welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Friday 25 July 2008

จากผู้กำกับการแสดงละครเวทีเรื่อง "คอย ก.ด."

เขียนโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ภาพถ่ายโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ และ ภูมิฐาน ศรีนาค




เหตุผลหนึ่งที่ผมเลือก “Waiting for Godot” ขึ้นมาทำเป็น “คอย ก.ด.” ในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการที่อยากจะเห็นบทละครที่ตนเองอ่านครั้งแรกแล้วสนุก (ถึงแม้จะไม่รู้เรื่อง) ได้ออกมาเป็นการแสดงในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากละครเวที “คอยโกโดต์” ทุกเวอร์ชั่นที่ผมเคยดูมาในชีวิต ประการหนึ่งก็อาจมีสาเหตุจากการที่ผมไม่เข้าใจว่า


ทำไมบทละครเรื่องนี้...ทุกครั้งเมื่อกลายเป็นละครเวทีแล้วมันมักจะออกมาในลักษณะที่เครียดขึ้ง อึมครึม ลักลั่น ดูไม่รู้เรื่อง น่าเบื่อน่ารำคาญ แถมชวนหลับและท้าทายให้ด่าทอต่อเมื่อตื่นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะอ้างว่านั่นคือสไตล์เฉพาะทาง หรือจะเป็นวัตถุประสงค์ชนิดหนึ่งของละครแนวนี้ที่พยายามจะแสดงให้เห็นความจริงของโลกด้วยการก่อกวนคนดูด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาแล้วละก็...สำหรับส่วนตัวผมเองก็คงไม่สามารถปักใจเชื่อได้ง่าย ๆ นัก ด้วยเพราะนับตั้งแต่โลกใบนี้มีละครสนุก ๆ ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเข้มข้นอยู่มากมาย แถมผู้ชมสามารถดูได้อย่างรู้เรื่องสบายใจ...


แล้วละครบ้า ๆ เรื่องนี้จะสนุก ดูง่าย ๆ และคนดูมีความสบายใจบ้างไม่ได้เชียวหรือ ผมมีความเชื่อส่วนตัวแบบง่าย ๆ ที่อาจจะออกเชยอยู่บ้างอีกอย่างหนึ่งว่า นอกเหนือจากความบันเทิงซึ่งน่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราควรจะได้จากการรับชมละครเรื่องหนึ่ง ๆ แล้ว ทางด้านเนื้อหาสาระ...ละครที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “สร้างสรรค์” นั้น ก็ควรจะมีคุณลักษณะที่เป็นไปใน “ทางสว่าง” ได้ด้วย นั่นคือ ถ้าหากเป็นละครที่มุ่งแสดงความจริงใด ๆ ของมนุษย์บนโลกใบนี้แล้วละก็...ละครก็ควรจะเสนอทางออกสำหรับผู้ชมบ้าง หรือถ้าหากไม่มีทางออกเลย ละครก็ควรทำให้คนดูตระหนักถึงความจริงนั้น ๆ แล้วกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง (ไม่ว่าในแง่ความคิดหรือการกระทำ และ/หรือ ในขณะนั้นหรือในเวลาต่อมา) ไม่ใช่มุ่งแต่สะท้อนเป็นความจริงอันโหดร้ายลี้ลับสับสนที่ยิ่งพาให้คนเราปลงตก ตกอยู่ในสภาพยอมรับ แช่นิ่ง แล้วก็จ่อมจมลงไปกับความทุกข์อันดำมืดมากขึ้นทุกที ๆ ซึ่งอย่างนี้ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นละครที่สร้างสรรค์มากนัก โชคร้ายไปหน่อยที่ “คอยโกโดต์” แบบที่ผมเคยดูมาดันมีคุณสมบัติเช่นนั้นครบทุกประการ ต่อให้ใครต่อใครยกย่องกล่าวขานว่านี่เป็นวิธีการนำเสนอละครอภิมหาปรัชญาชั้นยอดระดับโลกก็ตามทีเถอะ ดังนั้น “การขอมองโลกในแง่ดี(บ้าง)” คือที่มาของการตัดสินใจทดลองเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบทละครเรื่องนี้


อย่างแรก...ผมเลือกนักแสดงหญิง 4 คนให้มารับบทตัวละครเรื่องนี้แทนผู้ชายเพื่อจะดูว่าทิศทางของบทดั้งเดิมที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีความ “ใจกว้าง” ให้ผู้คนตีความได้อย่างอิสระนั้น จะสามารถปลดปล่อย “เงื่อนตาย” ที่ถูกผู้เขียนผูกวางไว้อย่างแยบยลได้ทางใดบ้าง อย่างต่อไป...


ผมขอเลือกที่จะประนีประนอมกับตัวเอง รวมทั้งกับคนดูที่ร่วมกาลเวลาและสถานที่กับผม ด้วยการทำละครเรื่องนี้ให้เบาสบายมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อตั้งแต่เปิดฉากมาละครเรื่องนี้โหดร้ายทารุณมากพอดูอยู่แล้ว มากพอที่จะทำให้ตัวละครต้องแสวงหาทางออกด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองหนีพ้นจากห้วงทุกข์ในขณะรอคอย ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้อง “ขยี้” หรือย้ำในจุดนี้แล้วหยิบยื่นรสชาติแห่งความทรมานให้ผู้ชมเกิดความกระอักกระอ่วนมากกว่านี้อีกต่อไป


ผมจึงขอตัดบทที่มีความยาวและลีลาวกวนกวนโทสะ รวมทั้งประเด็นบางอย่างที่ไกลตัวคนไทยส่วนใหญ่ออกไปซะ แล้วหาสัญญะใหม่บางอย่างมาแทนที่ของเดิม รวมทั้งใช้องค์ประกอบทางภาพและเสียงมาแทนที่ช่วงต่าง ๆ ที่ตัวละครมีการทำซ้ำด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ผมขอเหมาตั้งสมมุติฐานเองเอาว่า สามารถจะทำให้เรื่องนี้เบาสบายขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และอาจจะนำไปสู่การเลือกประเด็นการตีความที่ผู้ชมน่าจะดูรู้เรื่องขึ้นผมขอใช้คำกล่าวของเบ็กเก็ตต์ที่ว่า “เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากเป็นแบบจำลองของระบบนิเวศน์เท่านั้น”

ผมจึงไม่คิดแบบดิ่งลงด้านลึกมากจนเกินไป แต่ขอกลับไปมุ่งเน้นให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมและความคิดเห็นขณะตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ แทน ซึ่งในที่นี้ผมขอเล่นกับเรื่องของ “ความเปลี่ยนแปลง” ของตัวละครที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่พวกเขาจำต้องรอคอยซ้ำแล้วซ้ำอีก และนี่อาจเป็นการ “ทำตรงข้าม” กับลักษณะของละครแอบเสิร์ดในข้อที่ว่าตัวละครไม่มีการพัฒนาก็ได้ นอกจากนี้ผมยังทดลองคิดต่อไปอีกว่า ถ้าหากมนุษย์มีปัญญาเรียนรู้แล้วไซร้ อะไรบ้างที่ตัวละครจะสามารถคิดและทำได้ ในเมื่อ(แบบจำลอง)ชีวิตนี้(ที่เบ็กเก็ตต์เขียนมา) ไม่ได้ให้ความกระจ่างของทางสว่างไว้ อีกทั้งการรอคอยด้วยความหวังมันอาจเป็นเรื่องไร้สาระ บางทีการที่มนุษย์รู้จักเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง อาจเป็นวิธีการแสวงการหาความหมายของชีวิตที่ดีที่สุดก็ได้กระมัง


ทั้งหมดที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งของการทำ “คอย ก.ด.” ฉบับที่ท่านจะได้รับชมในขณะนี้ ส่วนที่ว่าในตอนจบมันจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น จะคอยดีหรือไม่คอยดี คอยดูกันเอาเองก็แล้วกันครับ

โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
narawichaya@hotmail.com
ปล.
คุณ ก.ด.ครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ผมอยากบอกว่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้สั้นนัก แต่ถึงกระนั้นตอนนี้เราสามารถไปนอกโลกกันได้แล้ว เพราะอะไรหรือครับ อิอิ ฯลฯ วันนี้แค่นี้ก่อนก็ละกัน สวัสดี



3 comments:

Anonymous said...

What a great moment of reading blogs.

Anonymous said...

Well done for this wonderful blog.

Anonymous said...

And also we ensure that when we enter in this specific blog site we see to it that the topic was cool to discuss and not a boring one.