welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Tuesday, 27 January 2009

เขาอ่านอะไร

เริ่มมีหลายคนโทรเข้ามาสำรองที่นั่งพร้อมคำถามว่า เขาอ่านอะไรกัน เลยเอามาเฉลยกันสักเล็กน้อยว่าพวกเขานักทำละครทั้งสิบคนชอบและจะอ่านอะไรกันบ้าง


สวนีย์ อุทุมมา - นักการละครจากกลุ่มมะขามป้อม ผลงานล่าสุด "จะวันไหนๆ"
เลือกอ่านฉากรักในวรรณกรรมไทยเรื่องเยี่ยม “ความรักของวัลยา” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์
นักอ่าน 2 คน
ความยาว 13 นาที




คานธี อนันตกาญจน์ - นักการละคร นักดนตรี และนักแต่งเพลง จาก Democracy Music Studio
เลือกอ่านฉากรักจากหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “ภวาภพ” ตอนที่ 2 ที่มีชื่อว่า “เสียงระหว่างเรา” ของ อุเทน มหามิตร
นักอ่าน 1 คน
ความยาว 20 นาที





สายฟ้า ตันธนา - นักแสดงมีผลงานมากมาย และผู้กำกับจาก On Box
เลือกอ่านฉากรักในวรรณกรรมเรื่อง “ไหม” ของ อเลซซานโดร บาริกโก แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
นักอ่าน 3 คน
ความยาว 15 นาที






อภิรักษ์ ชัยปัญหา - นักการละครจากกลุ่มแปดคูณแปด เป็นนักแสดงมีผลงานมากมาย และเป็นอาจารย์ที่ยังรักจะเล่นละคร
เลือกอ่านฉากรักจากเรื่องสั้นเรื่อง “หาแว่นให้หน่อย” ของ วัชระ สัจจะสารสิน จากหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง”
นักอ่าน 2 คน
ความยาว 20 นาที




ปานรัตน กริชชาญชัย - นักการละครจาก New Theatre Society และมีผลงานการแสดงหลายเรื่อง และเป็นอาจารย์ที่ยังรักที่จะเล่นละคร และเป็นผู้ดูแลการผลิต
เลือกฉากรักจากวรรณกรรมเยอรมันเรื่อง “แวร์เธอร์ระทม” บทประพันธ์ ของ โยฮันน์ โวลฟ์กัง ฟอน เกอเธ่ ( Die Leiden des Jungen Werther ของ Goethe) แปลโดย รองศาสตราจารย์ ถนอมนวล โอเจริญ
นักอ่าน 3 คน
ความยาว 30 นาที




เกรียงไกร ฟู เกษม
- นักการละครจาก พระจันทร์เสี้ยวการละคร มีผลงานการแสดงหลายเรื่อง
ฉากรักจาวรรณกรรมไทยที่ชอบและยังคงจำเรื่องราวต่างๆได้ดี คือ พระอภัยมณี แต่เขาเลือกทำเรื่อง “เยือกเย็น” (BLU) ของ ท์ซึจิ ฮิโตนาริ แปลโดย สมเกียรติ เชวงกิจวณิช
นักอ่าน 1 คน
ความยาว 20 นาที






นพพันธ์ บุญใหญ่ - ผู้กำกับ เขียนบท และนักแสดง ที่น่าจับตามองในความกวน
เลือกอ่านความรักจากหนังสือ “ความลับในความรัก” เขียนโดย จอห์น อาร์มสตรอง แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
นักอ่าน 1 คน + นักแสดง 2 คน + หลายคน
ความยาว 20 นาที




ศรวณีย์ ยอดนุ่น - นักแสดงจากพระจันทร์เสี้ยวการละคร เป็นอาจารย์วิชาปรัชญา
เลือกอ่านไปกลิ้งไปกับฉากรักจากเรื่อง “The missing piece meets the big O” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “การเดินทางของส่วนที่หายไป”
นักอ่าน 3 คน
ความยาว 15 นาที



เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ - นักทำละครรุ่นใหม่ จากชมรมละคร คุรุศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มมีผลงานกำกับการแสดง
เลือกอ่านฉากรักจากนวนิยายเรื่อง “แพนด้า” ของ ปราบดา หยุ่น
นักอ่าน 3 คน
ความยาว 15 นาที




สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล - นักทำละครรุ่นใหม่อีกคน เป้นนักแสดงให้กับหลายเรื่องหลายกลุ่ม เช่น Naked Masks, B Floor เป็นนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ จากธรรมศาสตร์
เลือกฉากรักจากเรื่อง “เขาไม่นับเธอ” เขียนโดย ไฮนริช เบิล แปลโดย อำภา โอตระกูล
นักอ่าน 1 คน
ความยาว 10 นาที


จากฉากตอนในงานวรรณกรรม พวกเขาจะดึงออกมาเป็นบทละครสั้นๆ และนำมาอ่านในสไตล์ใครสไตล์เขา ในแต่ละรอบการแสดง จะอ่านเพียงแค่ห้าเรื่องเท่านั้น ความยาวแต่ละเรื่อง ประมาณ 10 – 20 นาที ซึ่งจะจัดกลุ่มหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รักใครชอบใคร อยากมาเชียร์ใคร โปรดติดตามกันไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าไม่อยากรอก็จองที่นั่งตามวันเวลาที่สะดวกมาชมได้เลยที่ 081 259 6906 เพราะตอนนี้รอบแรกเต็มแล้ว แต่ยังเหลือที่อีก 3 รอบ ช่วยมาให้กำลังใจพวกเขาและนักอ่านกันเถอะ

Monday, 26 January 2009

MeMoment



MEMOMENT
Photograph, Performance, Film and Music


งานแสดงศิลปะหลากแขนงกับความทรงจำ นำเสนอด้วยงานจัดวาง แสดงสด และ IMPROVISATION เชื่อมร้อยประสานจาก theme “ความทรงจำ” โดย 4 ศิลปิน

อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ
มานุสส วรสิงห์
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
และวง The Cucumber The Killer

@ Crescent Moon Space & B Floor Room
13-14 กุมภาพันธ์ 2552
เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป

โทร 084 713 5075

หรือ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเร็วๆนี้ที่นี่

Sunday, 25 January 2009

นพพันธ์กับวันของละครเวที


เก็บข่าวจากนิตยสาร Happening ประจำเดือนมกราคมนี้มาให้อ่านกัน ในฉบับนี้มีคอลัมน์ A Year in their Lives สัมภาษณ์คนดังหลายๆคน หนึ่งในนั้นก็มีคนละครเวทีรวมอยู่ด้วย คือ อ้น นพพันธ์ บุญใหญ่ ปีที่ผ่านมาเขาทำละคร 3 เรื่อง และแสดงที่ Crescent Moon Space ทั้งสามเรื่อง จนใครหลายๆคนเข้าใจว่าเขาจะยึดพระจันทร์เสี้ยวการละคร เคยถามเขา เขาบอกว่าชอบพื้นที่ในโรงละครเล็กๆแห่งนี้ มันทำให้เขาคิดอะไรได้หลายๆอย่าง อ้นเคยร่วมงานกับพระจันทร์เสี้ยวใน “Antigone” และ “ความฝันกลางเดือนหนาว” ในปี 2549 และล่าสุดมาร่วมวาดภาพเขียนทรายใน “หยดน้ำตาในทะเล” งานเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่าน และจะมาร่วมโครงการ อ่าน(เรื่อง)รัก ในเดือนหน้านี้ ตอนนี้มาลองอ่านบทสัมภาษณ์เขากันว่าปีที่แล้วในความคิดเขาเป็นอย่างไรบ้าง

นพพันธ์กับวันของละครเวที
โดย วิภว์ บูรพาเดชะ
จากนิตยาสาร Happening ประจำเดือนมกราคม 2552



แม้จะเพิ่งก้าวเข้าสู่วงการละครเวทีไม่นานแต่ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา อ้น-นพพันธ์ บุญใหญ่ ก็น่าจะเป็นคนละครที่ขยันที่สุดแล้ว เพราะเขาทำละครเองถึง 3 เรื่อง (เรื่องแรกยังถูกนำกลับมาเล่นซ้ำในเทศกาลละครกรุงเทพ 2551) และยังไม่นับที่เขาไปร่วมเล่นละครเวทีกับใครต่อใครอีกหลายเรื่อง

ละครของนพพันธ์จัดแสดงในโรงละครเล็กๆอย่าง Crescent Moon Space เป็นหลัก เป็นละครเวทีที่ดูง่าย ยิ่งสองเรื่องหลังเข้าขั้นสนุกสุดเหวี่ยง แต่ทุกเรื่องก็มีความแตกต่างกันอยู่ จากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนใน ดอกไม้ในแสงแดด มาสู่ละครเวทีแนวทดลองกวนๆ ชื่อ Welcome to Nothing และต่อด้วยงานฟีลกู๊ดเรื่องของเด็กชายช่างฝันที่ต้องเดินทางไปอยู่กับครอบครัวแปลกๆที่ต่างจังหวัดใน ฝากหัวใจไว้ที่อุบล แต่ในความต่างก็มีความห่ามเล็กๆ และพยายามทดลองอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ จนทำใหใครหลายคนกลายเป็นแฟนประจำของนพพันธ์ไปแล้ว

“ผมแค่คิดว่า ถ้าเราไม่ทำละครเวทีแล้วจะทำอะไร มีวัตถุดิบอยู่แล้วบทก็เขียนไว้แล้ว ตัวแสดงก็มี”
อ้นอธิบายที่มาของความขยัน “ผมไม่ได้เร่งตัวเองให้ทำ แต่ผมชอบทำงานกับเพื่อน ชอบตอนซ้อมที่หัวเราะขำกัน ชอบที่มีภาพในหัวว่า คนดูเขาจะเห็นฉากนี้อย่างนี้มันน่าจะขำดี หรือมันน่าจะเหี้ยดีนะ แม้แต่ตอนนั่งทำโปสเตอร์ผมก็ชอบ คือ ผมชอบทุกๆขั้นตอนของละครเวทีเลยนะครับ” เขาหัวเราะขำ “ทำละครมันสนุกจริงๆ แต่ปีนี้ผมได้เรียนรู้ชีวิตด้วย รู้นิสัยคน เรียนรู้ตัวเองด้วย เห็นตัวเองในงาน เห็นตัวเองในการดีลกับคน รู้ว่าเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ในบางเรื่อง แล้วก็ได้รู้ว่าเครียดไปก็ไม่ดี ก็เริ่มไม่ยึดติดนะ”

ปีที่ผ่านมาทำให้อดีตกราฟฟิคดีไซเนอร์ที่เคยเป็นดาราหนังคนนี้ได้เรียนรู้มาเยอะแล้ว ในปี 2552 อ้นเลยตั้งใจจะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เขาน่าจะมีโครงการแปลกๆอย่างงานวิดิโอหรือหนังสั้นมาให้เราดู แต่แน่นอน สิ่งที่อ้นทิ้งไม่ได้แน่ๆก็คือสิ่งที่ทำให้เขารู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น-ละครเวที

ตอนนี้เขากำลังคิดงานใหม่ๆที่น่าจะจัดแวดงในปีนี้ แต่ที่แน่ๆเขาจะแสดงเดี่ยวครั้งแรก ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ใน H-A-M-L-E-T: The Techno Drama เป็นการร่วมงานกันอีกครั้งกับ New Theatre Society กำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ โปรดติดตามกันต่อที่นี่ Crescent Moon Space

Friday, 23 January 2009

Water Time and new postcard

วอร์เตอร์ไทม์กับโปสการ์ดใหม่

มาแล้วๆ โปสการ์ดใหม่อีกสองแบบของ Water Time มาดูกันเลยดีกว่า

แบบที่ 1





















แบบที่ 2










แล้วคุณๆชอบแบบไหน
ไม่มีของรางวัลจะให้ ถ้าอยากตอบ โพสต์ที่คอมเม้นท์ด้านล่างได้เลย


นอกจากจะออกแบบโปสการ์ดมาเพิ่มแล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังซ้อมอย่างหนัก มาดูบรรยากาศการซ้อมอย่างขมักเขม้นเพราะต้องใช้ทักษะทางภาษาถึงสามภาษา คือ ไทย อังกฤษ และ ภาษาญี่ปุ่น เรื่องนี้พูดถึงคนคู่หนึ่ง แน่ล่ะ เขามีนักแสดงชายและหญิง คือ โชโกะ ทานิกาวา และ ฮีน ศศิธร พานิชนก กับผู้กำกับ ครูหนิง พันพสสา ธูปเทียน และตัวละครอีกหนึ่งที่เพิ่งปรากฏตัวออกมา นักแสดง คือ อภิรักษ์ ชัยปัญหา แต่เขาเป็นใครในเรื่อง โปรดติดตามเร้วๆนี้ใน Water Time





ผมชื่อชาติ



เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดฉายหนังรอบพิเศษ เรื่องผมชื่อชาติ (Lost Nation) กำกับโดยศาสตร์ ตันเจริญ หลังจากฉายหนังมีการพูดคุยกันของแขกพิเศษ คนรักหนัง และเพื่อนๆชาวไทยอินดี้ บรรยากาศคึกคักผู้คนมากมายบรรจุเข้าไปในโรงละครเล็กๆของ Crescent Moon Space


ข้อมูลภาพยนตร์
ผมชื่อชาติ
Lost Nation
กำกับโดย ศาสตร์ ตันเจริญ
Directed by Zart Tancharoen
ความยาว 100 นาที
Runtime: 100 min

Monday, 19 January 2009

1st meeting play reading project
















ประชุมสุมหัวนัดแรก

โครงการอ่านบทละคร อ่าน(เรื่อง)รัก อ่านรักจากวรรณกรรม โดยคนทำละคร งานนี้เป็นโครงการละครงานแรกของปีนี้ที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space โดยทางพระจันทร์เสี้ยวอยากจะเห็นมุมมองเรื่องรักในหลายมิติ จากปีที่แล้วเราผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย เกิดการแบ่งแยกและความเกลียดชัง เราเลยอยากพูดถึงด้านความอ่อนไหวในใจอย่างความรัก ซึ่งน่าจะทำให้เราละมุนละไมขึ้น เราอยากเห็นการอ่านบทละครแบบมีผู้เข้าชม อยากทำงานร่วมกับนักละครหลายคนและรู้จักกันมากขึ้นผ่านหนังสือที่เขาอ่าน อยากแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความรักจากหลายแง่มุม


ที่สำคัญที่สุดโครงการนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะพวกเขาทั้งสิบคนก็สนใจและให้ใจกับเราเข้ามาร่วมกันคิดร่วมกันทำงานครั้งนี้โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน งานนี้เปิดชมฟรีไม่เก็บบัตร แต่เต็มใจเปิดรับหยอดกล่องเพื่อใช้ในการจัดเตรียมงาน


นักทำละครสิบคนที่ว่านี้ ได้แก่ สวนีย์ อุทุมมา, สายฟ้า ตันธนา, คานธี อนันตกาญจน์, อภิรักษ์ ชัยปัญหา, ปานรัตน กริชชาญชัย, เกรียงไกร ฟูเกษม, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศรวณี ยอดนุ่น, เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ และ สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล


เรามีกระบวนการทำงานในช่วงเวลาหนึ่งเดือน หลังจากเลือกเรื่องกันแล้ว ทั้งสิบคนก็มาเจอกันเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ เพื่อคุยถึงเรื่องที่เลือก เตรียมงาน และถ่ายรูปร่วมกัน การทำงานในครั้งนี้แต่ละคนที่เข้าร่วมจะเป็นเลือกเรื่อง เลือกฉากที่จะอ่าน เลือกผู้อ่าน กำหนดทิศทางการนำเสนอตีความและเป็นผู้กำกับการอ่านที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก โดยเราจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม ผลัดกันนำเสนอในแต่ละรอบ นั่นหมายความว่า งานของคนคนหนึ่งจะจัดแสดงเพียงแค่ 2 รอบเท่านั้น


เราจะมีกระบวนการพบปะกันอีกสองครั้งก่อนวันงาน ได้เจอกันได้คุยกัน แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องรักในหนังสือ อาจมีข้อเสนอแนะให้กัน เป็นการทำงานแบบเห็นหน้าเห็นตากัน


ตอนนี้เราก็มีฉากรัก สิบฉากจากวรรณกรรมสิบเรื่องทั้งของไทยและต่างประเทศ แต่ไม่ต้องกลัวว่างานนี้จะหวานเลี่ยน เพราะงานที่แต่ละคนเลือกมีความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม และที่น่าสนใจมากก็คือฉากตอนที่เขาเลือกมานี้สะท้อนตัวผู้เลือกเองเช่นกัน งานนี้นอกจากจะชวนมานั่งดูงานกันแล้ว เราก็อยากจะชวนคุยในเรื่องรักและเรื่องวรรณกรรมที่เขาเลือกมาอ่านในครั้งนี้กันด้วย จะได้เป็นการเจอกันระหว่างคนดูและคนทำงาน


หากสนใจโทรมาจองที่ได้ ที่เบอร์ 081 259 6906

เนื่องจากโรงละครของเราเล็ก จุผู้ชมได้รอบละ 30 คน

รอฟังข่าวความคืบหน้า เร็วๆนี้

Sunday, 11 January 2009

Water Time


Water Time (Mizuno Zikan)

"เวลาทะเลาะกับแฟน เราทะเลาะเป็นภาษาอะไร"
เรื่องของนักเขียนบทหนุ่มชาวญี่ปุ่น และ สาวไทย
Play in English Japanese and Thai with subtitle

กำกับการแสดงโดย พันพัสสา ธูปเทียน
เขียนบท โชโกะ ทานิกาวา
นักแสดงชาย โชโกะ ทานิกาวา
นักแสดงหญิง ศศิธร พานิชนก
และ อภิรักษ์ ชัยปัญหา

แสดงที่
Crescent Moon Space
สถาบันปรีดีพนมยงค์ สุขุมวิท55 (ซอยทองหล่อ)

รอบพิเศษ 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 19.30 น.
รอบปกติ เวลา 19.30 น.
17 กุมภาพันธ์ 2552 - 1 มีนาคม 2552 *****ยกเว้นวันจันทร์
เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น.

บัตรราคา 300 บาท นักเรียน นักศีกษา 150 บาท

สร้างสรรค์โดย Life Theatre
Tel 0825586163



Friday, 9 January 2009

อ่าน(เรื่อง)รัก





พระจันทร์เสี้ยวชวนชม
Play Reading Project


อ่าน(เรื่อง)รัก
อ่านรักจากวรรณกรรมโดยนักทำละครหลายคน


ที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ (ซ.ทองหล่อ)


7 – 8 ก.พ. 2552
เวลา 15.00 และ 19.30 น.

สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 081 259 6906
ชมฟรีไม่เก็บบัตร
(รับผู้ชม 30 ที่นั่งต่อรอบ)


Wednesday, 7 January 2009

ละครเวทีโรงเล็ก
















ละครเวทีโรงเล็ก

ข้อมูลมาจากนิตยสาร Metro Life
ปีที่ 5 ฉบับที่ 250
วันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2551



เป็นคนดูละครทีวีผ่านจอสี่เหลี่ยมจนเบื่อแล้ว ลองเปลี่ยนเป็นคนดูละครเวทีโรงเล็กที่เล่นกันสดๆ ได้ใกล้ชิดถึงอารมณ์และน้ำเสียงดูบ้าง รับรองได้ว่าได้อารมณ์ไปอีกแบบ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลละครกรุงเทพฯ แบบนี้ โรงละครต่างๆ ในกรุงเทพฯ และเหล่านักแสดงพร้อมใจกันนำเสนอความเพลิดเพลินแบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่ไหนสวยงามอย่างไร มีการแสดงอะไรบ้าง เตรียมตัวไปชมกันได้เลย


Crescent Moon Space

โรงละคร Crescent Moon Space เดิมเคยเป็นห้องสำนักงานของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งได้การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่นี้จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันปรับปรุงเป็นโรงละครโรงเล็ก Crescent Moon Space ตั้งแต่ปี 2550 ใช้เป็นที่ซ้อม ที่ประชุม ที่จัดทำอุปกรณ์ และเป็นละครโรงเล็กที่แสดงผลงานละครเวทีและงานศิลปะอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถจุผู้ชมประมาณ 30-40 ที่นั่ง เหมาะสำหรับการแสดงขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์และฉากน้อย เน้นให้นักแสดงกับผู้ชมนั้นอยู่ในระยะใกล้ชิด เพื่อเป็นพื้นที่ทางเลือกที่จะเชื่อมโยงผู้สร้างงานศิลปะการละครกับผู้ชม และเชื่อมโยงคนในสังคมให้มีพื้นที่ปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้โดยผ่านงานด้านศิลปะและการละคร ขณะนี้ได้จัดแสดงละครไปแล้วกว่า 19 เรื่อง รวม 129 รอบ

Crescent Moon Space จะจัดแสดงละครในงานเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ได้แก่ เรื่อง “Sun Flower: ดอกไม้ในแสงแดด” กำกับโดย นพพันธุ์ บุญใหญ่ จัดแสดงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน และ 4-7 ธันวาคมนี้ วันธรรมดา รอบเวลา 19.30 น. และ เสาร์-อาทิตย์ รอบเวลา 14.00 น.

Crescent Moon Space ตั้งอยู่ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ชั้น 1 ด้านหลังแท่นหินสีดำ ตรงลานน้ำพุ สถานที่รถไฟฟ้าทองหล่อ ทางออก 3 รถประจำทางสายที่ผ่าน ได้แก่ 2, 25, 38, 40, 48, 98, ปอ.25, ปอ.508, ปอ.501 และ ปอ.513

ติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์

http://www.crescentmoontheatre.com


Monta Performing Art

โรงละครชุมชนมันตาศิลปะการแสดงก่อตั้งขึ้นเมื่อปิ 2539 ในรูปของ Community Theatre เพื่อเป็นแหล่งสื่อสร้างสรรค์การแสดงและแหล่งวิชาความรู้อันหลากหลาย โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา มันตาศิลปะการแสดง ได้ดำเนินการผลิตผลงานของตนอย่างต่อเนื่องและเติบโตขึ้นมาโดยลำดับ จนเมื่อปี 2549 อันเป็นวาระครบรอบ 10 ปี มันตาศิลปะการแสดงได้ปรับเปลี่ยนองค์กรให้อยู่ในรูปของ Production House ที่สามารถดำเนินการรับจัดการผลิต บรหารการจัดการการแสดงแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของผูปรารถนาใช้งานศิลปะเพื่อการนำเสนอสารบันเทิงออกสู่สายตาสังคมอย่างเต็มรูปแบบ เปี่ยมด้วยคุณภาพ

โรงละครมันตาศิลปะการแสดงดำเนินการจัดงานแสดงบนเวทีในรูปแบบที่หลากหลายในทุกพื้นที่ ในโอกาสต่างๆ พัฒนาและส่งเสริมผู้ผลิตสื่อการแสดง รับจัดการอบรมบุคคลากรเพื่อสื่อการแสดง คัดเลือกและเปิดสอนสำหรับนักแสดงภาพยนตร์ไทย ละครเวที อำนวยการและควบคุมการสร้างสรรค์งานโดยอาจารย์นิมิตร พิพิธกุล หรือพี่หนืด และในวันที่ 29-30 พ.ย. นี้จะจัดแสดงละครเวทีเรื่อง “เห็นแก่ลูก”

โรงละครชุมชนมันตาศิลปะและการแสดง ตั้งอยู่ใน ซ. วิภาวดี 58 ถ.วิภาวดีรังสิต ฝั่งตรงข้ามนอร์ทปาร์ค ฝั่งเดียวกับสโมสรตำรวจ บริเวณใกล้ช่วงแยกหลักสี่ หากโดยสารรถประจำทางให้ลงป้ายนอร์ทปาร์คแล้วเดินข้ามสะพานลอย สายที่ผ่าน ได้แก่ 29, 52, ปอ.10, ปอ.29, ปอ.504 และ ปอ. 510

ติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางเว็บไซด์ http://www.montaart.com


Democrazy Theatre Studio

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดยกลุ่มศิลปินที่ทำงานวิชาชีพด้านการแสดงในแขนงต่างๆ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะการแสดงมาระยะหนึ่ง โดยมีกลุ่มศิลปินรุ่นพี่ๆ และครูอาจารย์เป็นที่ปรึกษาการตัดสินใจเปิดพื้นที่ Art Space เพราเข้าใจถึงความสำคัญของการมี Art Space ที่จะเป็นพื้นที่ทางเลือกใหแก่คนทั่วไปในการหาความรื่นรมย์ บันเทิงใจ หรือความรู้ ด้วยศิลปะที่เลือกได้ด้วยตัวเอง เป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินได้เข้ามาพบปะ แลกเปลี่ยน ฝึกซ้อมและนำเสนอผลงานของตนเองสู่สาธารณะ โดยในเดือนตุลา และพฤศจิกายน ได้จัดให้เยาวชนผู้สนใจเข้า workshop ในโครงการตัวอ่อนแปดคูณแปด โดยกลุ่มแปดคูณแปด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยุทธศษสตร์ละครสำหรับเยาวชน และ สสส. และเปิดพื้นที่ร่วมกับเทศกาลละครกรุงเทพ 2551 เพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงาน อาทิ การแสดงพิธีเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2551 กำกับโดยประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิปาธร ซึ่งจะเปิดการแสดงที่สวนสันติไชยปราการ ในวันที่ 22 พ.ย. นี้ และการแสดงละคร Romantic Comedy เรื่อง “Christmas Story 2” โดย Shoko Tanigawa กลุ่ม AA ในวันที่ 10-14 ธ.ค.

Democrazy Theatre Studio ตั้งอยู่ใน ซ. สะพานคู่ ใกล้ตึกลุมพินีทาวเวอร์ และ MRT ลุมพินี หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ให้ลงสถานีลุมพินี ทางออกที่ 1 เดินย้อนมาทาง ซ.สะพานคู่ เข้าซอยไปประมาณ 30 เมตร ถ้าขับรถให้จอดใน ซ.สะพานคู่ (เดินรถออกทางเดียว) หรือสวนลุมไนท์บาซาร์ได้ หากเดินทางโดยรถประทาง สายที่ผ่าน ได้แก่ 4, 13, 22, 45, 46, 47, 74, 109, 115, 116, 141, 507 และ ปอ. 544

กิจกรรมต่างๆได้ทางเว็บไซด์

http://www.siamdemocrazy.com


Makhampom Studio

มะขามป้อมเป็นกลุ่มละครเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมชุมชน เริ่มก่อตั้งและเติบโตมาพร้อมกับการขับเคลื่อนทางปรชาธิปไตย มีกระบวนการละครเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเปิดอบรมวิธีการใช้เครื่องมือนี้ให้แก่องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ จากนั้นร่วมบุกเบิกละครไทยร่วมสมัย ขับเคลื่อนด้วยพลังอาสาสมัครจำนวนมาก และในปี 2548 ๆด้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สองปีต่อมาจึงเปิดมะขามป้อมสตูดิโอ และมีมุมกาแฟสำหรับพบปะพูดคุย หรืออ่านหนังสือเพื่อความผ่อนคลาย

มะขามป้อมสตูดิโอเป็นโรงละครขนาดเล็กขนาด 30-70 ที่นั่ง ยินดีเปิดบริการสำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่ นักศึกษาการละคร และคณะละครที่ต้องการแสดงผลงานละครขานดย่อม ละครเวทีที่จัดแสดงเร็วๆนี้ตชคือ “บันทึกอิสรา” เรื่องจริงของศรีบูรพาผู้เขียนนวนิยายข้างหลังภาพอันลือลั่น เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกถึง 4 ปี ทว่างานเขียนของเขาไม่เคยติดอยู่ในคุก กำกับการแสดงโดย ประดิษฐ ประสาททอง ผู้สนใจสามารถชมตัวอย่างการแสดงสั้นๆ ได้ในวันที่ 22, 29, พ.ย. และ 6 ธ.ค. นี้ ณ เวทีกลาง สวนสันติไชยปราการ และชมการแสดงเต็มรูปแบบได้ที่มะขามป้อมสตูดิโอ ระหว่างวันที่ 10-15 ธ.ค.

การเดินทางไปมะขามป้อมสตูดิโอ ถ้าไปด้วยรถไฟฟ้า BTS ให้ลงสถานีสะพานควาย ทางออกที่ 2 เมื่ออกจากรถไฟฟ้าให้เดินย้อนมาที่สี่แยกสะพานควาย ผ่านโรงพยาบาลเปาโล ห้างบิ๊กซี เมื่อถึงสี่แยกไฟจราจร เดินข้ามสะพานลอยมาลตรงป้อมตำรวจ ซึ่งอยู่ตัดกับสตูดิโอ หากเดินทางโดยรถประจำทาง รถเมล์สายที่ผ่านบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ 8, 27, 29, 54, 74, 77, 117, 204 และ 502

ติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางเว็บไซด์

http://www.makhampomstudio.net


ปล. ช้าไปหน่อย เพราะเพิ่งได้รับนิตยสาร แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับนักดูละคร จะได้ไปโรงละครทางเลือกที่มีอยู่ตอนนี้ได้ถูก หรือติดตามข่าวสารกันได้ อันที่จริงตอนนี้ยังมีโรงละครเล็กๆแบบนี้อยู่อีก 2 แห่ง คือ Naked Mask Playhouse ของเครือข่ายหน้ากากเปลือย ที่ตึกพญาไท และ Ideal Studio ของคณะมรดกใหม่ ที่รามคำแหง


Thursday, 1 January 2009

Happy New Year 2009



สวัสดีปีใหม่ 2552

ปีใหม่แล้ว ขอให้ได้อวยพรกับใครสักคนหรือหลายๆคน อยากส่งความสุข และความรู้สึกดีๆ ขอให้คุณๆมีความสุขทุกวัน ขอให้ศิลปะการละครจงเจริญ