welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Wednesday 27 October 2010

บทวิจารณ์ วาวา "The Rice Child"

WaWa – The Rice Child
– เบิกบานและละเอียดอ่อน (B+)
by nuttaputch / from Bark & Bite


การทำละครหรือการแสดงให้เด็กดูเป็นหนึ่งในโจทย์ที่จะว่าง่ายก็ง่าย หรือจะว่ายากก็ยาก เพราะหลายคนก็เลือกเส้นทางง่าย ๆ ในการพูดสารเชิงจริยธรรมให้กับเด็กแบบตรง ๆ ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรแต่เน้นการสร้างสีสันให้ตื่นตาตื่นใจและดึงความสนใจของเด็กไว้ได้ ในขณะที่บางคนก็อาจจะเลือกกลอุบายการเล่าเรื่องอื่น ๆ มาเล่าอย่างแยบคายดังจะเห็นได้จากเรื่องของนิทานอีสป

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องดูแต่ความเจนจัดของฝีมือและมุมมองของคนที่จะทำละครเด็กนั่นแหละ ว่าจะทำอย่างมาแล้วเวิร์คหรือเหลวเป๋วกันแน่

และสำหรับผม “วาวา The Rice Child” จากพระจันทร์เสี้ยวการละคร เป็นละครหุ่นสายที่เลือกเส้นทางในการพูดเรื่องของ “เด็ก” ให้ “เด็กและผู้ใหญ่” ฟังได้อย่างลงตัว ทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่สวยงามและน่าประทับใจชนิดเกินความคาดหมาย!!!

เรื่องราวของ วาวา The Rice Child นั้นเดินเป็นเส้นตรง ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย เริ่มตั้งแต่เด็กหญิงวาวาที่เป็นเด็กต่างถิ่นมาในโรงเรียนชาวไทย จนโดน “ข้าว” เด็กชายชาวไทยรังแกบนปมของการ “ไม่ได้เป็นคนไทย” จนทำให้วาวากลายเป็นเด็กที่โดนกลั่นแกล้ง และแปลกแยกจากคนอื่น ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งข้าวได้เรียนรู้ว่าไม่มีใครสนุกกับการถูกกลั่นแกล้ง จนทำให้เขาเดินกลับไปขอโทษวาวาและได้สร้างสัมพันธ์ของ “เพื่อน” ขึ้นมาใหม่บนรอยยิ้มของเด็กทุกคน

จากเนื้อเรื่องง่าย ๆ นี้ทำให้แก่นของเรื่องที่ว่าถ้าเรามองข้ามความแตกต่างและมองเข้าไปในใจของคนแต่ละคน เราจะสามารถเป็นมิตรได้กับทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ นั้นชัดเจนอย่างง่ายดาย แถมเสริมด้วยวิธีการใช้เพลงเป็นองค์ประกอบในการเล่าแก่นนี้เพื่อจะสามารถจูงใจผู้ชมได้อย่างประทับใจ

อันที่จริง กลวิธีต่าง ๆ ที่ใช้ในละครหุ่นเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่เรารู้กันดีว่าจะสามารถดึงดูดและเข้าถึงเด็กได้ ตั้งแต่การใช้หุ่นสาย การใช้ดนตรี และเพลง หรือแม้กระทั่งการฉายกภาพของการ “วาดทราย” เพื่อสร้างภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับเด็ก แลพก็ไม่แปลกอีกนั่นแหละที่เด็ก ๆ จะชอบและจ้องเขม็งจนสมาธิดีกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งต้องของชมทีมงานและผู้กำกับการแสดง “สินีนาฏ เกียรติประไพ” ที่เลือกนำสื่อผสมต่าง ๆ มารวมกันบนพื้นฐานที่เข้าใจพฤติกรรมและจิตวิทยาในการสื่อสารกับเด็ก ได้อย่างลงตัว

แต่ไม่ใช่ว่าการสร้างความตื่นตาตื่นใจจะเพียงพอกับการทำละครเด็กให้สมบูรณ์ได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าคือการลงรายละเอียดของแต่ละจังหวะในการแสดง ซึ่งละครเรื่องนี้ทำได้อย่างดียิ่ง ตั้งแต่การเชิดหุ่นให้ใกล้เคียงกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีจังหวะของการคิด การตรึกตรองก่อนที่จะลงมือกระทำอะไร รวมไปถึง Reaction ที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง ในขณะเดียวกัน แม้หุ่นเชิด (รวมทั้งคนเชิด) จะไม่ได้มีบทพูดเยอะ แต่ก็อาศัยตัวท่าทางที่ละเอียดอ่อนของหุ่นในการสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างสวยงาม (ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับคณะหุ่น “แกะดำดำ” ที่ออกแบบหุ่นดังกล่าวด้วย) นอกจากนี้แล้ว สื่อผสมอื่น ๆ อย่างจอฉายภาพแผ่นใส หรือเทคนิควาดทรายก็เป็นส่วนผสมที่ “เลือก” มาแทนบทสนทนาหรือการบรรยายได้อย่างดี

ที่ผู้เขียนชื่นชอบมากเป็นพิเศษสำหรับโปรดักชั่นละครเรื่องนี้คือการอาศัยสิ่งที่ทำอะไรอย่างง่าย ๆ และไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่สามารถสร้างความประทับใจได้ด้วยกลวิธีผสมผสานและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะถ้าใครที่เข้าไปดูละครเรื่องนี้ใน Crescent Moon Space แล้วอาจจะคิดได้ว่าเป็นงานละครเด็กที่ “บ้าน ๆ” และ “กันเอง” มากเสียเหลือเกิน ตั้งแต่ดนตรีสดจากคีย์บอร์ด หรือการฉายสไลด์ภาพด้วย “เครื่องปิ้งแผ่นใส” ที่เราคุ้นเคย และถ้าใครเหลือบมองก็จะเห็นว่าวิธีทำ animation ของแผ่นใสดังกล่าวนั้น “ซื่อ” เกินบรรยายเลยจริง ๆ

แต่ถ้าถามว่าส่วนไหนที่ผู้เขียนจะรู้สึกตะขิดตะขวงอยู่บ้าง คือ “ทำนอง” ของละครทั้งเรื่องที่เหมือนจะชะงักตรงกลาง ๆ เรื่องที่ดูยังขาดหายไปหลังจากโหมโรงอย่างตื่นตาตื่นใจในตอนต้นเรื่อง ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าต้องการความเงียบในจังหวะที่ต้องการสื่อสารเรื่องความเศร้าและความเดียวดาย แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีกลวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยทดแทนและหล่อเลี้ยง “อารมณ์” ของเรื่องให้ต่อเนื่องและบันเทิงเริงใจได้อยู่ตลอดเวลา (ซึ่งจะเห็นความเจนจัดเรื่องนี้มากในบรรดาการ์ตูนเด็กของญี่ปุ่น)

อย่างไรซะ วาวา The Rice Child ถือเป็นละครเด็กที่ดีเอามาก ๆ และสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างง่าย ๆ มีเนื้อหาที่สื่อสารอย่างตรงตัวแต่แยบคายด้วยกลวิธีที่ร้อยเรียงมันออกมา เป็นสื่อที่ไร้สารพิษสำหรับเด็ก และเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ใหญ่ที่คิดจะไปทำ Detox ด้านจิตใจกันเสียบ้าง


see more:
http://www.barkandbite.net/2010/10/thericechild/



No comments: