welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Tuesday 14 April 2009

มีอะไรน่าสนใจใน Something else

เพิ่งจะกลับมาหายใจหายคอได้สะดวกขึ้น หลังจากที่เหตุการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย และเนื่องจากวันหยุด ได้ท่องเที่ยวตามบล๊อกต่างๆ และได้ความคิดเห็นจากผู้ชม Something else มาแบ่งปันกันอ่าน




มีอะไรน่าสนใจใน Something else


ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์อะไรดี เมื่อหน้าร้อนปีนี้มีละครหลากคณะหลายเจ้ายกขบวนมาให้ดูเยอะแยะไปหมดจนเลือกดูแทบไม่ไหว ทั้งที่ไม่น่าจะมีมากมายขนาดนี้ในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้
และหนึ่งในเรื่องที่ผมเลือกดูบรรดาละครที่ดาษดื่นช่วงนี้ นั่นก็คือ Something Else
Something Else เรียกได้ว่า เป็นผลงานชิ้นแรกๆ และชิ้นล่าสุดหลังจากเพิ่งสำเร็จวิชาละครบำบัดจากอังกฤษ ของดุจดาว วัฒนปกรณ์ หรือพี่ดุจดาวนั่นเอง และนับได้ว่าเป็นละครที่มีจุดเดนน่าสนใจอยู่หลายจุดด้วยกันทีเดียวเชียวแหละ และก็เป็นหนึ่งในบรรดาละครร่วมสมัยไทยปัจจุบันนี้ ที่มักจะสร้างความงุนงงสงสัยกับผู้ชม กลับบ้านไปหกสูงคิดไปสามสิบตลบยังนึกไม่ออกว่ามันจะบอกอะไรกับเรา ก็ยังคิดไม่ออก ดังที่ผู้คนส่วนใหญ่ค่อนแคะกันหนาหูว่า เหตุที่ละครโดยเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ไม่เป็นที่นิยมนั้น เพราะมีฉลากติดหน้าว่าละครพวกนี้ “ดูไม่รู้เรื่อง” ไม่มีฉากสวย ไม่มีดาราดัง ไม่มีน้ำตก หรือซกเล็กอะไรต่างๆ นานา

แต่เรื่องนี้มันไปได้มากกว่านั้นน่ะสิ เพราะว่าในความที่ดูง่ายๆ อะไรที่ดูไม่ซับซ้อน แต่กลับเข้าใจยากพอสมควร ในขณะเดียวกัน ไอ้ความเข้าใจยากของมันกลับเป็นคำถามที่ฟังดูง่ายๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างน่าประหลาด

จริงๆ แล้วการนิยามว่า Something Else จะเป็นการแสดงที่เรียกว่า “ละคร” ได้อย่างเต็มที่หรือเปล่านั้นก็ยากลำบากพอตัวอยู่ เพราะว่าการแสดงชุดนี้ ด้วยเหตุว่า มันไม่มีเรื่องอะไรให้เรามานั่งเล่าให้เราฟังตั้งแต่ต้นจนจบ วางพล็อตจับโครงแนบเนียน น่าติดตามตัวละครนั่นนี่ มีสิบเอ็ดฉากพอดิบพอดีไม่มีเกิน อย่างงั้นคงหาไม่ได้ในการแสดงชุดนี้ แต่ Something Else เลือกที่จะ “เล่น” กับกับคนดูด้วยปฏิสัมพันธ์แบบการปะติดปะต่อและเฝ้าสังเกตการณ์ หมายความว่า มันเหมือนคนดูมานั่งทำ Workshop อะไรซักอย่างกับละคร การโยนคำถามมาให้คนดูขบคิดและเรียนรู้ไปในระหว่างการลองสมมติสถานการณ์ต่างๆ นานา ในละครโดยไม่ได้ชี้นำคำตอบ การตีความหรือซึมซับความหมายเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ชมแต่ละคน ว่ากันง่ายๆ แทนที่จะยัดเยียดแนวคิดหรืออะไรต่อมิอะไรให้คนดู แต่เรื่องนี้เล่นกับมุมมองและความคิดของคนดูที่มีต่อละครไปพร้อมๆ กับทัศนคติของตัวเองอย่างน่าสนใจ

ด้งนั้น ประสบการณ์ที่คนดูมีต่อชีวิตของตนเอง ทัศนคติ เงื่อนไข หรือปัจจัยต่างๆ นั้น จึงมีส่วนอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจละครเรื่องนี้ และเมื่อเราพยายามที่จะเข้าสู่การทำความเข้าใจในสาระอันเวิ้งว้างของละคร ณ ขณะเดียวกัน ก็เป็นกระบวนการในการเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวของเรา และทัศนคติของเราไปด้วย ใครจะเอาประสบการณ์ของตัวเองช่วงไหนชุดไหนมา “สังสันทน์” กับละครก็ตามแต่ และไม่จะเป็นว่าจะต้องเข้าใจหรือพูดคุยกับละครไปได้เสียทั้งหมด แต่ผู้ชมหรือคนดูสามารถจะคัดสรรเอาช่วงเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง ตามแต่ประสบการณ์รวมทั้งทัศนคติตลอดจน “กำแพง” ของแต่ละคนจะอำนวย อันไหนดูแล้วไม่โดนใจก็ดูสนุกสนานได้ ไม่ว่ากัน (เพราะคนเรามันไม่เหมือนกัน)

กระบวนการในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ Something Else มีต่อตัวผู้ชมนั้น ใช้รูปแบบที่น่าสนใจและหลากหลาย ประกอบกัน ผสมผสานกัน ดูสร้างสรรค์จากอะไรง่ายๆ ใกล้ตัว ว่าเป็นข้อดีมากๆ ของการแสดงชุดนี้ ทั้งในกระบวนการนำเสนอนั้นก็ช่วยดึงให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันระหว่างผู้ชมกับการแสดง และระหว่างผู้ชมด้วยกัน ตัวอย่างเล่นตอนวาดภาพนี่เห็นชัดมาก แม้ผู้ชมบางคนจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการวาดภาพ แต่คำถามที่ตั้งขึ้นมาว่า “รู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นภาพที่ตัวเองวาดถูกฉีก??” ตรงนั้น มันมีสำนักร่วมอะไรบางอย่างที่เราสัมผัสได้ แม้ว่ามือจะไม่จับกระดาษและสีเลยแม้แต่น้อย ความรู้สึกนั้นอาจจะไม่ได้มาจากการมองผลงานของ “เพื่อนร่วมรอบ” ถูกฉีกทึ้งเพียงอย่างเดียว แต่อีกส่วนมันเป็นทัศนคติหรือความคิดของเราลึกๆ ที่มีต่อการกระทำนั้นด้วยนั่นเอง เรียกว่า ต้อง check ความรู้สึกกันหลายตลบ

หรือในบางช่วงก็มีการนำเอาการเต้นการเคลื่อนไหว การวาดภาพแล้วฉายผ่านกล้องวีดีโอ และอีกสารพัดจะการ .... มามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเพิ่มความน่าสนใจในงานนี้เข้าไปใหญ่รูปแบบของความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งรู้จัก ทั้งไม่รู้จัก ทั้งเฉพาะหน้า ทั้งใกล้ชิดสนิทสนม ระคนปนเปกันไป ซึ่งแต่ละครก็มี “วิธีการ” หรือ “บุคลิก” หรือ “หน้ากาก” ที่เราใช้ในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนแต่ละคนต่างกันไปตามสถานการณ์ มิติเวลา สถานที่ ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งเราเองในหลายกรณีเราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเราจึงเลือกปฏิบัติกับใครคนหนึ่งแบบหนึ่ง และปฏิบัติอีกแบบกับใครอีกคนหนึ่ง (ถ้าเราเป็นคน “เลือก” จริงๆ นะ ไม่ใช่อะไรมันพาไป) เราเองยังมีความไม่เข้าใจตัวเองเลยในบางกรณี แล้วนับประสาอะไรจะให้คนอื่นมาเข้าใจเราได้ในทุกแง่ ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเข้าใจใครคนนึงหรือคนคนนั้นได้บริบูรณ์มากน้อยแค่ไหน แต่มันอยู่ที่ว่า เราจะจัดการความสัมพันธ์ และความผูกพันระหว่างตัวเรากับคนอื่นรวมทั้งสิ่งอื่นๆ ตลอดจน ความเป็นอื่นที่แฝงฝังในตัวเราเองและเราไม่ชอบใจมันเท่าไหร่นั้นได้อย่างไรมากกว่า ฉะนั้น เราเองก็อาจจะเป็น Something Else หรือ ที่มีหลายๆ Anything Else ที่เราเองก็ไม่ปราถนาอยู่ก็ได้ และเมื่อเราตั้งคำถาม พยายามมองให้เห็น และพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เพียงพอแล้วมิใช่หรือ ...

สุดท้ายแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ Something Else แม้จะไม่ใช่ละครที่ดีเลิศ (จะดีหรือไม่ดียังไงมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน) แต่เป็นงานที่มีความแปลก (ไม่รู้ว่าใหม่หรือเปล่า ไม่ได้หมายความว่าไปก๊อปเขามานะ แต่วิธีการแบบนี้ไม่แน่ใจว่ามีคนเอาไปใช้แล้วบ้างหรือยัง) และน่าสนใจมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน แม้ว่าอาจจะเป็นงานที่สามารถดูได้ทุกคน แต่ก็อาจจะกล่าวแนบท้ายไว้ได้อีกว่า งานชิ้นนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะมันอยู่ที่เงื่อนไข และทัศนคติ ของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป

กระนั้นก็เถอะ ถ้าอยากลอง check ความรู้สึกตัวเอง หรือซึมซับตั้งคำถามหรือสร้างบทสนทนาอะไรเกี่ยวกับตัวเรา หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือไปดูเอาสนุกสนานเพลิดก็แนะนำให้ไปดูกันนะ อยากดูยังไงก็ดูได้ทั้งนั้น ... น้อ ...


ขอขอบคุณเจ้าของบล๊อกที่นุญาตให้เรานำมาลงไว้ที่นี่

No comments: