welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Wednesday, 30 January 2008

I Love You, Guy



กุมภาพันธ์นี้
กลุ่มละคร On Box Theatre Group เสนอ ละครเวทีต้อนรับเดือนแห่งความรัก เรื่อง


ที่รักของ...กัน I Love You, Guy

"กันกับนายเคยคบกัน แม้ตอนนี้เป็นเพื่อนกัน แต่นายมีคนใหม่ได้ไง"


กำกับการแสดงโดย สายฟ้า ตันธนา
แสดงโดย บัณฑิษฐ์ พันศิริ , อรรถพล อนันตวรสกุล , วัชรพงษ์ กาญจนกฤต และ ออกัส

วันที่ 15 - 17 กุมภาพัน์ 2551
เวลา 19.30 น. / วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 16.00 น.
(รวมทั้งหมด 5 รอบ)

ณ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์
บัตรราคา 200 บาท นักเรียนนักศึกษา 150 บาท

สอบถามรายละเอียด 081 509 0159

Monday, 21 January 2008

Sun Flower: more 3 shows




เพิ่มการแสดงอีก 3 รอบ

ดอกไม้ในแสงแดด
เขียนบท/กำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่

ดอกทานตะวันหันตามแสง
คนวิ่งหาความอบอุ่นบางทีเราก็สวยงาม
บางทีก็ช่างบอบบางเราต่อสู้กับทุกๆวันที่ผ่านไปเพื่อเหนี่ยวรั้งสิ่งที่เรารัก

ชีวิตของคนเราก็ไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่มีชีวิตทั่วไป
เราต้องการความรักและความอบอุ่น
เหมือนดอกทานตะวันที่ดำรงชีวิตด้วยการรับแสง
แต่สำหรับพวกเขาสามคน
ในยุคสมัยที่ยากที่จะตามทัน
ทำไมสิ่งๆนั้นมันจึงหายากเหลือเกิน

การหาจุดยืน ค้นหาตัวตน ดิ้นรนเพื่อครอบครองสิ่งที่จับต้องไม่ได้

เพิ่มรอบการแสดงอีก 3 รอบ
วันศุกร์ 25 มกราคม 2551 เวลา 19:30 น.
วันเสาร์ 26 มกราคม 2551 เวลา 14:30 น. และ 19:30 น.
บัตร 200 บาท

ติดต่อ 08 6814 1676
Email : Inseadang@hotmail.com

Wednesday, 16 January 2008

Talk Behind the Scene with Sun Flower

ทำความรู้จักกับคนเล่าเรื่องและผู้กำกับละครเวทีเรื่อง ดอกไม้ในแสงแดด
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย สินีนาฏ เกษประไพ
ถ่ายภาพโดย ภูมิฐาน ศรีนาค

อยากจะแนะนำให้รู้จักกับนักการละครที่กำลังสร้างงานมาแสดงที่ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เพื่อเป็นการทำความรู้จัก รู้ที่มาที่ไปในห้วงเวลาตอนที่เขาสร้างงาน อาจจะเป็นการเตือนความจำ และอาจจะเป็นการบันทึกถึงงานและคนสร้างงานที่เวียนกันเข้ามาเล่าเรื่องทำละครให้เราได้ดู อยากให้ที่นี่เป็นที่ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าสู่กันฟัง ทำความรู้จัก หรือเรียนรู้กันผ่านงานละครเวที

ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space เปิดฉากอย่างคึกคักด้วยละคร ดอกไม้ในแสงแดด ละครเวทีเรื่องแรกของปีนี้ที่ของคนเขียนบทและผู้กำกับหน้าใหม่ ชื่อ นพพันธ์ บุญใหญ่ ซึ่งใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าชื่อ อ้น ใครหลายคนก็อาจจะร้องอ๋อ แต่สำหรับทั้งคนที่รู้จักเขาหรือไม่รู้จักเขา ก็ลองมาทำความรู้จักเขามากขึ้นในแง่มุมละครผ่านการพูดคุยกับเขาก่อนการแสดงรอบแรกรอบสื่อเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

นาด : เข้ามาเกี่ยวข้องกับละครเวทีได้ยังไง
อ้น : (หัวเราะ) เมื่อประมาณสองปีที่แล้วโน่น ก็วันหนึ่ง ตอนนั้นผมพักอยู่แถวๆสะพานควาย แล้วเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ท้ายซอยนี่มีมะขามป้อมอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามะขามป้อมคืออะไร เขาบอกว่า เป็นกลุ่มละครเวที ละครชุมชน แล้ววันหนึ่งผมก็ตัดสินใจเดินไปที่มะขามป้อม ไปประตู ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเปิดรับ เขาถามว่ามาทำอะไร ผมก็บอกเขาว่า มีอะไรให้ผมทำมั๊ยครับ (หัวเราะ) ผมชอบละคร ผมชอบการแสดง มีอะไรให้ผมทำมั๊ย แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินสวนมา เขาก็กระซิบกับผู้หญิงคนนั้นว่า เอามันไปใส่ในงานศรีบูรพา แล้วผมมารู้ทีหลังว่าผู้หญิงคนนั้นชื่อ ตา และผู้ชายคนนั้นก็ชื่อ พี่ตั้ว(ประดิษฐ ประสาททอง) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมกับอาสาสมัครมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับวันเด็ก ซ้อมเชิดหุ่นกับซ้อมละคร ก็ไปร่วมทำ แต่ไม่ได้เล่น เพราะตอนเขาเล่นผมก็ไปอังกฤษแทน ดู ดูมันทำ แล้วจะทำไปทำไมไม่รู้

นาด : ตอนนั้นเป็นเพราะอ้นถามเพื่อนเกี่ยวกับละครหรือเพราะเพื่อนรู้ว่าอ้นชอบละครอยู่แล้ว
อ้น : เพื่อนรู้ แล้วเพื่อนบอก ตอนนั้นช่วงเดือนสองเดือน ก็ไปมะขามป้อมทุกวัน แล้วพี่ตั้วก็ชวนมาเป็นพิธีกรในเทศกาลละครกรุงเทพ แล้วก็ได้ไปดูงานของพี่กั๊ก (วรรณศักดิ์ ศิริหล้า) ที่ชื่อว่า Thank You ตอนนั้นเขาโซโล่ที่ Alliance Francaise ตอนนั้นก็ยังไม่เก็ทงานเค้าหรอก ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับละครซักเท่าไหร่ แล้ววันหนึ่งก็ไปดูหนังที่สกาล่าแล้วก็เห็นพี่กั๊กนั่งโดดเดี่ยวอยู่ที่เก้าอี้หน้าโรงหนัง ผมจำเขาได้ ก็เลยเข้าไปหาเขา บอกเขาว่า ผมชอบการแสดง ผมเป็นนักแสดง ถ้าพี่มีโปรเจคอะไร หรือถ้าพี่ขาดนักแสดงเรียกผมนะ เขาก็งงๆ เขาก็มองหน้าผมแบบงงๆ แล้วก็เจอเขาอีกบนรถไฟฟ้า เออ ก็แปลกดี ก็บอกเขาอีก เขาก็เลยจับไปเล่นเรื่อง ราโชมอน All Men Cast เล่นกับพี่โมทย์ และน้องชื่อคม นั่นเป็นงานละครชิ้นแรกกับพี่กั๊กในเทศกาลละคร

นาด : แล้วงานศรีบูรพา นี่เล่นทีหลังเหรอ
อ้น : ใช่ๆ มาทีหลัง นานเลย ตอนที่เล่นละครครั้งแรกก็ สนุกดี แต่ไม่รู้อะไรเท่าไหร่ ไม่รู้เทคนิค ไม่รู้การโคลสอัพ ซูมอิน สเตจมูฟเม้นท์ การเล่นให้คนดู การโปรเจคเสียง ไม่รู้อะไรซักอย่าง พอมองย้อนหลังไปแล้วรู้สึกแย่ นึกถึงภาพตัวเองแล้วรู้สึกว่าตัวเองเล่นอะไรเนี่ย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แล้วหลังจากนั้นมา ก็มาเล่นบีเฟส

นาด : ตอนนั้นมาบีเฟสได้ยังไง (B FEST คือ Workshop-Showcase จัดโดยกลุ่มละคร B Floor ปี 2549)
อ้น : ตอนนั้นเพื่อนบอกเพื่อนชวนมานาด ได้ยินอะไรเกี่ยวกับ B FEST มาก่อนบ้าง อ้น ก็ได้ยินมามาว่าเป็นเวริ์คชอป ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง Physical ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ก็เลยลองเข้ามาดู มาเวริ์คชอป แล้วประทับใจมาก มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องพูดน่ะ แต่แบบ ลองทำดูแล้วมันจะรู้ว่า เราได้คอลิตี้อะไรบ้างจากความรู้สึกจากร่างกายเรา มันพูดได้ง่ายกว่าคำพูดทางภาษา แล้วตอนที่ทำเวริ์คชอปอยู่เนี่ย ผมรู้สึกว่า มันคล่องตัวมาก มันใกล้ตัวมาก เลยรู้สึกว่า เราชอบแบบนี้ เราถนัดแบบนี้ ก็เลยอินมาก ชอบมาก

นาด : ถ้าถามว่าวันนี้อ้นชอบละครเวทีเพราะอะไร หรือชอบแนวไหน
อ้น : ตอนนี้ยังเริ่มต้นอยู่เพิ่งเริ่มต้นที่จะทำเอง ผมคงไม่สามารถทำละครแบบดั้งเดิม แบบกรีก หรือแบบเชคสเปียร์อะไรอย่างนั้นได้ ผมไม่รู้เรื่อง แต่ผมรู้ว่า อยากให้คนดูดูอะไร อยากให้คนดูรู้สึกอะไร ผมรู้ อยากให้เห็นภาพแบบไหน ผมสนใจสภาพแวดล้อมที่คนไม่ใส่ใจ แล้วเรานำมันมาเสนอ ในมุมมองของผม ผมว่ามันน่าสนใจ บางทีมันเป็นเวลาของเราที่จะเล่าเรื่องได้แล้ว ใช่ไหมฮะ บางทีคนเราก็มีเรื่องอยากจะเล่า ผ่านมุมของเรา ทุกคนก็อยากจะเล่าเรื่องของตัวเอง

นาด : รู้ได้ยังไงว่าถึงเวลาที่จะเล่าแล้ว
อ้น : มันมีอะไรสักอย่างขับดันอยู่ข้างใน ที่มันบอกว่า นายมีอะไรที่จะบอก แล้วนายก็มีวิธีที่จะบอกด้วย คือเมื่อก่อนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่ตอนนี้ได้เล่นละครกับพี่ ได้ดูดวิชามา ก็ดี นี่พอกลับไปเมืองนอกอีก ที่อังกฤษน่ะ ผมก็ไปเรียน ไปเวริ์คชอป มันแบบ มันเข้าทางได้ง่ายมากเลย แบบว่าเรารู้มาแล้วไง ทำแบบนี้ก็ได้แล้ว วอร์มอัพก็แบบนี้ ก็ได้แล้ว เขาไปเรียน เชคอฟ ไปเรียนนู่นเรียนนี่ มันก็เข้าใจได้ง่ายมากเลย เพราะเรารู้แล้วไง เราต้องการให้เขาโยนวิชาขั้นอื่นมาให้เรา เพราะขั้นนี้เรารู้แล้วไง อืม..ก็สนุกดี

นาด : ที่ไปเวริ์คชอปมานี่ เรียกว่าอะไร เกี่ยวกับอะไร
อ้น : มันหลายอันมากเลย ผมไปเข้าเวริ์คชอปตั้ง 20 กว่า คอร์ส ก็เยอะ ก็บางอันก็แบบธรรมดา บางอันก็เจอมาแล้ว แต่โดยรวมมันๆ มันได้เห็นความคิดของคนอื่น คนทำละคร ผู้กำกับ นักแสดงที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาก็เปิดทัศนคติเรากว้างขึ้นนาด ก่อนหน้านั้นอ้นอยู่อังกฤษ ทำอะไรอยู่ที่นั่น เรียนอะไรอ้น ผมเรียนกราฟฟิคดีไซด์ฮะ ก็งั้นๆ ก็อยู่หน้าจอทั้งวันทั้งคืนน่ะฮะ กราฟฟิคดีไซด์ เออ..แต่พอมาเล่น มาดู มาลง B FEST เนี่ย ผมเห็นว่ามันใกล้กับการทำกราฟฟิคมากเลย องค์ประกอบสเปซ ไซด์ อะไรอย่างนี้ จะเอาอะไรวางตรงไหน อะไรมันจะลงตัว ลองจัดแบบโล่งๆ หรือรกๆ มันได้หมดเลย ถ้าเกิดมันลงตัวแล้วมันดูแล้วมันโอเค สิ่งที่กราฟฟิคเล่นไม่ได้ คือ ความรู้สึกมั้งฮะ ความรู้สึก สัมผัส เขาเรียกว่าอะไรล่ะ เวลา ห้วงเวลา นี่ มัน real กว่าไง

นาด : แล้วรู้สึกยังไงกับการกำกับครั้งแรก
อ้น : กำกับครั้งแรกหรือฮะ ก็จริงๆแล้วก็เคยกำกับหนังสั้นมาก่อน แล้วก็มั่ว พูดจาไม่รู้เรื่อง นักแสดงก็ไม่รู้เรื่อง

นาด : ทำหนังสั้นกี่เรื่อง เรื่องอะไรบ้าง
อ้น : ทำ 3 เรื่อง ก็มีเรื่อง Almost a Love Story แล้วก็ Spook และก็เรื่อง ประเทศกูหายไปไหน นาด ตอนนั้นทำในวาระอะไร ฉายที่ไหนอ้น ก็ทำส่งประกวดบ้าง ส่งเพื่อโครงการ FTA กับมันตา เกี่ยวกับศิลปะอะไรหลายๆอย่าง ผมเลือกทำหนังสั้น ถ่ายไปทำไปก็ไม่ได้ฉาย เพราะมีปัญหาทางเทคนิค ก็เลยเอาการแสดงสดไปแสดงแทน แต่พอมากำกับเรื่องนี้ กำกับละครเวทีครั้งแรก ยังไงดีล่ะ บางทีอยากได้อะไรบางอย่าง บางทีในหัวของเรามันมีภาพบางอย่าง แต่การสื่อสารของเรามันขัดข้องไง ที่จะอธิบายให้นักแสดงได้รับรู้ว่าเราต้องการภาพแบบไหน แต่ผมก็มีวิธีที่จะได้ภาพแบบนั้นออกมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับนักแสดงด้วยว่า เขาเห็นด้วยหรือเปล่า
เมื่อก่อนเราเคยเป็นนักแสดงมาก่อน ทำงานกับผู้กำกับบางคน เราไม่เห็นด้วยกับเขาไง เราก็จะเกิดคอนฟลิค แบบเราก็ทำไป แต่เราไม่เกิดแรงขับจริงๆ เพราะว่าเราอยากจะทำอะไรที่เราคิดเราเชื่ออยู่ไง พอตอนนี้มาเป็นผู้กำกับ ผมก็ไม่อยากจะคิดแบบนั้น กำกับแบบนั้น ว่าฉันต้องการอย่างนี้ ต้องทำอย่าง ไม่ ผมไม่อยากจะทำแบบนั้น ผมแค่อยากให้เขารู้สึกในตอนนั้นมากกว่าจะไปบังคับเขา ก่อนที่คนดูจะรู้สึกอะไรได้จากการดูละคร นักแสดงต้องรู้สึกก่อน มันไม่ดีที่จะวางว่าฉากนี้ฉันต้องรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นการห่อของขวัญแล้วยื่นให้คน ซึ่งคนดู ก็อ้าวฉันจะมาดูทำไมล่ะ ถ้าเกิดเธอมาใช้อารมณ์รู้สึกทุกอย่างแทนแล้ว มันก็ไม่มีอะไรให้ค้นหา เพราะฉะนั้นนักแสดงต้องรู้สึกจริงๆ ถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ต้องเล่น ถ้ามันกระตุ้นก็กระตุ้น ไม่ต้องมาเสแสร้งให้มันกระตุ้นขึ้นมา ไม่งั้นคนดูก็จับได้ว่าพวกนายเสแสร้งเล่นกัน มันเป็นเส้นบางๆระหว่างเสแสร้งกับแอคติ้งนะฮะ มันมาจากเรารู้สึกยังไงกับโมเม้นท์นั้น มันต้องอยู่ทุกโมเม้นท์เลย
เพราะฉะนั้นจะทำยังไงจะอยู่ได้ทุกโมเม้นท์ ต้องหยุดคิดถึงตัวเองเลย หยุดคิดสิ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองเลย หยุดคิดยังไง ก็คือ เอาสมาธิทุกอย่างไปอยู่กับเพื่อนที่แสดงด้วย อยู่ที่เขา มองที่เขา อ่านเขาว่าเขากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ แล้วเวลาที่เขาพูดกับเราเนี่ย แล้วเรารู้สึกยังไงกับที่เขาพูด แล้วเราก็เล่นไปกับอารมณ์นั้น ซึ่งถ้าเกิดฝึกบ่อยๆมันจะคมมาก มันจะมาเร็วมากแต่ถ้าเฮ้ย.. มันไม่ได้ เพราะถ้าคุณไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันต้องฝึกบ่อยๆ ไม่ใช่แค่มาท่องบทบ่อยๆ
มันมีแบบฝึกหัดอันหนึ่งที่เราทำกัน เมื่อทำแล้วมันช่วยให้เราอ่านกันดีขึ้น พอไม่ทำ มันเหมือนโดนตัด ไม่มีคอนเนคชั่นกัน แต่พอทำแบบฝึกหัด ผมสังเกตว่า มันเปิดอะไรข้างในตัวเขา ซึ่งเมื่อก่อนผมก็เป็นนะ คิดถึงแต่ตัวเองตอนเล่น ฉันน่าจะเล่นอย่างนี้ มันเรียกว่า เล่นเพื่อเอาผลลัพธ์ บางทีเราเล่นแบบตั้งโจทย์ไว้ว่าฉันจะต้องไปให้ถึงพีคนี้ให้ได้ ฉันจะเล่นอย่างนี้ ผมเห็นว่ามันทรมานตัวเองไป ถ้าเล่นไม่ได้ก็เสียใจ ก็เครียด ปวดหัว เพราะว่าตั้งโจทย์ให้ตัวเองเล่น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในชีวิตจริง คุณก็ไม่ใช่คนคนนั้น เช่น ความโกรธ มันมาจากไหนล่ะ จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ โกรธ ฉันโกรธ แต่คุณโกรธเรื่องอะไรกันแน่ มันต้องมีแรงขับส่วนตัวใช่ไหมล่ะ ถ้าเกิดต้องเข้ามาฉากนี้ ต้องโกรธคนนี้ แต่คนนี้ยังไม่ได้ส่งอะไรมาเลย แล้วอยู่ดีๆก็โกรธเขา เออ เขาทำอะไรให้โกรธหรือ ทำไมถึงโกรธ มันต้องรู้สึกจริงๆจากข้างใน แบบฝึกหัดที่เราทำกันก็จะเน้นเรื่องการฝึกกล้ามเนื้อตรงนี้

นาด : ฝึกกล้ามเนื้อทางอารมณ์ว่างั้นเถอะ
อ้น : กล้ามเนื้อทางอารมณ์ จับให้มันมั่นๆ แล้วก็ใช้มันคมๆ

นาด : อยากถามเรื่องบทนิดหนึ่ง เรื่องนี้บทมาก่อนใช่ไหม คือเขียนบทก่อน แล้วเริ่มซ้อมกับนักแสดงยังไง คุยอะไรกับนักแสดง
อ้น : ตอนแรกเลยก็เวริ์คชอปก่อน แล้วก็คุยกันเรื่องปัญหาของการแสดง แล้วค่อยให้บท อ่านทีเดียวก่อน แล้วค่อยให้มาอ่านด้วยกันอีกที โดยหันหน้ามองเพื่อนที่เล่นด้วย แต่ไม่ต้องสนใจเรื่องบทว่าต้องถูกต้องตรงเป๊ะๆ คือ อ่านไม่ต่อเนื่องไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือ ต้องฟัง ฟังว่าแต่ละประโยคทำให้เรารู้สึกยังไง แล้วซ้อมไปซักพักก็มีปรับบทบ้าง นาด แล้วตอนเริ่มลงซีน ทำยังไง ลง Blocking ก่อนไหม ทำยังไงอ้น จำไม่ได้ มันคงหลายๆทางมั้ง บางทีก็ให้คนนี้เป็นตัวนี้ตัวนั้น บางทีก็สลับกัน มันก็ลองไปเรื่อง มันช่วยเรื่องมุมมอง

นาด : หมายถึงใช้เน้นใช้กระบวนการค้นหาใช่ไหม
อ้น : อื้ม แล้ว Blocking มาทีหลัง

นาด : วางแผนไว้หรือเปล่า ว่าจะมีงานกำกับอีกเมื่อไหร่
อ้น : หลังจากเดือนนี้ ก็จะเริ่มอีกเรื่อง มันเป็นบทเรื่องแรกที่ผมเขียนไว้ แต่มันเขียนตามใจตัวเองมากเลย นาด หมายถึงเขียนไว้ก่อนเรื่อง ดอกไม้ในแสงแดด อ้น ใช่ฮะ เรื่องนี้ ดอกไม้ในแสงแดด อยู่ดีๆมันก็พุ่งขึ้นมาเฉยเลยฮะ แล้วผมรู้สึกว่ามันทำได้ มันไม่ยาก มันใกล้ตัว มันทำได้

นาด : อยากรู้ตอนมันพุ่งมา นี่น่ะ มันยังไง มาได้ยังไง
อ้น : ครั้งหนึ่ง ไปกินข้าวกับบอลกับกอล์ฟ (นักแสดงอีก 2 คน ในเรื่อง) หลังจากซ้อมละคร ความฝันกลางเดือนหนาว (ละครของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ปี 2549) แล้วก็หมดเบียร์ไป 9 ชวด แล้วชอบบรรยากาศคืนนั้นมากนาด ยังไง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยอ้น ตอนนั้มันเป็นช่วง ที่ผมอยู่คนเดียว กอล์ฟก็เพิ่งเริ่มงานใหม่ บอลก็เบื่อๆบ่นๆกับงานเก่า แฟนก็อยู่ต่างประเทศเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างเป็นอย่างงี้ นายก็อยู่ห่างแฟน เราก็อยู่ห่างแฟน กอล์ฟไม่มีแฟน แต่เพิ่งเริ่มงานใหม่ คือตอนนั้นก็ไม่เป็นแบบตอนนี้นะ ตอนนี้แต่ละคนเปลี่ยนไปหมดแล้ว ซึ่งผมเห็นได้ แล้วเราก็พูดเรื่องคนที่เราต้องเจอ พูดเรื่อง แฟน เรื่องชีวิต เรื่องการแสดง หลายเรื่อง แล้วก็จะมีแคแรคเตอร์เข้ามาในฉากหลายคน อย่าง มีผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นช่างภาพที่รู้จักกันก็พาสาวมาอวดสองคน แล้วก็มาชวนคุยแบบข้ารู้ทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้นก็คิดเป็นหนังสั้น ได้เป็นช็อตๆ แต่ไม่เต็มเรื่อง แล้วเมื่อสองเดือนที่แล้ว กำลังจะออกจากบ้าน แล้วเปิดเพลง บีทเทิล เพลงนึงไว้ แล้วก็เห็นตอนเริ่มต้นของเรื่อง แล้วก็เห็นตอนจบของเรื่อง ก็หยุดเลยไม่ไปไหน เขียนเลย สามวันผ่านไปก็ได้ร่างแรก ก็โทรหาเพื่อน ว่าจะทำ ไม่รู้ว่าบ้ารึเปล่า

นาด : มีอะไรจะบอกเราอีกไหม
อ้น : ก็ละครเรื่องหน้าก็จะแปลกมากเลยฮะ ผมจะเรียกมันว่า Welcome to Nothing ซึ่งจะมีนักแสดง 3 คนเหมือนกัน จะเป็นแบบ Absurd ครับ

นาด : คราวนี้เรามาคุยกับนักแสดงกันบ้าง เราเริ่มจากบอลก่อนแล้วกัน บอล วรัญญู อิทรกำแหง ก็เล่นละครมาแล้วหลายเรื่อง แล้วมาเล่นเรื่องนี้มีอะไรแปลกหรือแตกต่างไปบ้างไหม หรือมีอะไรสนุกๆจะเล่าให้ฟังบ้าง
บอล : แปลกมากเลยพี่ แหมก็ตั้งแต่มาอยู่กับที่นี่ (บี-ฟลอร์ และ พระจันทร์เสี้ยวการละคร) เราก็ไม่ค่อยได้ไปเล่นกับที่อื่นหรอก

นาด : นี่จะด่าหรือชมกันแน่
บอล : (หัวเราะ) แล้วก็เพราะตัวเราเองด้วย เพราะเราก็มีงาน ก็เลยไม่ได้ไปเสาะแสวงหา ที่ที่จะรับข้อจำกัดของเราได้ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นที่นี่ เราก็จะเจอกับแอพโพรสของที่นี่อยู่แล้วอย่างเงี้ย แต่พอมาเจอเรื่องนี้เข้า มันเป็นอะไรที่เราไม่คุ้นชิน เราก็จะ เฮ้ย นี่มันอะไรกันวะเนี่ย อะไรประมาณนี้

นาด : ถ้างั้นอะไรเป็นจุดยากที่เจอ แล้วอะไรเป็นเรื่องที่สนุกที่เจอ
บอล : จุดยาก ก็คือ เราไม่รู้ไงว่า อย่างภาพที่เขาต้องการมันคืออะไร และลักษณะแอคติ้งที่เขาต้องการมันคือยังไง เราก็ยังไม่เก็ทไง นึกออกป่ะ เท่าที่ผ่านมาก็เล่นละครแบบ Stylize มาเยอะใช่ไหม แต่พอเรื่องนี้ มันใช้แอคติ้งแบบไม่เล่นกันน่ะ (หัวเราะ) ฉันไม่เคยเล่นน่ะ อะไรอย่างนี้ ใช้เวลานานมากตรงนี้ เป็นเดือนมั้ง เดือนกว่าๆ เขาก็จะถามเรื่องตีความเป็นยังไง โน่นนั่นนี่ ถามซ้ำๆทุกวัน จนวันหนึ่ง ไม่ไหวแล้วอ่ะพี่ วันนี้ขอไม่ตั้งใจอะไรแล้ว อาจเพราะแต่ก่อนมันเครียดด้วยมั้ง ในฐานะนักแสดงมันจะมีภาพอยู่ว่าเราจะเล่นยังไง มันเหมือน เราตั้งโจทย์ไว้แล้วไง เออ ซึ่งเวลาเราเล่น ก็ไม่เหมือนกับสองคนที่เล่นด้วย ก็ต้องสลัดอะไรตรงนี้ออกไปได้ก็นานทีเดียว แต่มันก็สนุกดีนะ มันท้าทายดี มันเดาไม่ได้ว่าแต่ละรอบ คนที่เล่นด้วยกับเรามันมีอะไรมา มันท้าทายเราที่ต้องเจออะไรใหม่ๆ ที่เราไม่ได้ใส่ใจ หรือสนใจมันตั้งนานมาแล้ว มันก็ดีนะ

นาด : แล้วกอล์ฟ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ มีอะไรแปลกหรือแตกต่างไปบ้างไหมกับการแสดงในเรื่องนี้กับผู้กำกับหน้าใหม่คนนี้
กอล์ฟ : พี่อ้นเขาจะมีมุมมองความสดความใหม่ เหมือนแบบว่า วิธีการโค้ชเหมือนเป็นเพื่อนกัน ก็ คุณรู้สึกยังๆไง เรารู้สึกยังไงก็ให้แชร์กัน ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ทำงานกับกลุ่มที่ทำงานแบบนี้อยู่แล้วล่ะแต่พี่อ้นเค้าชอบการแชร์กันน่ะ คุณรู้สึกยังไงให้แสดงแบบนั้นออกมา แล้วก็พี่อ้นมันสด มันใหม่มาก มันกระตือรือล้นมาก มีกิจกรรม มีแบบฝึกหัดอะไรมันจะขนเอามาฝึกกันเยอะแยะ บางกิจกรรมเราก็เคยเจอมาแล้ว แต่บางกิจกรรมก็ไม่เคยทำมาก่อน แล้วมันดีตรงที่ทำให้เรากลับไปทำอะไรแบบพื้นฐาน เตือนความจำเรา แบบได้เคาะสนิมน่ะ แล้วมันรู้สึกดี บางกิจกรรมเราก็ไม่ได้ทำมาน้านนานแล้ว พอมาเจอแล้วมันทำให้เรารู้สึกสดขึ้น

นาด : อะไรที่ทำให้สนุกที่สุด
กอล์ฟ : เอ้อ ก็สนุก คงเป็นกระบวนการช่วงซ้อม การลงแบบฝึกหัดนั่นแหละค่ะ อ๋อ แล้วก็บทของพี่อ้น มัน.. มันน่าสนใจตรงว่ามันเอาหนังมาผสมกับละคร คือ โดยตัวเขาชอบทำอะไรแบบใช้มัลติมีเดียอยู่แล้วด้วย แล้วพอมันเอามาผสมกัน การพูด หรือการตัดต่อ ตอนเล่นนี่จะรู้เลยว่า แบบกำลังตัดหนัง มันจะคล้ายๆกับหนังเลย มันก็แปลกๆไปจากละครทั่วไป

นี่คือผู้กำกับหน้าใหม่กับมุมมองของเขา แล้วก็มุมของนักแสดงที่พูดถึงเขา ยังไงก็ลองทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นผ่าน ละครเรื่อง ดอกไม้ในแสดงแดด

เราคงจะมีแนะนำและทำความรู้จักกับนักทำละครคนอื่นๆกับผลงานเรื่องอื่นๆที่จะมาแสดงที่ Crescent Moon Space กันอีกเร็วๆนี้ รอติดตามกันต่อไป



Sunday, 13 January 2008

Trendy Play

Trendy Play เรื่องรักๆ ของคนอินเทรน
เขียนโดย Women in the Moon

กระแสละครเล็กๆ เรื่องราวธรรมดาๆของคนตัวเล็กๆ แต่น่าประทับใจกำลังมาแรง และละครก็มักจะพูดถึงความรักของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ น่าจะเรียกได้ว่า เป็นละครแบบ Trendy Play เมื่อกลางปีที่แล้วเราได้ดูละครเวทีเรื่อง ยามพลบ และปลายปีก็มีละครเวทีเรื่อง ที่รักของกัน และหลังปีใหม่นี้ก็กำลังจะมีละครเวทีเรื่องใหม่ จากผู้กำกับหน้าใหม่เรื่อง ดอกไม้ในแสงแดด กลางเดือนมกราคมนี้

จุดร่วมโดยบังเอิญของสามเรื่องนี้ คือพวกเขากำลังพูดเรื่องความรัก ของคนวัยหนุ่มสาว ที่เป็นวัยทำงาน ละครนำเสนอให้เห็นถึงชีวิตปัจจุบันของคนธรรมดาในวันธรรมดาๆ และไม่จำเป็นต้องมีแก้ปัญหาหรือการหาทางออก แต่เรื่องธรรมดาของพวกเขากระทบใจ ทำให้รู้สึกถึงความสุขของตัวละคร ความอบอุ่นของเพื่อน ให้ความรู้สึกว่าโลกนี้ยังน่าอยู่ ยามพลบ เขียนบทและกำกับโดย จารุนันท์ พันชาติ พูดถึงความรัก ความฝัน และความสัมพันธ์ของเพื่อนสาวสามคน ในเย็นวันหนึ่ง ในเรื่องหญิงสาวคนหนึ่งเปิดเปลือยความรู้สึกของเธอว่า เธอรอให้คนรักที่เพิ่งเลิกไป นั้นกลับมาเอาเธอ ส่วนหญิงสาวอีกคนถามเพื่อนว่า ฉันผิดใช่ไหม ฉันป่วยใช่ไหม ที่ฉันชอบผู้หญิง คำถามลึกๆแต่สะเทือนใจแบบนี้เกิดขึ้นในวันธรรมดาๆในบรรยากาศแสนสบายๆในร้านกาแฟ ถึงพวกเธอจะเศร้าและเสียใจ แต่พวกเธอก็ยังคงมีฝันที่สวยงาม ส่วน ที่รักของกัน เขียนบทและกำกับโดย สายฟ้า ตัณธนา ก็พูดเรื่องความรักของผู้ชายคนหนึ่งที่มีต่อผู้ชายอีกคนหนึ่ง โดยมีความรักของเพื่อนหญิงอีกคนหนึ่งคอยโอบอุ้มดูแล ฉันรักนายว่ะ และเขาดีใจที่ได้พูดความรู้สึกที่แท้จริงที่เขาเก็บมันไว้มานาน แม้ว่ามันจะสายเกินไปแล้วก็ตาม เพราะคนที่เขารักได้มีคนรักของเขาแล้ว แต่มันก็ไม่สำคัญ มันสำคัญที่เขาได้บอกรักกับคนที่เขารักแล้วต่างหาก เขาได้พูดออกไปแล้วในวันธรรมดาในร้านอาหารของเขาเอง และแล้วก็มาถึง ดอกไม้ในแสงแดด เขียนบทและกำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่ เขาพูดถึงการถามหาความรักของตัวละครสามตัวที่เป็นเพื่อนกัน ความรักของพวกเขาบางครั้งก็แยกไม่ออกระหว่างความหลง หรือความใคร่ เพียงเพราะเขาต้องการความอบอุ่นจากใครสักคน หรือ เขาค้นหาความอบอุ่นจากคนที่เขารักและรักเขา พวกเขาจึงต้องหันหาความรักราวกับดอกทานตะวันที่ต้องหันหาแสดงแดด

คงต้องติดตามรอดูว่าดอกไม้กลางแสงแดดจะหันหาความรักด้วยแง่มุมอะไรบ้าง ในกลางเดือนมกราคมนี้ ส่วน ที่รักของกัน ได้ข่าวว่าจะกลับมาแสดงอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก คาดว่าในปีนี้ก็น่าจะมีละครแนวๆนี้ออกมากันอีก ไว้รอติดตามกันต่อไป

Thursday, 10 January 2008

Sun Flower



ดอกไม้ในแสงแดด

วันที่แสดง 18,19,20 มกราคม 2551 เวลา 19:30 น.

เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14:00น. (5 รอบ)


ดอกทานตะวันหันตามแสง คนวิ่งหาความอบอุ่น
บางทีเราก็สวยงาม บางทีก็ช่างบอบบาง
เราต่อสู้กับทุกๆวันที่ผ่านไปเพื่อเหนี่ยวรั้งสิ่งที่เรารัก

ชีวิตของคนเราก็ไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่มีชีวิตทั่วไป
เราต้องการความรักและความอบอุ่น
เหมือนดอกทานตะวันที่ดำรงชีวิตด้วยการรับแสง

แต่สำหรับพวกเขาสามคน ในยุคสมัยที่ยากที่จะตามทัน
ทำไมสิ่งๆนั้นมันจึงหายากเหลือเกิน

การหาจุดยืน ค้นหาตัวตน ดิ้นรนเพื่อครอบครองสิ่งที่จับต้องไม่ได้


แสดงโดย
วรัญญู อินทรกำแหง, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, นพพันธ์ บุญใหญ่

เขียนบทและกำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม 0868141676
Email : inseadang@hotmail.com

Bitter Love




แสลง

15-16 พฤศจิกายน 2550 เวลา 19.30 น.และ 17-18 พฤศจิกายน 2550 เวลา 14.00 น.(4 รอบเท่านั้น)


เรื่องอกหัก รักขม ระทมทุกข์ ของคนแปลกหน้าสองคนที่กำลังเสียความรู้สึก เมื่อประสบเหตุ “เขาไม่รักเรา” ความผิดหวัง โศกเศร้า และเสีย self กับห้วงเวลาที่จะต้องเยียวยารักษาหัวใจให้ผ่านคืนวันนี้ไปโดยไม่ทำร้ายตัวเอง


เข้าร่วมเทศกาลละครกรุงเทพ 2007



เขียนบท/กำกับ โดย สินีนาฏ เกษประไพ


Bitter Love

15-16 November 2007 : Time 7.30 pm.

17-18 November 2007 : Time 2.00 pm. (only 4 shows)


Bitter love stories, broken heart, feel hurt of two strangers who are suffering in a same situation; that ‘S/he doesn’t love me’. There are disappointment, sadness and lose their self esteem, however, they have to recover their heart without hurt themselves.
(With English subtitle)


In Theatre Bangkok Festival 2007



Written/Directed by Sineenadh Keitprapai


Black Bird



ติดกับ

7-9 พฤศจิกายน 2550 รอบเวลา 19.30 น.

และ 10-11 พฤศจิกายน 2550 รอบเวลา 14.00 น.(5 รอบ)


กลุ่มละคร 69 เสนอ เรื่องราวของคนสองคนที่กลับมาพบกันอีกครั้ง กับการรื้อฟื้นความหลังในอดีต จากบทประพันธ์ Black Bird ของ David Harrower นักเขียนชาวสก๊อต ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลบทละครยอดเยี่ยม Olivier Awards 2007
เข้าร่วมเทศกาลละครกรุงเทพ 2007

กำกับโดย ศศิธร พานิชนก

Guru Theatre


“กูรูเธียเตอร์”

วันที่ 19-21 ตุลาคม 2550 รอบ 19.30 น. (เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น.)
ทั้งหมด 5 รอบ

บี ฟลอร์ เธียเตอร์ เสนอ ละครพูดแนวหรรษาและเสียดสี เรื่องราวเกี่ยวกับละครที่ถูกนำไป “รับใช้” ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ภาพยนตร์ แฟชั่น บันเทิง ไม่เว้นแม้กระทั่งการเมือง แต่ เขา เธอ ท่าน เหล่านั้น เล่นเป็นแต่ละครน้ำเน่า จึงหวังพึ่ง กูรู เธียเตอร์ ที่จะมอบเคล็ดลับ ที่จะทำให้การแสดง “สมจริง” มากขึ้น
เขียนบทโดย จารุนันท์ พันธชาติ
กำกับการแสดงและแสดงโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล

GURU THEATRE
October 19-21, 2007 (7.30 pm. Sat & Sun 2 and 7.30 pm.)
Only 5 shows

B Floor Theatre proudly presents a satiric comedy ‘Theatre techniques’ were used widely in television, fashion, quiz shows and even politic!!!!? To be ‘real’, he or she or it must drop his soap opera style and get ‘tricks’ from theatre guru.

“After show, there always had some questions about theatre presentation style from the students and the audiences. I assumed that they may not know much about theatrical forms. So I would bring them a great experience to meet a theatre Guru who uses many theatrical forms as they are his slaves and he’d never been form by them.” – theatre guru

Written by Jarunun Phantachat
Directed by Teerawat Mulvilai

Theatre Talk



เสวนายามบ่าย:
“แกรี่ คาร์กิ้น กับละครเวทีสมัยใหม่ในประเทศไทย”

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2550 เวลา 14.00 น.

เข้าร่วมรับฟังการเสวนาแบบสบายๆ กับอาจารย์แกรี่ และอาจารย์คำรณ คุณะดิลก ดำเนินการเสวนาโดย อ.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์

Dr. Gary Carkin เป็นนักแสดง ผู้กำกับละครเวทีชาวอเมริกัน และเป็นอาจารย์สอนด้านภาษาอังกฤษและการละครมากนานกว่าสี่สิบปี เขาสำเร็จการศึกษาด้านการแสดงมาจาก Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา สำเร็จปริญญาเอกจากการทำวิจัยเรื่อง “ลิเก” จาก Michigan State University และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการละครอยู่หลายปี ก่อนที่จะได้รับเชิญจาก อาจารย์มัทนี รัตนิน ให้มาสอนวิชาการแสดง และ การกำกับการแสดง ให้กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2513 – 2517

เขาคือผู้กำกับละครเวที ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการยกระดับละครเวทีในประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ละครเวทีในระดับสากล ด้วยการกำกับละครสมัยใหม่ ซึ่งเป็นบทละครแปลจากบทละครตะวันตกอันเลื่องชื่อระดับโลกถึงสามเรื่องด้วยกัน คือ อวสานเซลส์แมน (Death of a Salesman ของ Arthur Miller), รถรางสายนั้นชื่อปรารถนา (Streetcar Named Desire ของ Tennessee Williams), วัยวุ่น (Ah, Wilderness ของ Eugene O'Neill ). เขาคือผู้เขียนหนังสือ How to Succeed in the USA ซึ่งได้รับการแปลและจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Se-Education.

Yoga Workshop



Yoga Workshop โยคะเพื่อสุขภาพ
มิถุนายน 2550
จัดเวริ์คชอปโยคะเบื้องต้นเพื่อสุขภาพ และเน้นการหายใจอย่างถูกวิธี สอยโดยครูโยคะ คุณนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ

Wednesday, 9 January 2008

Butoh Film




Butoh FILM
June 8-9, 2007 (6.30-9.00 p.m.)

Commemorating the 100 th birthday of Japanese Butoh Co-founder, Kazuo OHNO, and the Kazuo OHNO Film Festival screens works of 25 years by Butoh Master, OHNO from 1970 to 1995. The Film Festival is curated by John Solt and presented by Butoh Co-Op and B-Floor Theatre Company
ภาพยนตร์ผลงานตลอด 25 ปี (ช่วงปี 1970- 1995) ของ บูโตมาสเตอร์ คาซูโอ โอโนะ เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของศิลปินผู้ร่วมค้นพบการเต้นรำ บูโต คัดสรรงานโดย John Solt นำเสนอโดย บูโต โคออพ ร่วมกับ บีฟลอร์

Theatre Space



Theatre Space
วันที่ 11 พฤษภาคม 2550
แลกเปลี่ยนพูดคุยกับศิลปินจากโครงการ PETA Mekong Project เกี่ยวกับการจัดการ Theatre Space และการสร้างงานและกิจกรรม

Women in the Moon Festival



ผู้หญิงในดวงจันทร์: เทศกาลนักเขียนบทและผู้กำกับละครเวทีหญิง
7 - 27 พฤษภาคม 2550


เทศกาลละครเวทีขนาดเล็กที่จะเปิดพื้นที่ให้นักเขียนบทละครเวทีหญิงและผู้กำกับหญิงได้ใช้เป็นเวทีพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งการนำนำเสนอผลงานต่อนักทำละครและผู้ชมละครทั้งหญิงและชาย ผ่านกิจกรรมการอบรมละคร, การแสดงละครเวที , การเสวนา และการพูดคุยแลกเปลี่ยนหลังการแสดง

โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการ Mekong Creative Communities Arts for advocacy Fellowship 2007 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Philippine Educational Theatre Association (PETA) และมูลนิธิ The Rockefeller Foundation

กิจกรรม

อบรมละคร
Directing Workshop เรียนรู้เรื่องกำกับการแสดงแบบชอร์ตคัท โดย คุณรสิกา สวนสม นักการละครที่เน้นสายงานบริหารจัดการระบบการศึกษาศิลปะการละครและการแสดง และงานร่างหลักสูตร ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานการศึกษาและบริษัทเอกชนที่มีโครงการเกี่ยวข้องกับศิลปะการละครและการแสดง
Story telling Workshop การร้อยเรียงเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวสู่เวทีการแสดง โดย คุณนฤมล ธรรมพฤกษา นักการละครหญิงที่มีผลงานในต่างแดนอย่างต่อเนื่อง
Acting Workshop อบรมการแสดง โดย คุณพันพัสสา ธูปเทียน นักการละคร และ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกถาวรของสถาบัน Actor’s Studio
Writing Proposal Workshopโดย Lea L. Espallardo ศิลปินการละครจาก The Philippines Educational Theatre Association (PETA) อดีตผู้อำนวยการโครงการ Women Theatre Program ปัจจุบันเป็นหัวหน้าโครงการ PETA Mekong Project


เสวนาละคร
"มีอะไรในบทละครของนักเขียนหญิง" วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 (เวลา 14.00 น. -16.00 น.)
"ผู้กำกับหญิง: มุมมองที่แตกต่าง?" วันที่ 27 พฤษภาคม 2550 (เวลา 14.00 น. -16.00 น.)

เสนอละคร 4 เรื่อง



Vagina Monologues
แปลบทและกำกับโดย พันพัสสา ธูปเทียน
"คุณเคยสงสัยไหมว่า ถ้าVagina พูดได้ เธอจะพูด/อ้อน/บ่น/ด่า/ปรับทุกข์หรือมีอารมณ์ขันอย่างไรบ้าง”




ยามพลบ
บทและกำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ
“เรื่องราวของเพื่อนสามคนกับเวลายามพลบของวันหนึ่ง”







โสมเกาหลี
บทและกำกับโดย ฟารีดา จิราพันธ์ และ อุษาวดี สุนทรเกตุ
"..อย่าเหมาว่าเราจะรักกันไม่ได้"










แสลง
เขียนบทและกำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ
“รักขม ระทมทุกข์ และอาการบาดเจ็บทางใจ”

NOW OPENNING @ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space



ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2550
ตั้งแต่เวลา 18.00 น.

พระจันทร์เสี้ยวการละครขอเชิญเพื่อนกลุ่มละครและเพื่อนมิตรทางงานศิลปะ ร่วมงานพบปะสังสรรค์และเปิดพื้นที่การแสดงแห่งใหม่ให้เป็นโรงละครขนาดเล็ก ที่จะเป็นที่แสดงและสร้างงานละครเวทีร่วมสมัย ณ ห้องพระจันทร์เสี้ยวการละคร หรือ ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ