welcome to crescent moon space

welcome to crescent moon space
small but beautiful small alternative space for theatre lovers

Monday 23 February 2009

Water Time - ในโลกใต้น้ำ

เหลืออีกเพียงอาทิตย์นี้อาทิตย์เดียวเท่านั้น อย่าพลาดกับห้วงเวลาของน้ำ มีคนเขียนวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในบล๊อกมัลติพลาย เราเลยขอเขาเอามาลงให้อ่านกัน หากใครยังไม่ได้ดู แนะนำว่าอย่าเพิ่งอ่าน




Water Time...ในโลกใต้น้ำ
Feb 22, '09 6:23 PM
Hype Art & Culture, March 2009







Text : วรัญญู อินทรกำแหง – varanyoob@hotmail.com


Water Time - ในโลกใต้น้ำ...รอยยิ้มและร่างกายของเธอคืออากาศที่ผมใช้หายใจ ผมไม่ได้เขียนถึงละครในแนวสมจริง (realistic) มาเสียนาน อาจจะเป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวที่ช่วงหลังๆ รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการแสดงในแนวนี้ที่ต่อให้ผู้แสดงๆ ได้ดีและสมจริงเพียงใด แต่เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อประเภทละครเวที (แสงเสียง ฉาก โรงละคร) ซึ่งแม้จะพยายามจะช่วยสมรู้ร่วมคิดสร้างความเชื่อไปกับเขาด้วยแล้วก็ตาม ผู้ชมอย่างเราก็จะรับรู้อยู่เสมอว่านั่นไม่ใช่ความจริง ซึ่งผิดกับสื่อภาพยนตร์ซึ่งมักจะให้ ‘ภาพลวง’ ที่สมจริงได้มากกว่า ประกอบกับผมไม่ค่อยโชคดีได้เจอละครในแนวสมจริงซึ่งมีนักแสดง ‘ทั้งแคส’ ที่ทั้งมีพลังและแสดงได้ดีจนเป็นธรรมชาติจนทำให้เรารู้สึกเชื่อไปตามบทบาทที่พวกเขาได้รับไปตลอดเรื่องได้ นี่ยังไม่นับเรื่องบทละครในแนวนี้ซึ่งหาคนเขียนดีได้ยากเต็มทีอีกประการหนึ่ง ทำให้ช่วงหลังๆ ความสนใจของผมจึงหันเหไปที่ละครแนว stylization มากกว่า เพราะไหนๆ ถ้าจะหาความสมจริงได้ยากถึงเพียงนั้นแล้ว ก็ไปหา ‘ความจริง’ ในความไม่สมจริงแต่มีสไตล์และมีพลังน่าจะดีกว่า แต่การได้กลับมาชมละครเวทีเล็กๆ เรื่องนี้ทำให้ต้องหวนกลับมาพิจารณาอะไรบางอย่าง และคงถึงขั้นเสียดายหากไม่ได้ชมละครเวีทีเล็กๆ เรื่องนี้

‘Water Time’ เป็นผลงานของกลุ่ม ‘Life Theatre’ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นชื่อใหม่สำหรับผู้ชมละครเวทีในบ้านเรา แต่หากพลิกไปดูสูจิบัตรแล้วจะพบว่าเป็นชื่อที่คุ้นหูพอสมควร เพราะเกิดจากการรวมตัวของสามคนละครอันได้แก่ พันพัสสา ธูปเทียน หรือ ‘ครูหนิงเอเอฟสอง’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ, โชโกะ ทานิกาวา หนุ่มลูกครึ่งชาวไทยญี่ปุ่น ที่สร้างสีสันผลงานละครเวทีอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทั้งในฐานะนักแสดง และผู้กำกับฯ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง ‘Water Time’ นี้เองอีกด้วย ส่วนอีกคนคือ ศศิธร พานิชนก หรือ ‘ฮีน’ ซึ่งหลายคนอาจจะจำเธอได้จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ตะลุมพุก’ เมื่อหลายปีก่อน น่าชื่นใจว่าเธอก็เป็นหนึ่งในไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของบัณฑิตสาขาการละครมาที่ยังคงทำงานด้านนี้ต่อหลังเรียนจบ

เรื่องราวใน ‘Water Time’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาต่างเชื้อชาติซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเม้นต์กลางมหานครนิวยอร์ก เรื่องเปิดขึ้นที่หญิงสาวคนหนึ่งตื่นขึ้นมาตอนเช้าและเปิดเพลง ‘A Time For Us’ และซ้อมแสดงบทของจูเลียตในละครเรื่อง Romeo & Juliet ของเชกสเปียร์ ซึ่งซ่อนนัยยะสำคัญต่อสารที่ละครต้องการจะสื่อเอาไว้ ต่อมาเราได้รับรู้ว่าผู้หญิงคนไทยคนนี้ชื่อ ‘น้ำ’ เป็นภรรยาของ ‘เคนจิ’ นักเขียนบทละครชาวญี่ปุ่นหัวดื้อ ซึ่งเคยมีผลงานสร้างชื่อเสียง แต่ก็ตกอับเพราะไม่ได้เขียนงานที่ใช้ได้มาพักใหญ่แล้ว จนภรรยาซึ่งเป็นนักแสดงต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้านด้วยการเป็นสาวเสิร์ฟและหมั่นไปออดิชั่นเป็นนักแสดงควบคู่ไปด้วย ภายใต้สภาวะความกดดันของชีวิตคู่ เคนจิตั้งใจจะเขียนบทละครที่ทั้งขายได้และมีความแปลกใหม่ทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับงาน

ในขณะที่น้ำคาดหวังว่าเคนจิจะเขียนบทละครซึ่งเป็นที่น่าจดจำเช่นเดียวกับบทละครเรื่องที่นำทั้งคู่ให้มาพบรักและแต่งงานกันรวมทั้งทำความเข้าใจกับความต้องการของเธอให้มากกว่านี้ ประกอบกับความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของทั้งคู่อันเปรียบเสมือนกำแพงที่มองไม่เห็นที่กั้นพวกเขาให้ไกลห่างจากกันออกไป ซึ่งเราจะได้เห็นกำแพงนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในยามที่ทั้งสองคนทะเลาะและระเบิดอารมณ์ใส่กันด้วยภาษาแม่ของแต่ละคนโดยไม่ยอมใช้ภาษาอังกฤษอันเป็นสื่อกลาง ร้อนไปถึงเพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นต์ชาวไทยที่ชื่อ ‘เอ’ (บทนี้รับเชิญโดยอภิรักษ์ ชัยปัญหา) ที่จะต้องมาคอยเป็นล่ามแปลภาษาให้แบบแถๆ ไม่กล้าแปลให้ตามจริงเพราะกลัวว่าคู่รักเขาจะแตกหักกันเพราะตนเอง

พูดง่ายๆ ว่าละครเรื่องนี้เป็นละครสามภาษาซึ่งในช่วงสองในสามของเรื่องจะมี subtitle ทั้งสามภาษาบรรยายให้กับผู้ชมที่รู้ไม่ครบทั้งสามภาษา ด้วยความจงใจของผู้กำกับฯ ที่ต้องการจะให้คนดูอยู่ในฐานะผู้รู้ที่มีความเข้าใจในเหตุผลการกระทำของตัวละครทั้งสองคน ซึ่งหากคิดๆ ดูแล้วการที่นำเพลง A Time For Us และบทละครของเชกสเปียร์มาใช้ในตอนแรกนั้นก็เพื่อต้องการสื่อเห็นว่าสิ่งซึ่งเป็นกำแพงของความรักระหว่างโรเมโอกับจูเลียตนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกอันมาจากความขัดแย้งของทั้งสองตระกูล

ส่วนอุปสรรค์ความรักของน้ำและเคนจิใน Water Time นั้นหากมองเผินๆ แล้วอาจคิดได้ว่าเป็นเรื่องของภาษา แต่เมื่อ Subtitle ช่วงท้ายของเรื่องหายไปผู้ชมจะพบความจริงว่ามันมาจากปัจจัยภายในของคนทั้งคู่เอง โดยเฉพาะตัวละครฝ่ายชายซึ่งไม่ได้ตระหนักหรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ณ ปัจจุบัน จนมาเข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อรู้ว่าไม่สามารถหวนคืนเวลากลับมาได้ เหมือนกับประโยคหนึ่งภายในเรื่องที่บอกว่า... “ในโลกใต้น้ำที่อึดอัดหายใจไม่ออก...รอยยิ้มและร่างกายของคุณคืออากาศที่ผมใช้หายใจ

โดยรวมแล้วการแสดงของนักแสดงทั้งสามถือว่าดีมากๆ ทีเดียวครับ เมื่อหลายปีก่อนผมเคยเขียนวิจารณ์เกี่ยวกับการแสดงของฮีนในละครเวทีเรื่องกุหลาบสีเลือดไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่งอย่างค่อนข้างแรงว่าน่าผิดหวังที่เป็นนักเรียนการละคร หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ชมการแสดงของเธออีกเลย พอมาเจอในเรื่องนี้เธอลบคำสบประมาทนั้นลงได้อย่างราบคาบเชียวล่ะครับ แถมยังมีเสน่ห์มากสำหรับบทของน้ำ, โชโกะในบทเคนจิเองก็มีเสน่ห์ อารมรณ์ขัน และความน่ารำคาญได้ในเวลาเดียวกันตามที่แคเร็คเตอร์นี้ควรจะเป็น ส่วนบทรับเชิญของอภิรักษ์ ชัยปัญหาที่โผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยนั้นก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใดทั้งยังสร้างสีสันให้กับเรื่องได้มาก

นอกจากบรรดานักแสดงแล้วคงต้องยกความดีให้กับ ‘ครูหนิง’ ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ ที่สามารถโค้ชนักแสดงให้แสดงออกมาได้อย่างมีจังหวะจะโคนและเป็นธรรมชาติจนมีบางช่วงที่แม้จะรุ้อยู่แล้วว่าไม่จริงแต่กลับรู้สึก ‘จริง’ จนเผลอคิดไม่ได้ว่ากำลังแอบดูชีวิตของคนอื่นอยู่หรือเปล่า แต่อีกประการหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือความเรียบง่ายจากการแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาของตัวละครซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเสน่ห์ที่ดูง่ายสำหรับคนดูโดยทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็มองได้เช่นกันว่าเป็นจุดด้อยที่ยังอาจจะดูได้ว่าอ่อนชั้นเชิงไปสักหน่อยสำหรับคนดูอีกจำพวกที่ต้องการความท้าทายขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง กระนั้นแล้ว ละครเวทีเล็กๆ ในแนวสมจริงเรื่องนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของนักการละครท่านหนึ่งที่เคยพูดคุยกันเมื่อหลายปีที่แล้วและบอกว่า “realistic…absurd…melodrama หรือ Brecth ไม่ว่าละครแนวไหนต่างก็มีความงามในตัวของมันเองทั้งสิ้น ถ้าเพียงแต่ละครเรื่องนั้นจะไปให้สุดทาง” และก็ทำให้ผมตระหนักถึงความงามที่ว่าของละครในแนวสมจริง รวมทั้งคุณค่าของความรัก ณ ปัจจุบัน จนอยากกลับบ้านไปกอดแฟนและรักษามันไว้ให้ดีๆ ก่อนที่จะขาด...อากาศหายใจ


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
http://varanyoob.multiply.com/journal/item/31/31

No comments: