welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday, 25 December 2008

Summary of Crescent Moon Space 2008



Theatre & Art Activities of Crescent Moon Space 2008

รวม
เสนอละครเวที 12 เรื่อง
รวมจำนวน 120 รอบการแสดง
จัดอบรม 1 ครั้ง
จัดเสวนาและฉายภาพยนตร์สั้น 1 ครั้ง



Summary
Theatre 12 Porductions
Total 120 shows
Workshop 1

Semenar 1


มกราคม / January


- ละครเรื่อง “ดอกไม้ในแสงแดด” เขียนบทและกำกับโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่
(จำนวน 8 รอบ)
- "Sunflower" written and directed by Nophan Boonyai
(Total 8 shows)





กุมภาพันธ์ / Febuary


- ละครเรื่อง “ที่รักของกัน” ของกลุ่มออนบ๊อกซ์ กำกับโดย สายฟ้า ตันธนา
(จำนวน 5 รอบ)
- "I Love You, Guy" by On Box Theatre directed by Saipha Tanthana
(Total 5 shows)








มีนาคม/ March

- ละครเรื่อง “หยดเลือดที่เหือดหาย: ความรัก ความร้าง ความช้ำ และน้ำตา”แปลจากบทละครเรื่อง Hunger ของ Hope McIntyre ของ กลุ่ม Peace in Thailand ร่วมกับ ชมรมละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับโดย วิศรุต ช่วยเพชร
(จำนวน 6 รอบ)
- "Hunger" written by Hope McIntyre organized by Peace in Thailand and Chula Drama Club directed by Visarut Chautpech
(Total 6 shows)


เมษายน / April


- ละครเรื่อง “Welcome to Nothing” เขียนบทและกำกับโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่
(จำนวน 10 รอบ)
- "Welcome to Nothing" written and directed by Nophan Boonyai
(Total 10 shows)


พฤษภาคม / May





- ละครเรื่อง “ผ่าผิวน้ำ” ดัดแปลงจาก Biography a Game ของ Max Frisch ของ New Theatre Society” ดัดแปลงบทและกำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
(จำนวน 12 รอบ)

- "Biography a Game" by Max Frisch was adapted and directed by Damkoeng Thitapiyasak of New Thetare Society
(Total 12 shows)






- ละครเรื่อง “The Mind Game” ของกลุ่มบางกอกทรูปเปอร์ กำกับโดย ปนทัต โพธิเวชกุล (จำนวน 5 รอบ)
- "The Mind Game" organized by Bangkok Troupers directed by Pannatat Bhodivejkul
(Total 5 shows)




มิถุนายน / June


- ละครเรื่อง “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์” ของกลุ่มบีฟลอร์ กำกับโดย ธีรวัฒน์ มุลวิไล และ จารุนันท์ พันธชาติ
(จำนวน 10 รอบ)
- Physical theatre "The Room no.O" by B Floor Theatre directed by Theerawat Mulvilai and Jarunun Phantachat
(Total 10 shows)





- ละครเรื่อง “รักบังตา” ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร เขียนบทโดย กวินธร แสงสาคร และ สินีนาฏ เกษประไพ กำกับโดย กวินธร แสงสาคร
(จำนวน 10 รอบ)
- "Invisible Love" by Crescent Moon Theatre written by Kavinthorn Saengsakorn and Sineenadh Keitprapai directed by Kavinthorn Saengsakorn
(Total 10 shows)


กรกฎาคม / July

- อบรมการออกแบบแสงละครเวที จัดโดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร สอนโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ
- Crescent Moon Theatre oeganized Lighting Design Workshop by Tawit Keitprapai




- ละครเรื่อง “คอย ก.ด.” ของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ร่วมกับ New Theatre Society กำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
(จำนวน 12 รอบ)
- "Waiting for G.D." an adated from Waiting for GoDo by Samuel Becket a collaborated work by Crescent Moon Theatre and New Theatre Society adapted and directed by Damkoeng Thitapiyasak
(Total 12 shows)





สิงหาคม / August



- ละครใบ้ “Little Mime Project” โดย GTH เกลือ ทา เห่า
(จำนวน 13 รอบ)
- "Little Mime Project" by G T H
(Total 13 shows)







- ละครเวทีเรื่อง “ฝากหัวใจไว้ที่อุบล” เขียนบทและกำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่
(จำนวน 11 รอบ)
- "The Advanture of Captan Dan" written and directed by Nophan Boonyai
(Total 11 shows)







กันยายน / September
- (ไม่มี) / (none)


ตุลาคม / October


- ละครเวทีเรื่อง “หยดน้ำตาในทะเล” โดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร จากแรงบันดาลใจจากบทกวี ทะเลรุ่มร้อน บทประพันธ์ ของ วารี วายุ ร่วมแสดงในงานเทศกาลศิลปะนานาพันธ์ กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ
(จำนวน 8 รอบ)
- "Sea beside" a movenet-based inspiration from poem of Varee Vayu participated in Silapa Nanaphan Arts Festival directed by Sineenadh Keitprapai
(Total 8 shows)


พฤศจิกายน / November



- ละครเวทีเรื่อง “ดอกไม้ในแสงแดด” เขียนบทและกำกับการแสดงโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่ ร่วมแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2551
(จำนวน 4 รอบ)
- "Sun Flower" written and directed by Nophan Boonyai participated in Bangkok Theatre Festival 2008
(Total 4 shows)


ธันวาคม / December



- ละครเวทีเรื่อง “ดอกไม้ในแสงแดด” เขียนบทและกำกับการแสดงโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่ ร่วมแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2551
(จำนวน 6 รอบ)
- "Sun Flower" written and directed by Nophan Boonyai participated in Bangkok Theatre Festival 2008
(Total 6 shows)



- เสวนาและฉายภาพยนตร์สั้น โดย อาจารย์และนักศึกษาจากรายวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- Short Film talk & show by Bangkok University

Friday, 5 December 2008

อีก 3 รอบ เท่านั้น

Sunflower – ดอกไม้ในแสงแดด

เขียนบท/กำกับโดย นพพันธ์

แสดงที่ Crescentmoon space
สถาบัน ปรีดี พนมยงค์สุขุมวิท55 ซอยทองหล่อ

ยังเหลืออีก 3 รอบ
5 – 7 Dec
รอบแสดง วันศุกร์ 19.30 / เสาร์ อาทิตย์ 14.30

ราคาบัตร 300 นักศึกษา 250

จองบัตร 083238519 / 0868141676

Sunday, 30 November 2008

ดอกไม้ เพิ่มรอบ ด่วน


สวัสดีอีกครั้งครับ ผมอยากฝากข่าวนิดหน่อย นั่นก็คือ ดอกไม้ในแสงแดดจะเพิ่มรอบนะครับ วันอาทิตย์นี้ (วันนี้เนี้ยแหละ) ตอนรอบ ทุ่มครึ่ง นะรอบพิเศษ ราคาพิเศษ ติดต่อด่วนถ้าอยากจองนะ
โทร 0868141676
สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิทห้าสิบห้า ซอยทองหล่อ crescentmoon space
จาก อ้น นพพันธุ์ บุญใหญ่

Tuesday, 18 November 2008

Talk Behind the Scene with Sun Flower(again)

กลับมาอีกครั้งกับ "ดอกไม้ในแสงแดด" เลยเอาบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและนักแสดงที่เคยลงไว้เมื่อคราวเปิดแสดงครั้งแรกในเดือนมกราคมมาให้อ่านกันอีกครั้ง

อยากจะแนะนำให้รู้จักกับนักการละครที่กำลังสร้างงานมาแสดงที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เพื่อเป็นการทำความรู้จัก รู้ที่มาที่ไปในห้วงเวลาตอนที่เขาสร้างงาน อาจจะเป็นการเตือนความจำ และอาจจะเป็นการบันทึกถึงงานและคนสร้างงานที่เวียนกันเข้ามาเล่าเรื่องทำละครให้เราได้ดู อยากให้ที่นี่เป็นที่ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าสู่กันฟัง ทำความรู้จัก หรือเรียนรู้กันผ่านงานละครเวทีที่เรารัก
ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เปิดฉากอย่างคึกคักด้วยละคร ดอกไม้ในแสงแดด ละครเวทีเรื่องแรกของปีนี้ที่ของคนเขียนบทและผู้กำกับหน้าใหม่ ชื่อ นพพันธ์ บุญใหญ่ ซึ่งใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าชื่อ อ้น ใครหลายคนก็อาจจะร้องอ๋อ แต่สำหรับทั้งคนที่รู้จักเขาหรือไม่รู้จักเขา ก็ลองมาทำความรู้จักเขามากขึ้นในแง่มุมละครผ่านการพูดคุยกับเขาก่อนการแสดงรอบแรกรอบสื่อเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

นาด: เข้ามาเกี่ยวข้องกับละครเวทีได้ยังไง
อ้น: (หัวเราะ) เมื่อประมาณสองปีที่แล้วโน่น ก็วันหนึ่ง ตอนนั้นผมพักอยู่แถวๆสะพานควาย แล้วเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ท้ายซอยนี่มีมะขามป้อมอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามะขามป้อมคืออะไร เขาบอกว่า เป็นกลุ่มละครเวที ละครชุมชน แล้ววันหนึ่งผมก็ตัดสินใจเดินไปที่มะขามป้อม ไปประตู ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเปิดรับ เขาถามว่ามาทำอะไร ผมก็บอกเขาว่า มีอะไรให้ผมทำมั๊ยครับ (หัวเราะ) ผมชอบละคร ผมชอบการแสดง มีอะไรให้ผมทำมั๊ย แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินสวนมา เขาก็กระซิบกับผู้หญิงคนนั้นว่า เอามันไปใส่ในงานศรีบูรพา แล้วผมมารู้ทีหลังว่าผู้หญิงคนนั้นชื่อ ตา และผู้ชายคนนั้นก็ชื่อ พี่ตั้ว(ประดิษฐ ประสาททอง) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมกับอาสาสมัครมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับวันเด็ก ซ้อมเชิดหุ่นกับซ้อมละคร ก็ไปร่วมทำ แต่ไม่ได้เล่น เพราะตอนเขาเล่นผมก็ไปอังกฤษแทน ดู ดูมันทำ แล้วจะทำไปทำไมไม่รู้


นาด: ตอนนั้นเป็นเพราะอ้นถามเพื่อนเกี่ยวกับละครหรือเพราะเพื่อนรู้ว่าอ้นชอบละครอยู่แล้ว
อ้น: เพื่อนรู้ แล้วเพื่อนบอก ตอนนั้นช่วงเดือนสองเดือน ก็ไปมะขามป้อมทุกวัน แล้วพี่ตั้วก็ชวนมาเป็นพิธีกรในเทศกาลละครกรุงเทพ แล้วก็ได้ไปดูงานของพี่กั๊ก (วรรณศักดิ์ ศิริหล้า) ที่ชื่อว่า Thank You ตอนนั้นเขาโซโล่ที่ Alliance Francaise ตอนนั้นก็ยังไม่เก็ทงานเค้าหรอก ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับละครซักเท่าไหร่ แล้ววันหนึ่งก็ไปดูหนังที่สกาล่าแล้วก็เห็นพี่กั๊กนั่งโดดเดี่ยวอยู่ที่เก้าอี้หน้าโรงหนัง ผมจำเขาได้ ก็เลยเข้าไปหาเขา บอกเขาว่า ผมชอบการแสดง ผมเป็นนักแสดง ถ้าพี่มีโปรเจคอะไร หรือถ้าพี่ขาดนักแสดงเรียกผมนะ เขาก็งงๆ เขาก็มองหน้าผมแบบงงๆ แล้วก็เจอเขาอีกบนรถไฟฟ้า เออ ก็แปลกดี ก็บอกเขาอีก เขาก็เลยจับไปเล่นเรื่อง ราโชมอน All Men Cast เล่นกับพี่โมทย์ และน้องชื่อคม นั่นเป็นงานละครชิ้นแรกกับพี่กั๊กในเทศกาลละคร


นาด: แล้วงานศรีบูรพา นี่เล่นทีหลังเหรอ
อ้น: ใช่ๆ มาทีหลัง นานเลย ตอนที่เล่นละครครั้งแรกก็ สนุกดี แต่ไม่รู้อะไรเท่าไหร่ ไม่รู้เทคนิค ไม่รู้การโคลสอัพ ซูมอิน สเตจมูฟเม้นท์ การเล่นให้คนดู การโปรเจคเสียง ไม่รู้อะไรซักอย่าง พอมองย้อนหลังไปแล้วรู้สึกแย่ นึกถึงภาพตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองเล่นอะไรเนี่ย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แล้วหลังจากนั้นมา ก็มาเล่นบีเฟส
นาด: ตอนนั้นมาบีเฟสได้ยังไง (B FEST คือ Workshop-Showcase จัดโดยกลุ่มละคร B Floor ปี 2549 - นาด)
อ้น: ตอนนั้นเพื่อนบอกเพื่อนชวนมา

นาด: ได้ยินอะไรเกี่ยวกับ B FEST มาก่อนบ้าง
อ้น: ก็ได้ยินมามาว่าเป็นเวริ์คชอป ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง Physical ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ก็เลยลองเข้ามาดู มาเวริ์คชอป แล้วประทับใจมาก มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องพูดน่ะ แต่แบบ ลองทำดูแล้วมันจะรู้ว่า เราได้คอลิตี้อะไรบ้างจากความรู้สึกจากร่างกายเรา มันพูดได้ง่ายกว่าคำพูดทางภาษา แล้วตอนที่ทำเวริ์คชอปอยู่เนี่ย ผมรู้สึกว่า มันคล่องตัวมาก มันใกล้ตัวมาก เลยรู้สึกว่า เราชอบแบบนี้ เราถนัดแบบนี้ ก็เลยอินมาก ชอบมาก


นาด: ถ้าถามว่าวันนี้อ้นชอบละครเวทีเพราะอะไร หรือชอบแนวไหน
อ้น: ตอนนี้ยังเริ่มต้นอยู่เพิ่งเริ่มต้นที่จะทำเอง ผมคงไม่สามารถทำละครแบบดั้งเดิม แบบกรีก หรือแบบเชคสเปียร์อะไรอย่างนั้นได้ ผมไม่รู้เรื่อง แต่ผมรู้ว่า อยากให้คนดูดูอะไร อยากให้คนดูรู้สึกอะไร ผมรู้ อยากให้เห็นภาพแบบไหน ผมสนใจสภาพแวดล้อมที่คนไม่ใส่ใจ แล้วเรานำมันมาเสนอ ในมุมมองของผม ผมว่ามันน่าสนใจ บางทีมันเป็นเวลาของเราที่จะเล่าเรื่องได้แล้ว ใช่ไหมฮะ บางทีคนเราก็มีเรื่องอยากจะเล่า ผ่านมุมของเรา ทุกคนก็อยากจะเล่าเรื่องของตัวเอง
นาด: รู้ได้ยังไงว่าถึงเวลาที่จะเล่าแล้ว
อ้น: มันมีอะไรสักอย่างขับดันอยู่ข้างใน ที่มันบอกว่า นายมีอะไรที่จะบอก แล้วนายก็มีวิธีที่จะบอกด้วย คือเมื่อก่อนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่ตอนนี้ได้เล่นละครกับพี่ ได้ดูดวิชามา ก็ดี นี่พอกลับไปเมืองนอกอีก ที่อังกฤษน่ะ ผมก็ไปเรียน ไปเวริ์คชอป มันแบบ มันเข้าทางได้ง่ายมากเลย แบบว่าเรารู้มาแล้วไง ทำแบบนี้ก็ได้แล้ว วอร์มอัพก็แบบนี้ ก็ได้แล้ว เขาไปเรียน เชคอฟ ไปเรียนนู่นเรียนนี่ มันก็เข้าใจได้ง่ายมากเลย เพราะเรารู้แล้วไง เราต้องการให้เขาโยนวิชาขั้นอื่นมาให้เรา เพราะขั้นนี้เรารู้แล้วไง อืม..ก็สนุกดีนาด ที่ไปเวริ์คชอปมานี่ เรียกว่าอะไร เกี่ยวกับอะไรอ้น มันหลายอันมากเลย ผมไปเข้าเวริ์คชอปตั้ง 20 กว่า คอร์ส ก็เยอะ ก็บางอันก็แบบธรรมดา บางอันก็เจอมาแล้ว แต่โดยรวมมันๆ มันได้เห็นความคิดของคนอื่น คนทำละคร ผู้กำกับ นักแสดงที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาก็เปิดทัศนคติเรากว้างขึ้น


นาด: ก่อนหน้านั้นอ้นอยู่อังกฤษ ทำอะไรอยู่ที่นั่น เรียนอะไร
อ้น: ผมเรียนกราฟฟิคดีไซด์ฮะ ก็งั้นๆ ก็อยู่หน้าจอทั้งวันทั้งคืนน่ะฮะ กราฟฟิคดีไซด์ เออ..แต่พอมาเล่น มาดู มาลง B FEST เนี่ย ผมเห็นว่ามันใกล้กับการทำกราฟฟิคมากเลย องค์ประกอบสเปซ ไซด์ อะไรอย่างนี้ จะเอาอะไรวางตรงไหน อะไรมันจะลงตัว ลองจัดแบบโล่งๆ หรือรกๆ มันได้หมดเลย ถ้าเกิดมันลงตัวแล้วมันดูแล้วมันโอเค สิ่งที่กราฟฟิคเล่นไม่ได้ คือ ความรู้สึกมั้งฮะ ความรู้สึก สัมผัส เขาเรียกว่าอะไรล่ะ เวลา ห้วงเวลา นี่ มัน real กว่าไง

นาด: แล้วรู้สึกยังไงกับการกำกับครั้งแรก
อ้น: กำกับครั้งแรกหรือฮะ ก็จริงๆแล้วก็เคยกำกับหนังสั้นมาก่อน แล้วก็มั่ว พูดจาไม่รู้เรื่อง นักแสดงก็ไม่รู้เรื่อง นาด ทำหนังสั้นกี่เรื่อง เรื่องอะไรบ้างอ้น ทำ 3 เรื่อง ก็มีเรื่อง Almost a Love Story แล้วก็ Spook และก็เรื่อง ประเทศกูหายไปไหน


นาด: ตอนนั้นทำในวาระอะไร ฉายที่ไหน
อ้น: ก็ทำส่งประกวดบ้าง ส่งเพื่อโครงการ FTA กับมันตา เกี่ยวกับศิลปะอะไรหลายๆอย่าง ผมเลือกทำหนังสั้น ถ่ายไปทำไปก็ไม่ได้ฉาย เพราะมีปัญหาทางเทคนิค ก็เลยเอาการแสดงสดไปแสดงแทน แต่พอมากำกับเรื่องนี้จริงก็ กำกับละครเวทีครั้งแรก ยังไงดีล่ะ บางทีอยากได้อะไรบางอย่าง บางทีในหัวของเรามันมีภาพบางอย่าง แต่การสื่อสารของเรามันขัดข้องไง ที่จะอธิบายให้นักแสดงได้รับรู้ว่าเราต้องการภาพแบบไหน แต่ผมก็มีวิธีที่จะได้ภาพแบบนั้นออกมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับนักแสดงด้วยว่า เขาเห็นด้วยหรือเปล่า เมื่อก่อนเราเคยเป็นนักแสดงมาก่อน ทำงานกับผู้กำกับบางคน เราไม่เห็นด้วยกับเขาไง เราก็จะเกิดคอนฟลิค แบบเราก็ทำไป แต่เราไม่เกิดแรงขับจริงๆ เพราะว่าเราอยากจะทำอะไรที่เราคิดเราเชื่ออยู่ไง พอตอนนี้มาเป็นผู้กำกับ ผมก็ไม่อยากจะคิดแบบนั้น กำกับแบบนั้น ว่าฉันต้องการอย่างนี้ ต้องทำอย่าง ไม่ ผมไม่อยากจะทำแบบนั้น ผมแค่อยากให้เขารู้สึกในตอนนั้นมากกว่าจะไปบังคับเขา ก่อนที่คนดูจะรู้สึกอะไรได้จากการดูละคร นักแสดงต้องรู้สึกก่อน มันไม่ดีที่จะวางว่าฉากนี้ฉันต้องรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นการห่อของขวัญแล้วยื่นให้คน ซึ่งคนดู ก็อ้าวฉันจะมาดูทำไมล่ะ ถ้าเกิดเธอมาใช้อารมณ์รู้สึกทุกอย่างแทนแล้ว มันก็ไม่มีอะไรให้ค้นหา เพราะฉะนั้นนักแสดงต้องรู้สึกจริงๆ ถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ต้องเล่น ถ้ามันกระตุ้นก็กระตุ้น ไม่ต้องมาเสแสร้งให้มันกระตุ้นขึ้นมา ไม่งั้นคนดูก็จับได้ว่าพวกนายเสแสร้งเล่นกัน มันเป็นเส้นบางๆระหว่างเสแสร้งกับแอคติ้งนะฮะ มันมาจากเรารู้สึกยังไงกับโมเม้นท์นั้น มันต้องอยู่ทุกโมเม้นท์เลย เพราะฉะนั้นจะทำยังไงจะอยู่ได้ทุกโมเม้นท์ ต้องหยุดคิดถึงตัวเองเลย หยุดคิดสิ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองเลย หยุดคิดยังไง ก็คือ เอาสมาธิทุกอย่างไปอยู่กับเพื่อนที่แสดงด้วย อยู่ที่เขา มองที่เขา อ่านเขาว่าเขากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ แล้วเวลาที่เขาพูดกับเราเนี่ย แล้วเรารู้สึกยังไงกับที่เขาพูด แล้วเราก็เล่นไปกับอารมณ์นั้น ซึ่งถ้าเกิดฝึกบ่อยๆมันจะคมมาก มันจะมาเร็วมากแต่ถ้าเฮ้ย.. มันไม่ได้ เพราะถ้าคุณไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันต้องฝึกบ่อยๆ ไม่ใช่แค่มาท่องบทบ่อยๆ มันมีแบบฝึกหัดอันหนึ่งที่เราทำกัน เมื่อทำแล้วมันช่วยให้เราอ่านกันดีขึ้น พอไม่ทำ มันเหมือนโดนตัด ไม่มีคอนเนคชั่นกัน แต่พอทำแบบฝึกหัด ผมสังเกตว่า มันเปิดอะไรข้างในตัวเขา ซึ่งเมื่อก่อนผมก็เป็นนะ คิดถึงแต่ตัวเองตอนเล่น ฉันน่าจะเล่นอย่างนี้ มันเรียกว่า เล่นเพื่อเอาผลลัพธ์ บางทีเราเล่นแบบตั้งโจทย์ไว้ว่าฉันจะต้องไปให้ถึงพีคนี้ให้ได้ ฉันจะเล่นอย่างนี้ ผมเห็นว่ามันทรมานตัวเองไป ถ้าเล่นไม่ได้ก็เสียใจ ก็เครียด ปวดหัว เพราะว่าตั้งโจทย์ให้ตัวเองเล่น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในชีวิตจริง คุณก็ไม่ใช่คนคนนั้น เช่น ความโกรธ มันมาจากไหนล่ะ จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ โกรธ ฉันโกรธ แต่คุณโกรธเรื่องอะไรกันแน่ มันต้องมีแรงขับส่วนตัวใช่ไหมล่ะ ถ้าเกิดต้องเข้ามาฉากนี้ ต้องโกรธคนนี้ แต่คนนี้ยังไม่ได้ส่งอะไรมาเลย แล้วอยู่ดีๆก็โกรธเขา เออ เขาทำอะไรให้โกรธหรือ ทำไมถึงโกรธ มันต้องรู้สึกจริงๆจากข้างใน แบบฝึกหัดที่เราทำกันก็จะเน้นเรื่องการฝึกกล้ามเนื้อตรงนี้นาด ฝึกกล้ามเนื้อทางอารมณ์ว่างั้นเถอะอ้น กล้ามเนื้อทางอารมณ์ จับให้มันมั่นๆ แล้วก็ใช้มันคมๆ


นาด: อยากถามเรื่องบทนิดหนึ่ง เรื่องนี้บทมาก่อนใช่ไหม คือเขียนบทก่อน แล้วเริ่มซ้อมกับนักแสดงยังไง คุยอะไรกับนักแสดง
อ้น: ตอนแรกเลยก็เวริ์คชอปก่อน แล้วก็คุยกันเรื่องปัญหาของการแสดง แล้วค่อยให้บท อ่านทีเดียวก่อน แล้วค่อยให้มาอ่านด้วยกันอีกที โดยหันหน้ามองเพื่อนที่เล่นด้วย แต่ไม่ต้องสนใจเรื่องบทว่าต้องถูกต้องตรงเป๊ะๆ คือ อ่านไม่ต่อเนื่องไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือ ต้องฟัง ฟังว่าแต่ละประโยคทำให้เรารู้สึกยังไง แล้วซ้อมไปซักพักก็มีปรับบทบ้าง

นาด: แล้วตอนเริ่มลงซีน ทำยังไง ลง Blocking ก่อนไหม ทำยังไง
อ้น: จำไม่ได้ มันคงหลายๆทางมั้ง บางทีก็ให้คนนี้เป็นตัวนี้ตัวนั้น บางทีก็สลับกัน มันก็ลองไปเรื่อง มันช่วยเรื่องมุมมอง

นาด: หมายถึงใช้เน้นใช้กระบวนการค้นหาใช่ไหม
อ้น: อื้ม แล้ว Blocking มาทีหลัง

นาด: วางแผนไว้หรือเปล่า ว่าจะมีงานกำกับอีกเมื่อไหร่
อ้น: หลังจากเดือนนี้ ก็จะเริ่มอีกเรื่อง มันเป็นบทเรื่องแรกที่ผมเขียนไว้ แต่มันเขียนตามใจตัวเองมากเลย

นาด: หมายถึงเขียนไว้ก่อนเรื่อง ดอกไม้ในแสงแดด
อ้น: ใช่ฮะ เรื่องนี้ ดอกไม้ในแสงแดด อยู่ดีๆมันก็พุ่งขึ้นมาเฉยเลยฮะ แล้วผมรู้สึกว่ามันทำได้ มันไม่ยาก มันใกล้ตัว มันทำได้นาด อยากรู้ตอนมันพุ่งมา นี่น่ะ มันยังไง มาได้ยังไงอ้น ครั้งหนึ่ง ไปกินข้าวกับบอลกับกอล์ฟ (นักแสดงอีก 2 คน ในเรื่อง) หลังจากซ้อมละคร ความฝันกลางเดือนหนาว (ละครของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ปี 2549) แล้วก็หมดเบียร์ไป 9 ชวด แล้วชอบบรรยากาศคืนนั้นมาก


าด ยังไง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
อ้น ตอนนั้มันเป็นช่วง ที่ผมอยู่คนเดียว กอล์ฟก็เพิ่งเริ่มงานใหม่ บอลก็เบื่อๆบ่นๆกับงานเก่า แฟนก็อยู่ต่างประเทศเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างเป็นอย่างงี้ นายก็อยู่ห่างแฟน เราก็อยู่ห่างแฟน กอล์ฟไม่มีแฟน แต่เพิ่งเริ่มงานใหม่ คือตอนนั้นก็ไม่เป็นแบบตอนนี้นะ ตอนนี้แต่ละคนเปลี่ยนไปหมดแล้ว ซึ่งผมเห็นได้ แล้วเราก็พูดเรื่องคนที่เราต้องเจอ พูดเรื่อง แฟน เรื่องชีวิต เรื่องการแสดง หลายเรื่อง แล้วก็จะมีแคแรคเตอร์เข้ามาในฉากหลายคน อย่าง มีผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นช่างภาพที่รู้จักกันก็พาสาวมาอวดสองคน แล้วก็มาชวนคุยแบบข้ารู้ทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้นก็คิดเป็นหนังสั้น ได้เป็นช็อตๆ แต่ไม่เต็มเรื่อง แล้วเมื่อสองเดือนที่แล้ว กำลังจะออกจากบ้าน แล้วเปิดเพลง บีทเทิล เพลงนึงไว้ แล้วก็เห็นตอนเริ่มต้นของเรื่อง แล้วก็เห็นตอนจบของเรื่อง ก็หยุดเลยไม่ไปไหน เขียนเลย สามวันผ่านไปก็ได้ร่างแรก ก็โทรหาเพื่อน ว่าจะทำ ไม่รู้ว่าบ้ารึเปล่า

นาด: มีอะไรจะบอกเราอีกไหม
อ้น: ก็ละครเรื่องหน้าก็จะแปลกมากเลยฮะ ผมจะเรียกมันว่า Welcome to Nothing ซึ่งจะมีนักแสดง 3 คนเหมือนกัน จะเป็นแบบ Absurd ครับ

อ่านบทสัมภาษณ์นักแสดงได่ต่อที่นี่

http://crescentmoonspace.blogspot.com/2008/01/talk-behind-scene-sun-flower.html







Monday, 17 November 2008

Crescent moon Space




ละครโรงเล็ก Crescent Moon Sapce เป็นอีกหนึ่งโรงละครที่เข้าร่วมในงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2008 "Theatre Spark Life"


Crescent Moon Space

โรงละคร Crescent Moon Space เดิมเคยเป็นห้องสำนักงานของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งได้การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่นี้จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันปรับปรุงเป็นโรงละครโรงเล็ก Crescent Moon Space ตั้งแต่ปี 2550 ใช้เป็นที่ซ้อม ที่ประชุม ที่จัดทำอุปกรณ์ เป็นที่แสดงผลงานละครเวทีและงานศิลปะอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถจุผู้ชมประมาณ 30-40 ที่นั่ง
เหมาะสำหรับการแสดงขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์และฉากน้อย เน้นให้นักแสดงกับผู้ชมนั้นอยู่ในระยะใกล้ชิด เพื่อเป็นพื้นที่ทางเลือกที่จะเชื่อมโยงผู้สร้างงานศิลปะการละครกับผู้ชม และเชื่อมโยงคนในสังคมให้มีพื้นที่ปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้โดยผ่านงานด้านศิลปะและการละคร ขณะนี้ได้จัดแสดงละครไปแล้วกว่า 19 เรื่อง รวม 129 รอบ

Crescent Moon Space จะจัดแสดงละครในงานเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ได้แก่ เรื่อง “Sun Flower: ดอกไม้ในแสงแดด” กำกับโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่ จัดแสดงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน และ 4-7 ธันวาคมนี้ วันธรรมดา รอบเวลา 19.30 น. และ เสาร์-อาทิตย์ รอบเวลา 14.00 น.


Crescent Moon Space ตั้งอยู่ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ชั้น 1 ด้านหลังแท่นหินสีดำ ตรงลานน้ำพุ สถานที่รถไฟฟ้าทองหล่อ ทางออก 3 รถประจำทางสายที่ผ่าน ได้แก่ 2, 25, 38, 40, 48, 98, ปอ.25, ปอ.508, ปอ.501 และ ปอ.513

ติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์
และ

Sunday, 2 November 2008

Sunflower


ดอกทานตะวันหันตามแสง
คนวิ่งหาความรักและความอบอุ่น


ผู้ชายที่ชื่อ ธวัญ นั่งรับรังสีจากแสงจอคอม วันแล้ววันเล่า จนวันหนึ่งแฟนหายไป
ผู้หญิงที่ชื่อ อรนง กำลังมีความลับ - เธอไม่ใช่แฟน...เลยทำแทนไม่ได้
ผู้ชายที่ชื่อ นพ ดำรงชีวิตด้วยการสร้างเปลือกที่ดูดี


เส้นแบ่งเขตระหว่างความรัก ความหลง และความใคร่ – มันช่างบางเหลือเกิน


Sunflower – ดอกไม้ในแสงแดด

การกลับมาของดอกไม้ในแสงแดดละครเรื่องแรกของ นพพันธ์ บุญใหญ่ ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2008
“Theatre sparks life”


แสดงโดย
วรัญญู อินทรกำแหง / อรอนงค์ ไทยศรีวงค์ / นพพันธ์ บุญใหญ่

เขียนบท/กำกับโดย นพพันธ์

แสดงที่ Crescentmoon space สถาบัน ปรีดี พนมยงค์
สุขุมวิท55 ซอยทองหล่อ
วันแสดง 27 – 30 Nov, 4 – 7 Dec
รอบแสดง วันธรรมดา 19.30
เสาร์ อาทิตย์ 14.30 (เท่านั้น)


ราคาบัตร 300 นักศึกษา 250
จองบัตร 083238519 / 0868141676

มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ
With English subtitles

Saturday, 1 November 2008

ดอกไม้ในแสงแดด


ดอกไม้ในแสงแดดการกลับมาของ "ดอกไม้ในแสงแดด"

ละครเรื่องแรกของ นพพันธ์ บุญใหญ่ ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2008 “Theatre sparks life”

วันแสดง 27 – 30 พ.ย. และ 4 – 7 ธันวาคม 2551

รอบแสดง วันธรรมดา 19.30
เสาร์ อาทิตย์ 14.30
สอบถามและจองบัตรได้ที่
086 814 1676

Friday, 24 October 2008

Director's Note



สารจากผู้กำหนดทิศทาง “หยดน้ำตาในทะเล”

การแสดง “หยดน้ำตาในทะเล” ครั้งนี้ ร่วมแสดงในงานเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ซึ่งเป็นง่านแสดงผลงานศิลปะของหลายสาขาจากศิลปินหลายรุ่นในพื้นที่เดียวกัน และแกนของงานในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือการทำงานร่วมกันของสื่อต่างแขนง เราจึงเลือกหยิบวรรณกรรมบทกวี “ทะเลรุ่มร้อน” ของ วารี วายุ มาจุดประกายในการทำงานครั้งนี้ เพราะสนใจเรื่องแรงบันดาลใจที่กวีมีต่อเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวที่พบเห็นและกลั่นกรองเป็นบทกวีที่มีความหมายกึ่งฝันกึ่งจริง และจากตัวอักษรที่มีความหมายเหล่านั้นก็ส่งผ่านมายังเราคนทำงานใช้เป็นแรงบันดาลใจในการร่วมคิดร่วมค้นหาการเคลื่อนไหวผ่านการใช้ร่างกายของนักแสดงโดยใช้กลวิธีการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมค้นหาของกลุ่มนักแสดง การอ่านบทกวี การใช้ดนตรีประกอบ ภาพเคลื่อนไหว โดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล และการวาดเงาทรายโดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และ นพพันธ์ บุญใหญ่ มาช่วยสนับสนุนการสร้างภาพที่เคลื่อนไหวไปกับการแสดงให้มีความหมายและความสวยงาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลของการแสดงครั้งนี้มิได้มุ่งเน้นในการเล่าเรื่อง หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ดูแบบไม่เอาเรื่อง” แต่หากดูได้แบบเลื่อนไหลไปกับการแสดงที่ถูกตีความจากบทกวีให้กลายภาพเคลื่อนไหวที่ใช้พลังขับเคลื่อนของนักแสดง
การสร้างงานในแต่ละครั้งและแต่ละชิ้นมีที่มาที่ไปเหตุและผลที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของผลงานที่หลากหลายรูปแบบ น่าจะเป็นการเดินทางค้นหาของทั้งผู้ทำงานและผู้ชม
ขอขอบคุณผู้ชมที่มาชมและสนับสนุนงานศิลปะการละคร

สินีนาฏ เกษประไพ
ตุลาคม 2551

Wednesday, 22 October 2008

เกี่ยวกับหนังสือบทกวี "ทะเลรุ่มร้อน"

"ทะเลรุ่มร้อน" เป็นหนังสือรวมบทกวีหลังยุคแสวงหา จากนักเขียน ในชมรมพระจันทร์เสี้ยว ผลงานของผู้เขียน “นักฝันข้างถนน” นาม วารี วายุ “ทะเลรุ่มร้อน” (2527) ว่าด้วยชีวิตและการแสวงหาของกะลาสีเรือในทะเลนิรนาม ด้วยบรรยากาศกึ่งฝันกึ่งจริง เขียนด้วยภาษาที่เคลื่อนไหว มีชีวิต เร้าความรู้สึก และมีความหมายลึกซึ้งภายใน (ส่วนหนึ่งจากปกของหนังสือบทกวี “ทะเลรุ่มร้อน” โดย สำนักพิมพ์สามัญชน)

เกี่ยวกับผู้เขียน วารี วายุ

http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3362&Itemid=88

Tuesday, 21 October 2008

นักแสดงใน "หยดน้ำตาในทะเล"

บางส่วนจากสูจิบัตร เกี่ยวกับนักแสดงในงาน "หยดน้ำตาในทะเล" การเคลื่อนไหวจากบทกวี "ทะเลรุ่มร้อน"



ฟารีดา จิราพันธ์ (ฟา)

จบการศึกษาจากเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เริ่มเข้าวงการละครในสมัยยุครุ่งเรืองวัฒนธรรมแสงอรุณ จากนั้นเข้าร่วมเล่นละครตามคณะต่างๆ อาทิ “คือผู้อภิวัฒน์ 2475” และ “แอนติโกเน” โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร “กาลแห่เวลา” โดยคณะสมมุติ “ควอเต็ดหมายเลข8” กำกับโดย มัลลิกา ตั้งสงบ “Sex in the city” โดยคณะบางเพลย์ “โสมเกาหลี” กำกับและเขียนบทและนักแสดงในนามบางเพลย์ ร่วมเข้าอบรมโครงการลุ่มแม่น้ำโขงกับ PETA และผลิตผลงานเรื่อง “ไฟล้างบาป” ร่วมกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร บีฟอร์ และบางเพลย์ รวมทั้งแสดงนำใน”ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ” ของ New Theatre Society “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์” ของกลุ่มบีฟลอร์ และล่าสุดรับบท เชอรี่ ในเรื่อง “คอย ก.ด.” ผลงานของพระจันทร์เสี้ยวการละครร่วมกับ New Theatre Society



กีรติ ศิวะเกื้อ (โอ๊ค)

รักและชอบการแสดง ปัจจุบันเป็นสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร มีผลงานภาพยนตร์โฆษณาและภาพยนตร์ ผลงานด้านละครเวที ได้แก่ Guru Theater I ของกลุ่ม B-Floor), Guru Theater II ของ B-Floor, ประสาทแตก (อักษรจุฬา) , Welcome to nothing (กำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่) ,The Mind Game (กำกับโดยบัณฑิต โพธิเวชกุล) ,GTA Game ชีวิต (มะขามป้อม)




ภูมิฐาน ศรีนาค (ฐาน)

จบการศึกษาปริญญาตรีจาก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานละครเงากับพระจันทร์พเนจรฯ เช่น พระจันทร์อร่อยไหม ,เด็กชายเจ้าอารมณ์ , กระดึ๊บ ....กระดึ๊บ ,นิทานริมฝั่งโขง , ร่วมงานกับกลุ่มบีฟอร์ ในเรื่อง Fear Dynasty ร่วมงานกับพระจันทร์เสี้ยวการละครในเทศกาลผู้หญิงในดวงจันทร์ แสดงในเรื่อง แอนธิโกเน และเสียงกระซิบจากแม่น้ำ สร้างสรรค์และดูแลเทคนิคด้านภาพและเงาให้ละครเรื่อง คอย ก.ด. และล่าสุดรับบท แดง และกัปตันแดน ในเรื่อง “ฝากหัวใจไว่ที่อุบล” เขียนบทและกำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่



บูรณิจฉ์ ถิ่นจะนะ (ใหม่)

จบการศึกษาปริญญาตรีจาก ภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ร่วมงานกับพระจันทร์เสี้ยวการละครปี 2545 ทำหน้าที่ผู้กำกับเวที และควบคุมเสียง นอกจากนั้นยังร่วมงานกับกลุ่มละครอื่นๆ เช่น B-Floor , Baby mime ผลงานด้านการแสดง ได้แก่ ฝัน(ร้าย)กลางคืนฤดูร้อน, แอนธิโกเน ,ความฝันกลางเดือนหนาว ,หิ่งห้อย, เสียงกระซิบจากแม่น้ำ




ชัยวัฒน์ คำดี (กรุง)

จบการศึกษา ปวส.ช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ทำงานละครเวทีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง รวมทั้งทำงานละครหุ่น มีผลงานละครหุ่นเพื่อโภชนาการที่ อ.อุ้มผาง กับกลุ่มชายขอบ, แสดงละครหุ่นกับกลุ่มละครยายหุ่น, เริ่มทำงานละครกับพระจันทร์เสี้ยวการละครประมาณปี 2547 ร่วมแสดงบุโต ในเทศกาลบุโต ที่หอศิลป์ตาดู การแสดง Physical Theater ในเทศกาล B-fest กับกลุ่ม B Floor และ Red Cabbage จากออสเตรเลีย การแสดง Fear Dynasty กับกลุ่ม B-Floor , การแสดงเสียงกระซิบกับแม่น้ำของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร เป็นผู้กำกับเวทีในละครเพลงเรื่อง “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ไม่ขอข้าวขอแกง” และ “หมูอู๊ดจี๊ดกับกระปุกกายสิทธิ์” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย




สุรชัย เพชรแสงโรจน์ (ชัย)

นักศึกษาวิชาศิลปะ จากมหาวิทยาลัยชีวิต และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา การออกแบบนิเทศศิลป์ ผลงานการจัดแสดงครั้งแรก เรื่อง “บรู๊ววว..... หอนหาเพื่อน” เป็นละครเด็กน่ารักๆในคอนเซปนิทานหมาเหงาเขาอยากมีเพื่อน ในงานรำลึกครูองุ่น มาลิก ปัจจุบันกำลังสนใจศิลปะการแสดง และเป็นสมาชิกของพระจันทร์เสี้ยวการละครคนล่าสุด

Saturday, 18 October 2008

รอบแรก "หยดน้ำตาในทะเล"


รอบแรกเริ่มวันนี้ วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม เวลา 19.30 น. ในงานเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ มาให้กำลังใจพวกเราได้ที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space

Monday, 29 September 2008

Sea beside


หยดน้ำตาในทะเล
Sea beside
เรื่องราวของทะเลและเรื่องรายรอบ จากแรงบันดาลใจในบทกวี “ทะเลรุ่มร้อน” โดย วารี วายุ นักเขียนในชมรมพระจันทร์เสี้ยว สะท้อนเรื่องราวของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ชายขอบริมฝั่งทะเลที่มีชีวิตท้าแดดลมและคลื่นมรสุมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

แสดงโดย
ฟารีดา จิราพันธุ์
กีรติ ศิวะเกื้อ
ภูมิฐาน ศรีนาค
บูรณิจฉ์ ถิ่นจะนะ
ชัยวัฒน์ คำดี
สุรชัย เพชรแสงโรจน์
เล่นเงาโดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และ นพพันธ์ บุญใหญ่
ออกแบบแสงและกำกับเทคนิคโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ
กำกับภาพเคลื่อนไหวโดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล
กำหนดทิศทางโดย สินีนาฏ เกษประไพ
18-26 ตุลาคม 2551 (เว้นคืนวันจันทร์)
รอบเวลา 19.30 น.
ที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space
บัตร 200 บาท และ 150 บาท (นักเรียน, นักศึกษา)
สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 081 259 6906

Friday, 19 September 2008

Sea and beside stories




"หยดน้ำตาในทะเล"
Sea beside


พระจันทร์เสี้ยวการละครกับแรงบันดาลใจจากบทกวี "ทะเลรุ่มร้อน" ผลงานของ วารี วายุ

18-26 ตุลาคม 2551 (เว้นคืนวันจันทร์)
รอบเวลา 19.30 น.

ร่วมค้นหาโดยนักแสดงพระจันทร์เสี้ยวการละคร
กำกับภาพเคลื่อนไหวโดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล
กำหนดทิศทางโดย สินีนาฏ เกษประไพ

ที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space
สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ


บัตร 200 บาท และ 150 บาท (นักเรียน, นักศึกษา)
โทร 081 259 6906

ร่วมแสดงในงานเทศกาล “ศิลปะนานาพันธุ์”

จัดโดย สถาบันปรีดี พนมยงค์

Thursday, 18 September 2008

เพิ่มรอบ ฝากหัวใจไว้ที่อุบล




เนื่องจากตอนนี้ผู้ชมเต็มแล้วทุกรอบจึงเพิ่มอีก 1 รอบ




วันอาทิตย์ ที่ 21 นี้ รอบเวลา 14.30 น.


เต็มแล้วเต็มเลย


จองด่วนที่ 081 659 9576


อ่านวิจารณ์ใน Daily Xpress ได้ที่นี่


Friday, 12 September 2008

“ฝากหัวใจไว้ที่อุบล” - สูจิบัตร

บางส่วนจากสูจิบัตร

สวัสดีค่ะ หายไปนานเพราะช่วงนี้งานเข้าและชีพจรลงเท้าเลยไม่ได้สัมภาษณ์ผู้กำกับและนักแสดงจากเรื่องที่ผ่านๆมา แม้แต่เรื่องที่ตัวเองทำ เรื่องที่แล้ว Little Mime Project โดย เกลือ ทา เห่า ได้มาสร้างปรากฏการณ์ผู้ชมล้นแล้วล้นอีกจนต้องเพิ่มรอบแล้วก็ยังเต็มน่าชื่นใจดีจัง


เรื่องนี้เราก็ไม่ได้สัมภาษณ์อีกตามเคยเลยเอาสูจิบัตรมาลงให้แทนค่ะ “ฝากหัวใจไว้ที่อุบล” เป็นผลงานละครเวทีเรื่องที่ 3 ของ อ้น นพพันธ์ บุญใหญ่ ผู้ยังไม่มีชื่อคณะได้แต่ใช้ชื่อตัวเอง จนจะกลายเป็นชื่อคณะของเขาไปแล้ว ก่อนเริ่มเรื่อง ผู้กำกับก็ออกมากล่าวต้อนรับผู้ชมและบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเขาเอง ตัวละครในเรื่องมีหลายตคนแต่ใช้นักแสดงเพียง 4 คน ตัวหลักคือ แดง น้าเปิ้ล แวนด้า และ คุณกรกกฏ และแน่นอนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่อุบล เราจะไม่เล่าเรื่องเพราะอยากให้มาชมด้วยตนเอง แต่เราจะลงประวัตินักสดงว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับละครและคุณนพพันธ์มีให้อ่านกันที่เอนทรี่เก่าเดือนมกราคมในเรื่อง “ดอกไม้ในแสงแดด” ค่ะ



นักแสดง



ปานรัตน์ กริชชาญชัย (อิ๋ว) รับบท แม่, น้าเปิ้ล, เนบิวล่า
จบการศึกษาปริญญาโทด้านการแสดงจาก Royal Holloway, University of London และปริญญาตรีจาก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย สาขาภาษาเยอรมัน ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษด้านการแสดงที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ นอกจากนั้นยังทำงานละครเวทีทั้งในด้านช่วยกำกับ แปลบทละคร และนำแสดงอีกหลายเรื่อง เช่น เสน่ห์หม้าย สลายหนี้, เพราะรักช้ำ จึงหม่ำผัว, Push Up จาดูดาวเท้าเหยียบเธอ และผลงานล่าสุด ผ่าผิวน้ำ




ภูมิฐาน ศรีนาค (ฐาน) รับบท แดง, กัปตันแดน
จบการศึกษาปริญญาตรีจาก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานละครเงากับพระจันทร์ทร์พเนจรฯ เช่น พระจันทร์อร่อยไหม, เด็กชายเจ้าอารมณ์, กระดึ๊บ...กระดึ๊บ, นิทานริมฝั่งโขง, ร่วมงานกับกลุ่มบีฟลอร์ในเรื่อง Fear Dynasty ร่วมงานกับพระจันทร์เสี้ยวการละครในเทศกาลผู้หญิงในดวงจันทร์ แสดงในเรื่อง แอนธิโกเน และ เสียงกระซิบจากแม่น้ำ และผลงานล่าสุดดูแลเทคนิคด้านภาพและเงาให้ละครเรื่อง คอย ก.ด.




ณัฐกานต์ ภู่เจริญศิลป์ (บี) รับบท พ่อ, กรกฏ, ชายลึกลับ
จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มีผลงานละครแสงสีเสียง, ละครเพลง และละครเวทีหลายเรื่อง เช่น See Dave Run, แม่น้ำของแผ่นดิน (ปที่ 4), คู่กรรม The Musical, ซั่งไห่ The Musical ลิขิตฟ้า ชะตาเลือด, เงิน เงิน เงิน The Musical, หมูอู๊ดอิ๊ดกับกระปุกกายสิทธิ์, Ultraman Live Show 4D, สายน้ำสองแผ่นดิน, แผ่นดินของพ่อ, Push Up ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ, ผ่าผิวน้ำ และผลงานล่าสุด AF The Musical ตอน Jojosang



เพียงไพฑุรย์ สาตราวาหะ (มาย) รับบท แวนด้า, หัวหน้ากองบัญชาการ
จบการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำกลังศึกษาต่อในภาควิชาเดิม ด้วยใจรักอยากเป็นครูละครจึงหมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านละครเวที โดยไม่เกี่ยงหน้าที่ ตั้งแต่เดินตั๋ว นำแสดง ช่วยกำกับ กำกับเวที โปรดิวเซอร์ ฯลฯ ร่วมงานละครกับนพพันธ์ครั้งแรกในละครเวทีเรื่อง Welcome to Nothing ตอนแรกบอกให้มาช่วยซ้อม ไปๆมาๆก็ให้ทำไฟแทน มีผลงานล่าสุดเรื่อง รักบังตา ของพระจัทร์เสี้ยวการละคร




ผู้กำกับ


นพพันธ์ บุญใหญ่ (อ้น)

ผลงานภาพยนตร์
Sniper 3, Vampires the turning, Mysterious island, Boa, Return to the bronze forest, M.A




ผลงานแสดงละครเวที
ราโชมอน all men cast – ดอกไม้การบันเทิง, ศรีบูรพา – กลุ่มละครมะขามป้อม, แอนธิโกเน – พระจัทร์เสี้ยวการละคร, ความฝันกลางเดือนหนาว – พระจัทร์เสี้ยวการละคร, ผ่าผิวน้ำ – New Theatre Society


ผลงานเขียนบท/กำกับละครเวที
Sunflower ดอกไม้ในแสงแดด, Welcome to Nothing, I Started a Joke ดวงตา ท้องฟ้า ประจักษ์ – MKP’s Director’s Lab 2008



ละครโดยนพพันธ์คือ – Multimedia/movement/memories/language/lost and found/sounds/secrets/nostalgic/sunshine


การแสดงละครเวทีเรื่อง “ฝากหัวใจหว้ที่อุบล” ยังมีแสดงอีก 7 รอบ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน นี้



เก็บความมาเล่าต่อโดย สินีนาฏ เกษประไพ

Monday, 25 August 2008

ฝากหัวใจไว้ที่อุบล



'ฝากหัวใจไว้ที่อุบล'
(The Adventures of Captain Dan)

ละครโดย นพพันธ์


การผจญภัยเริ่มต้นตั้งแต่
10, 11, 12, 13, 14 กันยายน 17, 18, 19, 20, 21 กันยายนเวลา – 19.30
ที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space
สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 สถาบันปรีดีพนมยงค์
สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ


จองบัตรได้ที่ 081 659 9576




กรุณาจองบัตรล่วงหน้า มีแค่ 30 ที่นั่งต่อรอบเท่านั้น

Sunday, 17 August 2008

Little Mime Project ประกาศเพิ่มรอบ



LITTLE MIME PROJECT


การแสดงละครใบ้แบบใกล้ชิด รอบละ 30 กว่าคน คนที่เค้าเพิ่งไปดูมา เค้าอยากบอกว่าสนุก ฮา ซ่า ซึ้ง ครบทุกอารมณ์ มาก ๆ ใครชอบดูละครใบ้ ก็อยากชวนไปชมกัน ซึ่ง มีถึง 17 สิงหาคมนี้


แต่ตอนนี้บัตรเต็มหมดแล้ว



เค้าเลยเพิ่มรอบอีก


เพิ่มรอบ
พฤหัสที่ 21 ส.ค. เวลา 19.30
ศุกร์ที่ 22 ส.ค. เวลา 19.30
เสาร์ที่ 23 ส.ค. เวลา 14.30 และ 19.30
อาทิตย์ 25 ส.ค. เวลา 14.30 และ 19.30

ใครสนใจ ก็แวะไปชมที่ www.vrbabymime.com


สำรองที่นั่งด่วน 081-444-7034 คุณหน่อย


Friday, 1 August 2008

Little Mime Project


GTH* เต็มใจเสนอ

"LITTLE MIME PROJECT"

ละครใบ้เรื่องใหม่เอี่ยมอ่องอรทัย ไม่เคยปรากฎที่เวทีใดมาก่อน
เล่นที่นี่ที่แรก และที่เดียวเท่านั้น 9 เรื่อง 9 รส 9 อารมณ์

"อึ้ง ทึ่ง เสียว(โว๊ย) กันอีกแล้ว ในบรรยากาศแบบสบาย ๆ ใกล้ชิดติดลมหายใจ เป็นกันเอ๊ง เป็นกันเอง ครี้นเครง กิ๊วก๊าว กิ๊ว กิ๊ว เอิ๊ก อ๊าก 5 5 5"


จัดแสดงที่ Cresent Moon space
สถาบันปรีดีพนมยงค์ ทองหล่อ

วันที่ 8-10 และ 12-17 สิงหาคม 2551
เวลา 19:30 น. วันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบ 14:30 น.

บัตรราคา 300 บาท

จุคนดูได้แค่รอบละ 35 ที่นั่งเท่านั้น ฉะนั้นรีบโทรมาจองนะ

สำรองที่นั่งด่วน 081-444-7034 คุณหน่อย

ข้อมูลเพิ่มเติม
www.vrbabymime.com หน้า webboard

หมายเหตุ : GTH* = *Glur, Ta, hao



สำหรับเรื่องที่จะแสดงประกอบด้วย
1. restroom เรื่องราววุ่นวายในห้องน้ำที่คุณคาดไม่ถึง
2. airport เคยขึ้นเครื่องบินครั้งแรกไหม ตื่นเต้นไหม
3.little memory ความทรงจำเก่าๆที่น่าเก็บ เก็บซะจนบางครั้งเราก็ลืมมันไป เมื่อนึกถึงแล้วคุณจะรู้สึก ..............
4. last job งานชิ้นสุดท้ายของมือปืนรับจ้าง
5. soccer มาเตะบอลกันกันเถอะ
6. drink drank drunk เรื่องเล่า พวกเรา ในวงเหล้า
7. chicken run กินไก่ซักตัว ทำไมมันยากจังหว่ะ
8. the river ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำ ที่แยกจากกันไม่ได้
9. ยังไม่คิดชื่อเรื่อง ไว้ติดตามตอนต่อไป

"นี่คืออัพเดตล่าสุด ไม่อยากเกริ่นเยอะ เดี๋ยวไม่
สะใก้ !!!!! เซอร์ไพรส์!!!!!!! ตึ่งโป๊ะ"

Wednesday, 30 July 2008

ผู้กำกับและนักแสดงจาก "คอย ก.ด".


บางส่วนจากสูจิบัตร

เนื่องจากเวลารัดตัวมากเราจึงไม่ได้ทำการสัมภาษณ์ แต่จะเอาข้อมูลบางส่วนจากสูจิบัตรมาลง โดยเริ่มจากผู้กำกับก่อน

ผู้กำกับและดัดแปลงบท

ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
จบการศึกษา Master of Fine Arts สาขา Theatre Directing จาก Middlesex University กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มงานอยู่ในวงการละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์มาตั้งแต่อายุ 19 ทั้งในฐานะนักแสดง ผู้ควบคุมการผลิต ผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบทละครและบทภาพยนตร์ รวมทั้งเป็นผู้ฝึกการแสดงให้แก่นักแสดงภาพยนตร์ไทย สำหรับละครเวทีมีผลงานการกำกับการแสดง อาทิ กับดัก, เมตามอร์โฟซีส, เฟ้าสต์, ราโฌมอนคอนโดมิเนียม, ละครเพลง ซั่งไห่:ลิขิตฟ้าชะตาเลือด ฯลฯ ล่าสุดคือละครเวที “กลรักเกมเลิฟ” “ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ” และ “ผ่าผิวน้ำ” ปัจจุบันทำงานอิสระทั้งด้านละครเวที ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมทั้งเขียนนวนิยาย และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการแสดงและการเขียนบทให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ

นักแสดง

จารุนันท์ พันธชาติ
จบปริญญาตรีจากภาควิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำละครเวทีจากชมรมการแสดงในมหาวิทยาลัย จนปัจจุบัน ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครบีฟลอร์ เป็นนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ฯลฯ ผลงานการแสดงที่ผ่านมา อาทิ WOW!, “กรุงเทพน่ารักน่าชัง”, “Crying Century”, “ไฟล้างบาป” และล่าสุด “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์”

สินีนาฏ เกษประไพ
จบปริญญาตรีสาขาวรรณคดีจากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำละครเวทีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นทั้งผู้กำกับการแสดง, นักแสดง, ผู้เขียนบท และอื่นๆ มีผลงานการแสดง เช่น “กูชื่อพญาพาน”, “ความฝันกลางเดือนหนาว”, “คือผู้อภิวัฒน์”, “Crying Century”, “แม่น้ำแห่งความตาย” และ “ไฟล้างบาป”

สุมณฑา สวนผลรัตน์
จบปริญญาตรี สาขาภาษาและวรรณคดีไทยจาก ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการแนะแนวจาก ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร เป็นนักแสดงละครเวทีที่มีผลงานปรากฏอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 19 ปี อาทิ “เมตามอร์โฟซิส” “เฟาสท์” “แรด” “มิดะ” “Crying Century” “The Edge” “ไฟล้างบาป” และล่าสุด “ใจยักษ์”

ฟารีดา จิราพันธุ์
จบการศึกษาจากเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เริ่มเข้าวงการละครในสมัยยุครุ่งเรืองของศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ จากนั้นเข้าร่วมเล่นละครตามคณะต่าง ๆ อาทิ “คือผู้อภิวัฒน์ 2475” และ “แอนติโกเน” โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร “กาลแห่งเวลา” โดยคณะสมมุติ “ควอเต็ด หมายเลข 8” กำกับโดยมัลลิกา ตั้งสงบ “Sex in the City” โดยคณะบางเพลย์ “โสมเกาหลี” กำกับเขียนบทและนักแสดงในนามบางเพลย์ ร่วมเข้าอบรมโครงการลุ่มแม่น้ำโขงกับ PATA และผลิตผลงานเรื่อง “ไฟล้างบาป” ร่วมกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร บีฟลอร์ และบางเพลย์ รวมทั้งแสดงนำใน “ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ” ของ New Theatre Society และล่าสุด “ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์” ของกลุ่มบีฟลอร์





Friday, 25 July 2008

จากผู้กำกับการแสดงละครเวทีเรื่อง "คอย ก.ด."

เขียนโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ภาพถ่ายโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ และ ภูมิฐาน ศรีนาค




เหตุผลหนึ่งที่ผมเลือก “Waiting for Godot” ขึ้นมาทำเป็น “คอย ก.ด.” ในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการที่อยากจะเห็นบทละครที่ตนเองอ่านครั้งแรกแล้วสนุก (ถึงแม้จะไม่รู้เรื่อง) ได้ออกมาเป็นการแสดงในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากละครเวที “คอยโกโดต์” ทุกเวอร์ชั่นที่ผมเคยดูมาในชีวิต ประการหนึ่งก็อาจมีสาเหตุจากการที่ผมไม่เข้าใจว่า


ทำไมบทละครเรื่องนี้...ทุกครั้งเมื่อกลายเป็นละครเวทีแล้วมันมักจะออกมาในลักษณะที่เครียดขึ้ง อึมครึม ลักลั่น ดูไม่รู้เรื่อง น่าเบื่อน่ารำคาญ แถมชวนหลับและท้าทายให้ด่าทอต่อเมื่อตื่นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะอ้างว่านั่นคือสไตล์เฉพาะทาง หรือจะเป็นวัตถุประสงค์ชนิดหนึ่งของละครแนวนี้ที่พยายามจะแสดงให้เห็นความจริงของโลกด้วยการก่อกวนคนดูด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาแล้วละก็...สำหรับส่วนตัวผมเองก็คงไม่สามารถปักใจเชื่อได้ง่าย ๆ นัก ด้วยเพราะนับตั้งแต่โลกใบนี้มีละครสนุก ๆ ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเข้มข้นอยู่มากมาย แถมผู้ชมสามารถดูได้อย่างรู้เรื่องสบายใจ...


แล้วละครบ้า ๆ เรื่องนี้จะสนุก ดูง่าย ๆ และคนดูมีความสบายใจบ้างไม่ได้เชียวหรือ ผมมีความเชื่อส่วนตัวแบบง่าย ๆ ที่อาจจะออกเชยอยู่บ้างอีกอย่างหนึ่งว่า นอกเหนือจากความบันเทิงซึ่งน่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราควรจะได้จากการรับชมละครเรื่องหนึ่ง ๆ แล้ว ทางด้านเนื้อหาสาระ...ละครที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “สร้างสรรค์” นั้น ก็ควรจะมีคุณลักษณะที่เป็นไปใน “ทางสว่าง” ได้ด้วย นั่นคือ ถ้าหากเป็นละครที่มุ่งแสดงความจริงใด ๆ ของมนุษย์บนโลกใบนี้แล้วละก็...ละครก็ควรจะเสนอทางออกสำหรับผู้ชมบ้าง หรือถ้าหากไม่มีทางออกเลย ละครก็ควรทำให้คนดูตระหนักถึงความจริงนั้น ๆ แล้วกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง (ไม่ว่าในแง่ความคิดหรือการกระทำ และ/หรือ ในขณะนั้นหรือในเวลาต่อมา) ไม่ใช่มุ่งแต่สะท้อนเป็นความจริงอันโหดร้ายลี้ลับสับสนที่ยิ่งพาให้คนเราปลงตก ตกอยู่ในสภาพยอมรับ แช่นิ่ง แล้วก็จ่อมจมลงไปกับความทุกข์อันดำมืดมากขึ้นทุกที ๆ ซึ่งอย่างนี้ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นละครที่สร้างสรรค์มากนัก โชคร้ายไปหน่อยที่ “คอยโกโดต์” แบบที่ผมเคยดูมาดันมีคุณสมบัติเช่นนั้นครบทุกประการ ต่อให้ใครต่อใครยกย่องกล่าวขานว่านี่เป็นวิธีการนำเสนอละครอภิมหาปรัชญาชั้นยอดระดับโลกก็ตามทีเถอะ ดังนั้น “การขอมองโลกในแง่ดี(บ้าง)” คือที่มาของการตัดสินใจทดลองเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบทละครเรื่องนี้


อย่างแรก...ผมเลือกนักแสดงหญิง 4 คนให้มารับบทตัวละครเรื่องนี้แทนผู้ชายเพื่อจะดูว่าทิศทางของบทดั้งเดิมที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีความ “ใจกว้าง” ให้ผู้คนตีความได้อย่างอิสระนั้น จะสามารถปลดปล่อย “เงื่อนตาย” ที่ถูกผู้เขียนผูกวางไว้อย่างแยบยลได้ทางใดบ้าง อย่างต่อไป...


ผมขอเลือกที่จะประนีประนอมกับตัวเอง รวมทั้งกับคนดูที่ร่วมกาลเวลาและสถานที่กับผม ด้วยการทำละครเรื่องนี้ให้เบาสบายมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อตั้งแต่เปิดฉากมาละครเรื่องนี้โหดร้ายทารุณมากพอดูอยู่แล้ว มากพอที่จะทำให้ตัวละครต้องแสวงหาทางออกด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองหนีพ้นจากห้วงทุกข์ในขณะรอคอย ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้อง “ขยี้” หรือย้ำในจุดนี้แล้วหยิบยื่นรสชาติแห่งความทรมานให้ผู้ชมเกิดความกระอักกระอ่วนมากกว่านี้อีกต่อไป


ผมจึงขอตัดบทที่มีความยาวและลีลาวกวนกวนโทสะ รวมทั้งประเด็นบางอย่างที่ไกลตัวคนไทยส่วนใหญ่ออกไปซะ แล้วหาสัญญะใหม่บางอย่างมาแทนที่ของเดิม รวมทั้งใช้องค์ประกอบทางภาพและเสียงมาแทนที่ช่วงต่าง ๆ ที่ตัวละครมีการทำซ้ำด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ผมขอเหมาตั้งสมมุติฐานเองเอาว่า สามารถจะทำให้เรื่องนี้เบาสบายขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และอาจจะนำไปสู่การเลือกประเด็นการตีความที่ผู้ชมน่าจะดูรู้เรื่องขึ้นผมขอใช้คำกล่าวของเบ็กเก็ตต์ที่ว่า “เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากเป็นแบบจำลองของระบบนิเวศน์เท่านั้น”

ผมจึงไม่คิดแบบดิ่งลงด้านลึกมากจนเกินไป แต่ขอกลับไปมุ่งเน้นให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมและความคิดเห็นขณะตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ แทน ซึ่งในที่นี้ผมขอเล่นกับเรื่องของ “ความเปลี่ยนแปลง” ของตัวละครที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่พวกเขาจำต้องรอคอยซ้ำแล้วซ้ำอีก และนี่อาจเป็นการ “ทำตรงข้าม” กับลักษณะของละครแอบเสิร์ดในข้อที่ว่าตัวละครไม่มีการพัฒนาก็ได้ นอกจากนี้ผมยังทดลองคิดต่อไปอีกว่า ถ้าหากมนุษย์มีปัญญาเรียนรู้แล้วไซร้ อะไรบ้างที่ตัวละครจะสามารถคิดและทำได้ ในเมื่อ(แบบจำลอง)ชีวิตนี้(ที่เบ็กเก็ตต์เขียนมา) ไม่ได้ให้ความกระจ่างของทางสว่างไว้ อีกทั้งการรอคอยด้วยความหวังมันอาจเป็นเรื่องไร้สาระ บางทีการที่มนุษย์รู้จักเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง อาจเป็นวิธีการแสวงการหาความหมายของชีวิตที่ดีที่สุดก็ได้กระมัง


ทั้งหมดที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งของการทำ “คอย ก.ด.” ฉบับที่ท่านจะได้รับชมในขณะนี้ ส่วนที่ว่าในตอนจบมันจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น จะคอยดีหรือไม่คอยดี คอยดูกันเอาเองก็แล้วกันครับ

โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
narawichaya@hotmail.com
ปล.
คุณ ก.ด.ครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ผมอยากบอกว่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้สั้นนัก แต่ถึงกระนั้นตอนนี้เราสามารถไปนอกโลกกันได้แล้ว เพราะอะไรหรือครับ อิอิ ฯลฯ วันนี้แค่นี้ก่อนก็ละกัน สวัสดี



Thursday, 24 July 2008

เกี่ยวกับละครแอบเสริ์ด



ละครแอบเสิร์ด (Absurd)


หากจะเทียบกับงานศิลปะแขนงอื่น ละครแนวนี้ก็คงจะคล้ายกับศิลปะในแนวนามธรรม (Abstract) ซึ่งผู้ชมหลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยหรือชื่นชอบงานศิลปะในแนวที่ซับซ้อนและเข้าใจยากเช่นนี้มากนัก ละครแนวนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดศิลปะลัทธิ Surrealism และ DADA ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นศิลปะที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ที่ไร้สมรรถภาพในการดำรงชีวิตอยู่ เป็นภาพอันไม่สมประกอบของมนุษย์ เนื้อหาของละครประเภทนี้มักเป็นการประชดเสียดสีสังคม พูดถึงความไร้สาระของมนุษย์ที่พยายามกำหนดความหมายหรือคุณค่าให้แก่สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งแก่ตนเอง


บทละครมักจะเล่าถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์มากกว่าจะมุ่งเล่าเรื่องราว ไม่มีการเดินเรื่องหรือพัฒนาการที่เกิดจากเหตุและผลเหมือนละครทั่ว ๆ ไป ซึ่งรวมไปถึงตัวละครต่าง ๆ ที่มักจะมีลักษณะนิ่งคงที่ มีบุคลิกที่เด่นชัด และไม่มีการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบส่วนในด้านรูปแบบ ภาพที่ปรากฏสู่สายตามักจะถูกทำให้เป็นสื่อที่ชี้นำความคิดในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) หรือเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย (Metaphorical) รวมทั้งนำเสนอออกมาด้วยภาษาที่ง่าย ๆ และไม่ค่อยต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ละครแอบเสิร์ดถือว่าภาษาเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร และไม่ช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจกันและกัน การแสดงจึงมักจะเป็นไปในลักษณะตลกขบขัน แต่ในความตลกขบขันนั้นมักมีสิ่งชวนให้เคลือบแคลงอยู่เสมอ อันเป็นความจริงที่น่าพะวงสงสัยเหมือนกับในชีวิตจริงของมนุษย์นั่นเอง


ข้อมูลจาก : สูจิบัตรละครเวทีเรื่อง คอย ก.ด.


Wednesday, 16 July 2008

วอร์มอัพก่อนชม "คอย ก.ด."


จาก "คอยโกโดต์" ก่อนจะไปถึง "คอย ก.ด."
: แนะนำเรื่องเดิมก่อนจะไปดู


Waiting for Godot
บทกล่าวนำโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

Waiting for Godot เป็นบทละครชิ้นเอกของ Samuel Beckett ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทละครที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เนื้อเรื่องมีสององก์ด้วยกัน กล่าวถึงตัวละครหลักสองตัว คือVladimir และEstragon ที่มารอคอยคนชื่อ Godot ในระหว่างที่รอพวกเขาทั้งสองก็พยายามหาอะไรทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหาของกิน นอนหลับ คุย ทะเลาะ ร้องเพลง เล่นเกม หรือแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย ระหว่างรอ Pozzo และ Lucky ได้เดินทางผ่านมา และมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนถึงตอนจบได้มีเด็กชายคนหนึ่งนำความมาบอกว่าวันนี้ Godot จะไม่มาแต่จะมาพรุ่งนี้แน่นอน ส่วนองก์ที่สอง เป็นเรื่องราวของวันต่อมา ทั้งคู่ยังคงมารอเหมือนเดิม Estragon จำเรื่องราวของเมื่อวานไม่ได้เลย Vladimir จึงพยายามรื้อฟื้นความทรงจำให้เขาด้วยวิธีต่างๆ


Pozzo และ Lucky กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ Pozzo ตาบอด ส่วน Lucky เป็นใบ้ เมื่อทั้งคู่จากไป เด็กชายคนเดิมก็เข้ามาบอกว่า วันนี้ Godot จะไม่มา Vladimir และEstragon ตัดสินใจว่าจะแขวนคอตาย แต่ทำไม่สำเร็จ เขาจึงปรึกษากันใหม่ว่าจะมาแขวนคอวันพรุ่งนี้ถ้าหาก Godot ไม่มาอีก ทั้งคู่ตกลงจะไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครขยับเขยื้อนเลย


มีการตีความประเด็นของเรื่องออกมาหลากหลาย เช่น เรื่องศาสนา ปรัชญา จิตวิทยา การเมือง สงคราม รวมถึงมุมมองที่เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่ง ๆ ต้องประสบพบเจอในชีวิตอีกด้วย จากประเด็นหลังนี้จึงมีผู้ให้คำนิยามบทละครเรื่องนี้ว่าเป็น ‘Tragicomedy’ เนื่องจากในเรื่องตัวละครทุกตัวต้องเผชิญกับทั้งเรื่องดีและร้าย อาทิ การถูกกดขี่ ความล้มเหลว ความโศกเศร้า มิตรภาพ และความหวัง


อีกประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุดก็น่าจะเป็นประเด็นเของแนวความคิด Existentialism ซึ่งเชื่อว่าชีวิตคนเรานั้นยากเย็นแสนเข็ญ ไร้ซึ่งจุดหมาย ดังนั้นมนุษย์เราควรจะต้องเป็นคนกำหนดชีวิต และคุณค่าของตัวเองเพื่อความอยู่รอด ไม่มีเทวดาฟ้าดินที่ไหนมาลิขิต หรือช่วยเราได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชี้ชัดว่าเรื่องราวในละครต้องการจะสื่ออะไร ส่วนตัว Beckett เองเคยกล่าวไว้สั้น ๆ ว่าเหตุใดจึงต้องไปคิดให้ซับซ้อน ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันคือเรื่องของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตพวกหนึ่งที่มาอยู่ร่วมกัน และเกิดการพึ่งพาอาศัย จุนเจือซึ่งกันและกันเท่านั้น ทุกสิ่งที่ปรากฏคือเกมที่คนเรามีต่อกัน แต่เขาก็ยอมรับว่าการที่มีผู้พยายามตีความออกมาหลายประเด็นเช่นนี้เองที่ทำให้บทละครเรื่องนี้เปิดกว้างซึ่งถือเป็นจุดเด่นและเป็นเหตุผลของความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

Sunday, 13 July 2008

คอย ก.ด.


พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ New Theatre Society
เสนอ

การรอคอยของ...
สินีนาฏ เกษประไพ
จารุนันท์ พันธ์ชาติ
สุมณฑา สวนผลรัตน์
ฟารีดา จิราพันธุ์


ใน... ละครแอ๊บแบ๊ว..เล่นไป..ร้องไป..คอยไป..


"คอย ก.ด."

สืบเนื่องมาจากบทเรื่องนั้นของซามูเอล เบ็กเก็ตต์
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กำกับการแสดง


22 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2551
ณ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
รอคอยทุกคืนเวลา 19.30 น. เว้นคืนวันจันทร์


บัตรการรอคอยราคา 300 บาท (นักเรียน,นักศึกษา ป.ครี 250 บาท)



สำรองที่นั่งคอยได้ที่โทร 086 787 7155


รับผู้ชมเพียง 30 คนต่อรอบเท่านั้น