welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Friday, 25 June 2010

บทวิจารณ์ “สุดทางที่บางแคร์”

บทวิจารณ์ "สุดทางที่บางแคร์"
จากเว็บวิจารณ์แบบไร้ปราณี

ดูที่นี่:
http://www.barkandbite.net/



ผมเคยนั่งคิดว่าถ้าผมแก่ตัวไปจะเป็นอย่างไร จะเหมือนกับที่ผมเห็นคุณปู่คุณย่าที่กลายเป็นภาพของคนแก่ขี้บ่น อารมณ์ร้อน แบบเดียวกับในความทรงจำของผมหรือเปล่า และถ้าเป็นอย่างนั้น วันเวลาดังกล่าวผมจะคิดอะไรกันแน่

แม้อาจจะทำให้ผมแก่ลงไปจริง ๆ แต่การดูละคร “สุดทางที่บางแคร์” ฝีมือการกำกับของปานรัตน กริชชาญชัย ก็พอจะทำให้ผมได้เห็นมุมมองและเข้าใจคนสูงอายุมากขึ้น ได้มีประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่จะเข้าใจภาวะของ “การแก่ตัวลง” และไม่วายที่จะคิดพร้อมรอยยิ้มว่าผมรู้สึกพร้อมจะรับความแก่ขึ้นมาบ้างนิดนึงแล้วล่ะเรื่องราวของ “สุดทางที่บางแคร์” เป็นเรื่องราวในวันที่เหมือนจะทั่ว ๆ ไปของเหล่าหญิงชราสามคนที่บ้านพักคนชรา ซึ่งก็ไม่พ้นการพูดคุย หากิจกรรมทำเรื่อย ๆ ทะเลาะ ง้องอนกับบรรดาเพื่อนร่วมหลังคาเดียวกัน ซึ่งภายในเรื่องราวเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วย “ชีวิต” ที่กำลังโลดแล่นแม้ว่าภายนอกจะอ่อนโรยลงไปด้วยวัยแล้วก็ตาม

ผมเองก็ไม่เคยอ่านบทละครดั้งเดิมอย่าง Heroes ของ Tom Stoppard ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็นบทละครเรื่องนี้ แต่ในมุมมองของผมที่รู้สึกไปกับบทละครเวอร์ชั่นภาษาไทยนั้น ผมเห็นความละเมียดละไมของ “มนุษย์” ผ่านบทสนทนาที่มีส่วนผสมของทั้ง เหตุผลที่ปะติปะต่อกัน และการไร้เหตุผลปนไม่เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นเสน่ห์สำคัญของบทละครที่กลายเป็นเหมือนความท้าทายของนักแสดงและผู้กำกับที่จะถ่ายทอดแก่นของเรื่องออกมา

เราคงจะงง ๆ อยู่บ้างกับบทสนทนาที่ดูไม่ค่อยต่อเนื่องและเรียงร้อยเรื่องราวแบบที่เรา ๆ พูดกัน (จนเผลอ ๆ บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นละคร Absurd ไปแล้ว) แต่ในความจริง หากจับหลักเรื่องราวและตัวตนของตัวละครแต่ละตัว ตั้งแต่ พวงเพ็ญ หญิงแก่ไฮเปอร์ผู้เต็มไปด้วยเรื่องราวตื่นเต้น สุวรรณีหญิงชราผู้ชอบนั่งมองและวิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ และยาใจ ผู้ที่เต็มไปด้วยความกังวลและหวาดกลัว เราจะเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวาดกลัวของแต่ละคนหลังจากใช้ชีวิตมาเนิ่นนานและการพยายามหลีกหนีความจริงของชีวิตรวมทั้งสังขารที่นับวันก็จะยิ่งเสื่อมไป คำพูดและบทสนทนาที่อาจจะรู้สึกว่าเยอะแท้จริงแล้วคือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ออกมานั่นเอง

ความรู้สึกหนึ่งที่น่าคิดไม่น้อยจากการนั่งดูชีวิตของทั้งสามคน คือการหาคำตอบว่าในภาวะของคนแก่นั้นจะรู้สึกอย่างไร ในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความทรงจำทั้งสุขและทุกข์และร่างกายที่ไม่ได้เป็นไปแบบอดีตอันรุ่งโรจน์ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความหวังที่จะจุดไฟชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เช่นการรู้สึกกระปรี้กระเปร่าเวลาเห็นชายหนุ่ม การผจญภัยไปที่ไกล ๆ ฯลฯ เพื่อจะได้กลบความจริงของสังขาร รวมไปถึงกระบวนการที่จะ”จัดการ” กับความทุกข์ที่ได้จากความจริงของตัวเอง

หนึ่งในสิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ (หรือไม่ก็รู้สึก) คือการพยายาม “หลีกหนี” “ปกปิด” “เลี่ยงการเผชิญหน้า” กับสิ่งที่ความชรานำมาให้กับตัวละคร เช่นความโดดเดี่ยว อ้างว้าง หรือแม้แต่การเผชิญหน้ากับความตายที่อยู่รอบตัว ทั้งจากเพื่อนร่วมวัยและกับตัวเอง ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ตรึงเข้าไปในหัวใจของผู้ชมมากที่สุดอย่างหนึ่งจากการแสดงละครเรื่องนี้

และก็คงเป็นความลงตัวที่สมบูรณ์จากบทที่ละเอียดละอ่อนที่ถูกส่งมอบต่อให้กับนักแสดงที่มากฝีมือ ซึ่งรับส่งบทและการแสดงกันได้อย่างคมกริบและกลายเป็นจุดสำคัญมากที่ทำให้เรื่องเดินได้อย่างไม่สะดุด แม้ในบรรยากาศที่ดูอ้างว้างและ “สูงอายุ” จากตัวละคร แต่ละครกลับกระฉับกระเฉงและกระชับโดยไม่ได้เอื่อยเฉื่อยยานคางจะอยากจะหลับตาลงแต่อย่างใดเลย ซึ่งผู้เขียนเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้านักแสดงเป็นมือสมัครเล่นที่ยังขาดประสบการณ์แล้วล่ะก็ละครจะเละไม่เป็นท่าแค่ไหน ในขณะเดียวกัน ถ้าบทสนาที่ค่อนข้างเยอะไม่ได้รับการนำเสนอไปกับการแสดงที่คมคายแล้วล่ะก็ คนดูก็คงจะเบื่อหน่ายกับคำพูดวก ๆ วน ๆ เป็นแน่แท้

ความรู้สึกดี ๆ อีกอย่างที่ได้จากการชมละครคือการสัมผัสบรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้างลงตัวมากของฉาก แสง และเสียง (ที่มีทั้งเพลงบรรเลงและเพลงเก่าสมัยพ่อแม่เรายังวัยรุ่น) ที่แม้จะไม่ได้อัศจรรย์เทคนิคแพรวพราวหรือฉูดฉาด แต่ความเรียบง่ายแต่ชัดเจนนั้นแหละที่ช่วยกันหล่อหลอมโรงละคร Crescent Moon Space ให้ผู้ชมสามารถรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ว่านี่คือระเบียงของบ้านพักคนชราที่ร่มรื่นเสียเหลือเกิน




ส่วนที่ผมอาจจะติงละครเรื่องนี้อยู่ (ถ้าคิดว่ามันจะเป็นปัญหาอยู่) ก็อาจจะเป็นว่าละครเรื่องนี้คงจะเหมาะกับคนที่มีจริตในการเสพศิลปะระดับหนึ่ง เพราะบทสนทนาในละครอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ไม่พยายามเปิดรับมุมมองอื่น ๆ นอกจากที่เห็นชีวิตประจำวันเท่านั้น หรือกับอีกพวกคือคนที่ปรารถนากับเสพเนื้อความแบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยของสมอง

สำหรับผมแล้ว สุดทางที่บางแคร์ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนการดื่มกาแฟอุ่น ๆ รสเยี่ยมที่ริมทางเดินของบ้านบนภูเขาที่มองไปเห็นทะเลชีวิตที่ไกลสุดลูกหูลูกตา พร้อมกับสายลมเบา ๆ โชยผ่านให้รู้สึกทั้งอิ่มเอิบกับชีวิต แต่ก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวขึ้นมาบ้างเมื่อต้องคิดว่าผมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปหรอก


ขอขอบคุณเว็บไซด์วิจารณ์ Bark and Bite




Monday, 14 June 2010

พรีวิว "สุดทางที่บางแคร์"

ชม "สุดทางที่บางแคร์" รอบพรีวิว (ฟรี )
รอบวันพุธที่ 16 มิถุนายน 2553 รอบเดียว 20 ที่เท่านั้น ...



ขอเชิญชม "สุดทางที่บางแคร์" รอบพรีวิว (ฟรี ) รอบวันพุธที่
16 มิถุนายน 2553 รอบเดียว 20 ที่เท่านั้น ...

“สุดทางที่บางแคร์” บทและกำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย นำแสดงโดย ปริยา วงษ์ระเบียบ เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ ฟาริดา จิราพันธุ์


16-27 มิถุนายน 2553 (ยกเว้น วันจันทร์ และ อังคาร)
ณ โรงละครพระจันทร์เสี้ยว
เวลา 20.00 น.
จองบัตรที่ 0867877155

แล้วคุณจะรู้ว่า....อะไรที่คุณควรแคร์

Saturday, 5 June 2010

มีอะไรในบางแคร์

เกี่ยวกับสุดทางที่บางแคร์

ผู้กำกับและดัดแปลงบท ปานรัตน กริชชาญชัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง Heroes ของ Tom Stoppard ซึ่งแปลมาจาก Le Vent des peupliers ของ Gérald Sibleyras บทดั้งเดิมได้รับรางวัล Laurence Olivier สาขา Best New Comedy ในปี 2006 เป็นเรื่องราวของชายวัยชราสามคน ซึ่งเคยเป็นทหารช่วงสงครามโลกมาก่อน ต่างก็ได้รับความบอบช้ำจากสงครามมา...และในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขาทั้งสามต้องมาอยู่รวมกันในบ้านพักทหารผ่านศึก
"สุดทางที่บางแคร์" ได้หยิบยกเอาโครงสร้างและเนื้อเรื่องบางช่วงของบทดังกล่าวมาดัดแปลง ให้เข้ากับบริบทไทยๆ ตามจินตนาการของผู้กำกับและผู้เขียนบท โดยดัดแปลงจากชีวิตทหารผ่านศึกมาเป็นหญิงแก่แสนเหงาแต่ยังสวยสามคนในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง

ตลอดทั้งเรื่องสาวงอมวัยทั้งสามเพียรพยายามที่จะหลุดออกไปจากสภาวะที่เป็นอยู่ให้ได้...สภาวะสุดท้าย! กำลังจะมา แต่ด้วยวัยและทัศนคติต่างๆ ทำให้หนทางที่จะเดินไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นยากเย็นแสนเข็ญ

ป้าแก่ๆสามคนที่ไม่เคยเตรียมตัวแก่เตรียมตัวตายมาก่อน จะรอดพ้นจากสภาพอันโหดร้ายของบั้นปลายชีวิตไปได้หรือไม่

มาช่วยลุ้นและช่วยกันเฟ้นหาความงามของจุดสุดท้ายปลายทางของชีวิตไปพร้อมๆกัน ที่... "สุดทางที่บางแคร์"

แล้วคุณจะรู้ว่า....อะไรที่คุณควรแคร์


บางส่วนจาก Director's Note

คนเรายิ่งแก่ยิ่งมี ‘รูปแบบความคิด’ ที่ แข็ง-แรง (ก็อยู่ในโลกมานานคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมั่นใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ)

แล้วยึดสิ่งนั้นไว้แน่นๆไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน จนบางทีคนรอบข้างก็ไม่ไหวจะเพลีย อยู่ด้วยไม่ได้ หนีหายไปหมด

สุดท้ายปลายทางตอนแก่ก็มักจบลงที่ความเดียวดายทั้งกายและใจ

เพราะนับวันที่เราเติบโตขึ้น เราก็จะสร้างโลกของเราขึ้นมาเอง เอากะลามาใส่หัว และโลกนั้นถูกเสมอ ใหญ่เสมอ

พอมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปก็รับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่เคยเตรียมตัว ไม่เคยฟังใคร แล้วยังจะปิดตาปิดใจให้กับวันเวลาที่มันผันแปรเปลี่ยนไป

ทำเป็นลืมว่าพรุ่งนี้มันไม่มีทางเหมือนวันนี้อีกแล้ว

Friday, 4 June 2010

สุดทางที่บางแคร์

New TheaTRE Society

เสนอ
ไม่ใช่คนบางแค แต่ก็แคร์ใครบางคน...

“สุดทางที่บางแคร์”

ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง Heroes ของ Tom Stoppard ซึ่งแปลมาจาก Le Vent des peupliers ของ Gérald Sibleyras
บทดั้งเดิมได้รับรางวัล Laurence Olivier สาขา Best New Comedy ในปี 2006

ป้าแก่ๆสามคนที่ไม่เคยเตรียมตัวแก่เตรียมตัวตายมาก่อน
จะรอดพ้นจากสภาพอันโหดร้ายของบั้นปลายชีวิตไปได้หรือไม่
มาช่วยลุ้นและช่วยกันเฟ้นหาความงามของจุดสุดท้ายปลายทางของชีวิตไปพร้อมๆกัน ที่...สุดทางที่บางแคร์

บทและกำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

นำแสดงโดย
ปริยา วงษ์ระเบียบ เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ ฟาริดา จิราพันธุ์

16-27 มิถุนายน 2553 (ยกเว้น จันทร์-อังคาร)
ณ โรงละครพระจันทร์เสี้ยว เวลา 20.00 น.
บัตรราคา 350 บาท (60 ปีขึ้นไป ชมฟรี)

ติดต่อสอบถาม 0867877155

แล้วคุณจะรู้ว่า....อะไรที่คุณควรแคร์