welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Tuesday 16 March 2010

Review อ่านผู้หญิง

เราไม่เลื่อน เราไม่งด เราจัดการอ่าน "อ่านผู้หญิง" แล้วเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา และนี่คือข้อเขียนจากท่านผู้ชมที่มาชม เราขอนำมาแบ่งกันอ่านต่อ ณ ที่นี้

จากผู้ชมเล่าถึง "อ่านผู้หญิง"

๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล พระจันทร์เสี้ยวการละคร โดย สินีนาฏ เกษประไพ จึงจัดวาระการอ่านผู้หญิง โดยให้นักการละครหญิงทั้งหมด ๙ คน คัดสรรงานประพันธ์ที่มี เนื้อหาหรือแง่มุมเกี่ยวกับผู้หญิง มาอ่านและจัด แสดงในรูปแบบการอ่านในละครเวที

ปี ๒๕๕๓ เป็น ปีที่ ๒ ของการจัดการอ่านบท ละคร โดยเมื่อปีที่แล้ว (๒๕๕๒) เดือนกุมภาพันธ์ ว่าด้วย การอ่านเรื่องรัก และเดือนตุลาคม ปีเดียวกันเป็น การอ่านสันติภาพ การจัดทั้งสองครั้ง ก่อนหน้ามีผู้สนใจการอ่านและการละครเข้าชมการผสมผสานระหว่างสองศิลป์นี้ อย่างคับคั่ง

สินีนาฏ เกษประไพ กล่าวกับผู้เข้าชมในวันจัดแสดงว่า การ อ่านบทละครหลายๆ ที่ทำกัน เพราะเป็นพื้นฐานในการ ฝึกฝนและฝึกการแสดง หลังจากได้ทำมาทั้งสองครั้ง ทำให้เห็นอะไรใหม่ๆ และเดือนนี้ มีวันเกี่ยวกับสตรี จึงให้นักการละครหญิงทั้ง ๙ คน เลือกบทประพันธ์ที่มีการพูดถึงในมิติต่างๆ มานำเสนอ

อ่านผู้หญิง มีทั้งหมด ๙ เรื่อง ได้แก่ Ballet Shoes ผลงานของ Noel Streadfeild แปล โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ นำเสนอโดย ปอรรัชม์ ยอดเณร, ปาฏิหาริย์บันทึกรัก ผลงานของ นิโคลัส สปาร์คส์ แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา นำเสนอโดย ภาวิณี สมรรคบุตร, ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น (The Yellow Wallpaper) ผลงานของ Charlotte Perkins Gilman แปลโดย จิ ระนันท์ พิตรปรีชา นำเสนอโดย สินี นาฏ เกษประไพ, เจ้า หญิงคาราเต้ ผลงานของ เจอเรมี สตรอง แปล โดย ฤดูร้อน นำเสนอโดย นีล ชา เฟื่องฟูเกียรติ, เจ้า หงิญ ผลงานของ บินหลา สันกาลาคีรี นำ เสนอโดย ฟารีดา จิระพันธ์, สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ผลงานของ วินทร์ เลียววาริณ นำเสนอโดย อรุณโรจน์ ถมมา, รักร้างแรงอธิษฐาน ผล งานของ ทากุจิ แรนดี แปลโดย ยุพกา ฟุ คุชิมะ นำเสนอโดย สุกัญญา เพี้ยนศรี, พระ อภัยมณี ตอนนางวารีถวายตัว ผลงานของ สุนทรภู่ นำเสนอโดย จารุนันท์ พันธชาติ และ The Joy Luck Club ผลงานของ Amy Tan นำเสนอโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

Ballet Shoes ผู้คัดเรื่องได้หยิบยกเอาบางตอนมานำเสนอ และเป็นหัวใจของการเป็นนักบัลเลต์ คือ การตีความเรื่องเท้า และการตั้งคำถามกับผู้ชมในตอน ท้ายว่า “พวกคุณเคยได้ยินเรื่องของนักบัลเลต์ใน หนังสือประวัติศาสตร์หรือเปล่า?” การโยนคำถามแบบนี้ ไม่เพียงแต่มันทำให้หันกลับไปคิดถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของทุกเรื่อง ราว ที่กลายเป็นรูปแบบสำเร็จรูปว่าต้องมีการพูดถึง เฉพาะผู้ที่เป็นวีรบุรุษ และเหตุการณ์ที่สำคัญๆ โดยละเลยไม่พูดถึงระหว่างทางของการไปสู่ชัยชนะที่อาจมี เรื่องราวของผู้คนเล็กๆ หลายล้านคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

อีกสิ่งที่ผู้คัดเรื่องตี ความได้ดีคือเรื่องของเท้า ในการอ่านจะมีบทที่พูด ถึงเท้าและชี้ให้เห็นความสำคัญของเท้าว่าคือหัวใจของการเต้นบัลเลต์ ดังที่บทประพันธ์บรรยายเอาไว้ว่า “เธอ หยุดเพราะเท้าของเธอได้ทำในสิ่งที่ต้องการแล้วเท่านั้น” หรือ แม้แต่รายละเอียดในการดูแลรักษาเท้า และลักษณะเท้าที่เหมาะกับการเต้นบัลเลต์

ปอรรัชม์ ยอดเณร กล่าวว่า “การตีความเรื่องเท้า มันให้ความรู้สึกหลายอย่าง แน่ นอนว่า ปกติแล้วผู้คนไม่ชอบพูดถึงเท้าเพราะเป็นอวัยวะที่อยู่เบื้องล่าง แต่ในเรื่องนี้ เท้าเป็นสัญลักษณ์ที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่คนเล็กๆ คนหนึ่ง และ นามสกุล ฟอสซิลของตัวเอกในเรื่อง ยังตีความไปได้ถึงเรื่องของที่มีค่าและไม่มีค่า”

ภาวินี สมรรคบุตร เลือกนักแสดงชายเลยวัยกลางคน มาอ่านอารมณ์ขณะรักของ คู่รักในนวนิยายเรื่อง ปาฏิหาริย์บันทึกรัก หรือ The Note Book ผู้คัดเรื่องมีความประทับ ใจกับบทประพันธ์และภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยรู้สึกว่า ห้วงอารมณ์หนึ่งในบทประพันธ์ชิ้นนี้ ทำ ให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และการแบ่งปันกันของครอบครัวๆ หนึ่ง ที่มีความจริง ใจให้แก่กัน รวมถึงได้เห็นช่วงเวลาของการปัน ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเอกกับหนังสือ ดังที่ผู้ เขียนประพันธ์เอาไว้ว่า “ฉันรักคุณในขณะที่เขียน จดหมายนี้ และฉันรักคุณในขณะที่คุณอ่านจดหมายฉบับ นี้ และฉันรักคุณสุดหัวใจชั่วนิรันดร์”

นักแสดงมากความสามามรถ อย่างมินตา ภณปฤณ สวมบทบาท ของผู้หญิงที่อยู่ในโลกของตัวเอง ที่ทั้งแสดงและ อ่านไปพร้อมๆ กัน และทำได้ดีทั้งสองอย่าง จนอดทึ่งไม่ได้ การคัดนักแสดง หญิงผู้นี้มาเล่น ดูเหมาะเจาะลงตัวที่สุดสำหรับ เรื่อง ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น สีนีนาฏถึงกับกล่าวว่า หากมินตาปฏิเสธไม่รับเล่น ก็ คงต้องหาเรื่องใหม่มาใช้สำหรับการอ่านผู้หญิงในครั้งนี้ และ ผู้คัดเรื่องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บทประพันธ์ชิ้น นี้ เป็นการรำพึงรำพันของผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นวรรณกรรมรุ่นแรกๆ ของ เฟมินิสต์ที่เรียกร้องสิทธิ และกว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ในอีก ๕๐ ปีต่อมา

ความสนุกสานครื้นเครง มาพร้อมกับชีวิตนอกกรอบของบทประพันธ์เรื่อง เจ้าหญิงคาราเต้ การเรียกเสียง หัวเราะที่มาพร้อมกับการกระตุ้นให้คิดตาม กับชีวิต อันแสนนอกกรอบขององค์หญิงองค์ที่ ๑๖ ที่ไม่เหมือนใครจนวินาทีสุดท้ายของเรื่อง

เรื่องราวของภาคใต้ยังคง สร้างความสะเทือนใจให้แก่ฟารีดา จีราพันธ์ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางด้านศาสนา ผู้ คัดเรื่องอ่านผลงานของ บินหลา สัน กาลาคีรี แล้วอดที่จะโยงประเด็นหลายอย่างในเรื่องตี ความไปสู่ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ คัดเรื่องเล่าเรื่องพร้อมกับการเล่นหุ่นมือประกอบ และ มีนักแสดงรุ่นเยาว์กับคุณพ่อมาร่วมแสดง ทำให้ผู้ชม ได้ภาพที่ผู้คัดเรื่อง รู้สึกกับบทประพันธ์นี้คือ การพยายามเล่านิทานของผู้ประพันธ์ ที่ ได้เล่าความจริงบางอย่างในชีวิตผู้คนซึ่งมันหายไปแล้ว

ข่าวเรื่องการถูกข่มขืน หรือการถูกกระทำทารุณทางเพศกับสตรี มีปรากฏบนหน้า หนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ความเลวร้ายในสังคม ทำให้ผู้คัดเรื่องนี้ได้รับคำเตือนจากพ่อแม่ที่บ้านให้ ระวังตัวเวลากลับบ้านดึก เธอรู้สึกว่ามันไม่ ยุติธรรมเลยที่มีเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิง เมื่อเธอได้รับคัดเลือกให้มาเป็น ๑ ใน ๙ นักการ ละครหญิงที่นำเสนอเรื่องอ่านผู้หญิง จึงเลือกตอน ตุ๊กตา ในบทประพันธ์เรื่อง สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน มานำ เสนอ และความโหดร้ายที่เกิดกับความไร้เดียงสาของเด็ก ผู้หญิงคนหนึ่ง ได้กดให้ความรู้สึกของผู้ชมในห้อง นิ่ง อึ้ง เมื่อ เรื่องราวคลี่และค(ล)ายออกมา สิ่งที่เหนือความคาด หมายมักเกิดขึ้นได้เสมอกับสังคมที่มาตรวัดด้านคุณธรรม จริยธรรม ต่ำถึงขีดสุด ยิ่งบทประพันธ์ให้ตัวเอกเดียงสาเท่า ไหร่ ความอยุติธรรมก็ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นเท่า นั้น ดูจบแล้วต้อง สูดหายใจ ลึกๆ และถอนหายใจแรงๆ และเฮ้อ ออก มาได้เพียงเบาๆ เหมือนตัวเองป่วยไปกับ การเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

สุกัญญา เพี้ยนศรี ย้ำกับผู้ชมว่า ผู้หญิงเป็นสิ่ง มีชีวิตที่อ่อนไหวมาก รักร้างแรงอธิษฐาน จึงถ่ายทอดจังหวะของอารมณ์ผู้หญิงได้อย่างดี หรือแม้แต่การเผยให้เห็นความเป็นผู้ชายในบางรูปแบบ การตั้งคำถามของผู้หญิงวัย ๓๐ ที่อยากรู้ว่า การแต่งงานคือ อะไร? เรื่องนี้หยิบจังหวะที่ผู้หญิงโดยส่วนมากมัก เป็นแบบนี้กัน ออกมาถ่ายทอด ไม่ ว่าจะเป็นการตั้งคำถามกับความรัก กับคนรัก หรือการ ตัดสินใจจะไปไกลแค่ไหนกับความรัก จะแต่งงานเพราะ อายุปูน ๓๐ หรือจะแต่งเพราะรัก หรือ สักแต่ว่าจะแต่งโดยไม่สนใจว่าฝ่ายชายจะรักตนหรือไม่ มัน ได้เห็นทั้งความอ่อนไหวในผู้หญิงคนหนึ่ง และแน่นอนว่า บาง อารมณ์นั้นมันถูกกดดันจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และช่วง ขณะที่ต้องบอกว่า นี่หล่ะ ผู้หญิง

พระอภัยมณี ตอน นางวารีถวายตัว ได้ รับการนำมาอ่าน พร้อมกับมีนักเชลโลอีกคนมาเล่น ประกอบการอ่าน ผู้คัดเรื่องอยากนำเสนอเรื่องราวของ นางวารี เพราะเป็นตัวละครอีกตัวในพระอภัยมณี ที่ไม่ ค่อยมีคนพูดถึงกันหรือแทบจะไม่มีคนรู้จักหรือพูดถึง อีก ทั้งอยากอ่านกลอน และมีการอ่านทำนองเสนาะประกอบใน บางบท

ความไม่ลงรอยกันระหว่างแม่ กับลูกสาว เป็นเรื่องปกติของครอบครัวทั่วไป ที่พ่อแม่และลูกมักเดินอยู่บนทางคู่ขนาน ที่ไม่มีวันจะบรรจบกัน พอมาบรรจบก็มักจะ เป็นการทะเลาะ ที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมลดราวาศอกให้ กันและกัน หากใครได้เคยชมภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือ เรื่อง The Joy Luck Club ของ Amy Tan จะเห็นภาพความขัดแย้งของ แม่และลูกสาวได้อย่างชัดเจน การยืนอยู่กันคนละมุมความคิด การมองอีกคนด้วยสายตาและทัศนคติของตัวเอง แต่ ระหว่างทางคู่ขนาน สุดท้ายย่อมบรรจบกันด้วยความเข้า ใจ ด้วยภาษาง่ายๆ ด้วยภาษา ของคนทั้งคู่

ต้องให้เครดิตกับปานรัตน กริช ชาญชัย ผู้คัดเรื่อง และ หยิบยกตอนที่กินใจ รวมถึงการเขียนบทที่สร้างความจับ ใจจนผู้ชมบางคน ดูเสร็จต้องยกโทรศัพท์โทรไปหาแม่ที่ บ้าน บทสนทนาระหว่างแม่กับลูก มัน เป็นตัวแทนบทสนทนาของแม่และลูกสาวอีกหลายล้านคนบนโลกนี้ เรียก ได้ว่า เล่นกับความรู้สึกคนดู และคนดู(อย่างฉัน)ก็รู้สึกว่า เออ...ก็เป็น แบบนี้ ฉันก็เคยเป็น ชอบตัดสินแม่ จากความรู้สึกของ ตัวเอง

ไม่เฉพาะแค่บทประพันธ์ การคัด ตอน การเขียนบท เท่านั้น การคัดเลือกนักแสดงหญิงทั้งสองคนมาถ่ายทอดเรื่องราว ยิ่งจับใจผู้ชมมากยิ่งขึ้น โดย เฉพาะนักแสดงหญิงที่เล่นเป็นแม่ ที่ควบคุมน้ำเสียง ในการถ่ายทอดออกมา จนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเสียใจ ดีใจ โวยวาย โผง ผาง ด่าทอ อบอุ่น และที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะอารมณ์ไหน น้ำ เสียงที่แม่มีกันคือน้ำเสียงอันจริงใจในความเป็นแม่ เธอ ทำให้ผู้ชมเชื่อว่าเธอเป็นแม่แบบที่แม่หลายล้านคนเป็นกัน จังหวะ ในการปล่อยเสียงเพลงออกมาระหว่างการแสดงก็ทำได้ดี และ ลงตัว

The Joy Luck Club กระแทกอารมณ์ผู้ชม เล่นปะทะกันตรงๆ และหนีไม่ได้ เพราะ มันเหมือนเหตุการณ์จำลองจากชีวิตจริงของอีกหลายคน (ขอ ให้เครดิตกับผู้คัดเรื่อง และเครดิตกับการตีความ รวมถึงการเขียนบทของปานรัตน กริช ชาญชัย ว่าเขียนบทได้ดีมาก ติดตาม การทำงานของเธอมาหลายเรื่อง ถ้าลงมือเขียนบทเอง หาที่ติค่อนข้างยาก) ในความคิด ฉันอารมณ์ระหว่างแม่ลูกคู่นี้ มันก็เป็นอารมณ์สามัญ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ในหลายครอบครัว แล้วที่สุดแล้วหล่ะ ในความไม่ เข้าใจ มันลงเอยกันด้วยดี ด้วย อะไร ก็ด้วยความเข้าใจและความรัก และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อภัย การละทิฐิในตน The Joy Luck Club สโมสรแห่งนี้ ให้ความรู้สึก จับใจ (คนดูอย่างฉัน)

ขอบคุณนักการละครหญิงทั้ง ๙ คน การตีความ การ นำเสนอ การแสดง ที่ทำให้ เห็นถึงมิติของผู้หญิง มิติของบทประพันธ์ และมิติทางความคิดของผู้คัดเรื่อง

เขียนโดย นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ
ภาพถ่ายโดย Chatchawan_Pan_Yui

ดูเพิ่มเติมที่
http://www.oknation.net/blog/nonglakspace/2010/03/15/entry-1

No comments: