นำบทสัมภาษณ์บางส่วนของฮีนกับโชโกะจากนิตยสาร Happening ฉบับล่าสุดมาให้อ่านกันว่าพวกเขาได้ประสบการณ์ดีๆอย่างไรบ้างกับ Water Time
Water Time
เราทะเลาะกันด้วยภาษาอะไร
จาก คอลัมภ์ บนเวที! Playing play!
จากนิตยสาร Happening ฉบับที่ 31 เดือนกันยายน 2009
.....
ช่วงเวลาของโปรดักชั่นเริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดในเดือนธันวาคม 2551 จนถึงวันแสดงจริงครั้งแรก ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ใจช่วงวันแห่งความรักเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นั้นถือว่าสั้นมาก ทุกคนจึงต้องซ้อมกันอย่างหนักด้วยวิธีการกำกับแบบครูหนิงที่จริงจังและดึงเอาพลังของนักแสดงออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ กระทั่งผลตอบรับในครั้งนั้นก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ
“ฟีตแบ็กดีและอบอุ่นมากค่ะ คนมาดูเต็มทุกรอบ อ่านจากใบคอมเม้นท์ที่คนดูเขียนหลังจากจบการแสดง เราก็ขนลุก เพราะเขาได้ในสิ่งที่เราอยากจะบอกจริงๆ บางคนก็บอกว่าอยากกลับไปกอดแฟนที่บ้าน บางคนก็จะไปขอคืนดีกับแฟน หรือบางคนก็เดินเข้ามาขอบคุณ” รอยยิ้มของเธอปรากฏบนใบหน้า
หลังจากประสบความสำเร็จเกินคาด ละครเรื่องนี้จึงได้มีโอกาสไปทัวร์ต่างจังหวัดด้วย เริ่มที่ม้าหมุนสตูดิโอ จังหวัดลำปาง และ Minimal Gallery จังหวัดเชียงใหม่
“คณะละครที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทัวร์มากครับ เพราะทำให้เกิดทีมเวริ์ก และยังให้ความรู้แก่คนต่างจังหวัดที่สนใจด้านนี้แต่ไม่มีโอกาสเรียนด้วย เหมือนสมัยก่อนที่ผมอยู่ญี่ปุ่น ผมก็จะชอบมากเวลามีคณะละครจากเกียวมาเล่น” เขาเอ่ยถึงสมัยที่เคยอยู่เมือง อะโอะโมริ (Aomori) จังหวัดทางภาคเหนือของญี่ปุ่น ก่อนที่แรงบันดาลใจเหล่านั้นจะผลักดันให้เขาก้าวมาทำงานละครที่โตเกียวบ้าง
“ที่ลำปางกับเชียงใหม่มีคนดูตั้งแต่เด็กๆไปจนถึงคุฯป้าคุณยาย เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ก็ไม่ได้เคยดูละครเวทีกันบ่อยๆ แต่เราก็มีซับไตเติลช่วยแปลให้นะ ซึ่งห้องที่แสดงก็เล็กมากๆ อยู่ใกล้คนดูแค่นิดเดียว แถมไม่มีแอร์ มีแต่พัดลมตัวใหญ่ๆ 3-4 ตัว เสียงดังเลยต้องใช้สมาธิสูงมาก” เธอกล่าวเสียงเน้น “แต่ถือได้ว่าคนดูก็ให้สมาธิเราด้วย เขานั่งกันนิ่งเลยทั้งที่มันร้อนมาก เพราะเขาได้อะไรในแบบที่เขาไม่เคยดู”
หลังจากนั้น ละครเวทีเรื่องนี้ก็ได้ทุนจาก Japan Foundation ในโครงการสนับสนุนศิลปะในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ใหไปเปิดการแสดงตามมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ธรรมศาสตร์, มหาสารคาม และสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งมีการจัดเวริ์คชอปการแสดงด้วย จนในที่สุดทีมงานก็ตัดสินใจให้ละครเรื่องนี้กลับมาแสดงอีกครั้งที่กรุงเทพฯที่เวทีเดิมคือ Crescent Moon Space ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในเดือนกันยายนนี้
“หลังจากไปเล่นที่เชียงใหม่ เราก็หยุดไปนานเหมือนกัน แต่กลับมาเล่นอีกครั้งนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าซ้ำเลยนะคะ กลายเป็นว่าเราหาซอกมุมให้ตัวละครตัวนั้นได้มากขึ้น เหมือนแกงที่เคี่ยวไปเรื่อยๆ และอร่อยขึ้นน่ะค่ะ” ฮีนเล่าความรู้สึกจาการทัวร์ครั้งล่าสุดที่เธอบอกว่าได้อะไรกลับมามากมาย
ไม่เพียงแค่ทีมนักแสดง คนดูก็ได้อะไรจากละครเรื่องนี้มากมายไม่แพ้กัน เพราะไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาและความรักมาแล้วทั้งนั้น แม้ละครจะยกเพียงเรื่องของคู่รักมานำเสนอ แต่ก็สามารถนำไปเทียบเคียงกับความสัมพันธ์แบบใดก็ได้ ยิ่งบวกกับความใกล้ระหว่างคนดูและนักแสดงเข้าไปด้วยแว ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกสมจริงได้มากขึ้น ช่วยให้แต่ละคนได้มีโอกาสย้อนคิดถึงการกระทำของตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านไป
เสน่ห์ของละครเวทีคือความสดค่ะ คนดูจะเห็นว่านี่คือมนุษย์ที่มาอยู่ข้างหน้าจริงๆไม่ได้อยู่บนจอ เรารู้สึกอะไร คนดูก็รู้สึกแบบนั้นไปด้วยกันในที่ที่เล่น สำหรับฮีนการได้แสดงละครเวทีเป็นความสุขที่ได้เล่น ได้เรียนรู้จักตัวละคร ส่วนถ้าในฐานะที่เราเป็นคนดูเอง เราก็จะได้พลังบางอย่างจากนักแสดงที่มันส่งมาถึงกัน มันสนุกดี” นักแสดงสาวคนสวยยิ้มกว้าง
“ใช่ครับ” นักเขียนบทชาวอาทิตย์อุทัยเห็นด้วย “ผมรู้สึกว่าคาแรกเตอร์มันมีชีวิตอยู่ ทุกครั้งที่เล่นก็จะไม่เหมือนกัน สนุกดี แล้วยังได้เรียนรู้อะไรที่เราอาจจะไม่ได้เจอในชีวิตจริงของเราด้วย”
เป็นอย่างที่เขาว่า.... ละครทำให้เราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง คล้ายส่องให้เราได้ย้อนดูตัวเอง ให้เข้าใจความคิด เหตุผลของการกระทำรวมไปถึงความรู้สึกที่เรามีต่อใครสักคนได้ชัดเจนขึ้น เผื่อจะได้ทบทวนบางสิ่งเล็กๆที่เราไม่เคยใส่ใจ ก่อนเอ่ยคำว่าเสียใจติ่อดีตที่ไม่อาจหวนคืน
.....
หาอ่านแบบเต็มๆได้ในนิตยสาร Happening ฉบับที่ 31 เดือนกันยายน 2009 และเราขอขอบคุณทีมงานนิตยสาร Happening ที่สนับสนุนคนทำงานละครเวที
ส่วน Water Time เหลือวีคนี้เป็นวีคสุดท้ายแล้ว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
หากอ่านเจอคำผิด ขอช่วยวานบอก จะขอบคุณยิ่ง ^^
Post a Comment