“จะอยู่หรือตายนั่นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป”
“แฮมเล็ต” เป็นหนึ่งในบรรดาบทละครสุดโปรดของผม เนื่องจากมันเป็นละครที่ผมอยากเรียกว่า “มีปัญหามาก” ในหลาย ๆ ด้านจนน่าสนใจ ครูของผมคนหนึ่งที่อังกฤษเคยพูดให้ฟังว่าเหตุที่เรื่องนี้มันมีความยาวมากและบางทีอาจจะซับซ้อนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ของเชคสเปียร์อาจเป็นเพราะว่ามีการแต่งเสริมเข้าไปโดยฝีมือนักแสดงในสมัยต่อ ๆ มา ซึ่งนั่นก็อาจเป็นไปได้อีกว่าเหตุใดละครเรื่องนี้ถึงได้มีมิติที่หลากหลายมากตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับอภิปรัชญา อีกทั้งยังเอื้อต่อการตีความไปต่าง ๆ นานาตามแต่เหตุผลและความรู้สึกของผู้กำกับการแสดง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องขอแสดงความนับถือต่อผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเสน่ห์ให้แก่บทละครเรื่องนี้-ที่มีความเป็นปริศนามากพออยู่แล้ว...ให้มีความปริศนามากขึ้นไปอีก...ถือว่าเป็นโชคดีแท้ ๆ ของชาวโลกชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในการทำแฮมเล็ตครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นอภิปรัชญาใด ๆ ตามที่นักวิชาการหรือนักวิจารณ์ได้สร้างฐานข้อมูลและชุดความคิดให้เราได้ร่ำเรียนหรือรับรู้กันมา ผมไม่ได้เปลี่ยนบทของเชคสเปียร์ด้วยวิธีการที่ผมเคยใช้ในการดัดแปลงบทต่างประเทศเหมือนเรื่องก่อน ๆ ผมทำแค่การตัดต่อบทแล้วค้นหารูปแบบการนำเสนอตามสัญชาติญาณในระหว่างกระบวนการซ้อมเท่านั้น อีกทั้งผมไม่คิดที่จะเชื่อมโยงแฮมเล็ตกับบริบททางสังคมใด ๆ อย่างที่เคยเป็นที่นิยมทำกันด้วย สิ่งที่ผมสนใจในปัจจุบันอยู่ที่ความเป็นตัวตนของแฮมเล็ต ซึ่งไม่ว่าใคร (หมายถึงทั้งคนในเรื่องและนอกเรื่อง) จะว่าเขาเป็นอย่างไร ผมได้มุ่งพิจารณาเฉพาะในสิ่งที่เขาคิด พูด และกระทำออกมาเท่านั้น การดึงบทเฉพาะที่แฮมเล็ตพูดออกมาเรียงร้อยต่อกันโดยเฉพาะช่วงที่เรียกว่า “บทรำพึงรำพัน” (soliloquy) ผมไม่เพียงแต่พบว่ามันสามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบได้ (แถมยังสามารถทำเป็นการแสดงเดี่ยวได้ด้วย) แต่ทำให้ผมรู้สึกมากยิ่งขึ้นด้วยว่าเขาไม่ได้ผิดแผกอะไรไปกว่ามนุษย์ธรรมดาปกติทุกคนซึ่งสามารถเป็นไปได้ทุกอย่าง
ผมรู้สึกว่าวลีสุดฮิตอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลที่ว่า “To be or not to be that is the question” นั้น อาจจะไม่แตกต่างอะไรกับ “ดาวินชีโค้ด” ที่สามารถเอามาไขปริศนาอันซับซ้อนในตัวของเขาได้ ผมจึงลองใช้วลีนี้เป็นแกนในการสำรวจการกระทำทุกอย่างของแฮมเล็ต ไม่ว่าจะเป็นการใช้จับหรือถอดประโยคต่าง ๆ ในเรื่องที่แฮมเล็ตพูดไปโดยตลอด ไปจนถึงการลองเปลี่ยนคำในวลีนี้ดู แต่ยังคงรักษาแบบแผนของกวีนิพนธ์ประหลาด feminine ending ที่มี 11 พยางค์ไว้ (ปกติจะมี 10 พยางค์) เผื่อว่าอาจจะเจออะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงกับความคิดสะเปะสะปะที่ทดไว้ในใจได้ จนในที่สุดรูปนักโทษคนหนึ่งที่ถือป้ายเขียนข้อกล่าวหาก็ได้ดลใจให้ผมลองเปลี่ยนคำสุดท้ายจากคำว่า “question” เป็น “sentence” แล้วผมก็ถึงบางอ้อทันทีสำหรับทิศทางการกำกับการแสดงในครั้งนี้ มันคงจะต้องเป็นไปได้ว่า “คนเราจะอยู่หรือตาย จะเป็นโน่นนี่นั่นหรือไม่เป็นนั่นโน่นนี่ แท้จริงมันถูกตัดสินเรียบร้อยแล้วโดยคนอื่น ๆ หาใช่ปัญหาหรือคำถามอีกต่อไป”
แน่นอน ผมตั้งสมมุติฐานว่าสิ่งนี้เองคงเป็นชะตากรรมที่จำเลยอย่างแฮมเล็ตจำต้องเผชิญตลอดเรื่องราวที่เกิดขึ้น และด้วยความรู้สึกต่อเรื่องในวิถีทางนี้ ทำให้ผมมองเห็นมิติในวิธีการใคร่ครวญคิดหาหนทางของแฮมเล็ตที่ดูเหมือนจะมีจังหวะตอกย้ำ และท่วงทำนองหลอกหลอนราวกับดนตรีแนว Trance และ Techno ทุกประโยคที่เขาพูดและทุกการกระทำที่เขาแสดงออกมา ทำให้ผมเชื่อชัดได้ว่านั่นเป็นคำตอบที่แจ่มแจ้งพอว่าเขากำลัง “หลีกหนี” (escape) จากการพิพากษา ทั้งจากตัวของเขาเองและจากคนอื่นเพื่อธำรงความมีอยู่ของตัวตนในสภาวะที่เขาเชื่อว่าเลวร้าย ครั้งนี้ผมจึงไม่รู้สึกว่าเขาเป็นนักสู้ผู้มุ่งมั่น หรือผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขาเป็น “The Fool” ผู้สับสน ร้อนรนและขลาดเขลา (รวมทั้งเขาอาจจะรู้ชะตากรรมตั้งแต่เริ่มต้นปัญหาแล้วว่าท้ายที่สุดเขาจะต้องตาย)
และการที่เขาพยายามใคร่ครวญเหตุผลของการดำรงอยู่ของตัวตนนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนอื่น ๆ มองเขาว่าเป็นคนวิกลจริต หรือแสร้งทำเป็นวิกลจริตเพื่อหวังผลอะไรบางอย่างก็ได้ ซึ่งนั่นก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถฟันธงหรือคอนเฟิร์มว่าฝ่ายไหนทำผิดแต่อย่างใด เพียงแต่คนเราอาจจะเกิดและเติบโตมามาพร้อมกับชุดความคิดที่แตกต่างกันเท่านั้น ทุกคนเป็นโจทก์และจำเลยของตัวเอง รวมทั้งเป็นโจทก์และจำเลยของซึ่งกันและกัน อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ที่รอด ใครเป็นคนตัดสิน และใครจะเป็นผู้ที่โดนดี...จะอยู่หรือจะไป...ก็เท่านั้นเอง
ขอให้ทุกคนโชคดีและมีความสุขที่สุดตามอัตตภาพ ส่วนตัวผมเองก็ยังคงอยากที่จะทำแฮมเล็ตในแบบที่มีตัวละครครบเซ็ทในโอกาสต่อไป อิอิ
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
กรุงเทพฯ 25 กุมภาพันธ์ 2552
กรุงเทพฯ 25 กุมภาพันธ์ 2552
No comments:
Post a Comment