ถึงจะผ่านไปแล้วกับละครเวทีแสดงเดี่ยวเรื่อง Hamlet มีบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ซึ่งน่าสนใจมากเกี่ยวกับคำถามเรื่องของการดัดแปลงบทละคร เราเลยนำมาลงไว้ที่นี่ เผื่อว่าจะมีประโยชน์บ้าง
มัดมือชกดำเกิง : เขาดัดแปลงบทละครต่างประเทศกันทำไม?
ที่มาจากนิตยสาร Madam Figaro ฉบับ เดือนมีนาคม 2552
คอลัมน์ Reporter Theatre โดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา
ที่มาจากนิตยสาร Madam Figaro ฉบับ เดือนมีนาคม 2552
คอลัมน์ Reporter Theatre โดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา
เหลือบมองข้อมูลผู้ดัดแปลงบทและกำกับการแสดงอีกครั้ง เขานี่เอง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์... นักละครเวทีที่ผลงานเกือบทุกเรื่องของเขาต้องดัดแปลงจากบทละครต่างประเทศ และเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
คำถามท่วมอกผมมากไปแล้ว..ผมจึงหาทางระบายให้ด้วยการต่อสายโทรศัพท์ถึงเขา...
ผม : ดีครับพี่บิ๊ก (ชื่อเล่นของเขา) ...ผมมีคำถามเกี่ยวกับละครของพี่แล้วก็การดัดแปลงบทละครต่างประเทศ
(เขาทำเสียงคล้ายจะปฏิเสธ..ผมรีบพูด) พี่เดี๋ยวผมจะส่งคำถามไปทางอีเมล์นะครับ ถ้ามีเวลา พี่ช่วยตอบด้วยครับ (ผมมัดมือชก)
ผ่านไปสองวัน เขาก็ตอบกลับมา หลังจากที่ผมโทรตาม (จิก) อีก 1ครั้ง
อีเมล์ฉบับนั้น ผมคิดเองว่ามันมีประโยชน์มาก มากเสียจนผมเก็บไว้อ่านคนเดียวก็เสียดาย
ฉบับนี้ผมเลยขออนุญาตนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
ผมถาม : ทำไมถึงเลือกสร้างละครเวทีจากการดัดแปลงบทแทนที่จะเขียนขึ้นใหม่ครับ
เขาตอบ : อย่างแรก เพราะขี้เกียจเขียนครับ ในมื่อโลกนี้มีบทละครเรื่องที่แข็งแรงดีและน่าสนใจอยู่แล้วมากมาย ทำไมต้องมานั่งเสียเวลาเขียนใหม่ให้เมื่อยล่ะ เราอยากทำละคร ไม่ได้อยากเขียนบทใหม่ ก็เลยคิดว่าชอบการดัดแปลงมากกว่า แต่ การดัดแปลงบทเรื่องนึงของผม มันก็เหมือนเขียนใหม่นั่นแหละ อิอิ (เขาหัวเราะด้วยภาษาวัยรุ่น)
ผมถาม : มีเกณฑ์ในการเลือกบทละครต่างประเทศมาดัดแปลงและสร้างเป็นละคร อย่างไรบ้างครับ
เขาตอบ : เลือกที่ตัวเองชอบก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีอะไรที่น่าสนใจพอเอามาคิดต่อทำต่อได้ มีอะไรที่สอดคล้องกับความคิดที่อยากพูด เหมาะสมกับยุคสมัยและวาระที่จัดแสดงด้วย ที่สำคัญมันต้องสนุก เห็นแนวทางที่สามารถดัดแปลงได้ มีจุดขาย หรือมีองค์ประกอบที่สามารถทำให้เป็นวาระที่น่าสนใจขึ้นมาได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ในการทำแต่ละครั้งด้วยนะว่าทำเรื่องอะไร เพื่ออะไร บางครั้งก็ดูหน้านักแสดงที่มีอยู่ก่อนว่าใครจะมาเล่นบ้าง ดูทรัพยากรในการสร้างว่ามีทุนแค่ไหน หรือเหมาะกับความสามารถของคนในกลุ่มมั้ย ดูสถานที่แสดงว่าได้เล่นที่ไหน ฯลฯ แล้วก็จะนึกเรื่องออกทันที โดยเฉพาะช่วงสิบปีมานี้ ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ไม่เอากิเลสส่วนตัวว่าฉันอยากทำเรื่องนี้เรื่องนั้นเป็นตัวตั้ง ไม่อยากตกอยู่ในสภาพแบบทุกข์ยากแบบคนทำละครที่พยายามตามที่บทละครสั่ง มันเหนื่อยยากเกินความจำเป็น แล้วก็ยังไม่เคยเห็นใครทำได้ซักราย
ผมถาม : มีผลงานการดัดแปลงบทละคร เรื่องไหนบ้าง ที่รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะอะไร
เขาตอบ : คงทุกเรื่องนั่นแหละ แต่ถ้าเอาที่ชอบมาก ๆ ก็คงมี “ราโชมอนคอนโดมิเนียม” (ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่ของอาคีระ คูโรซาวา และบทละครแปลของ ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช) กับ “ผ่าผิวน้ำ” (ดัดแปลงจากอัตชีวประวัติของ Greg Louganis นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญของโอลิมปิค) เพราะรู้สึกว่าได้ทำอะไรกับมันเต็มที่ มันเป็นการดัดแปลงที่ใช้กลวิธีที่ มากกว่าการเปลี่ยนเทศให้เป็นไทย แล้วมันก็ออกมาได้ดังใจที่ต้องการด้วย
ผมถาม : "การเคารพบทประพันธ์" เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงบทละครไหมครับ
เขาตอบ : ฮ่าๆๆ ....เขาบอกว่าบทละครเป็นเสมือนหัวใจของการแสดงหรือพิมพ์เขียวของการสร้างละคร แล้วมีผู้เอาไปทำตามที่เขียนสั่งมาในบทนั้น แต่เผอิญคนอย่างผมคงเติบโตมาในขนบ “ละครของผู้กำกับ” ไม่ใช่ในขนบ “ละครของนักเขียน” แล้วผมก็เจอครูหลายคนที่ชี้นำให้เห็นโลกหลายทางแล้วยุยงให้ลูกศิษย์คิดเกินครูด้วย ผมถือว่าตัวเองไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแบกรับภาระทางวิชาการหรือประวัติศาสตร์การละครที่ต้องทำละครให้ตรงตามต้นฉบับให้มากที่สุด ผมเคยเห็นบทแย่ ๆ ที่สามารถกลายมาเป็นการแสดงดี ๆ ในจำนวนที่พอ ๆ กับบทดี ๆ ที่กลายมาเป็นการแสดงเลว ๆ ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าบทจะต้องเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องบูชามั้ง ผมปฏิบัติต่อบทละครในฐานะ “บันทึกการแสดง” ที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้สะดวกขึ้นเท่านั้น ผลรวมของการแสดง ณ เวลานั้น ๆ ต่างหากที่สำคัญ ผมถือว่าบทเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับหลอดไฟที่ทำให้เรามองเห็นการแสดง บทมีความสำคัญพอ ๆ กับเครื่องประกอบฉากและสัญญะทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นละคร แต่ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพบทละครซะเลยนะ คงใช้คำว่านับถือจะเหมาะสมกว่าเพราะถ้าผมหยิบเรื่องอะไรมาดัดแปลงแสดงว่าเรื่องนั้นก็ต้องมีดี และมีความใจกว้างพอสมควรที่เปิดช่องให้ผมตีความและดัดแปลงได้ ผมต้องเข้าใจต้นฉบับอันเดิมให้ได้มากที่สุดก่อนเหมือนกัน ถึงจะสามารถเชื่อมโยงผ่านตัวเองไปสู่วิธีการดัดแปลงได้ ผมถือว่าสิทธิ์ของผู้กำกับไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นผู้รับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อบทละครเท่านั้น แต่ต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเองและซื่อสัตย์ต่อผู้ชมด้วย สิ่งที่ผู้ชมจะเห็นในตัวบท น่าจะเป็นการแสดงที่ผ่านการกลั่นกรองจากคนทำอีกทอดหนึ่ง
ผมถาม : คิดอย่างไรกับคำว่า "เสียงของผู้กำกับการแสดงครับ" เช่นกัน เกี่ยวข้องกับงานของพี่หรือเปล่าครับ
เขาตอบ : ไม่เคยคิดเลยครับ ถ้ามันจะมี ก็คงไม่มาแค่เสียงหรอกครับ มันคงมาทั้งตัวเลย ฮ่าๆๆๆ
ผมถาม : มาถึงผลงานชิ้นล่าสุด ทำไมต้องแฮมเล็ต และทำไมต้องแสดงเดี่ยวโดย อ้น นพพันธ์ บุญใหญ่ ครับ
เขาตอบ : เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากทำ และได้คิดวิธีทำแฮมเล็ตไว้สามแบบสามขั้นตอน การแสดงเดี่ยวเป็นแบบแรกและขั้นตอนแรกของการทำละครเรื่องนี้ ที่เป็นอ้นเพราะว่าเค้าดูพยศดี อิอิ (ดูเหมือนเขาจะชอบหัวเราะแบบวัยรุ่นมาก) เป็นแฮมเล็ตในฝันของผมทั้งตัว เค้ามีความพร้อมที่จะทำงานแบบทดลองได้ (ว่ากันว่า นพพันธ์เป็นทั้งผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท และนักแสดงที่แหวกแนวที่สุดของวงการละครเวที และแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่ง ณ ขณะนี้)
ผมถาม : เรื่องที่อยากทำต่อไปมีหรือยังครับ
เขาตอบ : เยอะแยะ คนใกล้ ๆ ตัวจะรู้ดี มันขึ้นอยู่กับโอกาสและความเหมาะสมด้วย แต่ถ้าให้เจาะจงว่าในระยะเวลาใกล้ ๆ นี้จะทำอะไรบ้าง ก็คงเป็นเรื่องในแนวที่ค่อนข้างไปในทางดราม่าครับ อย่าง The Seagull ของ Chekhov นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นงานละครแนว Physical Theatre ซึ่งไม่ได้ทำมานานแล้วนับตั้งแต่ทำ The Metamorphosis และ Faust หรือไม่ก็งานดัดแปลงเชิงทดลองแบบเอาตัวละครจากบทละครที่เราชอบของนักเขียนคนเดียวกันให้มันข้ามเรื่องมาเจอกัน
ผมสะดุดใจกับข้อความต่อไปนี้มากเป็นพิเศษ มันอาจจะเป็นเคล็ดลับในการดัดแปลงบทละครของดำเกิงก็ได้
“ที่จริงวิธีการดัดแปลงมันมีมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า เราหาไวยากรณ์ของการดัดแปลงเจอแล้วกล้าทำหรือเปล่าเท่านั้น”
No comments:
Post a Comment