Black Boxes:
พื้นที่ ศิลปะเล็กๆที่คุณค่าไม่เคยเปลี่ยน
เขียนโดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา
จากนิตยสาร Madame FIGARO ฉบับเดือนสิงหาคม 2551
ใครจะไปเชื่อว่า เพียงแค่คุณเดินก้าวผ่านประตูไปสู่ภายในห้องเล็กๆสีดำ ขนาดประมาณ 5.90 เมตร X 7.70 เมตร โลกของคุณ...ก็จะไม่ใช่โลกที่คุณเคยอยู่อีกต่อไป...
ห้องเล็กๆสีดำๆ แห่งหนึ่งวันดีคืนดีก็เปลี่ยนเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ให้พระมหาชนกผู้ประกาศตัวว่า Never Say Die ได้แหวกว่าย บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นนรกอเวจี บางคราวก็เปลี่ยนเป็นลานข้างถนนให้กลุ่มคนบ้าๆลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวของสุดสาคร หรือบางขณะก็กลายเป็นสวนสาธารณะในคืนวันคริสต์มาสที่คุณซานต้า (แต่ว่าเป็นคนญี่ปุ่น) มานั่งรอมาริลีน มอนโรว์ เพราะผลพวงมาจากที่พวกเขา Chat กันทางอินเตอร์เน็ต หรือนึกครึ้มขึ้นมาห้องนี้ก็เปลี่ยนเป็นโรงลิเกไปเสียอย่างนั้น
อีกห้องหนึ่งเล็กใหญ่กว่ากันไม่กี่มากน้อย บางครั้งก็พาเราไปสู่โลกของผู้หญิงๆ ไปฟัง เอ่อ.. น้องจิ๋ม เขาร้องทุกข์ ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นโรงเจ้าเข้าทรง พบกับเจ้าพ่อการละครกูรูเธียเตอร์ ยางครั้งก็เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่ชายหนุ่มผู้เพิ่งอกหักได้มารู้จักกับคุณป้าผู้ถูกสามีทำร้ายและไล่ออกจากบ้าน เป็นห้องพักที่สามเพื่อนซี้ ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เกย์หนึ่ง พักร่วมกัน หรือบ้านของนักกีฬากระโดดน้ำ แต่วันไหนอารมณ์ดีหน่อยก็เปลี่ยนเป็นสีขาวสะอาดตาแล้วตั้งชื่อตัวเองว่า “ห้องตกกระแทกหมายเลข 0”
ผมกำลังเล่าให้คุณฟังเกี่ยวกับ Black Boxes หรือ โรงละครเวมีขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เล็กแต่ใกล้ชิด จุผู้ชมได้ประมาณ 30-50 ที่นั่ง ละครแบบนี้มักใช้อุปกรณ์และฉากน้อยๆแต่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆเพื่อดัดแปลงห้องอันแสนธรรมดาให้กลายเป็นสถานที่อื่นๆด้วยมายาแห่งละคร ข้อดีที่ทำให้การชมละครใน Black Boxes แตกต่างจากการชมละครโรงใหญ่ก็คือ การที่นักแสดงกับผู้ชมได้ใกล้ชิดกันมากจนสามารถ รับ-ส่ง พลังงานบางอย่างรพหว่างกันได้ นับเป็นประสบการณ์ทางฝสิลปะที่ทั้งผู้สร้างและผู้เสพได้มีโอกาสลิ้มลองแล้วมักหลงในเสน่ห์ของโรงละครแบบนี้จนยากตะถอนตัว
ห้องแรกมีชื่อว่า “มะขามป้อมสตูดิโอ” ผู้เป็นเจ้าของคือ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หรือที่คนส่วนใหญ่จะเรียกกันสั้นๆว่า กลุ่มละครมะขามป้อม ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกสะพานควาย หัวเรือใหญ่ได้แก่ คุณประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนแรกของประเทศไทย ส่วนห้องหลังใช้ชื่อว่า “ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space” ดูแลโดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร ตั้งอยู่ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ บริหารโดย คุณสินีนาฏ เกษประไพ นักการละครเวทีอาชีพหญิง ลูกหม้อพระจันทร์เสี้ยวการละครแท้ๆ
“Small but Beautiful and go beyond limited” คือแนวคิดสำคัญของ Black Boxes กำเนิดของมันนับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของนักการละครเวทีทางเลือก (ที่ไม่ใช่สายการละครเวทีกระแสหลัก อย่างซีเนริโอ หรือ ดรีมบ๊อกซ์ ฯลฯ ที่เน้นการสร้างงานโปรดักชั่นขนาดใหญ่ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโฆษณา มีการนำนักแสดงที่มีชื่เสียงมาร่วมแสดง และแน่นอนว่าต้องใช้ทุนสร้างค่อนข้างสูง) “เราขาดทั้งพื้นที่แสดงงาน แล้วก็ขาดความต่อเนื่องในการแสดงงาน ความหวังลึกๆของคนทำละครก็แค่อยากจะมีโรงละครดีๆ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องขนาดใหญ่) ไว้เป็นที่ทำงาน คิดงาน และแสดงงาน เราจะหาจากที่ไหน” สินีนาฏ เกษประไพ เคยถามคำถามนี้ แต่ดูหมือนเธอจะไม่รอคำตอบจาก “มือที่มองไม่เห็น”
เมื่อไม่มีมือวิเศษเข้ามาช่วย พวกเขาจึงลงมือสร้างและหา “พื้นที่” ด้วยตัวเอง และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดพื้นที่ทางศิลปะของคนรักละครเวทีร่วมสมัยกระแสทางเลือก ได้มาใช้คิดงาน สร้างงาน แสดงงาน และมาชมงาน จากกำเนิดเพียงขวบปีของ Black Boxes ทั้งสองแห่ง เฉพาะในช่วงระหว่าง มิถุนายน – ธันวาคม 2550 มะขามป้อมสตูดิโอ กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้แสดงผลงานด้านละครเวทีมาแล้ว 19 เรื่อง รวม 82 รอบ จำนวนผู้ชมประมาณ 2,850 คน นอกจากนั้นยังจัดเสวนาเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยมาแล้ว 9 ครั้ง จัดกิจกรรมในลักษณะอื่นๆอีกมากมาย เช่น ฉายภาพยนตร์สั้น เล่นดนตรีสด ฯลฯ
ส่วน Crescent Moon Space ก็ไม่น้อยหน้านับตั้งแต่ก่อตั้ง 28 เมษายน 2550 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 ห้องเล็กๆแห่งนี้เปิดการแสดงละครเวทีจากหลายกลุ่มศิลปิน รวมทั้งสิ้น 14 เรื่อง รวมรอบการแสดงทั้งสิ้น 76 รอบ จัดเสวนาความรู้เกี่ยวกับศิลปะการละครมาแล้ว 5 ครั้ง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการละครมาแล้ว 5 ครั้ง กิจกรรมฉายหนัง 1 ครั้ง รวมผู้ชมและผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 3,000 คน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน www.makhampom.net/studio และ www.crescentmoontheatre.com )
ผู้ชมบางคนเปรยมาดังๆให้ได้ยินดีว่า ชอบดูละครโรงเล็กๆมากกว่าละครโรงใหญ่ๆด้วยเหตุผลว่าได้ใกล้ชิดกับนักแสดงในระยะที่แค่เอื้อมมือไปก็สามารถสัมผัสถึงตัวนักแสดงได้ พอเริ่มไปดูบ่อยๆจะพบกับผู้ชมที่หน้าตาคุ้นเคย ยิ้มกันไป ส่งสายตากันมา หนักเข้าก็คุยกันและรู้จักกันในที่สุด แต่เหนือกว่านั้น “ละคร” จาก Black Boxes ยัง “ให้อะไร” แก่เขาด้วย...
ละครใน Black Boxes มักจะเล่าเรื่องราวของคนเล็ก ๆแต่ในความเป็นสากลของมนุษย์นั้นไม่เคยเล็ก สิ่งที่ได้มันจึงไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างผิว เผิน แต่ยังช่วยยกระดับจิตใจให้แก่ผู้ชมได้อย่างวิเศษ บางที ละครดีๆสักเรื่องจาก Black Boxes ที่ซ่อนตัวกระจายอยู่ทั่วกรุงเทฑฯ อาจเป็นตัวเลือกที่ cool พอ และทำให้วันนี้ของเราไม่น่าเบื่อจนเกินไป
อ๊ะ - - นั่น! ประตูของ Black Boxes เปิดแล้วครับ...
No comments:
Post a Comment