื่อแล้ว เราก็มาตีความทีละคำ ห้อง คืออะไร ตก คืออะไร กระแทก คืออะไร หมายเลขศูนย์คืออะไร มันเป็นจิ๊กซอว์ที่บางทีก็เข้ากันได้ดี บางทีก็ต้องมีตัวเชื่อมอื่น
นาด : แล้วในส่วนของการเป็นนักแสดงด้วย กับทำงานครั้งนี้กับนักแสดงเซ็ทนี้แล้วเป็นยังไงบ้าง
จา : ดีค่ะ เป็นนักแสดงที่เปิด แล้วก็พร้อมจะลองอะไรใหม่ๆ
นาด : ถามเหมือนกับคนอื่นๆ คือ อยากจะถามว่าสำหรับจาแล้ว ห้องตกกระแทกห้องนี้คืออะไร
จา : คือโลกค่ะ
นาด : อืม สั้นๆง่ายๆแต่มันยิ่งใหญ่จัง

ค่ะ ก็คงต้องมาติดตามดูกันว่าห้องนี้มันเป็นแบบไหนกันแน่ มันคือห้องอะไรสำหรับคุณ มาหาคำตอบกันได้ที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space นะคะ แสดงแค่ 8 รอบเท่านั้น และ อย่าลืมว่า โรงละครของเราเล็กมากจริงๆ รับผู้ชมได้เพียงรอบละ 30 ที่นั่งเท่านั้นค่ะ โปรดกรุณาโทรจองบัตรล่วงหน้านะคะเพื่อความสะดวกค่ะ

No comments: