welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Saturday 21 November 2009

เก็บตกข่าว อ่านสันติภาพ

อ่านสันติภาพ

ในมุมมองของนักการละคร


โดย : คุณหนอนฝึกหัด


“ไม่มีสุ้มเสียงจากหนังสือ...

นอกเสียจากความอึกทึกทางปัญญา”


บ้างก็ว่าเป็นไปเพื่อยุติความขัดแย้ง บ้างก็เพื่อผลประโยชน์ บ้างก็ว่าเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ฯลฯ ก่อเกิดความพยายามที่จะหาจุดร่วมมิรู้จุดจบ

แต่แท้ที่จริงแล้ว 'สันติภาพ' คืออะไร...

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 'พระจันทร์เสี้ยวการละคร' ภูมิใจเสนอ โครงการอ่านบทละคร อ่านสันติภาพ การแสดงอ่านบทละครจากมุมมองของนักการละครที่ร่วมใจมาแสดงในงานศิลปะกับสังคม 'อภิวัฒน์สู่สันติ' ในวาระครบรอบ 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ณ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์

บทละครที่นำมาใช้แสดงในครั้งนี้ คัดสรรมาทั้งจากงานวรรณกรรมที่เป็นบทกวีหรือเรื่องสั้น บทเพลงในภาพยนตร์ คำสอนทางศาสนา ฯลฯ รวมทั้งหมด 12 เรื่อง ได้แก่ แพะในหมู่บ้าน โดย สายฟ้า ตันธนา, You Must Love Me โดย วสุรชต อุณาพรหม, จานบิน โดย วรัญญู อินทรกำแหง, นางนวลกับมวลแมว ผู้สอนให้นกบิน โดย ผดุงพงศ์ ประสาททอง, อัสลาม โดย ฟารีดา จิราพันธุ์ และคอลิด มิดำ, Einstein quotes โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์, บ้านที่แท้จริง โดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ และประภัสสร จันทร์สถิตพร, ข่าวที่บรรณาธิการขว้างทิ้ง โดย วิชย อาทมาท, วันหนึ่งในคืนฤดูหนาว โดย สุกัญญา เพี้ยนศรี, เพชรฆาต โดย ภาวิณี สมรรคบุตร, ฝูงมนุษย์ โดย ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ และ ความว่าง โดย กมลภัทร อินทรสร

ก่อนการแสดงเริ่ม สินีนาฏ เกษประไพ นักการละครและผู้กำกับจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร เกริ่นถึงการอ่านบทละครว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญเวลาที่ต้องจัดทำหรือซ้อมละครเรื่องหนึ่งๆ หลายต่อหลายครั้งต้องอาศัยการเคลื่อนไหว การเดิน เพื่อส่งพลังให้ผู้ชมรับรู้ถึงความหมาย และมีความรู้สึกร่วมไปด้วย เธอกล่าวต่อไปว่าในตอนแรกที่เอ่ยชวนเพื่อนพี่น้องในวงการการละครมาอ่านสันติภาพนั้น ยังมีความกังวลว่าจะมีใครตอบรับมาร่วมแสดงด้วยหรือไม่ เพราะคำว่าสันติภาพนี้ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินตัวเราอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมีการตอบรับและซ้อมบทละครร่วมกัน จึงเห็นว่าจริงๆ แล้วแต่ละคนต่างก็ตีความของคำว่า 'สันติภาพ' ออกมาได้หลากหลายมุม...

บ้านที่แท้จริง

"ถึงแม้ว่าไฟมันจะไหม้บ้านของเราก็ตาม ถึงแม้ว่าน้ำมันจะท่วมบ้านของเราก็ตาม อย่าให้มันไหม้หัวใจของเรา อย่าให้มันท่วมหัวใจของเรา"

การผสมผสานหนังสือธรรมะของหลวงพ่อชา สุภทฺโท และหนังสือสนทนาธรรมของท่าน ปสนฺโน ภิกขุ บอกเล่าเรื่องราวของ 'เจ-จาตุรันต์ ศิริพงษ์' นักโทษประหารคนไทยในสหรัฐ ที่ถูกจับเมื่อปี 2526 ด้วยข้อหาปล้นร้านการ์เด็น โกรฟ มาร์เก็ต (Garden Grove Market) และฆ่าเจ้าของร้านและผู้ช่วย เจรับสารภาพว่าร่วมในการปล้นแต่ไม่ได้ฆ่า แต่เนื่องจากเขาไม่ยอมซัดทอดผู้อื่น ศาลจึงพิพากษาและตัดสินประหารชีวิต ตลอดระยะเวลา 16 ปีในความพยายามยื่นเรื่องอุทธรณ์เพื่อให้ศาลกลับคำตัดสิน แต่ในที่สุดการประหารก็ถูกกำหนดขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542

ก่อนถึงวันประหาร 6 วัน เพื่อนซึ่งเป็นทนายความของเจได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์ไปยังวัดป่าอภัยคีรี เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อให้เจมีโอกาสได้พบกับชาวพุทธซึ่งสามารถจะเป็นที่พึ่งทางใจให้กับเขาได้ สองวันต่อมาพระอาจารย์ปสนฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี ก็ได้เข้าเยี่ยมและอบรมกรรมฐานให้กับเจ ในเรือนจำซาน เควนติน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

"...ตลอดเวลานับตั้งแต่อาตมาได้พบเจ จนกระทั่งถึงวันประหารเป็นเวลาสามวันนี้ อาตมาได้ตอบข้อสงสัย ข้อข้องใจของเจ โดยเฉพาะเรื่องอนัตตา เรื่องขันธ์ 5 และการปล่อยวาง และในคืนสุดท้าย อาตมาก็ได้ฝึกเขาในการทำจิตให้มั่นคง พร้อมที่จะรับความตายโดยไม่หวั่นไหว

...เรายังได้พูดถึงการปล่อยวาง ในความหมายที่เชื่อมโยงถึงการ 'การให้อภัย' และ 'อนัตตา' ถ้าเราไม่ให้อภัยคือเรายังยึดทุกข์ไว้ เราก็จะสร้างตัวตนขึ้นบนความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเกิดมีตัวตนขึ้นเมื่อไร ทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ ถึงตอนนี้แล้วอาตมาก็ถามเจขึ้นมาว่า 'ยังมีใครอีกบ้าง ที่เจยังไม่ได้ให้อภัย' เจนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบค่อยๆ ว่า 'ผมยังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้หมดใจ'

...พิธีศพมีอย่างเงียบๆ ในวันรุ่งขึ้น ทางเรือนจำนำศพเจใส่ไว้ในกล่องกระดาษ ก่อนหน้านั้นพี่สาวของเจขอดูศพ แต่ไม่ได้รับอนุญาตอาตมาไม่ทราบเรื่องนี้เลย จึงไปขอผู้อำนวยการเปิดฝากล่อง ศพของเจเปรียบได้กับครูกรรมฐานที่ให้แรงบันดาลใจอย่างมาก ใบหน้าของเขาดูสงบ ผ่องใส คล้ายมีรอยยิ้มจางๆ หลังจากประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว อาตมามั่นใจว่าเจไปดี"

อาจารย์กอล์ฟหรือ จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ให้เหตุผลที่เลือกเรื่องนี้มาอ่านบทละครว่า "ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับคำชวนให้มาอ่านสันติภาพก็นึกถึงหนังสือสองเล่มนี้ขึ้นมา เพราะปกติก็จะอ่านอยู่เสมอๆ เวลาที่มีความร้อนอยู่ในจิตใจหรือว่าภายในใจมันมีเรื่องเศร้าหมอง ทีนี้เวลาเราพูดถึงสันติภาพกัน เรามักจะพูดกันถึงแต่เรื่องใหญ่ๆ เลยอยากให้ลองกลับมาดูเรื่องของสันติภาพในใจว่ามันต้องเริ่มจากตัวของเรากันเองก่อน สมมติว่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ถ้าเราไม่เย็นเองก่อนแล้ว สังคมก็จะเย็นตามไปด้วยไม่ได้"

และอีกนานาทัศนะของนักการละครที่ตีความถึงสันติภาพในความเห็นของตน เช่น วสุรัชต อุณาพรหม ที่เลือกสะท้อนสันติภาพผ่านบทเพลง 'You must love me' ในละครเรื่อง Evita ซึ่งเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงความคิดภายใน ความทรงจำ ความทะเยอทะยานที่จะมีชีวิตอยู่ โดยปรารถนาที่จะเป็นที่รักของอีวา เปรอง

เขาให้เหตุผลที่เลือกนำเสนอบทเพลงนี้ว่าจริงๆ แล้วใครฟัง you must love me ก็คงบอกว่าเป็นเพลงที่เพราะและน่าสงสาร แต่ตอนที่เขาพรินท์เนื้อออกมานั่งอ่าน เขากลับพบว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในบทเพลงนี้เยอะมาก

"หลวงวิจิตรวาทการบอกไว้ว่าละครมันสร้างชาติ ...คือนักการเมืองมักจะใช้สื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ภาพที่เขาปรากฏ และเห็นทางจอทีวีหรือหนังสือพิมพ์นี้ จริงๆ แล้วไม่รู้ว่าเป็นตัวที่สร้างสันติภาพหรือทำลายสันติภาพ ตัวนักการเมือง ผู้นำ หรือตัวใครก็ตาม ผมว่าเขามีภาพเหมือนคาแรคเตอร์ในเรื่องนี้ คือเขาจะต้องรู้ตัวว่าตัวเองต้องทำยังไง ต้องมีนักสร้างสื่อที่รู้ว่าจะจับโมเมนต์หรือช่วงเวลาใดของเขาออกสู่ประชาชน"

เมื่อการอ่านบทละครสิ้นสุดลงในวันนั้น หลากความเห็นที่สะท้อนออกมาผ่านเรื่องเล่าเพื่อสื่อถึงคำว่า 'สันติภาพ' อาจไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าให้เราหยุดพิจารณาถึงความหมายและวิธีการซึ่งแสดงออกถึงสันติภาพอีกครั้งว่า... จริงๆ แล้วอะไรคือสันติภาพอย่างแท้จริง...


ข้อมูลจาก
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วรรณกรรม ฉบับ วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2552

ภาพถ่ายจาก
พระจันทร์เสี้ยวการละคร
ถ่ายโดย: ไผ่


No comments: