ภาพสุดท้ายของละครเวทีเรื่อง ช่อมาลีรำลึก เป็นเหมือนภาพวาดแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ ...ผู้ชมแบบฉันรู้สึกแบบนั้น
ฉันให้คะแนนกับละครเวที ช่อมาลีรำลึก ที่มีปานรัตน กริชชาญชัย เป็นผู้กำกับ เขียนบท และร่วมแสดง ว่าเป็นละครเวทีที่กำลังกินอร่อย รสชาติพอดี รู้สึกว่ากลมกล่อม กินแล้วไม่อิ่มเกินไป หนึ่งชั่วโมงครึ่งกับละครเวทีที่มีบทพูดตลอดทั้งเรื่อง ไม่ได้สร้างความเบื่อหน่ายให้กับเรื่องราวของ ป้าช่อมาลี เลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำตอนจบยังรู้สึกตะหงิดใจว่า เอ๊...ป้าช่อแกไปกรีซจริงหรือเปล่า หรือแกยังบ่นกับกำแพงอยู่แบบเดิม แต่ไปไม่ไปก็ช่างแกเถอะ ทิ้งไว้ให้คาใจแบบนั้นละกัน ที่แน่ๆ คนดูหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ...ไม่ได้การแล้วต้องออกไปใช้ชีวิต...

ดูละครที่ปานรัตน กริชชาญชัย มาก็หลายเรื่อง ต้องบอกว่าผู้กำกับหญิงคนนี้เป็นส่วนเติมเต็มให้ ช่อมาลีรำลึก มีมิติและสีสัน ปานรัตนรับบทเป็น ตุ๊กติ๊ก และตัวละครอีกหลายตัว ออกมาปล่อยมุกเป็นระยะร่วมกับ เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์ (บ่วย) ซึ่งรับบทเป็นช่อมาลี (ถ้าไม่มีปานรัตน เธอก็รับหน้าที่แสดงเดี่ยวแบบเต็มๆ) หญิงที่ชีวิตถูกลดทอนสีสันลงด้วยสถานภาพเมียและแม่ การปรากฏตัวของปานรัตนจึงเป็นน้ำจิ้มชั้นดี และต้องปรบมือให้กับผู้กำกับคนนี้ว่า การเขียนบทของเธอค่อนข้างแน่นและชัดเจนในการนำเสนอความคิดผ่านบทที่สื่อออกมา
ชอบที่ปานรัตนเขียนบทด้วยการใช้วิธีย้อนแย้ง การวิพากษ์ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งแม้ละครจะมีความเป็นเฟมินิสต์ แต่ฉันดูในสถานภาพของผู้ชมที่ไม่อยากเป็นเฟมินิสต์ และดูว่าปานรัตนกำลังเล่าเรื่องของช่อมาลีอย่างไร และใช้การเล่าแบบไหน เธอวิพากษ์ทฤษฎีทั้งหลายของนักคิดตะวันตกหลายคน ที่ให้ความรู้สึกและท้าทายคนดูว่า คุณเลือกจะเชื่อที่เขาทำทฤษฎีสูตรสำเร็จเอาไว้แล้ว หรือคุณเลือกที่จะไม่ฟังนักคิดเหล่านั้น แล้วออกไปหาวิถีทางที่ชอบ(ประมาณไปสู่ที่ชอบๆ ด้วยตัวคุณเอง)ของคุณเอง มันให้อารมณ์เหมือนว่า เลือกที่จะเป็นคนหรือคิดอย่างที่เขาคิดไว้

ปานรัตนหยิบเอาคำพูดธรรมดาในชีวิตประจำวัน มาให้เราได้คิดตาม จริงอยู่แม้เธอจะวิพากษ์ผู้ชายมากไปหน่อย และโยนคำถามมาให้ผู้หญิงเป็นคนหาคำตอบ หรือจะติดกับดักชีวิตแค่การเป็นเมียและเป็นแม่ ส่วนชีวิตที่ต้องการจริงๆ กลับมอดไปแล้ว และเอาแต่คร่ำครวญกับฝาบ้าน ขณะที่สมาชิกในครอบครัวต่างได้ใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างเต็มที่ ผู้ชมที่เป็นผู้ชายมองข้ามเรื่องความเป็นเฟมินิสต์ไปเลยดีกว่า และมองช่อมาลีว่าเป็นชีวิตของคนๆ หนึ่ง เพราะฉันเชื่อว่าผู้ชายก็มีอารมณ์ค้นหาตัวตนเช่นเดียวกัน หรือการใช้เวลาไปกับการรำลึกถึงบางสิ่งบางอย่างในชีวิตทั้งที่เป็นอยู่ เป็นมาแล้ว และกำลังจะเป็น
บางครั้งการปรากฏตัวของปานรัตนในบทบาทต่างๆ ก็ยังทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จริงๆ แล้วตุ๊กติ๊กนั้นมีตัวตนจริงๆ หรือไม่(หรือเธอเป็นกุมารทอง) หรือทุกภาพที่เห็นในละครคือภวังค์ความคิดของ ช่อมาลี คนเดียว บทบาทของช่อมาลีตอบโจทย์ให้กับผู้ชมและสะกิดให้ผู้ชมอย่างฉันได้ฉงน
ข้อความจากปานรัตน กริชชาญชัย ในฐานะผู้กำกับ เขียนบท และร่วมแสดง เธอเขียนไว้น่าอ่านว่า
“...ละครเรื่องนี้ผู้ทำได้รับแรงบันดาลใจจากบทละครเรื่อง Shirley Valentine ของ Willy Russell (บทดั้งเดิมได้รับรางวัล Best Comedy ของ Laurence OIivier Awards 1998) และกลอนชื่อ Waiting ของ Faith Wilding โดยการนำเรื่องราวของตัวละครเอกในเรื่อง Shirley Valentine มาผสมผสานกับคำถามที่มันคาอยู่ในใจเมื่อครั้งที่ได้ไปอ่านบทกลอนดังกล่าว แล้วก็ได้แต่นั่งคิดไปเรื่อยๆๆๆ จนวันหนึ่ง (เกือบ ๑๐ ปีล่วงมา) ก็อดทนต่อไปไม่ไหวเลยทำใจกล้าๆ ท่าสวยๆ เขียนบทขึ้นมาใหม่ในชื่อเรื่องว่า “ช่อมาลีรำลึก”

สิ่งที่เรียกว่า “Rebellious Teenage Roots” หรือ “พลังกระตุ้นของวัยแรง(แวรงงงง)” เป็นสิ่งที่มาผลักดันเส้นทางการนำเสนอละครเรื่องนี้โดยผ่านตัวละครชื่อ ช่อมาลี สาวใหญ่วัยหมดแรงแต่อยากลอง feel อีกสักครั้ง หลังจากมีชีวิตที่ไม่ได้ใช้มานาน ความแรงซ่อนเร้นที่จะพาช่อมาลีออกไปจากกรงขังใจ...แต่กว่าเจ๊แกจะยอมแรง มันต้องผ่านประตูกลกี่บานก็หาได้เดาออกไม่ มาร่วมเดินทางไปกับช่อมาลีที่จะพาเราไปเที่ยวไกลๆ...ไปโดดลงทะเลที่มันลึกลงไปชั่วนิรันดร์นั้น...”
ปานรัตน ออกมาเปิดเรื่องด้วยการเล่นคำว่า รอ ว่าชีวิตของคนเรารออะไรกันบ้าง
เราควรจะรอที่จะใช้ชีวิตหรือไม่??? ชีวิตของเราได้ใช้ไปเท่าไหร่???
มีชีวิตแล้วเราควรต้องใช้มัน ฉันได้ใช้ชีวิตไปดูละครเรื่องนี้ ดูแล้วอิ่มกำลังดี อร่อยแล้วไม่ต้องปรุงอะไร ลงตัวสุด (แต่ยังไม่อยากโดดลงทะเลที่มันลึกลงไปชั่วนิรันดร์นั้น นะ เพราะยังอยากใช้ชีวิตกับอีกหลายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง)
รอบการแสดง ช่อมาลีรำลึก
26-30 สิงหาคม และ 2-6 กันยายน 2552รอบเวลา 19.30 น.
ที่ Crescent Moon Space
บัตรราคา 300 บาท (นักเรียนนักศึกษา 250 บาท)
สอบถามรายละเอียด 086 787 7715
ขอขอบคุณ nonglucky
และคลิ๊กเข้าไปอ่านได้ที่นี่
http://www.oknation.net/blog/nonglakspace/2009/08/31/entry-1
No comments:
Post a Comment