welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Friday 25 June 2010

บทวิจารณ์ “สุดทางที่บางแคร์”

บทวิจารณ์ "สุดทางที่บางแคร์"
จากเว็บวิจารณ์แบบไร้ปราณี

ดูที่นี่:
http://www.barkandbite.net/



ผมเคยนั่งคิดว่าถ้าผมแก่ตัวไปจะเป็นอย่างไร จะเหมือนกับที่ผมเห็นคุณปู่คุณย่าที่กลายเป็นภาพของคนแก่ขี้บ่น อารมณ์ร้อน แบบเดียวกับในความทรงจำของผมหรือเปล่า และถ้าเป็นอย่างนั้น วันเวลาดังกล่าวผมจะคิดอะไรกันแน่

แม้อาจจะทำให้ผมแก่ลงไปจริง ๆ แต่การดูละคร “สุดทางที่บางแคร์” ฝีมือการกำกับของปานรัตน กริชชาญชัย ก็พอจะทำให้ผมได้เห็นมุมมองและเข้าใจคนสูงอายุมากขึ้น ได้มีประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่จะเข้าใจภาวะของ “การแก่ตัวลง” และไม่วายที่จะคิดพร้อมรอยยิ้มว่าผมรู้สึกพร้อมจะรับความแก่ขึ้นมาบ้างนิดนึงแล้วล่ะเรื่องราวของ “สุดทางที่บางแคร์” เป็นเรื่องราวในวันที่เหมือนจะทั่ว ๆ ไปของเหล่าหญิงชราสามคนที่บ้านพักคนชรา ซึ่งก็ไม่พ้นการพูดคุย หากิจกรรมทำเรื่อย ๆ ทะเลาะ ง้องอนกับบรรดาเพื่อนร่วมหลังคาเดียวกัน ซึ่งภายในเรื่องราวเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วย “ชีวิต” ที่กำลังโลดแล่นแม้ว่าภายนอกจะอ่อนโรยลงไปด้วยวัยแล้วก็ตาม

ผมเองก็ไม่เคยอ่านบทละครดั้งเดิมอย่าง Heroes ของ Tom Stoppard ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจก่อนจะมาเป็นบทละครเรื่องนี้ แต่ในมุมมองของผมที่รู้สึกไปกับบทละครเวอร์ชั่นภาษาไทยนั้น ผมเห็นความละเมียดละไมของ “มนุษย์” ผ่านบทสนทนาที่มีส่วนผสมของทั้ง เหตุผลที่ปะติปะต่อกัน และการไร้เหตุผลปนไม่เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นเสน่ห์สำคัญของบทละครที่กลายเป็นเหมือนความท้าทายของนักแสดงและผู้กำกับที่จะถ่ายทอดแก่นของเรื่องออกมา

เราคงจะงง ๆ อยู่บ้างกับบทสนทนาที่ดูไม่ค่อยต่อเนื่องและเรียงร้อยเรื่องราวแบบที่เรา ๆ พูดกัน (จนเผลอ ๆ บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นละคร Absurd ไปแล้ว) แต่ในความจริง หากจับหลักเรื่องราวและตัวตนของตัวละครแต่ละตัว ตั้งแต่ พวงเพ็ญ หญิงแก่ไฮเปอร์ผู้เต็มไปด้วยเรื่องราวตื่นเต้น สุวรรณีหญิงชราผู้ชอบนั่งมองและวิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ และยาใจ ผู้ที่เต็มไปด้วยความกังวลและหวาดกลัว เราจะเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวาดกลัวของแต่ละคนหลังจากใช้ชีวิตมาเนิ่นนานและการพยายามหลีกหนีความจริงของชีวิตรวมทั้งสังขารที่นับวันก็จะยิ่งเสื่อมไป คำพูดและบทสนทนาที่อาจจะรู้สึกว่าเยอะแท้จริงแล้วคือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ออกมานั่นเอง

ความรู้สึกหนึ่งที่น่าคิดไม่น้อยจากการนั่งดูชีวิตของทั้งสามคน คือการหาคำตอบว่าในภาวะของคนแก่นั้นจะรู้สึกอย่างไร ในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความทรงจำทั้งสุขและทุกข์และร่างกายที่ไม่ได้เป็นไปแบบอดีตอันรุ่งโรจน์ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความหวังที่จะจุดไฟชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เช่นการรู้สึกกระปรี้กระเปร่าเวลาเห็นชายหนุ่ม การผจญภัยไปที่ไกล ๆ ฯลฯ เพื่อจะได้กลบความจริงของสังขาร รวมไปถึงกระบวนการที่จะ”จัดการ” กับความทุกข์ที่ได้จากความจริงของตัวเอง

หนึ่งในสิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ (หรือไม่ก็รู้สึก) คือการพยายาม “หลีกหนี” “ปกปิด” “เลี่ยงการเผชิญหน้า” กับสิ่งที่ความชรานำมาให้กับตัวละคร เช่นความโดดเดี่ยว อ้างว้าง หรือแม้แต่การเผชิญหน้ากับความตายที่อยู่รอบตัว ทั้งจากเพื่อนร่วมวัยและกับตัวเอง ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ตรึงเข้าไปในหัวใจของผู้ชมมากที่สุดอย่างหนึ่งจากการแสดงละครเรื่องนี้

และก็คงเป็นความลงตัวที่สมบูรณ์จากบทที่ละเอียดละอ่อนที่ถูกส่งมอบต่อให้กับนักแสดงที่มากฝีมือ ซึ่งรับส่งบทและการแสดงกันได้อย่างคมกริบและกลายเป็นจุดสำคัญมากที่ทำให้เรื่องเดินได้อย่างไม่สะดุด แม้ในบรรยากาศที่ดูอ้างว้างและ “สูงอายุ” จากตัวละคร แต่ละครกลับกระฉับกระเฉงและกระชับโดยไม่ได้เอื่อยเฉื่อยยานคางจะอยากจะหลับตาลงแต่อย่างใดเลย ซึ่งผู้เขียนเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้านักแสดงเป็นมือสมัครเล่นที่ยังขาดประสบการณ์แล้วล่ะก็ละครจะเละไม่เป็นท่าแค่ไหน ในขณะเดียวกัน ถ้าบทสนาที่ค่อนข้างเยอะไม่ได้รับการนำเสนอไปกับการแสดงที่คมคายแล้วล่ะก็ คนดูก็คงจะเบื่อหน่ายกับคำพูดวก ๆ วน ๆ เป็นแน่แท้

ความรู้สึกดี ๆ อีกอย่างที่ได้จากการชมละครคือการสัมผัสบรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้างลงตัวมากของฉาก แสง และเสียง (ที่มีทั้งเพลงบรรเลงและเพลงเก่าสมัยพ่อแม่เรายังวัยรุ่น) ที่แม้จะไม่ได้อัศจรรย์เทคนิคแพรวพราวหรือฉูดฉาด แต่ความเรียบง่ายแต่ชัดเจนนั้นแหละที่ช่วยกันหล่อหลอมโรงละคร Crescent Moon Space ให้ผู้ชมสามารถรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ว่านี่คือระเบียงของบ้านพักคนชราที่ร่มรื่นเสียเหลือเกิน




ส่วนที่ผมอาจจะติงละครเรื่องนี้อยู่ (ถ้าคิดว่ามันจะเป็นปัญหาอยู่) ก็อาจจะเป็นว่าละครเรื่องนี้คงจะเหมาะกับคนที่มีจริตในการเสพศิลปะระดับหนึ่ง เพราะบทสนทนาในละครอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ไม่พยายามเปิดรับมุมมองอื่น ๆ นอกจากที่เห็นชีวิตประจำวันเท่านั้น หรือกับอีกพวกคือคนที่ปรารถนากับเสพเนื้อความแบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยของสมอง

สำหรับผมแล้ว สุดทางที่บางแคร์ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนการดื่มกาแฟอุ่น ๆ รสเยี่ยมที่ริมทางเดินของบ้านบนภูเขาที่มองไปเห็นทะเลชีวิตที่ไกลสุดลูกหูลูกตา พร้อมกับสายลมเบา ๆ โชยผ่านให้รู้สึกทั้งอิ่มเอิบกับชีวิต แต่ก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวขึ้นมาบ้างเมื่อต้องคิดว่าผมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปหรอก


ขอขอบคุณเว็บไซด์วิจารณ์ Bark and Bite




No comments: