ละครแอบเสิร์ด (Absurd)
หากจะเทียบกับงานศิลปะแขนงอื่น ละครแนวนี้ก็คงจะคล้ายกับศิลปะในแนวนามธรรม (Abstract) ซึ่งผู้ชมหลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยหรือชื่นชอบงานศิลปะในแนวที่ซับซ้อนและเข้าใจยากเช่นนี้มากนัก ละครแนวนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดศิลปะลัทธิ Surrealism และ DADA ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นศิลปะที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ที่ไร้สมรรถภาพในการดำรงชีวิตอยู่ เป็นภาพอันไม่สมประกอบของมนุษย์ เนื้อหาของละครประเภทนี้มักเป็นการประชดเสียดสีสังคม พูดถึงความไร้สาระของมนุษย์ที่พยายามกำหนดความหมายหรือคุณค่าให้แก่สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งแก่ตนเอง
บทละครมักจะเล่าถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์มากกว่าจะมุ่งเล่าเรื่องราว ไม่มีการเดินเรื่องหรือพัฒนาการที่เกิดจากเหตุและผลเหมือนละครทั่ว ๆ ไป ซึ่งรวมไปถึงตัวละครต่าง ๆ ที่มักจะมีลักษณะนิ่งคงที่ มีบุคลิกที่เด่นชัด และไม่มีการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบส่วนในด้านรูปแบบ ภาพที่ปรากฏสู่สายตามักจะถูกทำให้เป็นสื่อที่ชี้นำความคิดในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) หรือเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย (Metaphorical) รวมทั้งนำเสนอออกมาด้วยภาษาที่ง่าย ๆ และไม่ค่อยต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ละครแอบเสิร์ดถือว่าภาษาเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร และไม่ช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจกันและกัน การแสดงจึงมักจะเป็นไปในลักษณะตลกขบขัน แต่ในความตลกขบขันนั้นมักมีสิ่งชวนให้เคลือบแคลงอยู่เสมอ อันเป็นความจริงที่น่าพะวงสงสัยเหมือนกับในชีวิตจริงของมนุษย์นั่นเอง
ข้อมูลจาก : สูจิบัตรละครเวทีเรื่อง คอย ก.ด.
2 comments:
Well for me its better to be more realistic.
Post a Comment