welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Thursday 30 July 2009

RUN review


RUN: ทดลอง ค้นหา วิ่งวน ถึงเส้นชัย
Written by ณัฐพัชญ์


ในช่วงหลัง ๆ ของการแสดงละครเวทีในโรงเล็ก ๆ อย่าง Crescent Moon Space นั้น เรามักพบการทดลองและค้นหาแนวทางการนำเสนอใหม่ ๆ ที่มากกว่าการเป็นแค่ละครพูดธรรมดาแบบฉากต่อฉาก ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานแสงเสียง ดนตรี มัลติมีเดีย จนประมาณว่าเป็นเหมือนการ “ปล่อยของ” ของผู้เขียนบทและผู้กำกับ

จนหลาย ๆ ครั้งผมเองก็รู้สึกว่าละครเวทีโรงเล็ก ๆ เหล่านี้กำลังจะไปไกลกว่าละครเวทีที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจกันเสียแล้ว



RUN ผลงานจากฝีมือของกฤษณะ พันธุ์เพ็งก็เหมือนจะรู้ตัวดีแถมประกาศตัวแต่ไก่โห่ด้วยซ้ำว่า Exploring Theatre ซึ่งแน่นอนว่าละครเวทีเรื่องนี้ก็คงมีอะไรให้ค้นหา (พอ ๆ กับที่ผู้กำกับก็กำลังค้นหาอะไรบางอย่างไปพร้อม ๆ กับคนดู) และโดยส่วนตัว...ผมว่ามันเป็นละครที่มีสีสันจัดจ้านแบบเป็นตัวของตัวเองด้วยเลยทีเดียวล่ะ



เริ่มเรื่อง RUN อาจจะทำให้เรางงเล็ก ๆ เมื่อพบว่ามันเป็นทั้ง Dance และ Physical ในฉากแรก ๆ จนอาจจะทำให้คนดูหัวปั่นได้ว่า “ต้องการอะไรจากผม” แต่เหมือนผู้กำกับจะรู้ดีว่าขืนทำไปเรื่อย ๆ คนดูคงได้เมาคาโรงละครตลอดชม.ครึ่งเป็นแน่ จะกระโดดเข้าสู่การเป็นบทละครพูดว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง “มะเหมา” กับ “หงาย” สองชายหนุ่มที่บังเอิญ(?) ไปพบกันในฟิตเนสแห่งหนึ่ง และเริ่มสร้างความสัมพันธ์ต่อจากนั้น ก่อนท้ายที่สุดมันจะไม่ใช่ความสุขแต่กลายเป็นความเศร้าแทน


หนึ่งในกลวิธีการเล่าเรื่องแบบทดลองที่เราเจอกันบ่อย ๆ ในละครเวทีสมัยใหม่คือการสร้างภาพปะติปะต่อเหมือนภาพตัดแปะมาเรียงต่อ ๆ กัน แน่นอนว่าบางครั้งมันก็รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างถ้าเราเป็น “คนนอก” ที่ไม่ได้เข้าไปอยู่กับเรื่อง แต่ในอีกมุมนึงนั้น หากเราลองเทียบเคียงเป็นคนที่เกิดสถานการณ์แบบนั้น สภาวะจิตใจของเราก็ไม่ต่างจากความทรงจำที่ขาดวิ่นนำมาเรียงต่อ ๆ กันและมีหลายช่วงที่ขาดหายหรือบิดเบี้ยวไป ซึ่งส่วนนี้หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไปว่าคล้ายกับการนำเสนอแบบ Expressionism โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลาย ๆ ฉากถูกนำเสนอออกมาด้วย Physical Theatre แทนที่จะเป็นการเล่าเรื่องด้วย Dialogue ปรกติ นั่นยังไม่รวมถึงการผสมผสานระหว่างสื่อมัลติมีเดีย ภาพเคลื่อนไหว รวมไปถึงบทละครที่ “เล่า” ด้วยวิธีที่แหวกแนวทับซ้อนเข้าไปอีก

จุดที่ผมชอบที่สุดคือการที่ละครลากคนดูให้รู้สึกเหมือนกับการพาทัวร์งานแสดงศิลปะแห่งหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยภาพความทรงจำต่าง ๆ ของตัวละคร แต่ภาพต่าง ๆ ประกอบไปด้วยงานที่มีสไตล์ต่างกันแบบสุดขั้ว รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็พอจับเส้นทางของเรื่องราวไปเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งก็เป็นจุดดีที่ผู้กำกับไม่ปล่อยให้เราออกทะเลกันไปจนกู่ไม่กลับ ก่อนที่สุดท้ายจะมาขมวดปมในการโยนคำถามกลับให้คนดูในฉากสำคัญเพื่อแสดงความคิดเห็นว่าสาเหตุของปัญหาในความสัมพันธ์ของตัวละครนั้นเกิดจากอะไร

อีกประเด็นหนึ่งที่ละครกำลังทดลองกับผู้ชมและได้ผลดีคือการสร้างสีสันให้เรื่องดูสนุกสนานกับการแดกดันและเปลือยความจริงให้ฮากลิ้งกับหลาย ๆ ฉาก เช่นฉาก Spa ที่ให้บริการ....​(ไปเดาเอาเองนะครับ) รวมถึงรายการทอล์คโชว์ที่ประชดประชันสังคมนอกโรงละครได้อย่างสุดฤทธิ์ ซึ่งนี่ผมว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของละครเวทีโรงเล็ก ๆ ที่สามารถจะกล้า “กัด” และ “กระแทก” สังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องกลัว กบว. ซึ่งแน่นอนว่าเราดูในโรงละครใหญ่ ๆ ไม่ได้ (และโดยส่วนตัว ผมว่ามันสนุกว่าละครเวที Sit Com ในทีวีที่พยายามเล่นมุกตลกคาเฟ่ที่สัปดนยิ่งกว่าหลายเท่านัก)



การใช้ Physical Theatre มาผสมน่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดของคำว่า “ทดลอง” ที่ผู้ชมน่าจะนึกคิดตลอดการดูละคร ซึ่งก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาคือความ “ชัดเจน” ของ Physical ที่น่าจะเป็นการบ้านกลับไปให้ผู้ทดลองคิดถึงแนวทางของตัวเองที่คมกริบกว่านี้ เพราะหลาย ๆ ครั้งนั้น ภาพที่เห็นบนเวทีออกจะเบลอ ๆ และสับสนจากการพยายามสร้าง Action ที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะจนกลายเป็น “รก” และเทียบเคียงยากอยู่เสียหน่อย



ตัวกฤษณะ พันธุ์เพ็งเองที่นอกจากจะกำกับ สร้างสรรค์แล้ว ก็ยังแสดงเป็นตัวละครเอกเองอีกด้วย และเราก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนที่แสดงละครเวทีแนวนี้ได้อย่างเจนจัดคนหนึ่ง จังหวะของการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ Beat ของการแสดงได้อย่างดี เช่นเดียวกับ วรัญญู อินทรกำแหง นักแสดง Partner ของเขาที่แม้จะมีสไตล์การแสดงที่แตกต่างกัน แต่ก็กลายเป็นเคมีที่เข้ากันได้อย่างดีบนเวที

ที่จะกินซีนที่สุดแม้จะออกมาน้อยที่สุดคือปานรัตน กริชชาญชัย ที่เราคงเห็นเธอบ่อยเหลือเกินกับละครเวทีวิกเล็ก ๆ แบบนี้ แต่ก็อย่างที่ประโยคแรกว่าเอาไว้ เพียงฉากไม่กี่ฉากที่เธอออกมาก็เรียกว่าเหมือนกับการสาดสีจัด ๆ ลงไปบนละครจนดูตื่นตาตื่นใจขึ้นมาทันที (โดยส่วนตัว ผมว่าเธอเป็นนักแสดงหญิงที่พูดบทตลกหน้าตายหรือแดกดันได้อย่างเจ็บแสบที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว) ผมพลิกมองสูจิบัตรที่เล่นเรื่องการวิ่งแข่งมาเป็น Key Visual (ก็ตามชื่อเรื่องนั่นแหละครับ)

เอาล่ะ เมื่อละครเริ่มแสดง มันก็คล้าย ๆ กับผู้ชมเริ่มวิ่งออกจากจุดสตาร์ทแล้ววิ่งตามนักแสดงที่วิ่งน้ำหน้าเรา ลู่วิ่งครั้งนี้อาจจะมีทั้งทางตรง ทางเลี้ยว ทางอ้อม รวมไปทั้งการวนกลับมาจุดเดิมจนบางทีเราอาจจะสงสัยว่า “วิ่งตรง ๆ ไม่ได้หรือ” ก่อนที่จะเข้าเส้นชัยในตอนจบ แต่พอเราพักเหนื่อยที่เส้นชัยแล้วมองย้อนกลับไปตามทางที่เราวิ่งมา มันก็เป็นการวิ่งที่โอเค มีสันสัน และไม่น่าเบื่อหน่ายเหมือนวิ่ง

ขอขอบคุณเว็บวิจารณ์ Bark and Bite ที่เอื้อเฟื้อให้แบ่งปันกันอ่าน
สนใจติดตามอ่านวิจารณ์งานละครและหนังอย่างไร้ความปรานีได้ที่นี่
http://www.barkandbite.net/

No comments: