welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday 11 June 2009

บทวิจารณ์ - Left Out

มาแล้วกับบทวิจารณ์อย่างไร้ความปราณีจากเว็บไซด์ใหม่ล่าสุด Bark n'Bite ที่นักวิจารณ์หนุ่มไฟแรงทุ่มเทเปิดเว็บไซด์เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจารณ์งานละครเวที และ ภาพยนตร์ ติดตามอ่านบทวิจารณ์และข่าวสารทางการละครได้ที่นี่

http://www.barkandbite.net/


เราขอทาง Bark n' Bite นำบทวิจารณ์ Left Out มาลงที่นี่


Left Out: สื่อสารแบบแหวกแนว
Written by Nuttaputch


ยอมรับว่าช่วงหลัง ๆ เราจะเห็นกลุ่มละครนอกกระแสหันมาสร้างงานที่เป็น Contemporary มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการดัดแปลงบทไม่ให้จำกัดอยู่แค่การพูดการจาแบบบทสนทนาปรกติ การสร้างอะไรที่ "เหนือความจริง" รวมถึงการผสมผสานของ Multimedia ในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ


Left Out จากฝีมือการกำักับของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรถ้าผมจะเปิดดูข้อมูลและเห็นคำโปรยว่า Dance + Film + Mind = Left Out

เอาล่ะ ผมก็เลยได้มีโอกาสไปดูละครเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาในโรงละครเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Crescent Moon Space ซึ่งตลอดการแสดงร่วมชั่วโมงของ Left Out ผมก็ได้พบความจริงตามที่คำโปรยบอกนั่นแหละ เพราะนี่การผสมผสานรูปลักษณ์ใหม่ ๆ ที่พยายามจะสื่อสารกับคนดูโดยไม่ต้องพึ่งพาการสื่อสารแบบที่เราเห็นกันทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน

Left Out เริ่มด้วยการนำเสนอที่ค่อนข้างจะงง ๆ งวย ๆ กันคนดูอยู่ไม่น้อยที่มีแอร์โฮสเตส (หรือเปล่า?) มานำเสนอวิธีการดูละครที่ไม่ค่อยจะเหมือนกับที่เราไปดูละครปรกติประเภทเอนกายนอนเหยียดแล้วก็ทอดสายตาไปเรื่อย ๆ เพราะระหว่างการแสดงมีกิจกรรมอะไรให้เราทำร่วมกับละครไปด้วย!! และเมื่อละครเริ่ม เราก็จะเริ่มเห็นความแปลกประหลาดมากขึ้นไปอีกเพราะละครเรื่องนี้แทบจะไม่มีบทพูดอะไรเลยเว้นแต่คนที่ไม่ได้อยู่ในเวที!!

เรื่องราวของ Left Out ที่พอจะเล่าแบบสังเขปได้คือความเป็นไปของบ้านหลังหนึ่งอันประกอบด้วยแม่ น้าสาว และลูกสาว ที่อยู่ร่วมกัน ความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นเมื่อตัวแม่กับน้าสาวนั้นไม่ยอมพูดยอมจากัน จะแสดงออกกันด้วยวิธีอื่นเสียมากกว่า แถมยังมีการขัดแย้งกันอยู่ลึก ๆ อีกด้วย จะมีเพียงลูกสาวที่ออกมาในภาพยนต์ที่ฉายอยู่เป็นฉากหลังซึ่งจะมาอธิบายเราว่าเกิดอะไรขึ้นและเล่าความเป็นอยู่ของบ้านหลังนี้


และเมื่อละครดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนที่อยู่บนเวทีก็จะเริ่มแสดงออกมาผ่านกระบวนการสื่อสารด้วยร่างกายและสื่อต่าง ๆ (แต่ไม่มีการพูดการจากันนะครับ) นอกจากนี้ละครก็ใช้สื่อภาพยนต์ที่ฉายเป็นฉากหลังในการนำเสนอภาพต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนกับความคิดและจิตใจที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของตัวละครออกมา

และก่อนที่ละครจะให้ผู้ชมดำดิ่งจนลึกเกินไปกับจิตใจที่ขัดแย้งและมืดหม่นของตัวละคร ละครก็ขมวดทุกอย่างและเฉลยในตอนท้ายถึงปัญหาและที่มาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่อง ว่าเกิดจากปมบางอย่างในวัยเด็กและฝังลึกในทั้งแม่และน้าสาวจนคาราคาซังเช่นในทุกวันนี้
จุดที่ค่อนข้างจะโดดเด่นของ Left Out คือการใช้วิธีการสื่อสารที่ฉีกไปจากสิ่งที่เราหาดูกันได้ทั่ว ๆ ไปในละครเวที โดยปรกติแล้วเราอาจจะเห็นละครเพลงที่ใช้เพลงในการสื่อสาร หรือละครที่ใช้บทสนทนาเล่าเรื่องและความคิดของตัวละคร แต่ Left Out กลับใช้ลักษณะของ Physical Theatre ที่เน้นการใช้ร่างกาย (Body) สื่อสารออกมาถึงสภาวะจิตใจตัวละคร ผ่านการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งปรกติและไม่ปรกติ ซึ่งเราจะเตะตาและใช้สมองครุ่นคิดกับอย่างหลังเอาเสียมาก

ความจริงแล้ว เวลาที่เราต้องดูละครหรือการแสดงที่เป็น Contemporary Theatre อาจจะต้องใช้ "ภาวะ" และ "การเข้าถึง" ค่อนข้างจะแตกต่างออกไปการชมละครปรกติ ผมมองว่ามันก็เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะแทนที่เราจะนั่งตีความคำพูดและเหตุผลจากบทสนทนา เรากลับต้องเปิดใจรับการสื่อสารที่มากขึ้นเพื่อรับสารที่ออกมาในลักษณะของ "ภาพ" ที่มากกว่าเสียง และคงไม่แปลกถ้าจะมีใครวกกลับไปคิดว่าการดูละครประเภทนี้เสมือนกับดูงานศิลปะแบบ Post Modern แบบที่นั่งมองและตีความไปได้่ต่าง ๆ นานามากมาย
และนั่นคงเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของ Left Out ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ดูท่าทางผู้กำกับก็พอจะเข้าใจประเด็นของข้อจำกัดในการเสพศิลปะประเภทนี้เหมือนกันที่ว่าหากคนดูไม่มีพื้นฐานที่มากพอก็จะหลงทางประเภทกู่ไม่กลับเลยก็เป็นไปได้ ฉะนั้นละครจึงมีการหยอดคำใบ้ของเรื่องราว รวมทั้งบทสรุปแบบกึ่ง ๆ ชี้ทางสว่างให้คนดูที่ชั่วโมงบินยังไม่สูงพอจะจับต้องและคลำทางไปได้เรื่อย ๆ

ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงจะกลายเป็นงานศิลปะสมัยใหม่จัด ๆ ที่เรียกว่าดูไม่รู้เรื่่องกันเลยได้ง่าย ๆ
ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ละครเรื่องนี้โลดเล่นได้คือการแสดงอย่างทรงพลังของสองนักแสดงมากประสบการณ์อย่าง สินีนาฏ เกษประไพ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ซึ่งชื่อชั้นของทั้งสองคนก็เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วของวงการละครเวทีนอกกระแสในเมืองไทย ยิ่งถ้าเราได้เห็นทั้งสองแสดงในรูปแบบที่ต้องใช้ความตั้งใจและความสามารถมาก ๆ อย่างละครเรื่องนี้ ก็จะยิ่งทำให้เราไปเห็นถึงศักยภาพของพวกเธอที่มากขึ้นไปอีก ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้ว ผมค่อนข้างจะทึ่งอยู่พอสมควรกับใช้ร่างกายเพื่อการสื่อสารที่มีความละเอียดมากพอสมควร แม้ว่าหลาย ๆ ฉากจะตึงตังและรุนแรง แต่ก็มีพลังและคงไว้ซึ่งแก่นสารไม่ใช่เป็นการออกมาเต้น ๆ ให้จบ ๆ ไปแต่อย่างใด
อีกสิ่่งหนึ่งที่เป็นจุดสนใจไม่แพ้กันคือภาพยนต์ที่ฉายอยู่ฉากหลังนั้น ก็ทำหน้าที่อย่างดีในการช่วยหนุนและเสริมความรู้สึกของแต่ละฉากออกมา เช่นการฉายภาพการทำคลอด การทำศัลยกรรม ฯลฯ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มันความหมายลึกซึ้งจนต้องครุ่นคิดกันพอสมควร และเราจะพบในท้ายที่สุดว่าถ้าขาดองค์ประกอบนี้ไป ละครก็อาจจะดูไม่รู้เรืื่องกันเลยก็ว่าได้

แต่เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องเตือนกันอยู่บ้างว่าละคร Left Out อาจจะเป็นการแสดงที่มีชั้นเชิงของศิลปะที่ค่อนข้างจะสูงอยู่พอสมควร ผู้เขียนเมื่อเดินออกจากโรงละครก็ย้อนคิดว่านี่อาจจะเป็นละครที่ไม่ค่อยจะเหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มดูหรือสัมผัสกับศิลปะการแสดงเสียเท่าไร แม้ว่าละครเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยประเด็นที่ดี การแสดงคุณภาพ รวมถึงการผสมผสานสิ่งแปลกใหม่เข้าไป แต่นั่นก็ออกจะเป็นการฉีกกฏเกณฑ์ที่เราคุ้น ๆ กันกับงานศิลปะในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องใช้การเปิดกว้างทั้งความ จิตใจ และจินตนาการอยู่พอสมควร

อย่างไรเสีย ถ้ามองว่านี่คือหนึ่งในงานศิลปะทางเลือกแล้ว Left Out ก็เป็นงานที่ถือว่า แปลก ใหม่ สด และน่าสนใจอยู่อย่างมากทีเดียวเชียว





No comments: