มีคนเขียนถึงโครงการอ่านบทละครที่บล็อคโอเคเนชั่น เมื่อวันพุธ ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 เลยขอเค้าแล้วเอามาลงไว้ที่นี่ด้วย
อุ่นรัก...อ่าน(เรื่อง)รัก
Posted by nonglucky
อ่าน(เรื่อง)รัก : อ่านรักจากวรรณกรรม
พระจันทร์เสี้ยวการละคร โดย สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงปี ๒๕๕๑ ได้ชักชวนนักการละคร ๑๐ คน ที่สมัครใจร่วมโครงการ อ่าน(เรื่อง)รัก : อ่านรักจากวรรณกรรม มาร่วมกันสุมหัวเพื่อนำเสนอความรักหลากหลายมิติ เรื่องรักทั้ง ๑๐ สินีนาฏเปิดพื้นที่ให้กับคนทำละครทั้งสิบชีวิต คัดสรรนำมาอ่าน และนำเสนอชิ้นงานทั้งสิบอย่างอิสระ สินีนาฏกล่าวว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในปีที่ผ่านมา มีความตึงเครียด บรรยากาศของบ้านเมืองทำให้เกิดการแบ่งแยกและเกลียดชัง จึงอยากนำเสนอโครงการแรกจากพระจันทร์เสี้ยวด้วยเรื่องรัก เพื่อให้ผู้สนใจพูดถึงความอ่อนไหวในใจอย่างความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ร่วมงานกับคนทำละครทั้งสิบ ทำให้เห็นมิติความหลากหลาย มุมมองความรัก หนังสือที่เขาชอบอ่าน การตีความที่มีต่อความรักและวรรณกรรม
แม้จะเป็น โครงการที่ไม่มีกระบวนการซับซ้อนเหมือนการทำละครเวที แต่ทั้งสินีนาฏและนักการละครอีกสิบคน มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ๓ ครั้ง และเตรียมงานกันร่วมหนึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนเศษๆ สวนีย์ อุทุมมา, สายฟ้า ตันธนา, คานธี อนันตกาญจน์, อภิรักษ์ ชัยปัญหา, ปานรัตน กริชชาญชัย, เกรียงไกร ฟูเกษม, นพพันธ์ บุญใหญ่, ศรวณี ยอดนุ่น, เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ และสุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล คือนักทำละครทั้งสิบคนที่ยินดีเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทุก คนต่างมีฉากและตอนที่ประทับใจในแง่มุมของความรัก จากหนังสือที่พวกเขาคัดมาแตกต่างกัน เรื่องรักทั้งสิบมีทั้งงานเขียนของนักเขียนไทยและนักเขียนต่างประเทศ
การนำเสนอ นักทำละครทั้งสิบจะนำเรื่องรักที่ตัวเองคัดตอนมาแล้ว มาอ่านให้ผู้เข้าชมฟัง พร้อมกับมีการแสดงประกอบไปด้วย วิธีการแสดงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนำเสนอแบบสื่อมัลติมีเดีย ฉายภาพเคลื่อนไหวประกอบ มีเสียงดนตรี การจัดฉากเล็กๆ เหมือนเล่นละครเวที ความรู้สึกเหมือนได้นั่งชมละครเวทีสั้น ๑๐ เรื่อง แต่ละครเวทีสั้นครั้งนี้ มีนักแสดงถือแผ่นกระดาษอ่านบทให้ฟังไปด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยอารมณ์รัก เศร้า สูญเสีย เป็นน้ำเสียงการอ่านที่มาจากอารมณ์อันเป็นแรงขับที่เกิดจากการรู้สึกไปกับ งานเขียนทั้งสิบเรื่อง แต่ละเรื่องมีความยาวตั้งแต่ ๑๐ นาทีไปจนถึง ๒๐ นาที
สวนีย์ อุทุมมา นักทำละครจากกลุ่มมะขามป้อม คัดตอน ๔ หน้า ๔๒-๕๒ ของนวนิยายเรื่อง “ความรักของวัลยา” เขียนโดย เสนีย์ เสาวพงศ์ สวนีย์บอกว่า ชอบเรื่องนี้มากตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น แม้ภาษาจะอุดมคติ แต่ก็ยังเลือกตอน ๔ ที่มีหญิงชราชาวฝรั่งเศส สนทนากับตัวเอกในเรื่องถึงความกล้าหาญของสตรีชาวฝรั่งในหน้าประวัติศาสตร์ ของฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มตั้งแต่การทำลายคุกบาสติลล์ไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีรุกราน หญิงชราชาวฝรั่งเศสวัย ๖๐ เล่าถึงความกล้าหาญของสตรีฝรั่งเศสว่า มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่เสรีภาพและภราดรภาพ เธอเล่าถึงความกล้าหาญด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ และกระชากความสะเทือนผู้ชมว่า เธอสูญเสียลูกสาวไปถึงสองคนในสงครามเช่นกัน เธอเล่าและยิ้มอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจที่มีลูกสาวกล้าหาญถึงสองคน แม้ทั้งสองจะเสียชีวิตในสงครามก็ตาม สวนีย์ต่ออีกว่า รอยยิ้มในความภาคภูมิใจนั้นอาจจะไม่ใช่อย่างเวลาที่แม่เห็นลูกขึ้นไปรับถ้วย รางวัล แม้เรื่องนี้ภาษาจะอุดมคติ กลับสร้างความประทับใจให้แก่นักศึกษาที่เข้าฟังจำนวนมากในวันนั้น เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราว ทำให้นักศึกษาฉุกคิดและตั้งคำถาม รวมถึงสะเทือนใจไปกับเหตุการณ์ที่หญิงชราชาวฝรั่งเศสเล่าออกมา ...สงครามเป็นความสูญเสียที่สร้างความรู้สึกร่วมให้มนุษยชาติเสมอ แต่สงครามก็ยังไม่สิ้นสุด...หญิงชราพูดว่า “ฉันหวังว่าลูกสาวของฉันทั้งสองคนคงจะเป็นคนสุดท้ายที่ต้องเสียชีวิตไปใน สงคราม” เรื่องนี้อ่านโดย อาจารย์พรรัตน์ ดำรุง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คานธี อนันตกาญจน์ คัดเลือกตอนและกำกับการอ่านโดย สวนีย์ อุทุมมา
"ไหม" งานเขียนของ อเลซซานโดร บาริกโก แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นชิ้นงานที่สายฟ้า ตันธนา คัดเลือกมาอ่านพร้อมกับเพื่อนอีกสองคนคือน้ำผึ้งและคิ้ม โดยเลือกเอาตอนจบของเรื่องมานำเสนอ คือตอนที่แอรเว ฌองกรู (พ่อค้าไหม) รู้ว่าจดหมายฉบับนั้น เอแลน (ภรรยา) เป็นคนเขียน คนทำละครที่มาอ่านงาน ทั้งสามคนออกมาในชุดสีดำสนิท สร้างบรรยากาศกดทับและอึงคะนึงแก่ผู้เข้าชม...น้ำเสียงของคิ้ม ให้ความรู้สึกกระเทือนใจและอาลัยอาวรณ์ในบางที การถ่ายทอดอารมณ์ในน้ำเสียงของคิ้มทำได้ดีไม่มีที่ติ คิ้ม มินตา ภณปฤณ พูดถึงงานเขียนเรื่องไหมและตีความงานเขียนชิ้นนี้ว่า...ไหมเป็นการพูดถึง ความรัก ความเจ็บปวด ความปรารถนา ที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แสดงให้เห็นถึงดินแดนของผู้หญิงซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาติหรือภาษาใดต่างก็มีจุด ร่วมในความเป็นหญิงเหมือนกัน และผู้ชายในเรื่อง (แอรเว) ต้องเดินทางเข้าไปสู่ดินแดนของผู้หญิงทั้งหมดในเรื่อง การล่วงล้ำเข้าไปในเพศหญิง ในดินแดนของผู้หญิง แต่แอรเวกลับไม่เข้าใจสถานที่เหล่านั้นเลย... สำหรับฉันในฐานะผู้ชมและ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ พลันอ่านจบ ฉันกลับรู้สึกอ้างว้างและรู้สึกว่าความรักแอรเวมีต่อภรรยา ช่างว่างเปล่านัก ตอนที่แอรเวบอกกับเอแลนว่า “ฉันจะรักเธอตลอดไป” เป็นคำบอกรักที่จืดชืดสนิท ฉันรู้สึกเหมือนแอรเวสักแต่พูดตามหน้าที่ เป็นคำบอกรักที่ไม่ชอบมาพากล เหมือนรักในสุญญากาศ เจ็บปวดที่ได้ยินมากกว่าจะอิ่มเอมใจ
"เสียงระหว่างเรา" ที่คานธี อนันตกาญจน์ นำมาอ่าน เรียกความหวานของรักกลับคืนมา แม้ว่ารักของคนทั้งคู่กำลังจบลงด้วยความตายของอีกฝ่ายก็ตามที เสียงระหว่างเรา อยู่ในหนังสือเรื่องสั้น(ขนาดสั้น) เรื่อง ภวาภพ เขียนโดย อุเทน มหามิตร เรื่องที่เลือกมาอ่านเป็นความผูกพันระหว่าง คู่รัก ในอ้อมกอดของกันและกัน ในวาระสุดท้ายที่ฝ่ายชายกำลังจะตายไปจากหญิงใบ้ผู้เป็นที่รักของเขา คานธีอ่านคนเดียว พร้อมฉายภาพหญิงใบ้ที่เป็นใบ้จริงๆ ในเรื่องที่นำมาอ่าน บอกว่า คู่รักสื่อความหมายต่อกันด้วยภาษามือ แล้วผู้ชมก็ได้ร่วมดื่มด่ำไปกับเสียงเปียโนอันเพราะพริ้งจากปลายนิ้วของนัก เปียโนรับเชิญ ภาพเคลื่อนไหวฉายให้เห็นเฉพาะนิ้วทั้งสิบที่กำลังกรีดกรายอยู่บนเปียโน เสียงเพลงเปียโนคลอเบาไปกับเสียงอ่านที่น่าฟังของคานธี เมื่ออ่านจบเสียงปรบมือจากผู้ชมดังเกรียวกราว
ผลงานซีไรท์เล่มล่าสุดของวัชระ สัจจะสารสิน รวมเรื่องสั้นชุด เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นงานเขียนที่อภิรักษ์ ชัยปัญหา นำมาอ่านในครั้งนี้ โดยเลือกเรื่อง “หาแว่นให้หน่อย” ให้นักแสดงสองคนอ่านพร้อมแสดงประกอบ รักในวรรณกรรมเรื่องนี้ เร่าร้อนและดุเดือด เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม แต่สะกิดต่อมความคิด นักเขียนซีไรท์อย่างวัชระเล่าเรื่องการปฏิวัติระหว่างการเมคเลิฟของสามี ภรรยาคู่นี้ ประหนึ่งว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นกิจกรรมทางเพศชนิดหนึ่ง
หากใครอยากบ่มเพาะและรำลึกถึงความรู้สึกแบบรักแรก ปานรัตน กริชชาญชัย นำวรรณกรรมเรื่อง "แวร์เธอร์ระทม" จากวรรณกรรมเยอรมันเรื่อง Die Leiden des jungen Werther ของ โยฮันน์ โวลฟ์กัง ฟอน เกอเธ่ แปลโดย รศ.ถนอมนวล โอเจริญ ปาน รัตนชอบมุมมองการนำเสนอ “ความรักในความคิดฝัน” เป็นความรักแบบโรแมนติกหรือแบบ storm and stress โดยเลือกเอาช่วงกลางจนถึงจบเรื่อง(เอามาเฉพาะบางหน้า) ซึ่งเป็นตอนที่พระเอกพรั่งพรูถึงความรักที่มีมากมายเหลือคณากับนางเอก ปานรัตนเลือกตอนนี้เพราะเป็นช่วงที่พระเอกได้กลั่นกรองทัศนะของความรักและความ รู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจออกมาชัดเจนที่สุด เป็นช่วงเคลิ้ม น่าใหลหลงในคำที่เขาเอ่ยออกมา ทำให้เห็นมุมมองของความรักที่มันเป็นความคิดฝันแบบสุดโต่ง ไม่เหลือที่ว่างให้กับความเป็นจริงและเหตุผลเลยแม้แต่น้อย เมื่อฟังแล้วชวนให้คิดคำนึงไปถึงวันแรกที่เราประสบพบพักตร์กับคนที่เรารัก และตัดสินใจที่ริจะรักเขา มันเป็นความอยากได้ใคร่ปรารถนาที่สวยงาม ทำให้หวนคิดว่าคนเรามีความสามารถที่จะมองความรักได้งามถึงปานนั้นเชียวหรือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็น่าลองใช้ความสามารถทางความฝันเหล่านี้และอารมณ์รัก แรกเริ่มมาเติมความรักในโลกของความเป็นจริงกันดูบ้าง เพราะถ้าชีวิตอยู่ได้ด้วยแรงแห่งความฝันฉันใด ความรักก็คงดำรงอยู่ได้ด้วยความคิดฝันฉันนั้นกระมัง เมื่ออ่านมุมมองที่ ปานรัตนอยากนำเสนอ ฉันเองก็มาตั้งคำถามว่า ...เราจะสามารถรักคนที่เรารักได้ดั่งวันแรกที่รักเขาได้ตลอดไปหรือไม่?... แว ร์เธอร์ระทม งดงามด้วยนักแสดงหญิงที่สวยมาก และนักแสดงชายอีกสองคนที่มาอ่านร่วมกัน การจัดฉากและแต่งกายแบบย้อนยุค นักแสดงที่เล่นเป็นเกอเธ่ยังเดี่ยวกีต้าร์ร้องเพลงรักสดๆ เพื่อเผยความรู้สึกแรกที่มีต่อนางเอกในเรื่องให้ผู้ชมได้หวานกัน
เมื่อสักห้าปีก่อน(กระมัง) นวนิยายของนักเขียนญี่ปุ่นนาม ท์ซึจิ ฮิโตนาริ เขียนหนังสือออกมาสองเล่มคู่กัน คือ BLU "เยือกเย็น" กับอีกเล่ม (จำไม่ได้) เกรียงไกร ฟูเกษม เลือก BLU เยือกเย็น แปลโดย สมเกียรติ เชวงกิจวณิช มานำเสนอ ตะเกียงเลือกตอนที่เป็นการพูดถึงการเลือกที่จะ ดำเนินชีวิตของจุนเซ (ตัวละครหลัก) ที่จะยังคงจมอยู่กับสัญญาในอดีต และตามหาร่องรอยความรักในอดีตของหญิงที่ตนเคยรัก จะมองไกลออกไปสู่อนาคตกับเมมิ สาวน้อยลูกครึ่งอิตาลีกับโตเกียว และการที่จะยังคงเลือกเป็นนักซ่อมภาพศิลปะ หรือจะเป็นผู้วาดงานศิลปะขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้ใช้ผู้อ่านเพียงคนเดียว โดยเลือกบทบาทให้ผู้อ่านเป็นนักพิสูจน์อักษร ที่มานั่งอ่านและแก้ไขเรื่องนี้ให้ผู้ชมฟัง
เสียง กรี๊ดและเสียงหัวเราะดังสนั่นเมื่อนพพันธ์ บุญใหญ่ นำเสนองานเขียนเรื่อง "ความลับในความรัก" เขียนโดย จอห์น อาร์มสตรอง แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา... นพพันธ์นำเสนอ ความลับในความรัก ตามขนบวิธีคิดนอกกรอบในแบบที่เป็นตัวเขาเอง และดำเนินเรื่องอย่างสนุกสนานด้วยการเขียนละครซ้อนบทประพันธ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เหมือนตั้งคำถามว่า ความลับในความรักคืออะไร อย่างตอนที่พูดถึง เวลาคนมีความรักมักจะใส่แว่นตาอีกอัน หรือการเล้าโลมทางเพศด้วยคำพูดของสามีภรรยาคู่หนึ่งในร้านอาหาร และคู่รักนักประกาศข่าวที่ทะเลาะกันแล้วจบลงด้วยการเมคเลิฟ ...นพพันธ์มักทำอะไรไร้กรอบ แต่ไม่ไร้ความคิด... หากจะหัวเราะกันดัง ลั่นกับ การแสดงของผู้อ่านทั้งสี่คน แต่อย่าหัวเราะเพลินจนลืมกลับเอาเก็บไปคิด เพราะนพพันธ์เขาไม่ได้เฉลยว่า หนึ่งบวกหนึ่งแล้วเท่ากับสอง
ศรวณี ยอดนุ่น ชอบเรื่อง The Missing Piece Meets the Big O หรือ "การเดินทางของส่วนที่หายไป" มาอ่าน เพราะให้ความรู้สึกว่า ความรักไม่จำเป็นต้องแสวงหา มันมีอยู่แล้วในตัวเอง ถ้าเรารักตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมารักเรา เราก็จะมีความสุขมากๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนที่ขาดหายไปของใคร เพราะเรานั้นสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว แต่เราเพียงแค่อยากมีเพื่อนกลิ้งไปด้วยกันก็เท่านั้น ศรวณีอ่านให้ฟัง และมีเพื่อนอีกสองมากลิ้งไปกลิ้งมาเป็นวงกลมระหว่างที่อ่านไป ก็จะเห็นนักแสดงอีกสองคนกลิ้งไป
งานเขียนของปราบดา หยุ่น เรื่อง "แพนด้า" เป็นเรื่องที่เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ เลือกมาอ่าน และมีเพื่อนอีกสองคนร่วมแสดงและร่วมอ่าน เขาเลือกตอนที่เป็นบันทึกครั้งที่ ๑๐ เป็นการบันทึกการเดินทางของแพนด้าจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ “แพนด้า” หนุ่มวัย ๒๗ ปี มีรูปร่างคล้ายกับหมีในประเทศจีน เขามีความคิดว่าเขาและมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ล้วนเกิดมาผิดดวงดาว เป็นเหตุที่ทำให้โลกใบนี้เสียสมดุลและเกิดความวุ่นวาย การเดินทางของเขาในครั้งนี้คือการเดินทางกลับไปดาวบ้านเกิด โดยมีผู้ร่วมการเดินทางไปด้วยอีกคนหนึ่งคือ “หยิน” สาววัย ๒๒ ปีที่พร้อมจะเคียงข้างไปกับแพนด้า โดยที่ไม่รู้ปลายทางคือที่ใด เบญจ์ บอกว่า ที่เลือกตอนนี้เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อ กัน เป็นมุมมองความรักที่แสดงถึงการยอมรับกัน และสุดท้ายจบลงด้วยการเดินทางครั้งใหม่ เรื่องนี้นำเสนอได้น่ารัก ผู้แสดงก็ยังสดใส เรื่องจึงเต็มไปด้วยความใส และรอยยิ้มใสๆ
"เขาไม่นับเธอ" เขียนโดย ไฮนริช เบิล แปลโดย อำภา โอตระกูล เป็นเรื่องที่ สุวรรณา พร้อมตั้งตระกูล เลือกมาอ่าน ชีวิต ของผู้ชายคนหนึ่งที่วันๆ เอาแต่จดจ่ออยู่กับตัวเลขสถิติจำนวนผู้ใช้สะพาน เพื่อไปรายงานต่อบริษัทเปลี่ยนไป เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านสะพาน ชีวิตของเขามีความหมาย ไม่ซังกะตาย และทุกครั้งที่เธอเดินผ่านมา เขาไม่สนใจที่จะนับจำนวนผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาบนสะพาน ตัวเลขสถิติหยุดลง และเขาไม่นับเธอให้เป็นหนึ่งในตัวเลขทางสถิตินั้น วัน ธรรมดาของเขาในแต่ละวัน กลายเป็นวันแห่งการรอคอยที่จะไม่ได้นับเธอ ชีวิตมีความหมายเมื่อได้คอยใครสักคน แล้วตัวเลขและเวลาก็ประหนึ่งจะหยุดลง เมื่อการรอคอยได้สิ้นสุด การอ่านเรื่องนี้ขอชมนักแสดงที่มาอ่านว่า แสดงออกทางอารมณ์ได้ดีทีเดียว ทำให้รู้สึกอึดอัด กระวนกระวายใจระหว่างที่รอเธอคนนั้น และหัวใจเบ่งบานเมื่อในที่สุดเธอก็เดินผ่านมา
ทั้งสิบเรื่องของโครงการนี้ ทำให้ผู้เข้าชมที่ยังเป็นนักศึกษา เกิดความรู้สึกอยากอ่านหนังสือทั้ง ๑๐ เล่ม และกิจกรรมครั้งนี้ยังสามารถเป็นการปูพื้นฐานให้กับนักศึกษาด้านละครเวที นำไปปรับใช้กับการเขียนบทละครเวทีได้อีกด้วย การ กระตุ้นการอ่านวรรณกรรม และหนังสือครั้งนี้ เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่าง นาฏกรรมและวรรณกรรมได้อย่างลงตัว และคงทำให้มีคนรักการอ่าน อยากอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร ยิ่งเมื่อผู้เข้าชมได้รับฟังการตีความของคนทำละครทั้ง ๑๐ ที่มีต่อเรื่องที่พวกเขานำเสนอ เชื่อแน่ว่า ความคิดเห็นของคนทำละครจะเป็นประกายที่ช่วยจุดไฟในการรักการอ่าน และอยากอ่านวรรณกรรมดีๆ
เขียนโดย
นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ
ผู้เข้าชมทั้ง ๑๐ เรื่องรักจากวรรณกรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Post a Comment